คุณเคยอยู่ในช่วงเวลาบีบคั้นจนต้องมองหาห้องน้ำสาธารณะหรือไม่?

แล้วถ้าคาดหวังได้ คุณคิดว่าห้องน้ำสาธารณะที่ดีควรมีหน้าตาแบบไหน? 

เมื่อพูดถึงห้องน้ำสาธารณะ คนไทยหลายคนที่มีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวต่างประเทศเคยเอ่ยปากแซวห้องน้ำสาธารณะในประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย กัมพูชา มาเลเซีย แอฟริกาใต้ ฯลฯ ว่ามีหลากหลายแนวแต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือความสกปรก นักท่องเที่ยวหรือประชาชนในประเทศนั้นๆ ต่างต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าเข้าไปแล้วจะเจอเซอร์ไพรส์อะไรในโถส้วมหรือไม่ และถ้ามองย้อนกลับมายังเมืองหลวงของไทยอย่าง ‘กรุงเทพมหานคร’ เราจะเห็นว่าห้องน้ำสาธารณะที่ไม่ใช่ห้องน้ำของเอกชน ก็ดูจะไม่ได้ดีไปกว่าประเทศอื่นๆ ที่เคยเอ่ยแซวกันเท่าไหร่นัก หรืออาจจะอยู่ในระดับที่แย่กว่าเสียด้วยซ้ำ 

บางคนที่จำเป็นต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะอาจไม่ขออะไรมาก ขอเพียงแค่ไม่เหม็น ไม่มีสิ่งปฏิกูลตกค้างอยู่ในโถส้วม ประตูล็อกได้ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว แต่พอเวลาที่ปวดท้องต้องการทำธุระส่วนตัวแล้วไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะ ยังไม่ทันได้จัดการอะไรมากมาย เปิดประตูห้องน้ำเข้าไปก็มักจะต้องเห็นภาพฝารองนั่งเต็มไปด้วยรอยรองเท้า ฝารองนั่งมีรอยแตกที่ชวนกังวลว่าจะหนีบเนื้อเราไหม ไปจนถึงโถชักโครงที่ไม่มีฝารองนั่งก็มี

ไม่เพียงเท่านี้ เรายังเห็นว่าโถส้วมที่กำลังจะใช้ใกล้แตกหักเต็มที เห็นสิ่งที่ไม่ควรเห็นอื่นๆ ทั้งเศษซากอารยธรรมของผู้ใช้คนก่อน พื้นที่เปียกเลอะเทอะ ไฟเปิดไม่ติด ก๊อกน้ำไม่ไหล รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่คลุ้งไปทั่วบริเวณ ภาพตรงหน้าก่อให้เกิดความรู้สึกละเหี่ยใจ พานให้เกิดคำถามในหัวว่า ‘หรือจะอั้นไว้แล้วไปหาห้องน้ำที่ดีกว่าเอาดาบหน้าดี?’

กลายเป็นว่าคำขอในใจที่ต้องการห้องน้ำที่แค่ไม่เหม็น สะอาด ปลอดภัย กลับเป็นสิ่งที่หาได้ยากในห้องน้ำสาธารณะที่กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร 

 

ห้องน้ำที่ดีตามมาตรฐานคือห้องน้ำแบบไหน?

เมื่อหันมองดูห้องน้ำสาธารณะทั่วกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะตามสวนสาธารณะขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ตลาดนัด และในที่อื่นๆ ห้องน้ำส่วนใหญ่ไม่เข้าเกณฑ์หรือไม่ใกล้เคียงกับมาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศที่มีข้อกำหนดเพียงสามอย่าง คือ ‘สะอาด’ ‘เพียงพอ’ ‘ปลอดภัย’ ตามที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เลยแม้แต่น้อย 

ก่อนจะตระเวนไปดูห้องน้ำทั่วกรุงเทพฯ เราอาจต้องทบทวนกันอีกครั้งว่าเกณฑ์มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะระดับประเทศจะต้องมีความสะอาด ถูกหลักสุขาภิบาล ไม่มีกลิ่นเหม็น มีวัสดุอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริหาร เช่น น้ำสะอาดไม่มีตะกอน ไม่มีลูกน้ำ มีสบู่ล้างมือและกระดาษชำระเพียงพอ การเก็บกักหรือบำบัดสิ่งปฏิกูลถูกต้องและมีสภาพแวดล้อมสวยงาม ไม่เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค 

