การถ่ายทอดภาพเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตากอนในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้สาธารณชนทั่วโลกสนใจรวมถึงหวาดกลัวการก่อการร้ายในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้ประเทศต่างๆ นำโดยสหรัฐฯ จัดให้ ‘การก่อการร้าย’ เป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงของชาติ และออกมาตรการ ‘พิเศษ’ หลากหลายรูปแบบเพื่อจัดการกับภัยคุกคามนี้ หนึ่งในมาตรการสำคัญที่สหรัฐฯ นำมาใช้ก็คือ การจับกุม กักขัง และใช้วิธีการรุนแรงกับผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย เพื่อเร่งให้ได้ข้อมูลขณะสอบสวน ข้อมูลที่ได้จะนำไปวิเคราะห์ต่อเพื่อหยุดแผนการก่อการร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
แม้ว่าการใช้ความรุนแรงหรือกระทั่งการทรมานระหว่างการสอบสวนศัตรูเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญ หรือที่เรียกว่า ‘ข่าวกรอง’ นั้นไม่ใช่วิธีการใหม่ และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอดีต โดยเฉพาะในช่วงสงคราม แต่การใช้มาตรการดังกล่าวในครั้งนี้ได้รับการวิพากษ์ในสังคมวงกว้าง เพราะถือเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการเปิดเผยว่ารัฐในยุคร่วมสมัยยังใช้มาตรการรุนแรง อันขัดกับแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับทั่วโลกในยุคหลังสงครามเย็น
6 วันหลังเหตุการณ์ 9/11 อดีตประธานาธิบดีบุชได้ลงนามในบันทึกลับให้อำนาจหน่วยข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency: CIA) สามารถ ‘จับกุมและคุมขัง’ บุคคลที่กำลังสร้างภัยคุกคามที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือการเสียชีวิตของชาวอเมริกันหรือกำลังวางแผนการก่อการร้าย แม้บันทึกนั้นไม่ได้กล่าวถึงอำนาจในการสอบสวน แต่ซีไอเอก็ใช้อำนาจสอบสวนผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นด้วย
หนึ่งในมาตรการสำคัญที่สหรัฐฯ นำมาใช้ก็คือ การจับกุม กักขัง และใช้วิธีการรุนแรงกับผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
อย่างไรก็ดี เทคนิคในการสอบสวนของซีไอเอไม่ใช่แค่การสอบถามข้อมูล ข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรงในระดับที่เป็นที่ยอมรับให้ใช้กันโดยทั่วไปในการเค้นข้อมูลเท่านั้น แต่ซีไอเอใช้ความรุนแรงอย่างหนัก (Enhanced Interrogation Techniques: EITs) ที่เรียกง่ายๆ ว่าการทรมานร่วมด้วย เพื่อเร่งให้ผู้ถูกสอบสวนบอกข้อมูลเกี่ยวกับแผนการก่อการร้ายอันจะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถหยุดแผนการเหล่านั้น และช่วยชีวิตประชาชนจำนวนมากได้ท่วงทันเวลา
ซีไอเอเริ่มใช้เทคนิคการทรมานในกระบวนการเร่งเค้นข้อมูลจากผู้ก่อการร้ายตั้งแต่ ปี 2002 โดยมากมักทำนอกอาณาเขตสหรัฐฯ มีข้อมูลที่เชื่อว่าประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในนั้นด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนที่คอยจับตาอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างวิธีการทรมานที่ซีไอเอนำมาใช้ในครั้งนี้เช่น การทำร้ายร่างกายและจิตใจด้วยการตบหน้า การบังคับให้อดหลับอดนอนเป็นเวลานาน การให้อาหารและน้ำอย่างจำกัด การเปลื้องผ้าและปล่อยให้ผู้ถูกทรมานอยู่ในสภาพอากาศสุดขั้วไม่ว่าจะเป็นร้อนจัดหรือหนาวจัด และวอเตอร์บอร์ดดิ้ง (waterboarding) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคที่รุนแรงที่สุดในการทรมาน เพราะผู้ถูกทรมานจะรู้สึกขาดอากาศหายใจเหมือนจมน้ำ
ในทางปฏิบัติซีไอเอหยุดการสอบสวนโดยใช้เทคนิคทรมานตั้งแต่ปี 2007 และหยุดอย่างเป็นทางการในปี 2009 เมื่ออดีตประธานาธิบดีโอบามาลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีให้ซีไอเอระงับการใช้เทคนิคดังกล่าว ในปีเดียวกันนั้น วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนและตรวจสอบกระบวนการกักขังและการสอบสวนของซีไอเอ
