นับตั้งแต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หรือ ‘กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3’ แห่งอังกฤษ ประชาชนบางกลุ่มได้ส่งเสียงประท้วงเรื่อยมา ทั้งชาวอังกฤษไปจนถึงชาติอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรอย่างชาวไอริชและผู้คนในสกอตแลนด์
เมื่อปีก่อนเราจะเห็นการระดมทุนเพื่อขึ้นป้ายโฆษณาต่อต้านระบอบกษัตริย์ในหลายเมือง ที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มรีพับลิก หรือกลุ่มสาธารณรัฐ (Republic) ที่รณรงค์เรื่องสถาบันกษัตริย์มาอย่างยาวนาน เช่น ป้าย ‘End The Monarchy’ กับแนวคิดที่ว่าราชวงศ์อังกฤษควรจบลงไปพร้อมกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมถึงป้าย ‘No Man Should Be King’ และ ‘Not My King’ ที่สื่อความว่าชาร์ลส์ไม่ใช่กษัตริย์ของพวกเขา
ปัญหาเรื่องการต่อต้านราชวงศ์อังกฤษไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้การต่อต้านไม่ยอมรับนั้น ‘ชัดเจน’ ขึ้นกว่ายุคราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยเหตุผลและปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ค่านิยมของประชาชนที่เปลี่ยนไป ข่าวฉาวเรื่องการเหยียดผิว ปัญหาดราม่าในครอบครัว งบประมาณที่ส่วนหนึ่งมาจากภาษีประชาชน การล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ของสมาชิกราชวงศ์ระดับสูง ไปจนถึงข่าวฉาวของชาร์ลส์กับเจ้าหญิงไดอาน่า ก็ยังคงเป็นเหมือนตราบาปติดตัวที่ผู้คนจะยังพูดถึงตลอดไป
เวลานี้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 กำลังเผชิญกับปัญหามากมาย ซึ่ง The Momentum ได้รวบรวมความเคลื่อนไหวในช่วงปลายปี 2022 จนถึงต้นปี 2023 มาให้ดูว่าตอนนี้ประชาชนในสหราชอาณาจักรกำลังวิจารณ์กษัตริย์ในเรื่องใดบ้าง
งบสถาบันฯ ที่หลายคนมองว่ามากเกินความจำเป็น
‘มีเด็กในอังกฤษมากกว่า 4 ล้านคน กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหาร ตัวเลขความยากจนนี้เพิ่มขึ้นสองเท่าในหนึ่งปี และ 1 ใน 5 ของครอบครัวในอังกฤษ ไม่ได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการเลยตลอดทั้งวัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อในร้านสะดวกซื้อก็พุ่งขึ้นมาถึง 17%
‘ทว่าราชวงศ์อังกฤษยังได้รับเงินจากภาษีประชาชนกว่า 103 ล้านเหรียญต่อปี และมีรายได้อื่นๆ รวมแล้วกว่า 2,000 ล้านเหรียญ’
วันที่ 3 มีนาคม 2023 ทวิตเตอร์ @ajplus โพสต์ข้อความดังกล่าวเพื่อชวนตั้งคำถามถึงงบสถาบันกษัตริย์ที่อาจมากเกินความจำเป็น ขณะที่ประชาชนในชาติจำนวนมากยังคงเผชิญกับความยากจน ส่งผลให้เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้แตกออกเป็นสองฝ่าย เพราะฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดการแบ่งงบประมาณในด้านต่างๆ และงบสถาบันกษัตริย์ก็เป็นเงินคนละส่วนกับการแก้ปัญหาความยากจน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมองว่าภาษีทุกปอนด์ควรถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการมอบให้ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง
แล้วราชวงศ์อังกฤษมีรายได้จากไหนบ้าง? โดยปกติแล้วราชวงศ์จะได้รับเงินรายปีส่วนพระมหากษัตริย์ (Sovereign Grant) จากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลอังกฤษ นับเป็นสัดส่วน 15% ของกำไรที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) เป็นผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนในกิจการหรือธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกลางกรุงลอนดอน สนามม้าแอสคอตในมณฑลเบิร์กเชียร์ โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ฯลฯ ส่วนกำไรที่เหลือทั้งหมดจะเป็นของกระทรวงการคลัง
