วันพรุ่งนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมองย้อนดูความเป็นไปของรัฐธรรมนูญไทย นับตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้คลอดรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาอีกหลายฉบับ นับสิริรวมได้ทั้งสิ้น 20 ฉบับในช่วง 85 ปี ถ้าคิดเฉลี่ย ฉบับหนึ่งๆ ก็ใช้งานได้สี่ปีนิดๆ เรียกได้ว่าเปลี่ยนบ่อยจนไม่มีโอกาสได้เก่า เพราะเราขยัน ‘อัปเดต’ นับเป็นรัฐธรรมนูญที่สวนกระแสความยั่งยืน ลืมตาขึ้นมาดูโลกได้ไม่นานก็ถูกขยำทิ้งและเปลี่ยนใหม่เสียแล้ว ราวกับเพื่อย้ำเตือนว่าไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน
สัปดาห์นี้ เรามีรัฐธรรมนูญไทยเป็นแรงบันดาลใจ ไปดูกันว่ามีศัพท์แสงอะไรบ้างที่ใช้พูดถึงสิ่งที่อายุขัยสั้น อยู่ได้เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว และแต่ละคำมีที่มาอย่างไร
Ephemeral
คำนี้แปลว่า อยู่เพียงชั่วครู่ ไม่จีรัง มาจากส่วนเติมหน้า epi- รวมกับ hemera ที่แปลว่า วัน หรือ กลางวัน (Hemera เป็นชื่อเทพที่เป็นบุคลาทิศฐานของยามกลางวันในปกรณัมกรีกด้วย) รวมได้ใจความว่า อยู่ได้เพียงข้ามวัน ชวนให้นึกถึงแมลงบางชนิดที่มีวงจรชีวิตสั้น วางไข่ ผสมพันธุ์ และตายภายในวันเดียว (ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เรียกแมลงเหล่านี้ว่า ephemeron)
คำว่า ephemeral นี้ใช้อธิบายได้หลายอย่าง เช่น Fame and fortune are ephemeral. ก็จะหมายถึง ชื่อเสียงเงินทองไม่จีรัง หรือหลายคนที่เริ่มรู้สึกว่าวัยชราเริ่มตามทัน คลำผิวหน้าแล้วเริ่มเจอรอยเหี่ยวย่น ตื่นมารู้สึกปวดกระดูกกระเดี้ยว ก็อาจพูดว่า I’m starting to feel the ephemerality of youth.
Fugacious
คำนี้เป็นศัพท์ที่อาจจะไม่ได้พบเห็นบ่อย หมายถึง อยู่เพียงช่วงสั้นๆ คล้ายกับ ephemeral แต่ให้ภาพเหมือนสิ่งนั้นพยายามหนีเราไป มีที่มาจากกริยา fugere ในภาษาละติน แปลว่า หนี เช่นที่พบในคำว่า fugitive (นักโทษหลบหนี) refuge (ที่พักพิง) refugee (ผู้ลี้ภัย) หรือ centrifuge (เครื่องหมุนเหวี่ยงหนีศูนย์)
คำนี้ใช้บรรยายสิ่งที่อยู่ได้ไม่นานก็จากเราไป เช่น หากเราอุตส่าห์หยิบคอลเล็กชันชุดฤดูหนาวออกมาเตรียมไว้ แต่ใส่ได้สองวันอากาศก็กลับมาร้อนผ่าวแล้ว ก็อาจพูดว่า The cool weather was so fugacious that I didn’t get the chance to properly enjoy it.
Fleeting
คำนี้มาจากคำว่า fleet ที่เป็นกริยาที่แปลว่า ผ่านไปอย่างรวดเร็ว มาจากภาษาอังกฤษเก่า แปลว่า ลอย หรือ เคลื่อนคล้อย คำว่า fleeting จึงมีความหมายว่า อยู่ได้ชั่วครู่ หรือ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก นั่นเอง คำนี้นับเป็นญาติกับคำว่า fleet ที่แปลว่า กองเรือ ซึ่งพัฒนามาจากความหมายที่แปลว่า ลอย ด้วย
คำว่า fleeting นี้ใช้พูดถึงอะไรที่เกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ เช่น หากแฟนคลับไปเฝ้ารอดาราที่ตนชื่นชอบ แต่ได้เห็นตอนเดินผ่านเพียงเสี้ยววิ ก็อาจพูดว่า I caught only a fleeting glimpse of him. หรือถ้าไปแวะเที่ยวประเทศไหนเพียงช่วงสั้นๆ ก็อาจเรียกว่าเป็น a fleeting visit หรือถ้าพ่อแม่ไม่ค่อยจะได้มีช่วงเวลาเงียบๆ เพราะมีลูกอยู่บ้านตลอดเวลา พอลูกไม่อยู่ถึงได้พอมีช่วงสงบสุขบ้าง ก็อาจพูดว่า They got to enjoy a fleetingmoment of peace when their children were away.
Impermanent
คำนี้มาจากส่วนเติมหน้า in- ที่ให้ความหมายปฏิเสธ รวมกับ permanent ที่แปลว่า ถาวร ซึ่งมาจาก per- ที่แปลว่า โดยตลอด และ manere ที่แปลว่า คงอยู่ (ซึ่งพบในคำว่า remain ที่แปลว่า คงเหลือ และ remainder ที่แปลว่า ส่วนที่เหลือ ) อีกทอดหนึ่ง จึงรวมความหมายได้ว่า ไม่ถาวร ไม่จีรัง ด้วยเหตุนี้ ตำราทางพุทธศาสนาหลายเล่มก็จะแปลคำว่า อนิจจัง ว่า impermanence
คำนี้ไม่ได้เน้นว่าของสิ่งนั้นอยู่ได้ไม่นาน แต่สื่อว่าอยู่ไม่ได้ตลอดไป ต้องอันตรธานหรือดับสูญไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น Happiness is impermanent, but so is unhappiness. ความสุขไม่จีรัง แต่ความทุกข์ก็เช่นกัน
Here today and gone tomorrow
สำนวนนี้แปลตรงตัวก็คือ วันนี้อยู่ แต่พรุ่งนี้ไม่อยู่เสียแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าใช้ได้กับเฉพาะของที่จะหายไปในวันพรุ่งนี้เท่านั้น เพราะสำนวนนี้หมายถึง อยู่เพียงชั่วครู่ ไม่ได้อยู่ถาวร เช่น ร้านอาหารหลายร้านเปิดได้ไม่นานก็ต้องปิดร้านไป A lot of restaurants are here today and gone tomorrow. หรือ หากได้รับเช็คเงินเดือนตอนสิ้นเดือน แต่จ่ายบิลชำระหนี้ก็แทบเกลี้ยงแล้ว ก็อาจพูดว่า My paycheck is here today and gone tomorrow.
ทั้งนี้ แม้รัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาจะถูกโยนทิ้งภายในระยะเวลาไม่กี่ปีเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าตกรุ่น จนคาดหวังไม่ค่อยได้ว่าแนวโน้มเช่นนี้จะหยุดลงในเร็ววัน ก็ได้แต่หวังว่า ในที่สุด เราจะได้มีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริงให้ได้ใช้กันไปยาวๆ เสียที
บรรณานุกรม
http://www.etymonline.com/
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Longman Dictionary of Contemporary English
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.