1

“เวลาที่ข้าพเจ้าเล่นกับแมว ข้าพเจ้าจะรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่ได้ฆ่าเวลากับข้าพเจ้า หาใช่ข้าพเจ้าฆ่าเวลากับมัน” (หน้า 18)

เราต่อต้านการเป็นทาส แต่กลับเต็มใจอย่างยิ่งที่จะเป็นทาสของแมว แมวไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงประจำบ้านที่มีขนปุกปุยน่ารักหรือเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ในฐานะเจ้าของ หากแต่แมวมีความเป็นแมว เกินกว่าที่ใครจะได้ครอบครองมันจริงๆ 

แม้จะผ่านสมัยที่มีผู้คนมากมายสักการะ หรือเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณมาหลายต่อหลายยุค แมวก็ยังคงเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถคิดในเชิงนามธรรมได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแมวกับปรัชญาจะเป็นคนละเรื่องกัน 

‘Feline Philosophy-ปรัชญาแมว ปัญญาเหมียว ผลงานปรัชญาฉบับแมวๆ จากจอห์น เกรย์ (John Gray) เล่มนี้ ไม่ได้จะพาไปรู้ลึกถึงความรู้สึกนึกคิดของแมว หากแต่เป็นการชวนมนุษย์แบบเราๆ ไปทบทวนความหมายของชีวิตตน ผ่านแนวคิดเชิงปรัชญาหลากแขนงและแมวเหมียว สัตว์เลี้ยงตาแป๋วที่ไม่เคยสูญเสียความเป็นตัวเองไป 

2

ความสัมพันธ์ของปรัชญาและแมวถูกเล่าผ่านประเด็นที่ดูจะเป็นเรื่องของมนุษย์ อย่างความสุข จริยศาสตร์ ความรัก ความตาย และความหมายของชีวิต สิ่งที่มนุษย์ยังคงต้องใคร่ครวญอยู่ทุกเมื่อ ที่พอพิจารณาดูแล้วจึงพบว่าแมวไม่ต้องพยายามค้นหาคำตอบเหล่านี้แต่อย่างใด

ความสุขคือหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์พยายามไขว่คว้าจนแทบกลายเป็นเป้าหมายหลักของชีวิต เราทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายเพียงเพื่อพบความสุข แต่แมวไม่ต้องทำเช่นนั้น การมีความสุขถือเป็นสภาวะปกติของเจ้าเหมียว มันมีความสุขได้ด้วยตัวเองแม้ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ทางการงาน เงินทอง หรือชีวิตทางสังคมใดๆ เลย 

จุดที่ทำให้แมวกับมนุษย์ต่างกันที่สุด คือการที่แมวมีความสุขที่ได้เป็นตัวของตัวเอง ขณะที่มนุษย์พยายามจะมีความสุขด้วยการหนีจากสิ่งที่ตัวเองเป็น แม้ในยามออดอ้อนคลอเคลีย แมวไม่ได้สูญเสียความเป็นแมวไปแต่อย่างใด มันยังคงเป็นมัน เป็นอื่นจากเรา มีความเย่อหยิ่งในตัวเองสูง และน่าแปลกที่จุดนี้ทำให้พวกทาสแมวยิ่งหลงรัก

3

อีกเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับแมวคือเรื่องของศีลธรรม มนุษย์เชื่อว่าตนมีศีลธรรมสูงส่งกว่าใคร ซึ่งอาจจะถูก แต่ปัญหาของความคิดเรื่องศีลธรรมคือการที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศีลธรรมคืออะไร มันเป็นเพียงการตัดสินเชิงคุณค่าที่แต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน

