“ทุกอย่างมันเป็นวงจรหมุนเวียนไปหมด มีการวางแผนเอื้อนายทุน และคนที่รับภาระก็คือประชาชน”
ความเดือดร้อนของประชาชนจากค่าไฟแพง ไม่ต้องบอกก็ชัดเจนแน่นอนว่า รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่มากไปกว่านั้น น่าจะมีผู้ได้ผลประโยชน์มหาศาลแอบแฝงอยู่
ภายใต้ฉากเคลือบของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ที่จัดทำขึ้นหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากดูเพียงตัวหนังสือก็เป็นแผนงานที่สวยหรู
แต่เมื่อมองให้ลึก อ่านให้ละเอียด คิดให้ถี่ถ้วน คำนึงถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น นั่นทำให้ภาพรวมทั้งหมดยากจะชี้เป็นอื่นได้ นอกเสียจากการสนับสนุนเอื้อให้กับ ‘กลุ่มทุนพลังงาน’ ได้เข้ามามีบทบาทผูกขาด กินรวบ ซ้ำยังมีอิทธิพลล้นเหลือที่จะข่มขู่คุกคาม ไม่อาจเอ่ยได้แม้แต่ ‘นาม’ ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในสังคมวงกว้างอย่างเปิดเผย
‘เบญจา แสงจันทร์’ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คือผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายในสภาฯ ถึงปัญหาค่าไฟแพง ความบิดเบี้ยวในนโยบายพลังงาน ที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน เธอเจาะลึกอย่างละเอียด ฉายให้เห็นภาพของปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งเธอย้ำว่า หากยังไม่ได้รับการแก้ไข “ในอนาคตค่าไฟจะต้องแพงขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน”
และหลังจากการอภิปรายประเด็นดังกล่าว สิ่งที่ติดตามเธอมาก็คือ ‘คดีความ’
อะไรทำให้คุณเบญจาสนใจเรื่องการสะสมทุนของกลุ่มทุนพลังงาน
ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นว่า ทุนพลังงานนั้นใช้วิธีการสะสมทุน โดยไม่ได้ใช้นวัตกรรมอะไรเลย ตอนแรกนั้นเราสนใจผลกระทบจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งมีนายทุนเจ้าหนึ่งที่ได้ประโยชน์หลายอย่าง ตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ มีการทำเมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆ มากมาย เช่น โครงการถมทะเลที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
เราติดตามโครงการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และก็เห็นความผิดปกติมาโดยตลอด คือไม่ใช่ว่ามันมีกลุ่มทุนผูกขาดผลประโยชน์แค่เรื่องพลังงานเท่านั้น แต่ยังผูกขาดเรื่องน้ำและเรื่องที่ดินด้วย เช่น มีทั้งการไล่รื้อที่ดิน และกว้านซื้อที่ราคาถูกจากชาวบ้าน แล้วเอาไปขายนายทุนนิคมอุตสาหกรรมที่แพงกว่าเดิม ทำให้คนเดือดร้อนมาก
จากนั้นเราก็เห็นตัวละครบางคนที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาดเหล่านี้ ซึ่งมีการขยายขอบเขตจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ และไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ความผิดปกติที่พบเหล่านี้ ทำให้คุณเปิดประเด็นไม่ไว้วางใจกลุ่มทุนพลังงานในสภาฯ
พอเราเห็นและรวบรวมข้อมูล ก็เห็นความผิดปกติ เช่น โครงการถมทะเลที่มาบตาพุดกับแหลมฉบัง ทั้งสองแห่งนั้นมีเรื่องทุนพลังงานได้รับสัมปทานแจกฟรีจากรัฐ ทั้งหมดมีรายละเอียดบางอย่างในแผนพัฒนาพลังงานฉบับหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้นำเข้าก๊าช LNG ซึ่งมันโยงไปถึงกลุ่มทุนผูกขาดในโครงการนี้ด้วย
