หลังจากประชุมกันอย่างขะมักเขม้นนาน 11 ชั่วโมง ในที่สุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็มีมติเห็นชอบการควบรวม 2 เครือข่ายโทรคมนาคมใหญ่ ทรู-ดีแทค สามารถทำได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างแน่นหนาของทั้งองค์กรผู้บริโภค พรรคการเมือง ภาคประชาชน หรือแม้แต่คนใน กสทช. เอง

เพราะมติอนุญาตให้ควบรวมอาจหมายถึงการเปิดช่องอนุญาตให้มีการ ‘ผูกขาด’ อย่างที่หลายฝ่ายกังวลก็คือ เมื่อผู้เล่นหรือผู้ให้บริการเหลือน้อยราย ผู้บริโภคอาจมีสิทธิใช้ค่าโทรศัพท์ ค่า Data ที่สูงขึ้น และอาจเลวร้ายไปกว่านั้น หากทั้ง 2 เครือข่าย คือทรูและเอไอเอส ซึ่งล้วนเป็นของ ‘เจ้าสัว’ ที่ทำธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในทรู หรือกัลฟ์ คอร์ปอเรชัน ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในเอไอเอส เกิด ‘ฮั้ว’ กันขึ้นมา ก็จะกลายเป็นภาระอย่างหนักของประชาชนทั่วไป ที่ต้องควักกระเป๋าแพงขึ้น

สำหรับมติ กสทช. ที่ออกมาว่าเป็น ‘เสียงข้างมาก’ 3 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้การควบรวมสามารถกระทำได้นั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะอันที่จริง เสียงของ 2 ฟากนั้นเท่ากันในรอบแรก เพราะจากกรรมการ 5 คนปัจจุบัน มีเสียง ‘เห็นชอบ’ 2 ราย ได้แก่ นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เห็นชอบ 2 ราย คือ พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านอื่นๆ ขณะที่ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง ลงคะแนน ‘งดออกเสียง’ นั่นหมายความว่าเดิมนั้นฝ่ายเห็นชอบ และไม่เห็นชอบ มีคะแนนเท่ากันที่ 2-2

เมื่อคะแนนเท่ากัน จึงเป็นหน้าที่ของ นพ.สรณ ในฐานะ ประธาน กสทช. ที่ต้องลงคะแนนอีก 1 รอบ และลงคะแนนเห็นชอบให้ฝ่ายที่ตัวเองลงคะแนนรอบแรกได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในที่สุด

แน่นอนว่า เสียง ‘ก้ำกึ่ง’ ดังกล่าว จะมีปัญหาทางข้อกฎหมายตามมา เพราะเป็นการลงคะแนนที่มีคะแนนเสียง ‘เท่ากัน’ เรื่องดังกล่าวจึงต้องตกไปตั้งแต่รอบแรก ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวม ‘ข่าวหลุด’ หลายข่าว ไม่ว่าจะเป็นผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาที่ กสทช. จ้าง ที่เห็นว่าการควบรวมมีผลเสียมากกว่าผลดี หรือการเร่งตัดสินใจของ กสทช. ทั้งที่ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องดังกล่าว

กระนั้นเอง สิ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือบทบาทของ ‘นายแพทย์สรณ’ ประธาน กสทช. ผู้ซึ่งตัดสินชี้ขาดในเรื่องนี้ว่าเป็นใคร มาจากไหน เพราะเหตุใดจึงกลายเป็น ‘ผู้ทรงอำนาจ’ ที่สุดในการเคาะดีลนี้

สำหรับประวัติของนายแพทย์สรณ ปัจจุบันอายุ 62 ปี เป็นรองศาสตราจารย์ด้านอายุรแพทย์โรคหัวใจมือหนึ่งจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หากย้อนกลับไปมีประวัติรักษา ‘นักการเมือง’ หลายคน ไม่ว่าจะเป็น บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี สุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัย ทักษิณ ชินวัตร หรือไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขณะเดียวกันยังมีรายงานว่าเป็นหมอประจำตัวให้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคน ที่มักจะเป็นโรคหัวใจในช่วงใกล้เกษียณ และมีรายงานว่าสนิทสนมกับนายทหหารชั้นผู้ใหญ่ใน คสช. หลายคน ไม่ว่าจะเป็นพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือพลเอก อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก อีกทั้งยังมีชื่อในฐานะแพทย์โรคหัวใจของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำอย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ชื่อของนายแพทย์สรณปรากฏอีกครั้ง ในนาม ‘สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ และหลังจากนั้น เมื่อมีข่าวว่า ‘โรงพยาบาลเอกชน’ เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง สนช. ก็ได้ตั้ง นายแพทย์สรณเป็นอนุกรรมาธิการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าเป็นเรื่องของ ‘ต้นทุน’ และค่าอำนวยความสะดวกที่ทำให้ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนนั้นสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐไปมาก

ไม่นานจากนั้น เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอบแรกในปี 2558 เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีจาก นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ชื่อของ นายแพทย์สรณ ก็ติดโผว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ กระนั้นเอง สุดท้าย พลเอกประยุทธ์กลับเลือก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทน ถึงที่สุด นายแพทย์สรณยังคงดำรงตำแหน่ง สนช. ต่อไป

กระนั้นเอง เมื่อมีการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ เมื่อปี 2561 มีชื่อของนายแพทย์สรณเข้ารับการสรรหา เป็น สนช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ในครั้งนั้นมีการล้มกระบวนการสรรหา กว่าจะเริ่มมีการสรรหารอบใหม่ก็ในปี 2564 ซึ่งนายแพทย์สรณลงสมัครอีกครั้งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และได้รับเลือกในที่สุด

ในเวลานั้น นายแพทย์สรณยื่นประวัติสมัคร กสทช. ว่าเคยเป็น ‘กรรมการ’ บริษัทเอกชนหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) เป็นกรรมการอิสระ บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) กรรมการองค์การเภสัชกรรม (ยุค อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) กรรมการ บริษัท พฤกษ์สุขสบาย จำกัด และบริษัท สรณ คาร์ดิโอโลยี่ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด

แม้จะมีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านคุ้มครองผู้บริโภค หรือประวัติการทำงานด้านสื่อสาร-โทรคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมาอาจยังไม่ชัดเจน แต่คณะกรรมการ กสทช. 5 ราย ก็ลงมติเลือกนายแพทย์สรณขึ้นเป็นประธาน กสทช. ทำหน้าที่ชี้ขาดทั้งเรื่องกิจการวิทยุ โทรทัศน์ คลื่นความถี่ และกิจการโทรคมนาคม

สำหรับกรรมการ กสทช. ตามกฎหมายต้องมีทั้งสิ้น 7 คน โดยขณะนี้มีทั้งหมด 5 คน และอยู่ระหว่างการสรรหาอีก 2 คน

ปัจจุบัน เงินเดือนประธาน กสทช. ปัจจุบันอยู่ที่ 335,520 บาท ไม่รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ งบฯ รับรองหรือการตั้งที่ปรึกษา คณะทำงาน และอนุกรรมการ ขณะที่ กสทช. คนอื่นอยู่ที่ 269,000 บาท

Tags: , ,