หลังจากที่ฉากสุดท้ายของ The Whale (2022) สิ้นสุดลงบนจอภาพยนตร์ ภายหลังฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังนานาชาติเวนิส ก็ตามมาด้วยเสียงปรบมือกราวใหญ่ที่มีให้แก่ตัวภาพยนตร์และการแสดงอันยอดเยี่ยมของ เบรนแดน เฟรเซอร์ (Brendan Fraser) นักแสดงนำในเรื่อง จนเขาลุกขึ้นจากที่นั่งมาโค้งคำนับทั้งน้ำตา
นี่อาจเป็นการหวนคืนสังเวียนอีกครั้งของเฟรเซอร์ แม้ว่าที่ผ่านมา เขาจะไม่ได้ห่างหายจากอุตสาหกรรมฮอลลีวูด เพียงแต่มักไปปรากฏตัวในหนังฟอร์มเล็กและซีรีส์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์เสียมาก จนหลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าเฟรเซอร์คือหนึ่งในนักแสดงชายที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งช่วงต้นยุค 2000s ก่อนที่เขาจะค่อยๆ หายหน้าหายตา มีข่าวคราวเรื่องสุขภาพและภาวะตึงเครียดมาให้เห็นประปราย
เฟรเซอร์ไม่ได้ร่วงหล่นลงไปอยู่ในจุดนั้นด้วยตัวเอง หากแต่เขาถูกกลั่นแกล้งและทำร้ายอย่างรุนแรงเสียจนยังผลให้เขากลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว และต้องบำบัดภาวะซึมเศร้าครั้งใหญ่ ก่อนจะค่อยๆ หวนกลับสู่งานแสดงอันเป็นที่รักของเขาอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี กลับมาที่หนัง The Whale ซึ่งส่งให้ชื่อของเฟรเซอร์ติดลมบนอีกหนหลังห่างหายไปพักใหญ่ หนังกำกับโดย ดาร์เรน อาโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) คนทำหนังที่ทุบประสาทคนดูจนน่วมมาแล้วจาก Requiem for a Dream (2000), Black Swan (2010) เล่าเรื่องของ ชาร์ลี (เฟรเซอร์) ที่หลังจากชีวิตเสียสูญ เขาก็ตะบี้ตะบันกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนน้ำหนักทะยานขึ้น หลายปีถัดจากนั้นเมื่อชาร์ลีตั้งตัวได้ เขาพยายามกลับไปพูดคุยกับ เอลลี (ซาดี ซินค์) ลูกสาววัยสิบเจ็ดปีผู้เหินห่าง ตัวหนังส่งอาโรนอฟสกีคว้า 3 รางวัลใหญ่จากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส และเข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่สุดของงานด้วย ขณะที่ตัวเฟรเซอร์นั้นนอกจากจะได้รับคำชื่นชมมหาศาลแล้ว ล่าสุดเขายังได้รับรางวัลเกียรติยศจากเทศกาลหนังนานาชาติโตรอนโตด้วย ซึ่งเขากล่าวคำขอบคุณไว้อย่างน่าซึ้งใจและเปี่ยมอารมณ์ขันว่า
“นี่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมมากนะครับ เพราะปกติแล้วผมมักทำหน้าที่เป็นคนเชิญรางวัลมากกว่า จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่รอได้ยินชื่อตัวเองถูกประกาศว่าได้รางวัลก็เมื่อเกรดสี่จากการแข่งโบว์ลิงสำหรับเด็กน่ะครับ”
สำหรับเฟรเซอร์ หลายคนน่าจะประทับใจเขาจากหนังคอเมดีผจญภัย George of the Jungle (1997) ที่เขารับบทเป็นเด็กชายที่โตในป่ากับครอบครัวกอริลล่า และต้องเปลือยอกโชว์หุ่นสุดเฟิร์มตลอดทั้งเรื่อง ตามมาด้วยหนังที่แจ้งเกิดเขาในวงกว้างอย่างเป็นทางการคือ The Mummy (1999) และ The Mummy Returns (2001) ที่กวาดรายได้ถล่มทลายหลังหนังออกฉาย สร้างภาพจำเฟรเซอร์ในฐานะนักแสดงหนุ่มอนาคตไกล อย่างไรก็ตาม การโหมทำงานหนักจนมีภาพยนตร์ออกฉายปีต่อปีเช่นนี้ทำให้ร่างกายของเฟรเซอร์พังทลายลงอย่างช่วยไม่ได้ ถึงจุดหนึ่งเขาป่วยหนักและจำต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท “ตอนผมไปถ่ายทำ The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor (2008) ที่จีน ผมต้องเอาน้ำแข็งประคบตัวอยู่ตลอดเวลาเลย” เขาเล่า