อธิบายคร่าวๆ ก็คือมีการสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่ม (LNG Terminal) ทั้งที่ประเทศก็มีสถานีอยู่แล้วสองแห่ง ซึ่งยังไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มความสามารถเลย เราก็เลยสืบค้นพบว่า มีนายทุนบางเจ้าที่เป็นผู้เล่นหลักในเรื่องนี้
ทั้งหมดนี้ พอนำมาปะติดปะต่อก็จะเห็นภาพรัฐที่เอื้อนายทุน ซึ่งพอไปสืบค้นหลายอย่าง ก็จะเห็นความเชื่อมโยง ยิ่งไปรื้อดูแผน PDP ก็จะเห็นความผิดปกติอย่างมากในเรื่องพลังงาน
ความจริงกลุ่มทุนเหล่านี้ก็ได้สัมปทานมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว จุดนี้คุณมองอย่างไร
ส่วนตัวเราก็ปฏิเสธไม่ได้ ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประเทศไทยก็มีอัตรากำลังสำรองไฟฟ้าที่สูง คืออยู่ที่ 29-30% โดยจุดสมดุลระหว่างความเสี่ยงจากการที่ระบบไฟฟ้าไม่มั่นคงกับต้นทุนการลงทุนเพื่อความมั่นคง จะอยู่ที่ 15% แต่ช่วง คสช. ที่มีแผน PDP ออกมา มีการพยากรณ์กำลังสำรองไฟฟ้าไว้สูงถึง 50-67%
เราอยากย้ำว่ามีข้อสังเกตอยู่ อย่างในแผน PDP และนโยบายพลังงานในช่วง คสช. ยึดอำนาจ มีอัตราการกำลังสำรองไฟฟ้าที่สูงมาก เริ่มตั้งแต่แผน PDP ใน ค.ศ. 2015 ซึ่งเกิดหลังการรัฐประหาร จุดนี้ทำให้เราเห็นว่าแผน PDP ที่ คสช. ทำเป็นฉบับแรกนี้ เป็นแผนอัปยศ และแปลกประหลาดกว่าแผนที่ทำมาในอดีตทั้งหมดเลย เป็นการวางแผนที่มีนัยสำคัญและเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน
อีกทั้งข้อสังเกตหนึ่งก็คือ ในไทยนั้นเราไม่ได้ผลิตกำลังไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินเพียงอย่างเดียว แต่มีการรับซื้อพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ถ้าดูจากแผน PDP 2015 จะเห็นว่ามันเอื้อนายทุนพลังงาน
การทำแผนในต่างประเทศนั้น เขาไม่ได้ทำกันแบบบ้านเรา ต้องเข้าใจว่าเขาเป็นตลาดเสรีไฟฟ้า กำลังผลิตที่เกินนั้นเป็นการลงทุนของเอกชน ซึ่งเอกชนต้องบริหารต้นทุนเอง รับผิดชอบเอง ไม่ได้เอาต้นทุนของผู้เล่นทุกรายมารวมอยู่ในค่าไฟ แต่ของบ้านเรานั้นเป็นระบบรวมศูนย์ (Single Buyer) ระบบเลยบังคับให้มีกลไกส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดมาที่ผู้บริโภค ยิ่งพอ คสช. เข้ามา เรายังซื้อไฟเข้าไปในระบบอีกเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่มีกำลังสำรองล้นเกินอยู่แล้ว ก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ แผน PDP ที่ทำกันมายิ่งไปเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่เข้ามาเล่นเรื่องพลังงานสะอาดด้วย ตรงนี้สะท้อนว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่แตกต่างจากแผน PDP ของต่างประเทศอย่างแน่นอน
จุดนี้สามารถบอกได้หรือไม่ว่า มีการวางแผนพลังงานที่ผิดพลาดจากหน่วยงานของรัฐ หรือมีการแทรกแซงในการทำแผนด้วย
เราอาจพูดได้ไม่ทั้งหมดว่ามีกระบวนการบางอย่างเข้าไปแทรกแซง แต่ก็พอเห็นจะเห็นภาพบางอย่างได้ เช่น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีประธานก็คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น มีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์บางอย่างให้กับนายทุน
