สำหรับคนในแวดวงดนตรี ชื่อของ จอนนี กรีนวูด ไม่เพียงแต่เป็นชื่อที่คุ้นหู แต่ยังอาจเป็นชื่อที่หลายคนยกย่องและให้ความเคารพในฐานะนักดนตรีผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของจักรวาลดนตรีอัลเทอร์เนทีฟยุค 90s รวมทั้งในฐานะมือกีตาร์วงร็อกสัญชาติอังกฤษ ‘ไอ้หัวลำโพง’ Radiohead และ The Smile
และสำหรับคนในแวดวงภาพยนตร์ ชื่อของกรีนวูดก็ไม่ห่างหายไปจากการรับรู้นัก เมื่อเขาเป็นคอมโพเซอร์คู่บุญของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ด้วยการออกแบบดนตรีประกอบใน There Will Be Blood (2007), The Master (2012), Inherent Vice (2014), Phantom Thread (2017) และลำดับล่าสุด Licorice Pizza (2021) ที่กวาดเสียงชื่นชมมากราวใหญ่ และเข้าชิงออสการ์ 3 สาขา รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย (ยังไม่นับว่าเขาเคยไปปรากฏตัวใน Harry Potter and the Goblet of Fire, 2005 ในฐานะพ่อมดนักดนตรีด้วยนะ!)
อย่างไรก็ดี ลำพังปี 2021 ที่ผ่านมา เราล้วนได้ยินเสียง ‘สกอร์’ จากกรีนวูดในหนังต่างผู้กำกับถึง 3 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ Licorice Pizza, Spencer และ The Power of the Dog ที่ส่งกรีนวูดชิงออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมอีกครั้งหลังเคยเข้าชิงมาแล้วจาก Phantom Thread
กรีนวูดเล่าว่าสารตั้งต้นที่ทำให้เขาอยากลองทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งทำอัลบั้ม The Bends ของวง Radiohead ซึ่งใช้เครื่องสายหลากหลายประเภท ทำให้เขาได้เจอกับนักเชลโลและนักไวโอลินมือฉมัง นับแต่นั้น กรีนวูดก็หมกมุ่นอยู่กับเครื่องสายอีกหลายชนิดรวมทั้งหาทางขีดเขียนดนตรีขึ้นมาจาก ‘เสียง’ ของเครื่องสาย แล้วจึงขยับไปเขียนดนตรีวงออร์เคสตรา Popcorn Superhet Receiver (2005) ให้ BBC ซึ่งนี่เองที่เป็นประตูบานแรกของกรีนวูดสู่จักรวาลการทำสกอร์เพลงภาพยนตร์ เมื่อหนึ่งในคนที่ได้ฟัง Popcorn Superhet Receiver แล้วประทับใจมากเสียจนหาทางติดต่อกรีนวูดมาคือ โธมัส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับชาวอเมริกันที่กำลังง่วนอยู่กับการเข็นโปรเจ็กต์หนังเรื่องใหม่ในเวลานั้นอย่าง There Will Be Blood
“ผมไม่รู้จักเขาหรอก แต่วันหนึ่งเขาส่งข้อความมาหาผมว่า ‘ขอใช้ดนตรีนี้ในหนังของผมได้ไหม แล้วก็คุณเขียนดนตรีนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหน่อยได้หรือเปล่า’ ซึ่งสำหรับผมตอนนั้นการเขียนดนตรีให้หนังมันฟังดูเพี้ยนเอาเรื่องอยู่ แต่ผมชอบทำงานกับผู้คนน่ะ” กรีนวูดว่า “สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับการทำสกอร์หนังมันคือการที่ผู้กำกับใช้เวลาเป็นเดือนๆ โยนไอเดียกับความสดใหม่ในแง่ของเครื่องดนตรีกับสไตล์ดนตรีไปๆ มาๆ อย่างเปี่ยมไปด้วยความหวังนี่แหละ”
และนับตั้งแต่นั้น กรีนวูดก็เวียนว่ายอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฐานะคอมโพสเซอร์มาโดยตลอด
ในปี 2021 ที่ผ่านมาก็เป็นอีกปีที่คนดูหนังได้ ‘ฟัง’ เสียงดนตรีของเขาเล่าเรื่องราวของเจ้าหญิงผู้อาภัพในราชวงศ์อังกฤษ, เด็กหนุ่มกับชายฉกรรจ์ในโลกคาวบอย และรักแรกของชายหนุ่มหญิงสาวยุค 70s ของแคลิฟอร์เนีย ซึ่งยังไม่เข้าฉายในบ้านเรา