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ว่านี้ จะไม่ใช่พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่เป็นของกษัตริย์ที่กำลังครองราชย์ เท่ากับว่าจะไม่มีใครสามารถขายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้วเปลี่ยนเป็นเงินส่วนพระองค์ได้ โดยสำนักงานจะมีคณะกรรมการบริหารทำหน้าที่ดูแลรักษาและเพิ่มมูลค่าธุรกิจที่มีอยู่
ในปี 2017 รัฐบาลได้ปรับเพิ่มเงินรายปีส่วนพระมหากษัตริย์เป็น 25% นาน 10 ปี เพื่อให้ราชวงศ์ได้มีเงินไปบูรณะพระราชวังบักกิงแฮม และมีรายงานว่า งบประมาณที่สถาบันกษัตริย์ได้รับในช่วงปี 2021-2022 อยู่ที่ปีละประมาณ 86.3 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ราว 4 แสนปอนด์
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ ปี 2011 (Sovereign Grant Act 2011) เขียนไว้ชัดเจนว่า แม้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะมีผลกำไรลดลง แต่กษัตริย์จะยังคงได้รับเงินเท่าเดิมกับปีก่อนหน้า
ปัญหาเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องมอบให้ราชวงศ์เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งตัวของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ก็ทรงทราบถึงข้อพิพาทนี้ เห็นได้จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2023 กษัตริย์อังกฤษทรงมีพระราชประสงค์ให้นำเงินกำไร 1,000 ล้านปอนด์ ที่ได้จากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 6 แห่ง ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
เมื่อตัวเลขกำไรที่ได้จากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานลมมีมากกว่า 1,000 ล้านปอนด์ จึงทำให้เกิดคำถามว่าตกลงแล้วราชวงศ์อังกฤษมีรายได้จากทางใดบ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็สามารถหาได้จากสำนักข่าวบีบีซี ที่ระบุว่าราชวงศ์มีรายได้ส่วนอื่นจากพระคลังข้างที่ (Privy Purse) ภายใต้สำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster) อีกด้วย
หากมองไปยังความคิดเห็นของกลุ่มรีพับลิกที่มีต่อประเด็นนี้ แน่นอนว่าพวกเขาต้องการให้รัฐบาลปรับลดงบสถาบันฯ โดยให้ภาษีของประชาชนไปลงกับงบประมาณด้านอื่นๆ ตั้งคำถามต่อรัฐบาลถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่ต้องนำงบจากรัฐไปมอบให้กับสถาบันฯ รวมถึงแสดงความไม่พอใจว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ตรงกับหลักการประชาธิปไตย เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจผ่านทางสายเลือด ถ้าเป็นไปได้ทางเลือกที่ว่าไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไปน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า แล้วปัญหาเรื่องงบประมาณก็จะจบลงทันที
ส่วนคนที่ความคิดอีกแบบหนึ่ง มองว่าราชวงศ์อังกฤษก็ไม่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ เพราะพวกเขามีรายได้จากการลงทุนในธุรกิจหลายอย่าง ได้รับเงินจากการทำงานตามปกติ และสถานที่ท่องเที่ยวบางส่วนซึ่งเป็นของราชวงศ์ ส่วนหนึ่งถือเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่แบ่งกลับมาให้รัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นในแง่ไหน หรือใครจะเห็นด้วยกับแนวคิดใดมากกว่ากัน แต่แน่นอนว่าประเด็นเรื่องงบประมาณของสถาบันฯ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนทุกปีเช่นกัน