ข้อสังเกตก็คือ นอกจากบ้านเราจะมีอัตรากำลังไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกิน และที่เราซื้อเพิ่มแล้ว ก็ยังมีไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระบบ ซึ่งต้องมีค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) ที่ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟด้วย สุดท้ายมันจึงเป็นต้นทุนราคาค่าไฟที่แพงขึ้นกว่าเดิม
องค์ประกอบทั้งหมดนี้นำไปสู่ค่าไฟที่แพงเป็นภาระต่อประชาชนอย่างไร
สำหรับค่าความพร้อมจ่ายนั้น ไม่ว่าเราจะใช้หรือไม่ใช้ ซื้อหรือไม่ซื้อ ทางโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ผลิตนั้น เราก็ยังต้องจ่ายค่าที่ว่านี้ ซึ่งต้องไปรวมต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และบวกกำไรเป็นค่าประกันให้กับนายทุนที่เขาทำโรงไฟฟ้าด้วย พอมีการนำเข้าไฟฟ้าเพิ่ม คนที่รับภาระก็คือประชาชน
เรื่องนี้ผิดปกติอย่างมาก เราจะมองว่าภาครัฐคาดการณ์ผิดในเรื่องไฟฟ้าก็อาจพูดได้ แต่พิจารณาให้ดี มันก็ไม่ควรจะพลาดได้ขนาดนี้ มันเหมือนเป็นวงจรที่วนไปมาเพื่อเอื้อให้กับนายทุนมากกว่า
เมื่อมาดูโครงสร้างค่าไฟฟ้านั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ผลิตไฟเอง และซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนควบคู่กันไป ดังนั้นมันจะมีเงินสองก้อนที่เราต้องใช้ในส่วนนี้ ก้อนแรก กฟผ. จะจ่ายเงินซื้อไฟจากเอกชนตามจำนวน แบบตรงไปตรงมา ซื้อเยอะก็จ่ายเยอะ
แต่ปัจจุบัน เราซื้อไฟ 60% กฟผ. ผลิตเอง 30% ดังนั้นเราซื้อไฟฟ้าเยอะมาก แล้วก็ต้องเสียค่า AP ที่ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งค่านี้คงที่อยู่ทุกปี และเราต้องจ่ายแม้โรงไฟฟ้าจะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าก็ตาม ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้า 12 โรง หยุดผลิตไปแล้ว 8 โรง แต่เราก็ยังต้องจ่ายเงินค่า AP ให้อยู่เหมือนเดิม
ที่สำคัญคือ รัฐบาลชุดนี้ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ประหลาด คือเมื่อผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer: IPP) หยุดผลิตไฟฟ้า ก็มีการกำหนดในแผน PDP ให้ไปซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูง มีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าโรงไฟฟ้าแบบ IPP จนทำให้ต้นทุนการผลิตค่าไฟมากขึ้น ประชาชนอย่างเราๆ ก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก
ทั้งหมดนี้ ก็กลับไปสู่การออกแบบแผน PDP ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในเรื่องนี้
ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องที่กระทบในเรื่องค่าไฟ คือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีการอนุมัติให้ซื้อไฟฟ้าที่เขื่อนในประเทศลาวอีกสองแห่ง คือเขื่อนหลวงพระบางกับเขื่อนปากแบง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะเรามีกำลังไฟฟ้าล้นเกินอยู่แล้ว ยิ่งพอไปทำแบบสัญญานี้ ก็จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นกว่าเดิมด้วย
ตอนนี้ค่าไฟฐานของเราถูกขีดเส้นไว้ที่ 2.57 สตางค์ต่อหน่วย พอไปซื้อไฟเพิ่มจากลาวที่มีกลุ่มทุนพลังงานของไทยเป็นเจ้าของ ตรงนี้มันก็ยิ่งทำให้เห็นความชัดเจนของการเอื้อประโยชน์มากขึ้น
