1

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลับมาเป็น ‘ประวัติศาสตร์กระแสหลัก’ เรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ออกจากความเงียบงันมาสู่ที่แจ้ง คนรุ่นใหม่เดินหน้าเข้าร่วมงานรำลึกจนแน่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกปี งานเขียนดีๆ เกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ที่เสนอมุมมองใหม่ๆ ถูกนำมาแชร์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ธงชัย วินิจจะกูล ทั้งฉบับภาษาไทย ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ หรืองานภาษาอังกฤษ ‘Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976’ หรือ ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่วิเคราะห์เรื่องลึกลับภายใน ‘ฝ่ายขวา’ ก็ถูกกลับมาแชร์ใหม่ สร้างความสนใจให้กับบรรดาคนหนุ่มสาวที่สนใจเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่อันโหดเหี้ยมเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน

จากจุฬาฯ สู่บางขวาง เป็น ‘ลูกผสม’ ระหว่างงานวิชาการกับบันทึกความทรงจำส่วนตัวของ สุรชาติ บำรุงสุข ซึ่งมี 2 สถานะ หนึ่ง คือเป็นศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นนักวิชาการด้านการทหารและความมั่นคงที่หาตัวจับได้ยาก และสอง คือเป็นผู้ต้องหา เป็นนักโทษการเมือง เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผู้รู้ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าของเหตุการณ์ พร้อมกับนำเรื่องที่สัมผัส เรื่องที่ได้ยิน มาเล่าและวิเคราะห์อย่างละเอียดในหนังสือเล่มนี้

เรื่องเริ่มเป็นเส้นขนานระหว่างชีวิตของสุรชาติ การจัดองค์กรนักศึกษา การวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศของทั้งสหรัฐฯ และไทย ซึ่งมีส่วนปูทางไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

2

อย่างที่รู้กัน การเดินหน้าเข้าสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เกิดจากหลายเหตุปัจจัย เป็นต้นว่าการบ่มเพาะ ทั้งความกลัวขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายจะใหญ่เกินไป การเมืองระหว่างประเทศหลังสหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้สงครามเวียดนาม ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ค่อยๆ แตกทีละประเทศจนทำให้ประเทศแถบนี้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมการเมืองภายในประเทศที่ง่อนแง่น เกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมหลังรัฐธรรมนูญ​ 2517 อย่างหนัก แม้แต่ขั้วรัฐบาลยังถูกแบ่งออกเป็นซ้าย-ขวา โดยเฉพาะในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และสุดท้าย คือความขัดแย้งในบรรดา ‘ขุนทหาร’ หลังเหตุการณ์หัวใจวายเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุหลังรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีบทบาทสำคัญในการโค่น จอมพล ถนอม กิตติขจร ลงจากอำนาจ

3

เรื่องที่สุรชาติเล่าได้ชัดเจนคือการเติบโตของขบวนการนักศึกษา เพราะไม่ได้เพียงมองเฉพาะบริบทในรั้วมหาวิทยาลัยไทยเท่านั้น แต่ยังวิเคราะห์ว่าเป็นคลื่นลูกเดียวกับเหตุการณ์ ‘ตาสว่าง’ ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก เริ่มจากปี 1968 ในสหรัฐอเมริกา และในปารีส ฝรั่งเศส เหตุการณ์ปรากสปริง ในเชคโกสโลวาเกีย ปีเดียวกัน ก่อให้เกิดความตื่นตัวในปัญญาชนไทย วารสารศาสตร์สังคมศาสตร์ปริทัศน์เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ บ่มเพาะจนกลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

คำถามก็คือ แล้วขบวนการนักศึกษานั้น ‘ซ้าย’ จริงไหม? เพราะจนถึงวันนี้ อนุรักษนิยมไทยจำนวนไม่น้อยยังเชื่อกระแสความคิดว่า เพราะเป็นซ้าย เป็นพวก ‘ล้มเจ้า’ จึงต้องฆ่า 

เรื่องนี้ สุรชาติอธิบายในหนังสือว่า ในห้วงเวลานั้น ความเป็นซ้ายมาจากชุดความคิดต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน ที่เป็นผลจากการต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งขยายตัวอยู่ในโลกตะวันตกและค่อยๆ คืบคลานสู่สังคมไทย

