วันนี้ (2 มีนาคม 2566) เวลา 13.00 น. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวการควบรวมบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือทรู อย่างเป็นทางการ สู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

หลังจากที่เมื่อวานนี้ (1 มีนาคม 2566) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้แจ้งว่าการควบรวมระหว่างสองบริษัทสำเร็จโดยสมบูรณ์ โดยได้หนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อย่างเป็นทางการในชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชื่อหลักทรัพย์ TRUE อีกทั้งคณะกรรมการบริษัทใหม่ได้มีมติแต่งตั้ง มนัสส์ มานะวุฒิเวช เป็นประธานคณะผู้บริหาร และชารัด เมห์โรทรา เป็นรองประธานคณะผู้บริหารอย่างเป็นทางการ

มนัสส์ระบุว่าสิ่งที่ผู้บริโภคที่ใช้งานเครือข่ายทั้งทรูมูฟเอชและดีแทคจะได้รับทันทีในวันนี้ คือการได้ใช้งานเครือข่ายที่ดีขึ้น โดยทรูจะมีคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งย่านความถี่ต่ำ 700 MHz 850 MHz และ 900 MHz ย่านความถี่กลาง 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 2600 MHz ที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อ และย่านความถี่สูง 2600 MHz สำหรับใช้งานในภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ โทรศัพท์ของลูกค้าทรูและดีแทคจะมีสัญลักษณ์ ‘dtac-true’ หรือ ‘true-dtac’ สามารถดูแลลูกค้ามากกว่า 55 ล้านคน และลูกค้าดีแทคกว่า 21.2 ล้านคนจะสามารถเข้าถึงคลื่น 2600 MHz ทำให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงขึ้น และลูกค้าทรูมูฟเอช 33.8 ล้านคน เข้าถึงคลื่น 700 MHz ที่ให้บริการ 4G/5G ที่ดีแทคปูพรมไว้ทั่วประเทศ

สำหรับงานแถลงข่าววันนี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่าถือเป็นความสำเร็จในการควบรวมกิจการเข้าด้วยกันอย่างเท่าเทียม และจะเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี (Telecom-Tech Company) ชั้นนำของประเทศ ยกระดับวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจ ให้ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก โดยภายในเว็บไซต์ระบุ 7 กลยุทธ์สำคัญของบริษัท ได้แก่

1. เป็นผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง

2. สร้างสุดยอดองค์กรที่น่าทำงา

3. เติบโตเป็นผู้นำพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

4. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย

5. ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าระดับองค์กร

6. ยกระดับวิถีชีวิต มาตรฐานความเป็นอยู่ และไลฟ์สไตล์ให้กับประชาชนชาวไทย

7. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว

ส่วนสาเหตุในการควบรวมครั้งนี้ ทรูและดีแทคยังระบุในเว็บไซต์ด้วยว่าจะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนในเชิงบวกสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจ พนักงาน หรือชุมชนที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ผ่านการยกระดับเครือข่ายและบริการดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน สร้างโอกาสให้เกิดความเจริญอย่างทั่วถึง และขับเคลื่อนจุดมุ่งหมายด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งการประสานจุดแข็งของทรูและดีแทคเข้าด้วยกัน จะทำให้บริษัทใหม่นั้นแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในตลาด

สำหรับมนัสส์ ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารกลุ่ม ด้านการบริหารจัดการระดับภูมิภาค ของบริษัทในกลุ่มทรู ก่อนที่ปี 2564 จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ (ร่วม) บริษัทกลุ่มทรู โดยดูแลธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจมีเดีย ระบบงานปฏิบัติการและเครือข่าย งานบริหารจัดการระดับภูมิภาคทั่วประเทศ

ส่วนชารัด เดิมทีดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับภูมิภาคของบริษัทโทรคมนาคมอย่างแอร์เซล (Aircel) ในประเทศอินเดีย และเทเลนอร์เมียนมา (Telenor Myanmar) ในเมียนมา ก่อนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

Tags: , , ,