บทสรุปและข้อค้นพบสำคัญของรายงานการสืบสวนของวุฒิสภาที่หนากว่า 500 หน้า ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะในปี 2014 หนึ่งในข้อสรุปหลักคือ การทรมานหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างการสอบสวนนั้นไม่มีประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญ รายงานยังกล่าวว่าข้อสรุปดังกล่าวต้องการการคิดใคร่ครวญเพิ่มเล็กน้อยเท่านั้น (little further thought is needed) ซึ่งสื่อเป็นนัยว่า การสอบสวนพร้อมการใช้ความรุนแรงนั้นนอกจากเป็นสิ่งที่ไม่เวิร์กแล้ว ยังผิดศีลธรรมอย่างแทบจะไม่มีข้อโต้แย้ง
รายงานนี้ ทำให้ซีไอเอถูกวิพากษ์และประณามจากประชาชนอย่างหนัก กลุ่มเคลื่อนไหวและนักวิชาการยังนำข้อสรุปนี้มาใช้อ้างอิง ซึ่งทำให้ทางเลือกเชิงนโยบายในการใช้เทคนิคทรมานเพื่อเค้นข่าวกรองจากผู้ก่อการร้าย รวมถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับการทรมานในมิติอื่นๆ เช่น ในช่วงเวลาคับขัน เราควรจะทรมานผู้ก่อการร้ายเพื่อช่วยชีวิตคนจำนวนมากในสังคมหรือไม่/เพราะอะไร/อย่างไร ถูกปิดผนึกในพื้นที่สาธารณะไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากระบวนการคิดที่นำไปสู่ข้อสรุปของรายงานอย่างละเอียดแล้วจะพบข้อผิดพลาดในเชิงตรรกะหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น รายงานดังกล่าวอ้างว่าข้อมูลสำคัญที่ได้จากการทรมานนั้นไม่ใช่ข้อมูลใหม่ หากเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ข้อมูลที่ได้มาจากการทรมานนั้นจึงไม่ได้มีความหมายอะไร แต่แท้จริงแล้ว ในบริบทของการข่าวกรอง ข้อมูลที่ช่วยยืนยันข้อมูลเดิมถือว่าเป็นข้อมูลที่มีคุณค่า เพราะโดยทั่วไป หน่วยข่าวกรองมักมีฐานข้อมูลกว้างๆ จำนวนมากพอควรอยู่แล้ว สิ่งที่ท้าทายจึงมักไม่ใช่การขาดปริมาณของข้อมูล แต่คือความไม่แน่ใจว่าข้อมูลส่วนไหนถูกต้องกันแน่ดังนั้น การได้ส่วนข้อมูลที่ช่วยยืนยันบางส่วนของข้อมูลเดิมจึงช่วยตัดตัวเลือกในบรรดาตัวเลือกที่ไม่แน่ใจต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ดังที่ซีไอเอให้การว่าการปฏิเสธอย่างมีพิรุธของสมาชิกหลักสองคนของอัลเคด้าระหว่างการทรมานว่า Abu Ahmed al-Kuwaiti ไม่ได้เป็นผู้ส่งสารหลักของ Bin Laden ทำให้ซีไอเอแน่ใจขึ้นว่า Kuwaiti น่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญ
หนึ่งในข้อสรุปหลักของรายงานการสืบสวนของวุฒิสภา
คือ การทรมานหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างการสอบสวนนั้น
ไม่มีประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่รายงานนำไปสู่ข้อสรุปดังกล่าวก็เพราะว่า ผู้ถูกทรมานพูดข้อมูลสำคัญออกมาในช่วงที่ไม่ได้ถูกทรมาน โดยในรายงานนั้นได้ยกกรณีสอบสวน Khalid Sheikh Mohammed (KSM) ซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญของการโจมตีเหตุการณ์ 9/11 มาเป็นตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม การที่ KSM ยอมปริปากบอกข้อมูลสำคัญหลังการทรมานนั้น ไม่ได้แปลว่าการทรมานไม่ได้มีผลเชิงบวกใดๆ ในทางตรงกันข้าม อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าผลของการทรมานอาจมีอิทธิพลทำให้เขายอมสารภาพในช่วงเวลาต่อมา