ถัดมาจากความสะอาด อีกสิ่งสำคัญคือห้องน้ำที่เพียงพอ คำว่าเพียงพอในที่นี้คือมีมากพอกับความต้องการของผู้ใช้ ต้องคำนึงถึงบุคคลหลากหลายกลุ่มทั้ง ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ คนพิการ และจะต้องเปิดให้ผู้คนใช้งานได้ตลอดเวลา 

อย่างสุดท้ายคือความปลอดภัย ที่ต้องวางแผนตั้งแต่ในช่วงที่เลือกพื้นที่สร้างห้องน้ำตามข้อกำหนดต่างๆ เช่น ห้ามสร้างในพื้นที่เปลี่ยวเกินไป ต้องมีไฟส่องสว่าง พื้นห้องน้ำแห้งเพื่อป้องกันการลื่นหกล้ม ขันตักน้ำไม่หัก โถส้วมไม่แตก และแยกเพศชายหญิงอย่างชัดเจน 

ว่ากันว่า กทม. พยายามทำให้ห้องน้ำสาธารณะที่มีได้มาตรฐานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามออกตัวว่ากำลังทำงานดังกล่าวอยู่เสมอ ในปี 2560 ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า มีห้องน้ำสาธารณะในกรุงเทพฯ เพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ตรงตามมาตรฐานส้วมสาธารณสุขระดับประเทศ ส่งผลให้ กทม. ต้องกลับมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้ห้องน้ำได้มาตรฐานมากกว่านี้ และจะเริ่มนำร่องห้องน้ำในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่มีอยู่ 438 แห่ง รวมถึงหน่วยงานราชการของ กทม. เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่อื่นๆ เช่น สวนสาธารณะ ตลาดสด ฯลฯ 

ต่อมาในปี 2562 ทวีศักดิ์ระบุว่าคณะกรรมการของหน่วยงานต่างๆ อย่าง สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพห้องน้ำสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ พบว่าร้อยละ 74 ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลความสะอาดและความปลอดภัย ส่วนห้องน้ำสาธารณะในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ตรวจไปแล้ว 274 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 213 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 77.74 แต่ติดปัญหาเรื่องการบำรุงรักษา เพราะไม่มีงบประมาณ 

อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ผ่านเกณฑ์’ ไม่ได้หมายความว่าห้องน้ำเหล่านี้เป็นห้องน้ำที่ดี เพราะหลายแห่งที่ผ่านเกณฑ์ยังมีปัญหาอยู่มาก เช่น ห้องน้ำชำรุด ไฟดับ ความปลอดภัยต่ำ แต่ผ่านการประเมินเพราะคะแนนรวมส่งให้เกินเส้นเท่านั้น ทำให้ทาง กทม. และหน่วยงานต่างๆ เคยเสนอทางแก้ว่าจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจประเมินมาตรฐานห้องน้ำใหม่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะให้ดียิ่งขึ้น

ผ่านมาหลายปี มาดูกันว่าห้องน้ำสาธารณะในกรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน

 

‘การขับถ่าย’ คือเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับใครหลายคน 

ห้องน้ำสาธารณะของ กทม. ที่อยู่ในสวนสาธารณะ สำนักงานเขต และตลาดในสังกัดสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ถือเป็นห้องน้ำที่มีผู้คนแวะเวียนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก กรณีเหล่านี้จะต่างจากห้องน้ำในสถานศึกษาสังกัด กทม. เนื่องจากโรงเรียนแทบทุกแห่งจะไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าไปยังพื้นที่ เพราะจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กๆ ในโรงเรียน จึงทำให้บทความชิ้นนี้ไม่สามารถอธิบายถึงห้องน้ำสาธารณะทั้งหมดของ กทม. ได้ 

แต่เอาเข้าจริง ห้องน้ำในสวนสาธารณะและตลาดสดก็แสดงให้เห็นอะไรบางอย่างมากกว่าที่เราคาดไว้ 

