วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 คณะทำงานบางกอกไพรด์และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ จัดงานแถลงข่าวกิจกรรม Bangkok Naruemit Pride 2022 ขบวนพาเหรดเพื่อผลักดันความเท่าเทียมทางเพศที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มต้นเดินขบวนจากวัดแขกไปจนถึงถนนสีลม ถนนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของ LGBTQ+ ในประเทศไทย
ขบวนไพรด์ที่ว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป โดยในขบวนจะมีการแสดงจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว กลุ่มชุมชน LGBTQ+ โดยการแต่งตัวจะเปิดกว้างรองรับทุกความหลากหลาย หลังจากนั้นในเวลา 21.00 น. จะย้ายไปจัดกิจกรรมต่อที่ถนนข้าวสาร ร้าน Mischa Cheap และจะมีการเก็บค่าเข้างานเพื่อนำรายได้ไปจัดกิจกรรมสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศต่อไป
ตัวแทนคณะทำงานกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องจัดงานในครั้งนี้ว่า “ทุกๆ ปี หลายประเทศทั่วโลกจัดงานไพรด์ในเดือนมิถุนายน มีการเฉลิมฉลอง ผลักดันให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศ เป็นเดือนแห่งการยืนยัน ย้ำเตือนถึงการมีอยู่ของ LGBTQ+ และผู้ที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และแสดงถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง ผ่านขบวนที่ประดับประดาไปด้วยสีสันฉูดฉาด จัดจ้าน และธงสีรุ้ง สัญลักษณ์สำคัญของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
“ประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนเสรี เป็นสวรรค์ของเพศหลากหลาย แต่เอาเข้าจริง ไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่รองรับสิทธิ หรือแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายปีที่ผ่านมาเกิดการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายโดยภาคประชาชน ประชาสังคม องค์กร และพรรคการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเท่าเทียม อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ การทำแท้งปลอดภัย ผ้าอนามัยฟรี สิทธิของ LGBTQ+ ในสถานศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนที่ออกจากการตีกรอบว่าโลกนี้มีเพียงแค่สองเพศ การขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ ฯลฯ
“พวกเราเห็นความสำคัญของประวัติการต่อสู้ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เดือนนี้จึงมีความสำคัญกับพวกเราเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ในประเทศไทย คณะทำงานจึงจัดขบวนเฉลิมฉลองขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร
“งานนี้ไม่ใช่งานของเกย์ กะเทย และ LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความภาคภูมิใจในทุกๆ อย่างที่เป็นเรา ไม่ว่าจะมีเพศใด เชื้อชาติไหน มีความเชื่อทางศาสนาแบบใด และมีอาชีพอะไร เราไม่จำกัดความ ใครที่ต้องการให้ผู้คนเห็นตัวตนของคุณ ก็มาพบกับเราได้ในขบวนไพรด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น”
ผู้ร่วมงานแถลงข่าวมีทั้งเวทีประกวดนางงาม สถานทูต และพรรคการเมืองไทย เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยยูไนเต็ด และพรรคสามัญชน รวมถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีหลายครั้งที่ชัชชาติถูกถามเรื่องชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เขาเอ่ยว่า ในเดือนมิถุนายนอาจจัด Pride Month Festival ในกรุงเทพฯ ได้ เพราะไพรด์ของไทยในเชิงปฏิบัติเหมือนจะมีความสอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนาฮินดูในงานวัดแขก และหากดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรม LGBTQ+ ที่ไทยจะเริ่มเดินขบวนในงานนวราตรี วิชัยทัสสมิ ในเดือนตุลาคม ย้ายการจัดงานจากเดือนตุลาคมมาเป็นเดือนมิถุนายนตามปฏิทินสากลที่ทุกประเทศจะร่วมเฉลิมฉลองให้กับชุมชน LGBTQ+ น่าจะช่วยผลักดันสังคมในเรื่องนี้ได้
วันนี้ชัชชาติให้สัมภาษณ์ถึงการจัดงานของนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศว่า มาในฐานะผู้สังเกตการณ์เพราะยังไม่ได้มีตำแหน่งอะไร เป็นเรื่องดีที่ชุมชน LGBTQ+ จะได้จัดกิจกรรมใหญ่ สิ่งสำคัญในตอนนี้คือสังคมต้องเรียนรู้และยอมรับถึงความแตกต่าง ไม่ใช่มิติทางเพศอย่างเดียว แต่เป็นหลายมิติ ซึ่งประเด็นนี้ก็อยู่ในนโยบายที่จะนำมาใช้กับ กทม. อยู่แล้ว
“สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจว่า เพื่อนๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมมีความแตกต่างกันอย่างไร เราอาจจะยังไม่รู้แน่ว่าใน กทม. มีพวกเขาอยู่มากน้อยแค่ไหน แต่จำนวนไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย แต่เราต้องเข้าใจความต้องการพื้นฐานของพวกเขา หน้าที่ของ กทม. คือต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เรื่อง LGBTQ+ เราก็มีนโยบายที่จะดูแลเขา เข้าใจเขา มีบริการที่รองรับความต้องการ เช่น ด้านสาธารณสุขอาจจะต้องให้ความรู้กันตั้งแต่ในสถานศึกษา เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจถึงความหลากหลาย ชีวิตคนมีเฉดสีที่ต่างกันไป ถ้าเรายอมรับความแตกต่างพื้นฐานตั้งแต่เด็ก เราก็จะเติบโตขึ้นมาโดยที่ไม่ได้มองว่า LGBTQ+ คือความแตกต่างแปลกแยก
“นอกจากนี้เรายังมีนโยบาย 12 เทศกาล Pride Month ก็จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน เราสามารถช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้ ส่วนปัญหาเรื่องสถานที่จัดงาน พื้นที่สาธารณะมีมากมาย เราต้องมาคุยกันว่าเขาต้องการอะไร จัดแบบไหน เดินพาเหรดต้องปิดถนนไหม ผมเชื่อว่าเราสามารถคุยกันได้ หลายที่ทั่วโลกก็ทำไปแล้ว ไม่มีเหตุผลเลยที่กรุงเทพฯ จะทำบ้างไม่ได้”
Tags: Pride, ผู้ว่าฯ กทม., ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, LGBTIQ+, The Proud of Pride, Report, LGBTQ