ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แวดวงดนตรีต้องสั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ซึ่งขึ้นรับรางวัลวิดีโอแห่งปีจากเวที MTV Video Music Awards ประกาศข่าวคราวของเธอกลางงานว่า ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ เธอจะปล่อยอัลบั้มใหม่อันเป็นอัลบั้มลำดับที่สิบในชีวิตของเธอให้ได้ฟังกัน
จะว่าไป ทุกการขยับตัวของสวิฟต์ก็เป็นเรื่องใหญ่และส่งแรงสะเทือนต่อวงการดนตรีอเมริกันอยู่เสมอ ในฐานะที่เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษ หากแต่การประกาศปล่อยอัลบั้มใหม่ก็ยังเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของหลายๆ คน ประการแรก เมื่อปี 2020 เธอเพิ่งจะปล่อยอัลบั้มโฟล์ก-อัลเทอร์เนทีฟใหม่แกะกล่องอย่าง folklore (2020 คว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีจากเวทีแกรมมี) และ evermore (2020 ชิงรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีจากเวทีแกรมมี) และในปีต่อๆ มาก็จัดการรี-เรคอร์ดอัลบั้มเก่าๆ ของตัวเองเพื่อทวงคืนสถานะเจ้าของลิขสิทธิ์อีกสองอัลบั้มคือ Fearless (Taylor’s Version) (2021) และ Red (Taylor’s Version) (2021) ทั้งยังร่วมทำดนตรีกับวงอินดี้โฟล์ก Big Red Machine ดังนั้น การวาดฝันว่าสวิฟต์ที่ยุ่งสุดขีดเช่นนี้จะมีเวลาทำเพลงใหม่และปล่อยออกมาให้ได้ฟังกันในปีนี้จึงดูจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ หากแต่ก็เป็นไปแล้ว!
Midnights คืออัลบั้มลำดับที่สิบของสวิฟต์ที่เธอระบุว่าบทเพลงส่วนใหญ่นั้นมาจากช่วงที่เธอนอนไม่หลับท่ามกลางราตรีอันยาวนาน และภายหลังปล่อยออกมาเพียงวันเดียว อัลบั้มก็ทำลายสถิติด้วยการดำรงตำแหน่งเป็นอัลบั้มที่ถูกสตรีมมากที่สุดในหนึ่งวันของ Spotify ขณะที่ตัวสวิฟต์กลายเป็นศิลปินที่ถูกสตรีมมากที่สุดในช่วงเวลาเพียงหนึ่งวันเช่นกัน
คงไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่า Midnights เป็นอัลบั้มที่เปิดตัวอย่างอลังการ และมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จทั้งทางด้านคำวิจารณ์กับรายได้ไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับผลงานก่อนหน้าของสวิฟต์ และหลังจากที่เธอเคยปล่อย folklore กับ evermore แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า เปิดตัวทีเดียวก็มาทั้งอัลบั้มโดยไม่ให้แฟนเพลงได้ตั้งตัวซึ่งถือว่า ‘ผิดวิสัย’ ของสวิฟต์ไม่น้อยเพราะอัลบั้มที่ผ่านๆ มาของเธอนั้นเต็มไปด้วยการโปรโมตสารพัดอย่าง ก่อนจะปล่อยอัลบั้มตัวเต็มให้ได้ฟัง
แต่กับ Midnights เธอไม่เพียงแต่เปิดตัวแบบสุดแสนยิ่งใหญ่บนเวทีประกาศรางวัล หากแต่ยังทยอยบอกรายชื่อเพลงผ่านทางอินสตาแกรมและ TikTok ส่วนตัวของเธอในวิดีโอชุด Midnights Mayhem with Me (แถมยังทำเก๋ด้วยการสุ่มบอกชื่อเพลงตามหมายเลขบนลูกปิงปองที่เธอหมุนออกจากลูกกรง) รวมทั้งเนื้อเพลงบางส่วนจากอัลบั้มถูกนำไปฉายบนจอขนาดยักษ์ในมหานครหลายแห่ง เริ่มจากที่ไทม์ สแควร์ในนิวยอร์ก