ในแง่จริยศาสตร์ระหว่างมนุษย์กับแมว อย่างจริยศาสตร์ในแบบอริสโตเติล อิงอยู่บนฐานของทัศนะที่ว่ามนุษย์ประเภทที่ดีที่สุดคือมนุษย์เพศชาย มีบริวาร และเป็นชาวกรีกผู้แสวงหาความรู้ ว่าง่ายๆ ก็คือตัวเขานั่นเองที่ดีที่สุด แนวคิดประเภทนี้เป็นการใช้มาตรวัดของตนมาจำกัดความเป็นไปได้ต่างๆ ด้วยคำว่า ‘ดีที่สุด’ ขณะที่จริยศาสตร์แบบแมวต่างออกไป 

ผู้เขียนยกตัวอย่างแบบทดสอบการรับรู้ในตัวเองในกระจก (Mirror Self Recognition: MSR) ของแมว พบว่าแมวเมินเฉยไม่ตอบสนองต่อภาพตัวเองในกระจก มันอาจดูเย่อหยิ่งและเป็นเจ้านายสุดเอาแต่ใจ แต่มันไม่ได้มีมโนภาพแห่งการรับรู้ตัวเอง การเป็นตัวของตัวเองของแมวจึงไม่ได้เป็นไปด้วยความเห็นแก่ตัว แมวไร้อัตตา จริยศาสตร์ของมนุษย์อย่างอริสโตเติลกับแมวเหมียวจึงไม่มีวันมาพบกัน

4

“ความรักของมนุษย์เต็มไปด้วยรอยตำหนิ และยามไร้ตำหนิ คนเราก็มักเข้าใจความรักผิดๆ ปฏิเสธความรัก ใช้งานความรัก ไม่ก็บงการความรักอยู่ร่ำไป”

“มนุษย์มักเลือกที่จะเจ็บปวด แต่สัตว์ไม่เป็นแบบนั้น สัตว์รับความรักได้ง่ายดายเสียยิ่งกว่ามนุษย์ในวัยแรกรุ่น” (หน้า 123)

จอห์น เกรย์ ยังเล่าถึงวรรณกรรมหลากหลายเรื่องที่ดำเนินโดยมีแก่นเนื้อหาคือความรัก คน และแมว พาให้เราได้ทบทวนถึงรูปแบบความรักของมนุษย์ที่ไม่อาจพบเจอได้ในแมว หรือประเด็นเรื่องความตายที่ไปไกลกว่าตำนานแมวเก้าชีวิตที่คนพูดกันจนติดปาก แต่ยังมีการพูดถึงเรื่องอุดมการณ์ของชีวิตมนุษย์กับการเป็นแมวซึ่งไม่มีสิ่งใดเหมือนกันเลย

ช่วงท้ายมีการสรุป 10 เคล็ดลับสู่ชีวิตที่ดีตามวิถีแมวเหมียว ที่แม้ว่าแมวอาจไม่ได้เป็นผู้มอบแง่มุมพวกนั้นให้เราอย่างตั้งใจ แต่สัตว์เลี้ยงขนปุกปุยที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มาอย่างยาวนานนี้อาจทำให้เราได้สำรวจ ขบคิด และดำเนินชีวิตอย่างทุลักทุเลน้อยลงได้ 

ในเมื่อปรัชญาเกิดจากความคิดมนุษย์ แล้วทำไมต้องเป็นแมว หากเล่าถึงสัตว์ชนิดอื่นจะทำให้ได้มุมมองที่แตกต่างออกไปไหม หนังสือปรัชญาแมวเล่มนี้อาจเป็นตัวตั้งต้นในการทำให้ได้คิดถึงความเป็นไปไม่ได้อื่นๆ ที่อาจสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาได้อีก

สัตว์ไม่ต้องการปรัชญาเพื่อจะดำรงอยู่และหลีกหนีความเปราะบางในใจ แต่ปรัชญายังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์

Fact Box

Feline Philosophy ปรัชญาแมว ปัญญาเหมียว แมวและความหมายของชีวิต, จอห์น เกรย์ (John Gray) เขียน, ภาคิน นิมมานนรวงศ์ และ มนภัทร จงดีไพศาล แปล, สำนักพิมพ์ บุ๊คสเคป, จำนวน 183 หน้า, ราคา 230 บาท

Tags: , , ,