ใครก็ตามที่ก้าวออกที่ร่มในช่วงนี้คงจะรู้ซึ้งดีว่าหน้าร้อนได้มาเยือนแล้วอย่างเป็นทางการ เพราะอยู่กลางแจ้งเพียงแค่ชั่วครู่เดียว เหงื่อก็พุดพราวขึ้นเต็มหน้าเต็มตัว
การรับรู้ความร้อนความเย็นเป็นประสบการณ์พื้นฐานทางกายอย่างหนึ่งของมนุษย์และมักถูกนำไปใช้ทำความเข้าใจแนวคิดและประสบการณ์ที่ซับซ้อนอื่นๆ เช่น เราใช้ความร้อนอธิบายอารมณ์โกรธ (เช่น โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ หรือ hot-tempered) หรือใช้ความเย็นในการพูดถึงความเฉยเมย (เช่น เย็นชา หรือ frigid) แต่นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจากความร้อนเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ จึงแทรกซึมอยู่ในภาษาทั่วไปหมดจนบางครั้งเราแทบมองไม่เห็นแล้วด้วยซ้ำ
สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูศัพท์ที่มีความร้อนซ่อนอยู่ในคำแบบที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน
Chauffeur คนขับรถ
คำนี้ภาษาอังกฤษรับผ่านเข้ามาจากภาษาฝรั่งเศสช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในสมัยนั้น เริ่มมีการเปลี่ยนจากรถม้ามาใช้รถยนต์บ้างแล้ว แต่รถยุคนั้นเป็นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไอน้ำ ไม่ใช่น้ำมันแบบในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คนขับรถที่บรรดาผู้มีอันจะกินจ้างไว้ นอกจากจะต้องขับรถ ยังมีหน้าที่อีกอย่างคือคอยเขี่ยไฟให้ร้อน
ด้วยหน้าที่ใหม่นี้ คนขับรถ จึงถูกเรียกว่า chauffeur แปลตรงตัวได้ว่า ผู้ทำให้ร้อน ผู้เขี่ยไฟให้ร้อน มาจากกริยา chaufer ในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ทำให้ร้อน
แม้ในเวลาต่อมา รถยนต์จะพัฒนาไปจนไม่ต้องมีคนคอยเขี่ยไฟให้ร้อนแล้ว แต่ผู้คนก็ยังใช้คำว่า chauffeur อยู่เพื่อเรียกคนขับรถ โดยเฉพาะคนขับรถส่วนตัว ทั้งยังมีการนำมาใช้เป็นกริยาได้ด้วย เช่น She spent the entire day chauffeuring her girlfriend around. ก็คือ เป็นสารถีพาแฟนไปส่งที่โน่นที่นี้ทั้งวัน
ทั้งนี้ คำว่า chaufer ในภาษาฝรั่งเศสที่กล่าวไปด้านบน หากสืบสาวย้อนกลับไปอีกจริงๆ แล้วจะพบว่าเป็นญาติกับคำว่า chafe ที่แปลว่า ถลอก (ซึ่งเกี่ยวกับความร้อนเพราะเกี่ยวกับการเสียดสี) ด้วย และเมื่อย้อนกลับไปอีกก็จะพบว่ามาจากกริยา calere ในภาษาละติน หมายถึง ทำให้อุ่น ทำให้ร้อน
คำว่า calere ที่ว่านี้เป็นที่มาของคำนาม calor ในภาษาละตินที่แปลว่า ความร้อน ซึ่งเป็นต้นตระกูลของคำมากมายในภาษาอังกฤษ เช่น calorie (หน่วยพลังงาน) cauldron (หม้อ) scald (เดือด ลวก) chowder (ซุปหอยลาย) และ nonchalant (ไม่รู้ร้อนรู้หนาว – อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: https://themomentum.co/unpaired-word/)
Brand ยี่ห้อ
ทุกวันนี้เราอาจจะคุ้นเคยกับว่า brand ในบริบทการตลาด แต่เดิมทีแล้ว คำว่า brand หมายถึง ไม้ฟืนที่อยู่ในกองไฟ แต่ในเวลาต่อมา คำนี้ก็มีความหมายใหม่งอกขึ้นมา หมายถึง รอยตีตราที่เกิดจากการเอาเหล็กเผาไฟไปนาบ รวมถึงเกิดรูปกริยา หมายถึง ตีตราด้วยเหล็กร้อน แบบที่มักทำกับปศุสัตว์ในสมัยก่อน (แบบที่เจอในคำว่า branding iron หรือเหล็กที่ใช้ตีตราปศุสัตว์)