งบประมาณก้อนใหญ่ที่จะใช้ในพิธีราชาภิเษก
กลุ่มรีพับลิกยึดมั่นในแนวคิดที่ว่าหากอังกฤษจะมีกษัตริย์ต่อไป กษัตริย์นั้นควรมาจากการเลือกตั้ง หรือถ้าประชาชนไม่สามารถเลือกกษัตริย์ได้ ก็ควรจะเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ
พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ทำป้ายบิลบอร์ดไม่เอากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จนประชาชนคนทั่วไปที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน นำประโยคดังกล่าวไปเขียนแล้วประท้วงเวลาที่กษัตริย์อังกฤษเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ
เห็นได้จากเหตุการณ์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2023 เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนมิลตันเคนส์ มีประชาชนที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์ รวมถึงผู้คนที่ไม่พึงพอใจในตัวกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ถือป้ายเขียนด้วยมือว่า ‘Not My King’ พร้อมกับด่าทอและตั้งคำถามเรื่องงบประมาณจำนวนมากที่พวกเขามองว่าสมาชิกราชวงศ์ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย
ไม่ใช่เพียงแค่การไม่ยอมรับในตัวกษัตริย์เท่านั้น ประชาชนรวมถึงนักการเมืองบางคน ยังตั้งคำถามถึงงบประมาณมหาศาลที่ถูกใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคมนี้ และปัญหาเรื่องการอนุมัติให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งธนาคารและบริษัทเอกชนบางแห่ง ก็ไม่ยอมรับว่าวันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการ
ธนาคารที่ไม่ยอมรับว่าวันพิธีบรมราชาภิเษกเป็นวันหยุดราชการคือธนาคารที่อยู่ในหมู่เกาะเชตแลนด์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยสภาท้องถิ่นได้ลงมติแล้วคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่าจะไม่นับวันที่ 8 พฤษภาคม 2023 เป็นวันหยุดราชการ
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการอ้างว่าคำถามเรื่องพิธีบรมราชาภิเษกเคยถูกส่งไปถึงตัวกษัตริย์แล้ว เกรแฮม สมิธ (Graham Smith) หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มรีพับลิกเคยเขียนทวิตเตอร์ว่า ตนได้ถามกษัตริย์ชาร์ลส์ว่าทำไมพระองค์ถึงใช้งบประมาณไปกับงานพิธีราชาภิเษกอย่างสิ้นเปลือง แต่พระองค์ก็ไม่ได้ตอบคำถามนี้
ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่น่าเป็นห่วง มีการคาดการณ์ตัวเลขที่ทางสำนักพระราชวังจะใช้ไปกับพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่ราวๆ 10 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 405 ล้านบาท
ศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมงานราชาภิเษก
ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2023 สำนักข่าวในอังกฤษต่างรายงานข่าวว่าศิลปินชาวอังกฤษจำนวนมากปฏิเสธไม่เข้าร่วมแสดงในพิธีบรมราชาภิเษก ศิลปินที่ว่ามีทั้ง เซอร์เอลตัน จอห์น (Elton John) อเดล (Adele) เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) แฮร์รี สไตล์ส (Harry Styles) รวมถึงเกิร์ลกรุ๊ประดับตำนานอย่าง สไปซ์ เกิร์ลส (Spice Girls)