ทั้งนี้ สวิฟต์กล่าวว่าแรงบันดาลใจของเธอในการเขียนเพลงอัลบั้มนี้มาจากภาวะเกลียดชังตัวเอง การวาดฝันถึงการแก้แค้น ครุ่นคิดสงสัยว่าสิ่งใดอาจเกิดขึ้นบ้าง การตกหลุมรักและการร่วงหล่น และกล่าวสำหรับตัวอัลบั้มเอง หลังจากที่สวิฟต์สำรวจดินแดนของอัลเทอร์เนทีฟด้วยการร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ อารอน เดสส์เนอร์ แห่งวง the National จากสองอัลบั้ม folklore และ evermore เธอก็หวนกลับมาสู่โลกดนตรีป๊อปอีกครั้งด้วยการร่วมงานกับโปรดิวเซอร์คู่บุญ แจ็ค อันโตนอฟฟ์ ที่กอดคอทำเพลงมาด้วยกันตั้งแต่อัลบั้ม 1989 (2014 คว้ารางวัลอัลบั้มแห่งปีจากแกรมมี), reputation (2017) และ Lover (2019)
ทั้งนี้ Midnights อวลไปด้วยกลิ่นอายแบบซินธ์ป๊อปที่เป็นเสมือนธีมหลักของอัลบั้มอันจะเห็นได้จาก Anti-Hero ที่เป็นซิงเกิลหลัก, Question…?, Bejeweled, Mastermind มากกว่านั้น อัลบั้มยังได้ ลานา เดล เรย์ มาร่วมร้องเพลงในแทร็ก Snow on the Beach ด้วย
แน่นอนว่าการแต่งเพลงเป็นจุดแข็งที่สุดของสวิฟต์ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายเพลงที่ผ่านมาของเธอจะใช้คอร์ดพื้่นฐานเพียงไม่กี่คอร์ด แต่เน้นการเล่าเรื่องและทักษะการใช้คำอันแสนแหลมคมอันเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมสวิฟต์จึงถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในคนเขียนเพลงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งยุคสมัย และจุดสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งคือแม้เธอจะเป็นศิลปินระดับโลก แต่บทเพลงของเธอก็ยังเล่าถึง ‘จุดร่วม’ บางประการที่อยู่ในเนื้อตัวมนุษย์ทุกคน
ที่ผ่านมา เธอขึ้นชื่อเรื่องการเขียนเรื่องราวของตัวเองออกมาเป็นบทเพลง (จนทำให้หลายคนเชื่อมโยงตัวละครในเพลงเธอเข้ากับบุคคลในชีวิตของเธอจริงๆ หลายต่อหลายครั้ง) ขณะที่เมื่อมาถึงยุคของ folklore และ evermore สวิฟต์ขยับไปสู่การเล่าเรื่องของ ‘คนอื่น’ และเต็มไปด้วยเนื้อเพลงที่พูดถึงตัวละครมากหน้าหลายตา (ยกตัวอย่างเช่นแทร็ก no body, no crime ที่พูดถึงการฆาตกรรมราวกับพล็อตหนังสืบสวน!)
กับ Midnights สวิฟต์หวนกลับมาพินิจพิเคราะห์ตัวตนของเธออีกครั้ง หลายบทเพลงมีน้ำเสียงของความฟุ้งฝัน รำพึงรำพันตามประสาเพลงที่ถูกเขียนขึ้นมาตอนกลางดึก มันเป็นอัลบั้มป๊อปที่ไม่สดใสร่าเริงแบบ 1989 และก็ไม่ได้โกรธแค้นชิงชังแบบ reputation กล่าวคือมันมีความปลดปลง เข้าอกเข้าใจและยอมรับตัวเองมากขึ้น อันจะเห็นได้จากซิงเกิล Anti-Hero ที่ขึ้นต้นด้วยประโยคว่า “เมื่อฉันโตขึ้น แต่กลับไม่ได้ฉลาดขึ้นเลย” หากแต่ก็มีท่อนที่บ่งบอกถึงการโอบกอดตัวเองได้ในที่สุดอย่าง “นี่ฉันเอง ฉันนี่แหละที่เป็นตัวปัญหา” ซึ่งยิ่งเมื่อเพลงดำเนินไปจนถึงท่อนท้ายๆ เสียงร้องประโยคนี้ก็เป็นเสียงเนิบๆ คล้ายคนที่ยอมรับบางสิ่งบางอย่างได้
