วันที่ 30 มีนาคม 2565 ศิริกัญญา ตันสกุล พร้อมด้วย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่อาคารรัฐสภา หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ) พ.ศ…. ที่เรียกกันว่า ‘พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ และ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยระบุว่า การกระทำนี้หมายความว่ารัฐบาลจงใจทำลายความชอบของรัฐสภา พยายามคว่ำร่างกฎหมายหลายต่อหลายฉบับที่เสนอโดย ส.ส และประชาชน
ณัฐวุฒิ ระบุว่า กรณีนี้ที่เกิดขึ้นพรรคก้าวไกลมีความเห็นใน 3 ประเด็นสำคัญด้วยกัน คือ
1. รัฐบาลจงใจทำลายความน่าเชื่อถือของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐในทุกระบบ อาทิ กรณีห้ามหรือไม่ให้พูดถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในที่ผ่านมา ตั้งข้อหาและดำเนินคดีต่อผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลที่อภิปรายในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ทำลายความชอบธรรมในฐานะนักนิติบัญญัติ
2.ในประเด็นที่ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีท่าทีต่อ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่เสนอโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล จุติกล่าวว่าการเสนอนี้เป็นเกมการเมือง จึงต้องขอชี้แจงตรงนี้ว่า พรรคก้าวไกลทำนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ขณะเดียวกัน หลายเรื่องที่พรรครัฐบาลทั้ง พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ เคยหาเสียงไว้ ไม่ได้ดำเนินการตามที่ตัวเองหาเสียงไว้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง ถึงจะเป็นการเมือง ก็เป็นการเมืองที่ต้องการทลายทุนผูกขาด เป็นหนึ่งในนโยบายที่หาเสียงไว้ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่
3. รัฐบาลมีความพยายามอุ้มกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส. และประชาชนหลายรูปแบบด้วยกัน พรรคก้าวไกลยกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ แต่ใช้เวลากว่า 3 ปี กว่าที่กฎหมายดังกล่าวจะได้บรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
“พรรคก้าวไกลมีจุดยืนว่า แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวตีกลับเข้าสู่สภา พรรคก้าวไกลยืนยันจะรับหลักการ และขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่ร่วมลงมติ ร่วมอภิปราย ขอให้มาร่วมรับหลักการอีกครั้ง เพื่อการปลดล็อกทั้งในเรื่องสุราก้าวหน้าและสมรสเท่าเทียม
“เรามาไกลเกินกว่าจะแพ้ เราพร้อมสู้เพื่อชัยชนะที่ประชาชนให้ฉันทามติกับพวกเราในฐานะผู้แทนของประชาชน” ณัฐวุฒิ กล่าว
ธัญวัจน์ กล่าวว่า คงเป็นเรื่องน่าละอายมากหากนักการเมืองมีประวัติว่าเคยไม่รับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของครอบครัว กว่า 60 วัน ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกอุ้มไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ตนได้มีโอกาสหารือกับทุกภาคส่วนในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในการหารือทุกฝ่ายต่างก็เห็นด้วย
“คณะรัฐมนตรีฟังตรงนี้ อำนาจอยู่ในมือของท่าน ท่านสามารถรับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้ เพราะสมรสเท่าเทียมไม่เท่ากับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อไป ขอขอบคุณประชาชนที่ส่งกำลังใจมาในข้อความทุกช่องทาง แน่นอนว่าเราเสียใจเราผิดหวัง แต่เราในฐานะผู้แทนราษฎรเราจะต้องต่อสู้ผลักดันต่อไป”
ขณะที่ ศิริกัญญา ระบุทิ้งท้ายว่า ขอให้ประชาชนอย่าหมดหวัง พรรคก้าวไกลจะผลักดันร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับต่อไป โดยกระบวนการของกฎหมาย ร่างทั้งสองฉบับยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการทางรัฐสภา หากประชาชนเห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต และ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ขอให้ส่งเสียง ส่งข้อความ ส่งเอกสารไปที่ ส.ส.เขตของตน เพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนในสภารับหลักการร่างกฎหมายทั้งสองฉบับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ร่างที่ถูกอุ้มโดยคณะรัฐมนตรีกลับมาได้รับการโหวตอีกครั้งในสภา
ภาพ: พรรคก้าวไกล
Tags: พรรคก้าวไกล, สมรสเท่าเทียม, สุราก้าวหน้า, ณัฐวุฒิ บัวประทุม, ศิริกัญญา ตันสกุล