นิตยสารโรลลิงสโตน (Rolling Stone) เขียนบทความถึงประเด็นดังกล่าวจากการติดต่อสอบถามไปยังตัวศิลปินจำนวนมาก รวมถึงเขียนบทวิเคราะห์ถึงเหตุผลต่างๆ ที่ว่าทำไมศิลปินชื่อดังถึงปฏิเสธร่วมแสดงในงานนี้ โดย เซอร์เอลตัน จอห์น และเอ็ด ชีแรน แจ้งกับทีมข่าวว่าไม่สามารถร่วมงานได้เนื่องจากตารางงานที่ไม่ลงตัว ส่วนศิลปินคนอื่นๆ ปฏิเสธที่จะแจ้งเหตุผลให้ทราบ
คงไม่มีใครนอกจากตัวศิลปินเองที่จะรู้ถึงเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมแสดงในพิธีบรมราชาภิเษก โรลลิงสโตนวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่านิยมของประชาชนที่เปลี่ยนไป ทัศนคติ ความศรัทธา หรือมุมมองที่ชาวอังกฤษในช่วงยุค 90s มีต่อสถาบันกษัตริย์ เป็นมุมมองที่แตกต่างกับที่คนในยุคปัจจุบันมีต่อสถาบันฯ
เม็ก (Meg) ประธานบริษัทด้านดนตรีเจ้าหนึ่งในอังกฤษ แสดงความคิดเห็นว่า คนยุคมิลเลนเนียล (คนที่เกิดระหว่างปี 1980-1997) กับคนเจน Z (1998-2012) ในอังกฤษมีความคิดเห็นต่อราชวงศ์คล้ายกันคือไม่นิยมชมชอบเท่ากับคนรุ่นเก่า มองว่าระบบกษัตริย์เป็นเรื่องน้ำเน่าและไม่โปร่งใส นอกจากนี้ การที่ศิลปินชื่อดังระดับโลกจะร่วมแสดงในงานนี้หรือไม่ ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ ถ้าเลือกแล้วผลลัพธ์จะยังคงอยู่ตลอดไป ซึ่งการเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันฯ อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนดังหลายคนเลือกปฏิเสธแทนการตอบรับ
ยังมีความคิดเห็นอื่นๆ ที่มองว่าภาพลักษณ์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แตกต่างกับราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราชินีครองราชย์มาอย่างยาวนาน เป็นที่คุ้นเคยกับประชาชน ขนาดที่กลุ่มรีพับลิกก็ยังไม่วิจารณ์พระองค์รุนแรงเท่ากับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 รวมถึงภาพลักษณ์นิ่งเฉยซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเหมาะสมต่อการเป็นประมุขแห่งรัฐ แตกต่างกับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ที่เคยมีข่าวฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์สามเส้า มีคลิปเสียงที่หลุดสู่สาธารณชน มีประชาชนคอยรอรับเสด็จเพื่อชูป้ายประท้วง ที่ตัวแทนหรือผู้จัดการศิลปินบางรายอาจมองว่าไปร่วมแสดงแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรกลับมาเท่าไรนัก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ประชาชนในสหราชอาณาจักรกำลังวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ แม้เสียงต่อต้านอาจจะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ แต่หากมองรายได้ที่กลุ่มรีพับลิกได้รับจากการอัปเดตเงินบริจาคเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2023 จะพบว่ามีรายได้มากกว่า 1.8 หมื่นปอนด์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7.4 แสนบาท) เกินครึ่งจากเป้าหมายที่ทางกลุ่มวางไว้ที่ 3.5 หมื่นปอนด์ (1.45 ล้านบาท)
สิ่งที่น่าจับตาดูต่อไปคือช่วงการจัดพิธีบรมราชาภิเษก กับตัวเลขงบประมาณที่เราจะได้เห็นว่าราชวงศ์ได้ใช้จ่ายกับงานครั้งนี้ไปเท่าไหร่กันแน่ และเงินที่ใช้ไปนั้นมาจากกำไรของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมีเงินที่แบ่งมาจากภาษีประชาชนด้วยหรือไม่
อ้างอิง:
– https://time.com/6259327/king-charles-coronation-performers-turned-down/
– https://www.crowdfunder.co.uk/p/republic
– https://www.bbc.com/thai/international-57592608
Tags: สถาบันกษัตริย์, ข่าวต่างประเทศ, Analysis, King Charles, Not My King, สรุปข่าวต่างประเทศ, งบสถาบัน, งบเจ้า, Global Affairs, ราชวงศ์อังกฤษ