แถมไฟฟ้าที่เราไปซื้อจากลาวนั้น ยังมีค่าไฟฐานสูงกว่าบ้านเราด้วย โดยที่เขื่อนหลวงพระบางค่าไฟฐานจะอยู่ที่ตัวเลข 2.84 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนที่เขื่อนปากแบง อัตราอยู่ที่ 2.92 สตางค์ต่อหน่วย เราเห็นว่าค่ามันสูงกว่าปกติ แม้จะดูเหมือนน้อย แต่พอซื้อเป็นเมกะวัตต์ มันเยอะมาก
คำถามก็คือเราไปรับซื้อไฟฟ้าจากค่าไฟฐานที่สูงกว่าทำไม แค่นี้ก็เห็นความผิดปกติแล้ว
ส่วนต่างตรงนี้จะทำให้ค่า FT (Float Time หรือการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งเป็นกลไกกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติสูงขึ้น ประชาชนก็ต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าเดิม นอกจากนี้ค่า FT นั้น ทาง กฟผ. เองก็แบกรับภาระหนี้อยู่ นับถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็มียอดสูงประมาณ 113,476 ล้านบาท
ที่ผ่านมาทาง กฟผ. ก็มีการกู้เงินมาชำระไปแล้ว และมีการขอกู้เพิ่มอีก 8.5 หมื่นล้านบาทเพื่อเอามาชำระค่าไฟฟ้าที่แบกไว้ ซึ่งตอนนี้คนทั่วไปก็จ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้ว ต้องอย่าลืมว่า พอเก็บค่าไฟฟ้าแพง เพื่อจะทำให้ภาระหนี้ในสิ้นปีนี้ลดลง แต่เราต้องอย่าลืมว่าหนี้เก่านั้นก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน หนี้ก็จะถูกทบไปเรื่อย
ดังนั้น ค่าไฟฟ้าก็ยังจะต้องแพงขึ้นไปอีกในอนาคต และปีหน้าเราก็จะต้องเจอผลกระทบแบบนี้อีกแน่นอน
ย้อนกลับมาที่แผน PDP ซึ่งเปลี่ยนไปมาบ่อยมาก ทำให้ชวนคิดว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่
เมื่อไปตรวจแผนดู ก็จะเห็นเป็นแบบนั้นจริงๆ ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแผน PDP จากปี 2015 มาเป็น 2018 และมีแผน 2018/Revised ล่าสุดคือแผน 2022 ก็เห็นความผิดปกติ คนทำแผนเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้เลย ซึ่งแผน PDP นี้ ภาคประชาชนเองก็ตรวจสอบไม่ได้ด้วย สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์นั้นยังมีการเปิดรับฟัง จะฟังมากฟังน้อย ก็ยังไปถกเถียงกันได้ แต่พอทำแผน PDP ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา กลับไม่มีการเปิดให้มีการรับฟังเพื่อออกแบบแผนร่วมกันเลย
ยิ่งพอแผน PDP 2018 ออกมานั้น กำลังไฟฟ้าเราล้นเกินอยู่แล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่ต่อสัญญาสัมปทานกับโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ทั้งที่ยังมีกำลังการผลิตอยู่ แถมประชาชนจะได้ประโยชน์จากค่าไฟที่ถูกลง แต่ทางรัฐบาลดันยกสัมปทานการผลิตไฟฟ้านี้ไปให้กลุ่มทุนหนึ่งฟรีๆ โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขัน
นอกจากนี้ยังมีการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินช่วงก่อน คสช. ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ได้ไปนั้นให้ค่าไฟต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ทาง กฟผ. ไม่ได้มีการซื้อขาย จนหลังรัฐประหารมีการเปลี่ยนพลังงานถ่านหินเป็นก๊าซ LNG พอแผน PDP 2018 เห็นชอบโดย ครม. โครงการนี้ก็ลงนามกับ กฟผ. ทันที ทั้งที่ไม่ได้ทำรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA)
การที่โรงไฟฟ้าสองแห่งนี้ได้สัมปทาน มันเกิดขึ้นอย่างเร่งรีบ สุดท้ายนายทุนพลังงานเจ้าหนึ่งก็เข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ในโรงไฟฟ้าทั้งสองนี้ จนทำให้ตัวเองเป็นเจ้าของสัมปทานในที่สุด ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่น่าประหลาดใจอย่างมาก