เราพบว่าห้องน้ำสาธารณะที่สร้างไว้ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะไม่มีกระดาษชำระให้เลยสักที่ และในช่วงเช้าไปจนถึงบ่ายแก่ๆ ไฟห้องน้ำส่วนใหญ่จะถูกปิดเอาไว้เพื่อประหยัดพลังงาน ไฟส่องสว่างจึงยังไม่เพียงพอ  

ส่วนเรื่องพื้นห้องน้ำที่กระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ว่าต้องแห้งสะอาด ป้องกันการลื่นหกล้ม ห้องน้ำบางแห่งในสวนสาธารณะบางสวนสามารถทำได้จริงทั้งห้องน้ำหญิงและห้องน้ำชาย อาจด้วยเหตุผลว่ายังไม่มีผู้ใช้บริการมากเท่ากับห้องน้ำในละแวกอื่น เวลาที่ไปคือช่วงทำงานของเหล่ามนุษย์เงินเดือน แม่บ้านทำงานของตัวเองได้เป็นอย่างดี หรือห้องน้ำที่เจอเป็นห้องน้ำใหม่ที่เพิ่งปรับปรุงเสร็จไปไม่นาน แต่ห้องน้ำที่สะอาดกว่าที่คาดไว้ก็ต้องถูกหักคะแนน เพราะเมื่อทำธุระเสร็จจะล้างมือ ก๊อกน้ำหลายอันที่เรียงรายกันไม่สามารถใช้งานได้เลยสักอัน

หากไม่ได้มองเพียงแค่ภาพรวมของห้องน้ำ แต่ลงรายละเอียดไปยังห้องน้ำชาย-หญิง พบว่าผู้หญิงบางส่วนต้องการห้องน้ำที่ค่อนข้างละเมียดละไม ก่อนจะเข้าห้องน้ำพวกเธอต้องตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีกล้องแอบถ่าย กลิ่นไม่เหม็นจนเกินรับไหว เช็กดูรอบๆ ว่ามีสัตว์หรือแมลงมีพิษซ่อนตัวอยู่หรือไม่ กลอนประตูล็อกได้แน่นหรือเปล่า สายชำระมีน้ำไหลตามปกติ และมีกระดาษชำระให้บริการหรือไม่ 

ส่วนผู้ชายบางกลุ่มที่ใช้บริการในสวนสาธารณะก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ห้องน้ำในสวน ด้วยการยอมอั้นแล้วออกจากสวนไปเข้าห้องน้ำตามปั๊มน้ำมัน หรือในห้างสรรพสินค้าแทน เพราะไม่อยากต้องไปลุ้นหน้างานว่าจะเจอเรื่องเซอร์ไพรส์อะไรบ้างในห้องน้ำ

แม้จะดูเรื่องมาก แต่ความต้องการเหล่านี้ล้วนอยู่ในมาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศสามอย่าง ตามที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขวางไว้

ด้านห้องน้ำชายดูจะน่าเป็นห่วงในทุกที่ที่แวะไป ช่างภาพหนุ่มที่ขังตัวเองอยู่ในห้องน้ำ ณ สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง เพื่อถ่ายภาพบรรยากาศในห้องน้ำ บอกกับเราว่าเขาเจอแจ็กพ็อตก้อนใหญ่อยู่ในโถส้วม ยังไม่รวมกับฝารองนั่งมีรอยแตกที่ถ้านั่งลงไปคงไม่พ้นถูกหนีบ กลิ่นเหม็นชวนคลื่นเหียน กำแพงมีรอยพ่นสีสเปรย์ ทุกขอบสุขภัณฑ์ในห้องน้ำมีคราบสีน้ำตาลจนเกือบดำ ที่ถ่ายได้ไม่นานก็ต้องรีบออกมาสูดอากาศด้านนอก และพอจะล้างมือก็พบกับปัญหาเดิมคือน้ำไม่ไหล

ขยับมายังสวนสาธารณะอีกฟากถนน สวนแห่งนี้มีขนาดเล็กกว่า และจุดที่ให้บริการห้องน้ำสาธารณะหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างใหม่ ห้องน้ำแบบเดิมที่เคยขึ้นชื่อเรื่องความสกปรกและความมืดถูกทุบทิ้ง แทนที่ด้วยรถสุขาเคลื่อนที่ของ กทม. ที่ทำให้ในช่วงนี้ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะแห่งนั้นอาจต้องทนกับห้องน้ำรถที่ค่อนข้างยังไม่ได้รับการรักษาความสะอาดเท่าที่ควรไปพักหนึ่งก่อน