กล่าวสำหรับ Spencer หนังของ ปาโบล ลาร์เรน คนทำหนังชาวชิลี ที่จับจ้องไปยังช่วงเวลา 3 วันของเทศกาลคริสมาสต์ ไดอานา (คริสเทน สจวร์ต) ต้องกล้ำกลืนความตึงเครียดและแรงกดดันในฐานะราชวงศ์ ภายใต้การจับจ้องของสื่อและประชาชนที่คาดหวังจะได้เห็นครอบครัวแสนสมบูรณ์ในอุดมคติ ซึ่งพังทลายไปนานแสนนานแล้ว อย่างน้อยก็ในความรู้สึกเธอ ทั้งหมดนี้ถูกขับเน้นผ่านดนตรีหม่นเศร้าและเครียดเขม็งจากกรีนวูด
“ปาโบลส่งอีเมลมาหาผม คือผมก็ไม่เคยดูหนังของเขามาก่อนด้วย เขาเลยแนบหนังที่เขากำกับมาให้ คือเรื่อง The Club (2015, ว่าด้วยนักบวชกับนางชีจอมฉาว) ซึ่งผมว่ามันโคตรทรงพลังเลย แล้วการพูดคุยกับปาโบลก็สนุกมาก เราคุยกันเรื่องว่าดนตรีในหนังมันควรจะเป็นยังไงได้แบบไม่รู้จักเบื่อ เขาเป็นคนกระตือรือร้นและเต็มไปด้วยพลังบวกมากๆ”
ตัวกรีนวูดเองก็เป็นคนอังกฤษ เขาเคยดูทั้งหนังขนาดยาวและสารคดีเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษมามากต่อมาก “ผมคิดเหมือน สตีเฟน ฟราย (นักแสดงชาวอังกฤษ ผู้ขึ้นชื่อลือชาด้วยการแสดงความเห็นว่า สำหรับเขานั้นราชวงศ์อังกฤษคือความผิดปกติอย่างแน่นอน) นั่นคือราชวงศ์น่ะ เป็นสถาบันที่ไร้สาระสิ้นดีจริงๆ แต่การเอาพวกเขาออกมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนหรอก”
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เขาจับสังเกตและอธิบายให้ลาร์เรนฟังได้ก็คือ ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยกษัตริย์นั้นมักเพียบไปด้วยดนตรีคลาสสิก โดยเฉพาะบทประพันธ์หรือส่วนเสี้ยวจากงานของ จอร์จ ฟริดริก แฮนเดิล คีตกวียุคบาโรกชาวเยอรมัน “คือผมก็ดูหนังที่พูดถึงราชวงศ์มาบ้าง ส่วนใหญ่ก็ถ่ายพระราชวังบักกิงแฮมนี่แหละ มีดนตรีประกอบเป็นแตรประโคมกับฮาร์ปซิคอร์ด ส่วนผมเองอยากขับเน้นความเดือดพล่านและความสดใสของเจ้าหญิงไดอานาท่ามกลางความเป็นบาโรกเหล่านี้ แล้วนั่นก็เป็นสิ่งที่หนังเล่าพอดีเลย” กรีนวูดสาธยาย
“เพราะฉะนั้นแรกเริ่มผมเลยอยากให้มีวงออร์เคสตราแบบบาโรกเข้ามาก่อน แล้วเขียนดนตรีตามธรรมเนียมของราชวงศ์เขา อย่างใช้กลองทิมปานี ทรัมเป็ต ฮาร์ปซิคอร์ด และออร์แกน แล้วพอวงเริ่มบรรเลง เราก็ค่อยๆ แทรกนักดนตรีฟรีแจ๊ซเข้าไปในวงแทน พวกเขาเล่นเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตราได้ เราแค่ค่อยๆ เปลี่ยนให้มันกลายเป็นแจ๊ซเท่านั้นเอง ซึ่งอันนี้น่าตื่นเต้นมาก พวกนักดนตรีแจ๊ซน่าทึ่งอย่างที่สุด โดยเฉพาะ ไบรอน วอลเลน มือทรัมเป็ต ที่ทำผมขนลุกเลย” เขาว่า “กุญแจสำคัญคือมันยังฟังดูแสนจะบาโรกอยู่ แต่มันก็ยังมีพื้นที่มากพอให้สอดแทรกความวุ่นวาย ความอลหม่านเข้าไปด้วย”
และในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ กรีนวูดยังรับทำสกอร์ให้ The Power Of The Dog หนังยาวเรื่องล่าสุดในรอบ 12 ปีของ เจน แคมเปียน คนทำหนังชาวนิวซีแลนด์ที่ส่งกรีนวูดเข้าชิงออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ซึ่งหากว่า Spencer คือหนังที่อวลด้วยกลิ่นอายของความเป็นอังกฤษ ธรรมเนียมเก่าแก่โบราณ และห้วงอารมณ์อันเปราะบางของผู้หญิงคนหนึ่ง The Power Of The Dog ก็เป็นอีกขั้ว เมื่อมันคลุ้งไปด้วยความเป็นชาย คาวบอย และแบนโจ จับจ้องไปยังเรื่องของชายหนุ่มจอมกักขฬะใช้ชีวิตต้อนวัวอยู่ในทุ่งรกร้าง กับการปรากฏตัวของเด็กหนุ่มผู้อ่อนโยน และดูเปราะบางของฤดูร้อนหนึ่งซึ่งเปลี่ยนชีวิตคนทั้งคู่ไปตลอดกาล