ไม่ใช่แต่เพียงขบวนการนักศึกษาเท่านั้นที่ซ้าย แต่ ‘การทูต’ ของไทยก็ซ้าย เมื่อ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2518 

ขณะเดียวกัน ความ ‘ขวา’ ในแบบไทย ยังไม่ได้ตอบโจทย์อะไรมากกว่าการปลุกกระแสคลั่งชาติและความกลัวฝ่ายซ้าย ซึ่งความกลัวนั้นก็เข้าใจได้ในกลุ่มคนเหล่านี้ หากวัดจากการล้มลงของประเทศเพื่อนบ้านแต่ละประเทศ และจุดสำคัญที่สุรชาติกล่าวถึงในเล่มนี้ก็คือการที่ผู้นำนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยชั้นนำในขณะนั้น ล้วนเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาตุรนต์ ฉายแสง นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือการได้ สุธรรม แสงประทุม จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย 

ความกลัวนักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นใหญ่ ทำให้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชาวนาอย่าง พ่อหลวง อินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย นิสิต จิรโสภณ ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ถูกผลักตกรถไฟ แสง รุ่งนิรันดรกุล ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถูกลอบยิงกลางป้ายรถเมล์ ถนนพระราม 4 หรือ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ที่ถูกลอบยิงบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ โดยทั้งหมดนี้จับผู้ก่อเหตุไม่ได้แม้แต่คนเดียว

4

แน่นอน Turning Point สำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือการเชิญจอมพลถนอมเดินทางกลับมาในประเทศไทย สุรชาติวิเคราะห์ว่า รูปแบบของการ ‘บวชพระ’ ทำให้ขบวนการต่อต้านเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะทำให้ผู้ต่อต้าน กลายเป็นพวก ‘ซ้าย’ ไม่เอาศาสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากเหตุการณ์พระถนอมกลับไทย เหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม ไปจนถึงละคร ‘แขวนคอ’ ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 3 อาทิตย์ ก็ถูกปิดเกมด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ทั้งหมดนี้ สุรชาติยังไม่ลืมวิเคราะห์ว่าเส้นขนานที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ถูกไล่บี้จาก ‘ฝ่ายขวา’ อย่างหนักในเรื่องการมีรัฐมนตรีเป็นพวกฝ่ายซ้ายอย่าง ชวน หลีกภัย, ดำรง ลัทธพิพัฒน์ หรือสุรินทร์ มาศดิตถ์ 

หนึ่งวันก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สุรชาติเล่าว่า เขาและเอนกได้รับแจ้งข่าวจากอาจารย์จุฬาฯ คนหนึ่ง พาขึ้นรถวนรอบจุฬาฯ 1 รอบ เพื่อบอกว่าจะมีการรัฐประหาร และให้ทุกคนระวังตัวให้ดี ผลของเรื่องนี้คือเอนกต้องกลายเป็นผู้รักษาฐานที่มั่นในจุฬาฯ เอาไว้ ส่วนสุรชาติไปร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และไม่ถึงวันจากนั้นก็เกิดการล้อมปราบ การจับกุมแกนนำนักศึกษา และเกิดการรัฐประหารในตอนเย็นวันเดียวกัน

5

ด้วยความเป็นนักวิชาการ สุรชาติยังวิเคราะห์เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในเชิง ‘ตัวละคร’ อย่างเข้มข้นและเป็นระบบ

การเสียชีวิตของพลเอกกฤษณ์ในเดือนเมษายน 2519 นั้น หากอ่านรายละเอียดจากเล่มนี้ ต้องใช้คำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘All hell breaks loose’ หรือ ‘ชิบหายวายป่วง’ อย่างแท้จริง

เพราะกองทัพบกขาดสายการบังคับบัญชา คนที่วางตัวเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไปถูกเขี่ยทิ้ง หรือถูกปลด สายจอมพลถนอม กลับขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ เช่นเดียวกับสาย ‘ขวาจัด’ พร้อมกันนั้น ยังเขี่ย พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ รองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นตัวเก็งผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไปออกจากวงโคจร

พร้อมกันนี้ กลุ่มนายทหาร ‘ระดับกลาง’ ซึ่งไม่ได้มียศนายพล ยังเติบโตขึ้นอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มยังเติร์ก ของ พันโท มนูญ รูปขจร และกลุ่มลูกน้องของพลเอกฉลาด ซึ่ง 2 กลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญนานต่อเนื่องอีกหลายปี 