สิ่งที่รุนแรงอย่างยิ่งคือเฟรเซอร์ออกมาเผยเมื่อปี 2018 ผ่านบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ GQ ว่า เขาเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในปี 2003 โดย ฟิลิปป์ เบิร์ก ที่ในเวลานั้นเป็นประธานสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวูด (Hollywood Foreign Press Association: HFPA) และในบทความดังกล่าวนั้นระบุว่า เฟรเซอร์ดูตึงเครียดและเล่าประสบการณ์ดังกล่าวด้วยความยากลำบาก “ก่อนหน้านี้ผมไม่มีความกล้ามากพอจะพูดเรื่องที่สุ่มเสี่ยงให้อาชีพตัวเองย่อยยับน่ะ”
กล่าวคือในปี 2003 เมื่อครั้งที่สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวูดจัดงานในโรงแรมหรู ฟิลิปป์ เบิร์กเข้ามาทักทายและจับมือกับเฟรเซอร์ โดยมีคนเห็นว่าเขาแอบล้วงมือไปหยิกก้นเฟรเซอร์ด้วย (ชารอน แว็กซ์แมน ระบุเรื่องนี้ไว้ในบทความของเธอที่ The New York Times) และเบิร์กก็บอกว่าเขาหยิกก้นเฟรเซอร์จริงๆ แต่เฟรเซอร์บอกว่ามันมากกว่านั้น “เขาเอื้อมมือซ้ายแปะป่ายลงมาขยำก้นผม แล้วกดนิ้วหนึ่งลงบนก้น คลึงอยู่ตรงนั้น” เฟรเซอร์เล่าถึงช่วงตึงเครียดสุดขีด ก่อนจะปัดมือเบิร์กทิ้ง “ผมรู้สึกเหมือนจะป่วย เหมือนเป็นเด็กตัวเล็กๆ มีลูกบอลขนาดยักษ์ติดอยู่ในคอ และอยากร้องไห้เหลือเกิน”
แน่นอนว่าเฟรเซอร์เร่งรีบออกจากห้องไปยังนอกโรงแรม และแม้ยืนอยู่ตรงหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนรักษาความปลอดภัยในงานอยู่ เขาก็ไม่มีแรงมากพอจะบอกเรื่องนี้ให้อีกฝ่ายฟังได้ กว่าที่เขาจะรวบรวมเรี่ยวแรงเพื่อบอกสิ่งที่เกิดขึ้นในงานก็ล่วงไปเมื่อเขาเดินทางกลับไปบ้าน และตัดสินใจเล่าเรื่องนี้ให้ภรรยาฟัง “มันเหมือนมีคนขว้างความเจ็บปวดที่มองไม่เห็นใส่ผม” (โดยบทความของ GQ ยังรายงานด้วยว่า เบิร์กซึ่งตอนนี้ยังเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวูด เขียนอีเมลมาพร้อมระบุว่า “สิ่งที่คุณเฟรเซอร์เล่านั้นไม่จริงเลย”)
สิ่งที่เฟรเซอร์ทำในเวลานั้นคือให้ตัวแทนของเขาติดต่อไปยังสมาพันธ์ฯ เพื่อให้ทางสมาพันธ์ฯ เขียนคำขอโทษกลับมา “ผมไม่ได้อยากบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันทำให้ผมรู้สึกอะไร หรือมันกลายเป็นสิ่งที่ผมเล่าเพียงคนเดียว” กระนั้น สิ่งที่เบิร์กตอบกลับผ่านจดหมายคือ “หากผมทำอะไรให้คุณเฟรเซอร์ไม่พอใจ ก็ขออภัยด้วย” อย่างไรก็ตาม เฟรเซอร์เล่าว่านับแต่นั้น หากต้องมีการร่วมงานใดต่อกัน สมาพันธ์ฯ ก็ไม่ให้เบิร์กได้อยู่ร่วมห้องกับเฟรเซอร์อีกเลย (ส่วนเบิร์กปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่ความจริง ด้านสมาพันธ์ฯ เองไม่ออกความเห็นต่อเรื่องนี้)
“ผมซึมเศร้าหนัก เอาแต่โทษตัวเองจนชีวิตดิ่งลงเรื่อยๆ เพราะเอาแต่พูดว่า ‘มันไม่มีอะไรน่า หมอนั่นก็เอื้อมไม้เอื้อมมือจับอะไรไปเรื่อย’ เป็นเช่นนั้นทั้งฤดูร้อน ผมเองจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำงานทำการอะไรไปบ้าง”
ประสบการณ์นั้นทำให้เฟรเซอร์ถดถอยออกมาจากสายตาของสาธารณะ พร้อมกันนั้น เขาตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สมาพันธ์ฯ จะเอาชื่อเขาขึ้น ‘บัญชีดำ’ และแทบไม่มีงานใดเข้ามาเลย “ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเกี่ยวข้องกันไหม แต่ช่วงนั้นงานผมเงียบมากจริงๆ” ยังไม่นับว่าหลังจากปี 2003 หลังเกิดเรื่อง เขาแทบไม่ได้รับเชิญให้ไปงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำซึ่งจัดโดยสมาพันธ์ฯ เลย แน่นอนว่าเบิร์กให้การปฏิเสธเรื่องนี้และว่า “ความล้มเหลวทางหน้าที่การงานของคุณเฟรเซอร์นั้นไม่เกี่ยวอะไรกับเรา”
รวมทั้งเรื่องที่ว่า การถูกล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชีวิตเขา ในแง่ที่เฟรเซอร์รู้สึกตัวตนของเขาถูกกลืนกลายด้วยความทรงจำเลวร้ายครั้งนั้น กระทั่งเมื่อปี 2017 ที่เกิดปรากฏการณ์ #MeToo ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศครั้งใหญ่ในฮอลลีวูดเมื่อเหล่านักแสดงทั้งหญิงและชายพากันออกมาเปิดโปงว่าพวกเขาเคยตกเป็นเหยื่อการคุกคามโดย ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์หนังชื่อดังจนกลายเป็นกระแสที่กระเพื่อมไปทั่วโลก และงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำปีนั้น (ซึ่งเฟรเซอร์ไม่ได้ไปร่วมงาน) เหล่านักแสดงหญิงก็พากันสวมชุดดำ และนักแสดงชายติดเข็มกลัด Time’s Up (หมดเวลาแล้ว) เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน
เฟรเซอร์นั่งดูงานประกาศรางวัลจากโรงแรม แน่นอนว่าเบิร์กไปร่วมงานดังกล่าว “แน่นอนสิว่าผมยังกลัวจนตัวสั่น แต่ถามว่าอยากพูดอะไรสักอย่างออกมาไหม นั่นก็แน่นอนอีกเหมือนกัน แล้วยังต้องรอเวลาอีกนานหรือเปล่า ผมก็ตอบได้ว่าอีกนาน และผมหยุดตัวเองไว้ตรงนั้นหรือเปล่า คำตอบคือใช่อีกเช่นกัน”
แต่นั่นก็เป็นพลังผลักสำคัญทำให้เฟรเซอร์ตัดสินใจออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่สุดเมื่อปี 2018 ยังผลให้เกิดแรงสะเทือนขึ้นอีกคำรบ เพราะชัดเจนว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในนักแสดงหญิงเสมอไป หากแต่นักแสดงชายก็มีสิทธิเป็นเหยื่อได้เช่นกัน ทั้งยังตั้งคำถามต่อสมาพันธ์ฯ และท่าทีที่มีต่อการล่วงละเมิดทางเพศเช่นนี้ แม้ว่าทางสมาพันธ์ฯ เองจะออกมาตอบโต้ก็ตามว่า “ยืนหยัดต่อต้านการคุกคามในทุกกรณี” หากแต่การที่เบิร์กยังคงมีหน้ามีตา เป็นหนึ่งในสมาชิกสำคัญของทางสมาพันธ์ฯ ข้อกังขาจึงยังดำเนินเรื่อยมาและไม่มีทีท่าว่าจะจางลง
การหวนกลับมาอีกครั้งของเฟรเซอร์ใน The Whale จึงเป็นการหวนคืนกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของเฟรเซอร์ ที่การกลับมาของเขานั้นได้รับกระแสตอบรับอันแสนอบอุ่นจากการแสดงระดับมหากาฬที่หลายสื่อเขียนชื่นชมไม่ขาดสาย และหลายคนคะเนว่าอาจมีสิทธิส่งเขาเข้าชิงออสการ์ก็เป็นได้ รวมทั้งเป็นการกลับมาที่ทำให้เขาได้เห็นว่า มีผู้คนอีกมากมายที่รักและพร้อมจะเคียงข้างเขาเรื่อยไป นับตั้งแต่วันที่เขาเป็นเด็กโตในป่า เป็นนักผจญมัมมี่ และเรื่อยไปจนถึงบทบาทใหม่ๆ ในอนาคต
Tags: เบรนแดน เฟรเซอร์, Brendan Fraser, The Whale, Screen and Sound