หลังจากปาร์ตี้เมาเหล้าสุดเหวี่ยง และมีเซ็กซ์กับใครสักคน สิ่งนี้เรียกยินยอมไหม?

หากยอมมีเซ็กซ์ครั้งแรก ครั้งต่อไปต้องขออีกหรือเปล่า? 

“ถ้ารักฉันจริง ต้องยอมมีเซ็กซ์กับฉัน” ถ้าเราตอบตกลงสิ่งนี้เรียกว่า consent ใช่ไหม?

หากเปิดตำรา ‘สุขศึกษา-เพศศึกษา’ ในห้องเรียนคงต้องส่ายหัวกับคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ เพราะเรื่องเพศศึกษาถูกทำให้เป็นเรื่องไกลตัว ขาดพื้นที่ในการพูดคุยจนกลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่อย่าพูดในพื้นที่สาธารณะ หรือบางคนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าวิชาสุขศึกษา-เพศศึกษาสอนอะไรบ้าง? 

แต่จริงๆ แล้ว ‘เซ็กซ์’ และความสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก Consent: เพศศึกษากติกาใหม่ เขียนโดย Jennifer Lang แพทย์เฉพาะทางนรีเวช แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ หนังสือที่แนะนำตัวเองเป็น ‘ไกด์บุ๊กว่าด้วยความยินยอมเซ็กซ์และความสัมพันธ์ที่ดี’ จะมาเป็นเพื่อนพูดคุยตอบคำถามเรื่องเบสิกเกี่ยวกับเซ็กซ์ ที่เราอดตั้งคำถามต่อไม่ได้ว่าเรื่องพวกนี้ทำไมถึงไม่อยู่ในห้องเรียน…

 

เซ็กซ์ที่ดีคือเซ็กซ์ที่ยินยอม

สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้งคือ การมีเซ็กซ์ทุกครั้งต้องได้รับความยินยอมจากทุกฝ่าย และต้องมั่นใจว่าอีกฝ่ายยินยอมอย่างแท้จริง แม้อาจเป็นเรื่องที่หลายคนไม่กล้าถาม แต่การพูดคุยกันตรงๆ และได้รับการปฏิเสธอย่างซึ่งหน้า ย่อมดีกว่าการบีบบังคับทางเพศและการประทุษร้ายทางเพศอย่างแน่นอน

ความยินยอมทางเพศต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องถามซึ่งกันและกันอยู่เสมอ และไม่ควรสรุป ทึกทักเอาเองว่าเมื่อยินยอมมีเซ็กซ์ด้วยกันครั้งหนึ่ง แล้วอีกฝ่ายจะยินยอมตลอดไป หรือแม้กระทั่งยินยอมมีเซ็กซ์ด้วยกันทั้งคู่ แต่ระหว่างที่มีเซ็กซ์อีกฝ่ายเกิดเปลี่ยนใจก็สามารถทำได้

 

ความยินยอมไม่ใช่บัตรผ่านฉลุย

อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นว่าการยินยอม 1 ครั้ง ไม่ได้หมายความว่ายินยอมตลอดไป การยินยอมมีเซ็กซ์ด้วยปาก ไม่ได้หมายความว่าเราจะยินยอมมีเซ็กซ์ทางช่องคลอดด้วย มาดูกันว่าการขอ consent แต่ละครั้งควรดูอะไรบ้าง และแบบไหนถึงจะเรียกว่าได้รับการยินยอมอย่างแท้จริง

1. สติและความสามารถในการคิด ณ ขณะนั้น

ประเมินอีกฝ่ายว่าขณะที่เขาเอ่ยคำยินยอม เขายังมีสติและความสามารถในการคิดวิเคราะห์อยู่หรือไม่ หากอยู่ในสถานะไร้สติ ขาดการนึกคิดที่ดี การยินยอมที่เอ่ยไปนั้นอาจไม่ใช่การยินยอมอย่างแท้จริง ดังนั้นขณะที่มีเซ็กซ์ทุกฝ่ายควรมีสติเท่ากัน หรือยังสามารถคิดไตร่ตรองได้

หากมีใครสักคนไร้สติ หมดสติ หรือไม่รู้สึกตัวเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ นั่นหมายความว่าเขาไม่สามารถให้ความยินยอมทางเพศใดๆ ได้ แม้ก่อนหน้านั้นจะเคยให้ความยินยอมทางเพศก็ตาม

2. อำนาจ

ลองสังเกตว่าในความสัมพันธ์มีใครมีอำนาจกว่าใคร จนส่งผลให้อีกฝ่ายต้องตอบตกลงยินยอมหรือไม่ อำนาจที่ว่านั้นมีทั้งอำนาจทางการเงิน, อำนาจทางกายที่กลัวว่าหากปฏิเสธจะได้รับอันตราย และอำนาจทางสังคม เช่น บางคนเป็นอาจารย์ที่ส่งผลต่อเกรดการเรียน หรือเป็นเจ้านายที่ส่งผลต่องานโดยตรง หรืออาจยินยอมเพราะอยู่ในสถานะที่ถูกชี้นำ หรือเป็นเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจว่าเขาคอยให้ความช่วยเหลือมาตลอด

 