ที่จริงแล้ว ประสิทธิภาพของการทรมานในการรีดข่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงในทางวิชาการ การทรมานเพื่อข่าวกรองนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานทางจิตวิทยาที่ว่า ในช่วงที่คนประสบกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยชินอย่างรุนแรงหรือที่ไม่เป็นไปตามคาดอย่างสุดขั้ว เมื่อมีความรู้สึก ‘ช็อก’ ไม่ว่าจะมาจากการทรมานที่ร่างกายหรือหรือจิตใจ คนที่ถูกทรมานจะไม่สามารถใช้สติควบคุมการแสดงออกต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น ในภาวะช็อกหรือเกือบจะไร้สติ คนที่ถูกทรมานจึงมีโอกาสสูงที่จะปลดปล่อย ‘ความจริง’ ออกมา หรือถ้าจะโกหก ก็ไม่สามารถทำให้เนียนได้ อย่างไรก็ดี สมมติฐานนี้ยังไม่เป็นที่รับรองในทางวิชาการ เพราะการทดลองทรมานเพื่อหาตรวจสอบสมมติฐานดังกล่าวนั้นผิดจริยธรรมและผิดกฎหมาย และด้วยเหตุนี้เอง ในการตัดสินของศาลในหลายๆ ประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ก็ไม่นับว่าคำพูดที่ออกมาในช่วงการสอบสวนที่มีการทรมาน ถือเป็น ‘ความจริง’ หรือคำสารภาพของผู้ถูกสอบสวน
หากลองพิจารณาประสิทธิภาพของการใช้ความรุนแรงกับความสำเร็จในการรีดข้อมูลสำคัญจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ ก็พบว่าผลนั้นไม่ค่อยแน่นอน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮันน์ส โจอาคิม ชาร์ฟฟ์ (Hanns Joachim Scharff) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของเยอรมนีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักข่าวกรองที่เก่งที่สุด สามารถสอบสวนและได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมากจากนักบินของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยปราศจากการใช้วิธีทรมาน แต่เน้นใช้เทคนิคการสร้างความเป็นมิตรกับผู้ถูกสอบสวนเพื่อสร้างความเชื่อใจ ในขณะที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ พบว่า ในช่วงที่สหรัฐฯ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานมากนัก การใช้วิธีการรุนแรงในระดับปานกลางเพื่อการคาดคั้นข้อมูลจากผู้ก่อการร้ายกลุ่มตาลีบันในช่วงปี 2001-2002 นั้นมีประสิทธิภาพในการรีดข่าวมากกว่าการไม่ใช่ความรุนแรงใดๆ เลย ส่วนในช่วงสงครามในกรุงอัลเจียร์ส (Battle of Algiers) ในปี 1957 พบว่าการใช้เทคนิคการทรมานระดับรุนแรง เช่นการช็อตด้วยไฟฟ้า ช่วยให้ทหารฝรั่งเศสได้รับข้อมูลสำคัญจำนวนมาก เป็นต้น
การยอมละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อแลกกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของส่วนรวมควรเป็นอย่างไรหรืออยู่ในระดับใด
อาจกล่าวได้ว่าจวบจนปัจจุบัน ยังไม่แน่ชัดว่าการทรมานมีผลหรือประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดต่อการได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญจากผู้ถูกสอบสวน และยังเป็นเรื่องที่เราควรศึกษาและถกเถียงกันต่อไป ข้อถกเถียงในมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทรมานจึงไม่ควรยุติการถกเถียง เพราะการตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการทรมานหรือไม่ ไม่ควรพิจารณาแค่ว่าเทคนิคนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่เท่านั้น หากต้องพิจารณาโจทย์อื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อตอบคำถามที่ว่าเรา ‘ควร’ ใช้เทคนิคการทรมานหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตที่เหมาะสมของการยอมเสียสละชุดคุณค่าหนึ่งอย่าง เช่น การยอมละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อแลกกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของส่วนรวมควรเป็นอย่างไรหรืออยู่ในระดับใด ความน่าจะเป็นที่จะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์นั้น ‘คุ้ม’ กับผลที่อาจตามมาจากการใช้เทคนิคทรมานหรือไม่ เช่น ภาพลักษณ์ของประเทศอาจเสียหาย หน่วยงานข่าวกรองอาจมีวัฒนธรรมในการใช้ความรุนแรงมากขึ้น หรือกระทั่งผู้คนจำนวนมากอาจเห็นใจผู้ก่อการร้ายมากขึ้น และเป็นปรปักษ์กับประเทศที่ใช้วิธีการทรมาน
โจทย์เหล่านี้ไม่ควรถูกจำกัดการถกเถียงอยู่แค่นักวิชาการหรือนักเทคนิคเท่านั้น หากเป็นโจทย์ที่สาธารณะควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและถกเถียงด้วย
Tags: CIA, Enhanced Interrogation Techniques, EITs