ห้องน้ำในสวนค่อนข้างเงียบเหงา มีดีบ้างแย่บ้างปะปนกันไป แต่ห้องน้ำสาธารณะที่ดูจะวุ่นวายที่สุดคงหนีไม่พ้นห้องน้ำในตลาดสังกัด กทม. ที่มักจะมีพื้นชื้นแฉะส่งกลิ่นเหม็น ในครั้งนี้ ห้องน้ำชายก็ยังคงสร้างความตื่นเต้นได้มากกว่าห้องน้ำหญิง ช่างภาพเจ้าเดิมหายเข้าไปในห้องน้ำพักหนึ่ง ก่อนเดินกลับออกมาแล้วไม่พูดอะไร พลางเปิดภาพที่ถ่ายไว้ได้ให้เราดูแทนการอธิบายสิ่งที่พบเจอ

โถปัสสาวะจำนวนมากถูกคลุมด้วยถุงพลาสติกสีดำ สร้างความสงสัยพอสมควรว่าคลุมเอาไว้เพื่ออะไร อาจเป็นการบอกกลายๆ ว่าห้ามใช้โถเหล่านั้น ท่ามกลางบรรยากาศมืดทึบ ไม่มีไฟส่องสว่างเหมือนกับฝั่งของห้องน้ำหญิง และห้องน้ำในบางตลาดก็ไม่สามารถใช้งานได้จริงๆ และมีอุปกรณ์ชำรุดหลายจุด

นอกจากนี้ยังมีการนำข้าวของต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าเป็นของใครหรือเอามาจากไหนมาวางไว้ในอ่างล้างมือ วางไว้ในโถส้วม หรือวางไว้ในโถปัสสาวะ แต่ด้วยความที่ห้องน้ำในตลาดมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก ก๊อกน้ำในห้องน้ำเหล่านี้จึงมีน้ำไหลตามปกติ 

สิ่งที่อยู่ตรงหน้าก่อให้เกิดคำถามว่าหรือว่าเราขอมากไป? ทำไมห้องน้ำที่ดีมักเป็นห้องน้ำของเอกชน 

กลายเป็นว่าพออยู่ในช่วงเวลาบีบคั้นที่ต้องการทำธุระในห้องน้ำ คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกเดินเข้าห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือคาเฟ่อะไรก็ได้ เพื่อให้ได้ใช้ห้องน้ำที่ดีแทนการเข้าห้องน้ำสาธารณะที่ กทม. สร้างไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร 

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก หลายครั้งเราจะเห็นว่าห้องน้ำในสถานที่ต่างๆ จะมีพนักงานนั่งรอเก็บค่าเข้า ส่วนใหญ่มีราคาตั้งแต่ 2-10 บาท แต่ละที่ก็จะมีการดูแลเรื่องความสะอาดเรียบร้อยต่างกันไป บางที่มีทุกอย่างพร้อมตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มีกระดาษชำระ ไฟสว่าง พื้นไม่เปียก ไม่มีสิ่งของแตกหัก ไม่มีเชื้อรา ซึ่งหากจะพบกับห้องน้ำที่ดีขึ้นมาหน่อยก็จะต้องเสียเงินอยู่ร่ำไป หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องมองหาห้างสรรพสินค้าแล้วเข้าไปใช้บริการให้สบายใจ

ปัญหาแบบนี้คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานและภาพจำใหม่ เพราะห้องน้ำที่ทุกคนมีสิทธิเข้าใช้ ล้วนสร้างมาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น 

ช่วงหลังมานี้เราจะเห็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคน ยืนยันว่าหากมีอำนาจจะทำให้ห้องน้ำสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ เป็นห้องน้ำที่ดีกว่าเดิม รวมถึงความพยายามสร้างห้องน้ำสาธารณะที่รอบรังทุกเพศสภาพ แต่ก่อนที่เราจะเริ่มใฝ่ฝันจนเกิดความคาดหวังไปไกล ห้องน้ำสาธารณะในวันนี้ยังมีเรื่องพื้นฐานที่ต้องปรับปรุงอีกมาก แล้วหวังว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะสามารถแก้ปัญหาสามัญนี้ได้ในเร็ววัน  

Tags: , , , , , , , , ,