เซ็กซ์เป็นเรื่องที่คุยกันได้

ถึงเวลาที่ค่านิยมเก่าที่ผิดๆ ต้องถูกทลายออกไป ผู้ชายไม่ได้มีหน้าที่ขอคำยินยอมจากผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกคนสามารถขอคำยินยอมจากทั้งสองฝ่ายไปพร้อมกันได้ และต้องเคารพทุกคำตอบไม่ว่าจะตอบตกลง หรือปฏิเสธ 

หากใครสักคนกำลังรู้สึกลำบากใจ ไม่กล้าปฏิเสธอีกฝ่ายเวลาถูกขอให้มี ‘เซ็กซ์’ เพราะกลัวอีกฝ่ายจะเสียใจกับการถูกปฏิเสธ และรู้สึกอับอาย จงนึกเสมอว่าอย่าฝืนตัวเองเพื่อใครอีกคน เซ็กซ์ที่ดีควรเป็นเซ็กซ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีความสุขร่วมกัน ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งจำใจยินยอมเพียงเพราะอีกคนต้องการ

เช่นเดียวกัน หากอีกฝ่ายอยู่ในสถานะที่ยินยอมไม่แท้จริง อยู่ในภาวะไร้สติ หรือมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ให้พึงนึกไว้เสมอว่า อย่าพยายามกดดันให้อีกฝ่ายต้องยินยอมมอบสิ่งที่เราต้องการทั้งที่เขาปฏิเสธไปแล้ว เพราะนั่นหมายถึงการบีบบังคับทางเพศ หรือแม้แต่การประทุษร้ายทางเพศ

 

เรื่องเซ็กซ์และความสัมพันธ์อย่าทึกทักสรุปเอาเอง

อีกสิ่งที่เราชอบในหนังสือเล่มนี้คือประเด็นกฎหมายและชีวิตด้านเพศ ที่ได้นิยามและแบ่งหมวดหมู่เรื่องเพศไว้อย่างหลากหลาย เช่น
การบีบบังคับทางเพศ คือการบีบบังคับให้อีกฝ่ายมีเซ็กซ์ด้วย ด้วยการกดดันข่มขู่ บังคับด้วยวิธีที่ไม่ใช่ทางกายภาพ อาจรวมถึงการบงการอารมณ์ความรู้สึก ตื๊อให้อีกฝ่ายมีเซ็กซ์ด้วยซ้ำๆ ทั้งที่อีกฝ่ายปฏิเสธไปแล้ว หรือการใช้อำนาจข่มขู่ 

การทารุณทางอารมณ์และวาจา เป็นการทารุณจิตใจประเภทหนึ่ง เช่น ใช้คำพูดแทนการใช้กำลังเพื่อกดดันข่มขู่ ทำให้อับอาย หรืออ้างสิทธิในการครอบงำ มีพฤติกรรมต้องรู้ว่าเราอยู่ที่ไหนกับใครตลอด หรือต้องรอให้เขาอนุญาตว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นผู้ตัดสินใจว่าเราจะไปไหนกับใครได้บ้าง ต้องแต่งตัวแบบไหน ใส่บิกินีได้หรือไม่

ทารุณทางเพศ เป็นการทารุณทางกายจำเพาะ ที่บังคับให้ใครอีกคนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม ไม่ว่าจะใช้กำลังหรือวาจา หรือผสมผสานกัน หรืออาจกดดันทางเพศให้อีกฝ่ายมีเซ็กซ์แบบไม่พึงประสงค์ เช่น ถ้ารักกันจริง ต้องยอมมีเซ็กซ์ด้วย, สิ่งเดียวที่ทำให้ฉันมีความสุขได้ตอนนี้คือเซ็กซ์ ไม่อยากให้มีความสุขหรอ หรืออีกฝ่ายอยากให้ใส่ถุงยางอนามัย แต่อีกคนยืนยันที่จะไม่ใส่นี่ก็ถือเป็นการทารุณทางเพศ 

ไม่มีครั้งใดที่เราต้องให้ความยินยอมทางเพศโดยไม่เต็มใจ และรับความยินยอมทางเพศถ้าเขาไม่เต็มใจ ไม่ควรมีใครเข้าถึงสิทธิร่างกายของผู้อื่นอย่างไม่จำกัด เพียงเพราะเราสนิทกันมากหรือคบหากันมานาน

 

ไม่ใช่ความผิดของเรา

หากเรากลายเป็นผู้ถูกกระทำทางเพศหรือกลายเป็นเหยื่อ โปรดจงรู้ไว้ว่า ‘สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดเรา’

‘ไม่ใช่ความผิดที่เราเมา ไม่ใช่ความผิดที่เราแต่งตัวโป๊ ไม่ใช่ความผิดเราที่เรายั่วยวน ไม่ใช่ความผิดที่เราไม่กล้าปฏิเสธ ไม่ใช่ความผิดเราที่เราไม่กล้าต่อสู้ขัดขืน ไม่ใช่ความผิดหากเรานอนตัวแข็งไม่พูดไม่จา ไม่ใช่ความผิดหากเราไม่ได้บอกใครในทันที แต่มันคือความผิดของคนที่ละเมิดอิสระทางร่างกาย ด้วยการมีเพศสัมพันธ์โดยที่เราไม่ยินยอมต่างหาก นั่นไม่ใช่ความผิดของเราแม้แต่น้อย’ 

Fact Box

เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น, Jennifer Lang เขียน, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปล, สำนักพิมพ์ Bookscape, จำนวน 174 หน้า, ราคา 215 บาท

Tags: , , , , , , ,