มากกว่านั้น มันยังพูดถึงภาวะการเกลียดชังตัวเองอันสะท้อนผ่านท่อน “ฉันมองไปยังดวงอาทิตย์ได้ แต่ไม่เลยที่จะมองกระจก”, “บางครั้ง ฉันก็รู้สึกราวกับทุกคนล้วนงดงาม มีเพียงฉันที่เป็นตัวประหลาดจากหุบเขา” และยิ่งกับมิวสิกวิดีโอที่เธอกำกับเอง ก็มีฉากที่สวิฟต์ชั่งน้ำหนักเพื่อจะพบว่าเข็มวัดน้ำหนักตีไปตรงคำว่า ‘อ้วน’ อยู่เสมอ เช่นเดียวกับแทร็ก You’re On Your Own, Kid ที่พูดถึงความสับสนและภาวะการกลัวน้ำหนักขึ้นอยู่ตลอดเวลาจากท่อน “ฉันจัดงานปาร์ตี้ อดอาหารมานานเพื่อการนี้” ตลอดจนแทร็กที่พูดถึงความเครียดเขม็งในการเป็นเธออย่าง Sweet Nothing ที่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมเพลงส่งผลต่อเธออย่างรุนแรงไปจนถึงจิตวิญญาณ นำมาสู่การเรียกร้องตัวเองให้ทำงานให้ได้มากขึ้น ดีขึ้น เพื่อจะไปต่อในอุตสาหกรรมดนตรีอันเชี่ยวกราก
Midnight Rain, Question…? เป็นอีกแทร็กที่น่าสนใจเนื่องจากสวิฟต์รำพึงรำพันถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ เมื่อแทร็กแรกนั้นพูดถึงการที่ใครสักคนไม่อาจรับรักอีกคนได้อันเนื่องมาจากความทะเยอทะยานและปรารถนาจะไปให้พ้นในเมืองเล็กๆ (“เมืองของฉันมันแสนว่างเปล่า รายล้อมไปด้วยกรงขัง มากมายด้วยแนวรั้ว”, “เขาวาดหวังถึงเจ้าสาว ส่วนฉันมุ่งหวังเพียงการสร้างชื่อเสียง”) ขณะที่ Question…? นั้นคล้ายมุมกลับเมื่อมันพูดถึงคู่รักในเมืองใหญ่กับความสัมพันธ์อันแสนติดขัด
สวิฟต์ยังบอกเล่าถึงการเติบโตของตัวเองผ่าน Karma แทร็กลำดับ 11 ที่หลายคนเห็นชื่อแล้วก็พาลคิดไปว่าน่าจะเป็นแทร็กแสบสันต์ชวนเจ็บ แน่นอนว่ามันก็ยังชวนแสบคันอยู่ในหลายๆ ท่อน เช่น ท่อนเปิดที่ว่า “คุณมันช่างพูดจาเลอะเทอะ หมกมุ่นอยู่แต่กับการหักหลังคนอื่น” แต่ก็ตบท้ายด้วยท่อนที่ฟังแล้วชวนยิ้มอย่าง “เพราะกรรมที่ตามสนองคือคนรักของฉัน กรรมคือพระเจ้า กรรมคือสายลมที่พัดผ่านเรือนผมฉันไปในวันหยุดสุดสัปดาห์” และ “อ่อนหวานปานน้ำผึ้ง กรรมนั้นแท้แล้วคือแมว หลับกรนบนตักเพราะมันแสนจะรักฉัน” ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกเสียจากการเติบโตและการยอมรับเหตุการณ์บางอย่างในอดีตได้สำเร็จของสวิฟต์ คล้ายว่าในที่สุดแล้วเธอก็ผูกมิตรกับเรื่องราวเหล่านั้นและตัวเองได้เสียที
หากว่าคุณชอบอัลบั้มป๊อปก่อนหน้าของสวิฟต์ไม่ว่าจะ 1989, reputation หรือ Lover ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะโปรดปราน Midnight เพียงแต่มันให้รสชาติแตกต่างออกไปจากอัลบั้มดังกล่าว นั่นคือเป็นผู้ใหญ่ขึ้น นิ่งขึ้น และพินิจพิเคราะห์ตัวเองลึกซึ้งมากขึ้นในห้วงยามแห่งความมืดมิดของสวิฟต์
Tags: #ScreenandSound, Midnight, TaylorSwift