“ดนตรีที่ได้ยินในหนังนั้นต่างจากตอนแรกๆ ที่ผมลองทำอยู่มากทีเดียว ผมส่งรูปกลองชุดปี 1920 ให้เธอ (แคมเปียน) ไปดู แล้วบอกว่าอยากลองใช้มันเพื่อย้ำความเป็นตะวันตกสมัยใหม่ คือว่ายุค 20s มันก็ไม่ได้เก่าแก่มากจนเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ร่วมสมัยขนาดนั้น ผมเลยหมกมุ่นอยู่กับดนตรีที่ให้ความรู้สึกร่วมสมัย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่ดนตรีจากศตวรรษที่ 19 เพราะมันคงดูเรียบง่ายเกินไป ถ้าเห็นคาวบอยแล้วนึกถึงแค่ปี 1870 เพราะฉะนั้นไอเดียแรกๆ หลังได้รับอีเมลจากแคมเปียน คืออยากใช้เปียโนกับแตรทองเหลือง”
กรีนวูดเริ่มแต่งดนตรีประกอบก่อนหน้าที่แคมเปียนจะถ่ายทำ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาถ่ายจริง เธอและทีมงานจึงมีโอกาสได้ฟังดนตรีบางท่อนจากปลายปากกาของกรีนวูดแล้ว “ไม่แน่ใจว่ามันส่งผลต่อการแสดงหรือการถ่ายทำยังไงบ้างนะ” เขาบอก “ส่วนที่ผมภูมิใจเอามากๆ คือตอนที่คิดได้ว่าควรใช้บางท่อนของ Radetzky March (บทประพันธ์ของ โยฮัน ชเตราส์ คีตกวีชาวออสเตรีย) ตอนฉากสำคัญของหนัง มันเจ๋งดีที่เราหาท่อนแย่ๆ แต่เป็นที่จดจำและเลื่องชื่อของดนตรีสักบท แล้วเอามาบรรเลงด้วยเปียโนกับแบนโจคู่กันได้ ผมว่าผมประสบความสำเร็จกับเรื่องนี้นะ คือมันออกมาไม่ค่อยไพเราะนักใช่ไหมล่ะครับ แต่นี่ผมก็พูดด้วยความเคารพชเตราส์นะ”
ขณะเดียวกัน แม้ The Power Of The Dog จะเป็นหนังคาวบอย แต่หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า กรีนวูดแทบไม่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายอันเป็นที่นิยมอย่างมากในหนังตะวันตก เช่น กีตาร์ (เว้นแต่เสียงแบนโจซึ่งตัวละครหลักในเรื่องบรรเลง) กลับกันคือใช้เสียงเครื่องเป่าเป็นหลัก ยังส่งผลให้เกิดความรู้สึกผิดแผกระหว่างดูหนัง ซึ่งรับกันกับความรู้สึกของตัวละครอย่าง ปีเตอร์ (โคดี สมิต-แม็กฟี) เด็กหนุ่มที่เพิ่งมาเยือนทุ่งกว้างและไร่อันลานตาไปด้วยวัวและม้าเป็นครั้งแรก
“ตอนที่ปีเตอร์ออกไปผจญภัยที่หุบเขาและทะเลทราย สำหรับเขาแล้วมันคือความเป็นอื่น เป็นพื้นที่ต้องห้าม ซึ่งตลกมาก เพราะผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากสกอร์ยุค 60s ในฉากหนึ่งของ Star Trek ที่ถ้าผมจำไม่ผิด มันเต็มไปด้วยเสียงเครื่องเป่า ผมเลยไปเช่าแตรทองเหลืองมาสองชิ้น เขียนดนตรีบางท่อนที่มันใช้เล่นด้วยกันได้ วันนั้นเป็นวันที่สนุกมากทีเดียว เราบันทึกเสียงกันในโบสถ์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในอ็อกซ์ฟอร์ด ด้วยความหวังว่าเสียงก้องๆ จากโบสถ์จะกลายเป็นเครื่องดนตรีที่สามสำหรับบทเพลงนี้”
ทั้งนี้ เราอาจได้รับฟังเสียงสกอร์จากกรีนวูดอีกหนหากว่า Licorice Pizza ได้เข้าฉายในไทย ซึ่งถึงเวลานั้น นอกจากจะได้ฟังแล้ว เรายังอาจจะได้อ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำดนตรีอันน่าตื่นตาตื่นใจของเขาอีกครั้งก็เป็นได้
Tags: เพลงประกอบภาพยนตร์, Screen and Sound, Jonny Greenwood, จอนนี กรีนวูด