ความหมายนี้นำไปสู่ความหมายเชิงเปรียบเปรยด้วย หมายถึง การตีตรา การตราหน้า เช่น She was branded as a traitor. ก็คือ ถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ แต่ความหมายในเชิงตรงเองก็ยังพัฒนาต่อไปด้วย คือแทนที่จะหมายถึงการประทับตราลงบนสัตว์อย่างเดียว ก็เริ่มขยายไปสู่การประทับตราลงบนสินค้า ทำให้เกิดความหมายว่า ตราที่ประทับลงบนสินค้า เครื่องหมายการค้า แบบที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง (เช่น brand name คือ ชื่อยี่ห้อ หรือ branded products คือ สินค้าทีมียี่ห้อ)
คำว่า brand ในความหมายนี้เป็นศัพท์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในวงการการตลาดเป็นที่มาของคำอย่าง brand image (ภาพลักษณ์ของบริษัทหรือสินค้า) brand loyalty (ความจงรักภักดีต่อแบรนด์) brand ambassador (ผู้ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นทูตของแบรนด์) รวมไปถึง branding (การสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัทหรือสินค้า) และ rebranding (การเปลี่ยนโฉมภาพลักษณ์ของบริษัทหรือสินค้า)
คำว่า brand ยังไปโผล่ในวงการแฟชั่นด้วย นั่นก็คือคำว่า name-brand (หรือที่คนไทยพูดกลับเป็นแบรนด์เนม ซึ่งจริงๆ แล้ว brand name หมายถึง ชื่อยี่ห้อ เฉยๆ) เช่น name-brand handbags ก็คือ กระเป๋าแบรนด์เนม (เรียกอีกอย่างว่า designer handbags)
Fornication การผิดประเวณี
คำนี้หมายถึง การผิดประเวณี การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของตัวเอง ส่วนถ้าอยากทราบว่าคำนี้เกี่ยวข้องอะไรกับความร้อน เราก็จะต้องย้อนเวลากลับไปสมัยโรมัน
ในสมัยนั้น ว่ากันว่าบรรดาโสเภณีมักยืนเรียกแขกกันตามโถงชั้นใต้ดินตามอาคารสนามกีฬาหรือละครสัตว์ต่างๆ โดยปกติแล้ว ชั้นใต้ดินของอาคารเหล่านี้มักมีเพดานโค้งเว้าคล้ายโดมหรือซุ้มเสาโค้ง ซึ่งในภาษาละตินเรียกว่า fornix (ในภาษาอังกฤษยังมีการใช้คำว่า fornicate เป็น adjective เพื่อบรรยายเพดานโค้งหรือวงโค้งต่างๆ)
ด้วยความที่สถานที่ลักษณะนี้กลายเป็นที่ทำมาหากินของโสเภณี คำว่า fornix ถูกนำมาใช้เป็นคำรื่นหู หมายถึง ซ่อง ด้วย และพัฒนากลายไปเป็นคำว่า fornicate ในภาษาอังกฤษในที่สุด
ส่วนที่คำนี้มาเกี่ยวกับความร้อนได้ก็เพราะว่ากันว่าคำว่า fornix ที่หมายถึงเพดานโค้งนี้ มาจากคำว่า fornax หมายถึง เตาอบ (เป็นที่มาของคำว่า furnace ในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน) ซึ่งมีรูปทรงโค้งเป็นโดมนั่นเอง
บรรณานุกรม
http://oed.com/
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
Jones, Peter. Quid Pro Quo: What the Romans Really Gave the English Language. Atlantic Books: London, 2016.
Longman Dictionary of Contemporary English
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shorter Oxford English Dictionary
Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: Vocabulary, Word Odyssey, Etymology, Stay Curious Be Open