แน่นอนว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นผลพวงจากความขัดแย้งในกองทัพ และความพยายามใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดถ่วงเพื่อกำจัดพลเอกฉลาดในฐานะ ‘อีกขั้ว’ ของกองทัพไปด้วยในตัว

9 ตุลาคม 2519 พลเอกฉลาดถูกปลดออกจากตำแหน่ง และหลังจากนั้น พลเอกฉลาดก็มีความพยายามยึดอำนาจอีกครั้ง ในเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม 2520 และสุรชาติยังได้พูดถึงการรัฐประหาร ‘ลับๆ’ ในเดือนมิถุนายน 2520 รวมถึงการรัฐประหารซ้อน เพื่อล้ม ธานินทร์ กรัยวิเชียร ในเหตุการณ์รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 

เท่ากับว่าเพียง 1 ปี รัฐบาลขวาจัดหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายขวาก็ยังไม่สามารถสร้างเสถียรภาพในกองทัพได้ และยังมีความพยายาม ‘หักเหลี่ยมเฉือนคม’ อีกหลายครั้ง ซึ่งสุรชาติเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด เสมือนหนึ่งว่านั่งอยู่ในวอร์รูมรัฐประหารของขุนทหารเหล่านี้ด้วย

แน่นอนว่ากองทัพบกยังคงวุ่นวายไปอีกนาน แม้กระทั่งรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีความพยายามรัฐประหารอีกหลายครั้ง

และจนถึงวันนี้ ผ่านมาอีก 46 ปี ก็ยังมีข่าวการ ‘รัฐประหาร’ และ ‘รัฐประหารซ้อน’ อยู่ การเมืองที่พัวพันกับทหาร หลีกหนีไปไหนไม่พ้นจริงๆ 

   

6

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวระหว่างปี 2563-2564

หลายคนนำเหตุการณ์ช่วง ‘ตุลาคม 2518-2519’ มาทาบกับในยุคปัจจุบัน มีการวิเคราะห์กลุ่ม ‘ขวาจัด’ ที่พยายามกลับมาในโลกดิจิทัล ซึ่งวิธีการก็ไม่ได้ไปไหนไกล ไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม แม้โลกจะเปลี่ยนไปหลายตลบแล้ว… จีนไม่ใช่ ‘จีนแดงกินหมา’ เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่เป็น ‘มหามิตร’ ของไทย ขณะที่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นที่ดูถูกดูแคลนของฝ่ายขวา

แน่นอนว่าการต่อสู้ทางการเมืองนั้นซับซ้อนกว่าเดิมมาก และหากคนรุ่นใหม่แพ้วันนี้ ก็ไม่มีป่าให้เข้าเหมือนกับเมื่อ 4 ทศวรรษก่อนอีกต่อไป วิธีการต่อสู้จึงต้องสะสมบทเรียน สะสมพลัง เพราะเรื่องนี้ ‘ไม่ง่าย’ แม้ในความเป็นจริง ฝ่ายอนุรักษนิยมจะอ่อนแรงไปแล้วมาก แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องการ พวกเขายังคงมีทั้งอำนาจปืน และอำนาจกฎหมาย โดยที่ไม่ต้องอาศัยความชอบธรรม

บทเรียนอย่างหนึ่งจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ เมื่อใดที่รัฐบาลอยู่ในภาวะอ่อนแรง ไม่สามารถจัดการศัตรูขั้วตรงข้ามได้ ไม่มีประสิทธิภาพ พวกเขาก็มักเขี่ยทิ้ง ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลพลเรือน

สัจธรรมการเมืองไทยใช้ได้ดีเสมอ เมื่อใดที่เกิดการปะทะกัน เกิดความรุนแรง จะมีคนแสวงหาประโยชน์ และ ‘ได้ประโยชน์’ จากเรื่องเหล่านี้ 

ขณะเดียวกัน ‘ประชาชน’ ไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากใช้เป็นข้ออ้าง หรือใช้เป็น ‘เหยื่อ’ เพื่อให้บรรดาคนเหล่านี้สามารถรักษาอำนาจ หรือก้าวขึ้นสู่อำนาจ

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วตลอดมา และหากไม่เปลี่ยนอะไร ก็จะเป็นเช่นนั้นตลอดไป…

Tags: , ,