ทีนี้พอดูรีวิวแผน PDP 2018 มีการเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาด้วย ซึ่งได้เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองและกลุ่มทุน แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย
เดิมนั้นสัญญา PDP เปิดเผยได้ แต่ตอนนี้เปิดเผยได้ยาก และประเทศไทยเราเปลี่ยนแผนกันบ่อยมาก แตกต่างจากต่างประเทศ
ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานรัฐก็เน้นเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะเรานำเข้าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 60% อาจเหมือนสูงมาก แต่ก็พูดไม่หมด เช่น การขึ้นค่า FT มันก็มีค่าอื่นด้วย ไม่ได้บอกว่าเราซื้อไฟเพิ่มขึ้นมาเก็บไว้ จนมีต้นทุนมากกว่าค่าเชื้อเพลิง ซึ่งในการประชุมกรรมาธิการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนสภาผู้เเทนราษฎร ก็ได้ซักถามไปยัง กฟผ. แต่หน่วยงานรัฐก็ตอบไม่หมด
เขาบอกว่ามันเกิดจากสงครามการรุกรานยูเครน หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้สนใจแผนรัฐบาล ไม่ล้วงลูก ก็พูดในส่วนที่ตัวเองรับภาระอย่างเดียว สิ่งที่เขาตอบเหมือนกับว่าแต่ละหน่วยงานแยกกันทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ได้มาร่วมมือกัน เขาไม่ได้บอกว่าทำเพื่อเอื้อประโยชน์ใครบางคน ก็อ้างเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานอย่างเดียว แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นความมั่นคงของใครกันแน่
ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขหรือทำอะไรได้บ้าง เพราะเหมือนคนที่อยู่นอกวงจะจัดการอะไรไม่ได้เลย
เราอยากให้แผน PDP 2022 ได้เปิดเป็นสาธารณะ เพราะวันนี้ก็มีการเพิ่มพลังงานทางเลือก ซึ่งจะไปเอื้อประโยชน์กลุ่มนายทุนพลังงาน จึงพยายามชะลอเรื่องการซื้อขายไฟฟ้ากับเขื่อนในต่างประเทศไปก่อน
สำหรับแผน PDP 2022 นี้ เห็นชัดว่าทำให้เอกชนรายย่อยๆ เข้าสู่กิจการประเภทนี้ไม่ได้ เพราะนายทุนพลังงานพวกนี้ใช้วิธีการแตกต่างจากนายทุนทั่วโลก คือสะสมทุนและได้รับการเอื้อประโยชน์จากรัฐ ผู้เล่นยักษ์ใหญ่พลังงานเขาได้สัมปทานถมทะเล ซึ่งมีข้อกังขาเต็มไปหมด ผู้เล่นรายอื่นๆ ก็เข้าไปไม่ได้ และจุดนี้จะเรียกว่าตลาดเสรีไม่ได้ด้วย เพราะทั้งหมดชัดเจนว่ามีการผูกขาด
เรื่องเหล่านี้จะแก้ไขได้ ถ้าเปิดพื้นที่ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้จากทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นธรรมและเสรีกว่า เพราะทุกวันนี้ ตัวนายทุนมีอำนาจเหนือรัฐ เหนือผู้กำกับนโยบาย ซึ่งสร้างปัญหามาก เพราะคนกำกับนโยบายก็ไปออกแบบเอื้อนายทุน
ที่ผ่านมา คุณเบญจาได้อภิปรายเรื่องทุนพลังงานในสภาฯ และเดือนเมษายน 2564 คุณก็ถูกบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท และเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท ตอนนี้คดีความเป็นอย่างไรบ้าง
เราก็ยังพูดถึงได้ปกติ แต่ทำให้คนที่มาคุยกับเรา เขาก็กังวล และระวังมาก อย่างที่บอกว่าไม่มีใครกล้าพูด แม้อาจจะมีคนพูดถึงเหมือนกัน แต่จะเลี่ยงพูดถึงกลุ่มทุนพลังงาน ทั้งที่ในยุคพลเอกประยุทธ์นั้นได้ทำให้เจ้าสัวและนายทุนตระกูลพลังงานมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ชนิดที่เรียกว่ารวยแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว แต่กลับไม่มีใครพูดถึง
