ไม่ว่าใครก็คงเคยเจอกับคนที่เต็มไปด้วยความมั่นใจในทางที่ผิด แม้คนรอบข้างจะตักเตือนอย่างไรก็ไม่ยอมรับฟัง เอาแต่ยึดถือความคิดของตัวเอง เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นเรื่องดี และต้องทำมันให้สำเร็จจนได้ แม้ว่าอาจจะมีผู้ที่ต้องเดือดร้อนจากการกระทำนั้นก็ตาม
อีโก้ (Ego) หรืออัตตา เป็นสิ่งที่ควรมีอย่างพอดี แต่เมื่อมันล้นเกิน หลายครั้งอีโก้ที่สูงลิ่วจึงสามารถสร้างผลกระทบได้ ตั้งแต่เรื่องที่พบเจอทั่วไปจนถึงปัญหาในระดับลึกกว่านั้น
อาการ ‘Tolstoy Syndrome’ คือคำที่นำมาใช้อธิบายถึงการที่มนุษย์ไม่สนใจข้อเท็จจริง เพราะยึดมั่นในความคิดความเชื่อของตัวเอง ตั้งขึ้นตามชื่อของ เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) นักเขียนชื่อดังชาวรัสเซีย ที่เคยเขียนเกี่ยวกับพฤติกรรมรูปแบบดังกล่าวไว้ในหนังสือของเขา โดยเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับความจริง และการสอนใครบางคนก็จะเป็นไปได้ยาก หากพวกเขาคิดว่าตนรู้เรื่องนั้นๆ ดีอยู่แล้ว
กลุ่มอาการ Tolstoy Syndrome สัมพันธ์กับทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Confirmation Bias หรือความลำเอียงในการเลือกเชื่อข้อมูล ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายว่าคนเราจะเชื่อเพียงสิ่งที่สนับสนุนความคิดเดิมของตนเท่านั้น
ลูกน้องที่คล้อยตามหัวหน้าไปเสียทุกอย่างเพราะคิดว่าเขามีประสบการณ์มากกว่าโดยไม่ลองตั้งคำถาม หรือเวลาดูดวงออนไลน์ที่ผู้เสพมักจะเลือกอ่านเฉพาะคำทำนายที่ตรงใจเพื่อเป็นความหวังให้ชีวิตต่อไป หากคำทำนายไม่ดีแปลว่าไม่แม่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจาก Confirmation Bias ที่เรามีความลำเอียงในจิตใจทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
นอกจาก Confirmation Bias จะเกิดในระดับบุคคล ยังรวมไปถึงเรื่องที่เชื่อกันเป็นวงกว้างและเป็นประเด็นทางการเมือง อย่างทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า ภารกิจอะพอลโล 11 ของสหรัฐอเมริกาที่นำยานขึ้นไปจอดบนดวงจันทร์เป็นแค่เรื่องลวงโลก ที่จนทุกวันนี้ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งเชื่ออยู่ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ปี และสามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์แล้วก็ตาม แต่ข้อมูลจากผู้สร้างทฤษฎีในตอนแรกเริ่มก็ยังคงฝังหัว อีกทั้งยังมีทฤษฎีอื่นผุดขึ้นมาเสริมความน่าเชื่อถือของข้อมูลเดิมอีกด้วย
อาการ Tolstoy Syndrome จะเกิดขึ้นเมื่อคนคนนั้นไม่สามารถควบคุม Confirmation Bias ของตนเองได้ จนเลือกที่จะเชื่อเรื่องหนึ่งและไม่สนใจข้อมูลอื่นที่ไม่สนับสนุนความคิดนั้นๆ ความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างสุดโต่งนี้จึงทำให้กลายเป็นคนที่มีอีโก้สูงในที่สุด
แนวโน้มการเกิด Tolstoy Syndrome จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจริงของข้อมูลหรือระดับความฉลาดของบุคคล เพราะคนที่มีอีโก้สูงไม่ใช่คนโง่เสมอไป แม้คนที่เป็นอาจารย์ก็สามารถมีอีโก้สูงและมีแนวโน้มที่จะปรากฏลักษณะของ Tolstoy Syndrome ได้ หากพวกเขาไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่
คนที่เลือกฟังแต่เสียงสนับสนุน แม้ว่าเสียงคัดค้านจะมีน้ำหนักและหลักฐานมากกว่า เช่น การปล่อยนกปล่อยปลาที่ทำไปเพราะคิดว่าตัวเองกำลังโปรดสัตว์และเชื่อว่าได้บุญ แม้มันจะทำลายระบบนิเวศก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้มีจุดร่วมกันคือการไม่เปิดใจรับฟังข้อมูลที่ต่างออกไป ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมของคนที่มีอีโก้สูง และยังมีลักษณะแบบ Tolstoy Syndrome
ไม่ว่าอาการ Tolstoy Syndrome จะเกิดจากความคิดความเชื่อแบบใด หรือเป็นเพียงแค่อีโก้รูปแบบหนึ่ง การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ฟังใคร ไม่มองความเป็นจริง และเลือกเสพแต่เรื่องไม่จริงที่ตรงใจ แม้จะทำบางสิ่งไปด้วยเจตนาดีแค่ไหนก็อาจทำให้การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ดันทุรังเสียเปล่าๆ
เราจะพร่ำบอกว่าตนเป็นผู้ให้ โดยไม่ฟังเสียงใครได้อย่างไรกัน
ที่มา
https://thefifthestate.com.au/columns/spinifex/is-matt-canavan-suffering-from-the-tolstoy-syndrome/
https://www.simplypsychology.org/confirmation-bias.html
https://djon.es/blog/2009/06/23/confirmation-bias-the-tolstoy-syndrome-and-pattern-entrainment/
Tags: Knowledge and Wisdom, Tolstoy Syndrome