เราจะเห็นได้เลยว่าการพูดถึงกลุ่มทุนพลังงานในประเทศนี้เป็นเรื่องน่ากลัว มีความพยายามปิดปากตลอดเวลา แม้แต่เราอภิปรายเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีการประท้วงบ่อยครั้งมาก จนอภิปรายไม่ต่อเนื่อง มีการขัดไม่ให้พูดถึงบุคคลภายนอก
นอกจากนี้เวลาจะพูดชื่อ เราก็พูดถึงไม่ได้ แม้กระทั่งชื่อย่อ เพราะเขาบอกว่ามันก็มีอยู่เจ้าเดียว ทำให้บุคคลภายนอกจะกล่าวถึงกลุ่มทุนพลังงาน ก็มีความกังวลว่าอาจถูกฟ้องทางกฎหมาย มีความเสี่ยง แม้แต่สื่อก็กังวลไม่กล้าจะพูดถึงกลุ่มทุนด้วย เพราะอาจถูกฟ้องปิดปาก พอพูดในสภาฯ ก็ทำได้ยาก ทั้งที่เราพูดถึงกลุ่มทุนอื่นๆ ที่ได้สัมปทานเรื่องอื่นในสภาฯ ก็ยังไม่ถูกฟ้อง
ทนายความของบริษัทเขาบอกตอนสืบพยานว่า ถ้ามีการพูดชื่อออกมา แม้แต่คำเดียว จะผิดไม่ผิด ก็จะฟ้องไว้ก่อน
หากถามว่าแปลกไหม ก็ต้องตอบว่าในไทยมันคงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในสากลนั้นแปลกมาก เพราะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เราสามารถพูดถึงได้ แต่นี่แม้กระทั่งในสภาฯ ยังทำไม่ได้ หน่วยงานรัฐที่มาประชุมก็ไม่กล้าพูดชื่อกลุ่มทุน บอกว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ พอพื้นที่ในสภาฯ ยังเป็นแบบนี้ พื้นที่ภายนอกก็ยิ่งไม่ปลอดภัย การขุดคุ้ยของสื่อในเรื่องเหล่านี้ให้ประชาชนรับทราบ ก็ทำได้ยาก
แน่นอนว่าการกล่าวถึงนั้น เรายังไม่รู้ว่าเขาทำผิดจริงหรือไม่ แต่จำเป็นต้องมีกระบวนการไปตรวจสอบข้อมูลตรงนี้สิ พอถูกฟ้องแบบนี้ ก็จะไม่มีใครไปเช็กเลย ก่อนจะอภิปราย เราก็รู้ว่าเขามีอิทธิพล รู้ว่าอาจจะถูกฟ้อง และเราก็คิดไว้สองประเด็นก็คือ
หนึ่ง การฟ้องเป็นข้อดี ทำให้หุ้นเขาขึ้น
สอง การอภิปรายทำให้หุ้นเขาตก ทำให้เราต้องรับผิดชอบเพราะเกิดความเสียหาย
สุดท้ายมันเป็นผลดีต่อบริษัทเขา ทำให้หุ้นขึ้น เพราะคนเห็นว่าทุนพลังงาน มันน่าลงทุน แต่เราก็ถูกฟ้อง เราคิดว่าที่จริงประเทศนี้ไม่ควรมีอะไรที่เป็นเรื่องอันตรายจนพูดถึงมันไม่ได้อีกแล้ว
คุณเบญจาคิดว่าอะไรทำให้บริษัทแห่งหนึ่งระมัดระวังสูงมากกับการถูกเอ่ยถึงต่อสาธารณะ
เขาคงไม่อยากถูกเปิดหน้าว่าเชื่อมโยงกับรัฐบาลเป็นพิเศษหรือเปล่า และการเป็นผู้เล่นซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีธรรมาภิบาล แล้วมีการเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล เขาก็คงคำนึงถึงชื่อเสียงของเขาในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทุนกลุ่มอื่นๆ ที่เขาบริจาคให้รัฐบาล เราก็ยังมีการนำเสนอ ยังพูดถึงได้
ตรงนี้เลยคาดว่าเจ้าของกลุ่มทุนนี้ก็คงกังวล หากจะถูกมองว่าใกล้ชิดกับรัฐบาล ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาก็คุ้นชินกับทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ตอน คสช. ยึดอำนาจ เขาก็ถูกเรียกไปรายงานตัวด้วย แล้วเขาก็เปลี่ยนฝั่ง หรือบางทีเขาอาจไม่ได้เปลี่ยน แต่อยู่ฝั่งรัฐบาลมาตลอด เพราะทุนไฟฟ้ามันใช้การสะสมทุน เข้าไปแสวงหาประโยชน์จากสัมปทานที่มาจากภาครัฐ
ทั้งหมดก็คงเป็นเรื่องปกติ ที่ว่านายทุนใหญ่ก็ต้องอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน
สถานการณ์ต่อจากนี้ อะไรคือสิ่งที่ประชาชนควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
โดยส่วนตัวเราก็อยากให้มีการชำแหละโครงสร้างค่า FT ว่าเอาอะไรมาคำนวณบ้าง เพราะทั้งหมดเป็นตัวเลขที่ทำให้พวกเราใช้ไฟแพงขึ้น หากค่าไฟขึ้นอีกปีหน้า ค่าครองชีพก็จะสูงขึ้น อยากฝากให้จับตาตรงนี้ เพราะการคำนวณนั้นทำได้ยาก แต่โครงสร้างเราดูได้ในภาพใหญ่ๆ ที่สำคัญคือ อยากให้โครงสร้างค่าไฟฟ้าโปร่งใส เพราะจะช่วยลดภาระของประชาชนได้
และเมื่อพิจารณาแผน PDP 2022 ที่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงาน ซึ่งถ้าเขาครอบครองกำลังผลิตไฟฟ้าที่สูงมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อการแข่งขันในตลาดเสรี จนเกิดการผูกขาดในธุรกิจ ในอีกด้านหนึ่งมันยังส่งผลต่อประชาชนอย่างชัดเจน
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายครั้งที่แผน PDP นี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ ที่ผ่านมาก็มักจะมีการอนุมัติอะไรออกมาแบบแปลกๆ ดังนั้นก็อยากให้ภาคประชาชนและสื่อมวลชนตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แผน PDP นี้ควรจะโปร่งใส ตอนนี้อยู่ในช่วงการรออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่เป็นพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามารักษาการแทน ดังนั้นก็ควรต้องจับตาเป็นอย่างยิ่ง
เพราะตอนนี้ เราต้องอย่าลืมว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนจ่ายค่าไฟไปนั้น มันเข้ากระเป๋าพวกนายทุนเหล่านี้ และจะทำให้พวกเขารวยขึ้นกว่าเดิมด้วย
Fact Box
- ปี 2564 นอกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเรื่อง ‘กลุ่มทุนพลังงาน’ แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้ เบญจา แสงจันทร์ แจ้งเกิด ก็คือการอภิปรายเรื่องงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ และงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2565 การอภิปรายครั้งนั้นทำให้มีผู้ยื่นเรื่องยุบพรรคก้าวไกลต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ กกต. ก็ปัดตกเรื่องดังกล่าวไปแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
- เบญจา แสงจันทร์ เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสมัยแรกของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านี้เธอทำงานในฐานะนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดชลบุรี และมีความชื่นชอบและสนใจติดตามการเมืองมาโดยตลอด เธอสมัครเป็นสมาชิกพรรค และสมัครเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่จากการชักชวนของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยคำพูดที่ว่า “คุณเบญอย่ารอคอยการเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คุณจงมาเป็นส่วนหนึ่งของมัน” โดยเธออยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 40 ซึ่งสูตรการคิดคะแนนบัญชีรายชื่อจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทำให้พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสูงถึง 57 คน
- เมื่อปี 2563 หลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่นาน เบญจาคือผู้ที่ออกมาแฉว่ามีข้อเสนอ ‘ซื้อตัว’ เธอ ให้ย้ายพรรคมาแล้ว 3 ครั้ง โดยมีการเสนอมูลค่าสูงถึง 23 ล้านบาทต่อหัว