ข่าวการยกเลิก BRT นั้นน่าสนใจตรงที่ผู้มีอำนาจบอกว่าจะเป็นการ ‘คืนผิวจราจรให้ประชาชน’ เพราะคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ คำว่า ‘ประชาชน’ ที่ว่าคือใคร แล้วคนที่ใช้งาน BRT อยู่ถือเป็น ‘ประชาชน’ ด้วยหรือเปล่า
ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การพูดแบบนี้คล้ายกำลังบอกว่า เฉพาะคนที่มีรถยนต์ขับเท่านั้นที่มีสิทธิอำนาจในการเป็น ‘ประชาชน’ ในขณะที่การใช้หรือให้บริการ BRT เป็นแค่นโยบายหาเสียงของนักการเมืองที่สร้างปัญหาและความน่ารำคาญให้กับคนที่ใช้รถยนต์
‘เมือง’ คือผลผลิตของวิธีคิดที่มีฐานเรื่องเพศมารองรับ
แต่การพูดแบบนี้ไม่น่าประหลาดใจนักหรอกนะครับ เพราะเอาเข้าจริง เราอยู่ในสังคมที่ศิโรราบให้กับ ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ มาตั้งแต่แรกมีรถยนต์ในสยามกันแล้ว
แล้วรถยนต์คือสัญลักษณ์ของอะไรบ้างครับ
แรกสุด รถยนต์เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เพราะในสมัยแรกเริ่ม มีแต่คนมีอำนาจอย่างบรรดาขุนน้ำขุนนางทั้งหลายเท่านั้นที่สามารถ ‘สั่ง’ รถยนต์เข้ามาขับบนท้องถนนได้ ถัดจากนั้นมาก็เป็นอำนาจเงิน คือเหล่าเจ้าสัวหรือคหบดีที่มีความสามารถในทางเศรษฐกิจพอที่จะใช้รถยนต์ได้ ส่วนคนชั้นกลางธรรมดาทั่วไปต้องรอต่อมาอีกหลายสิบปี กว่ารถยนต์จะ ‘คลายสัญญะ’ ของมัน พูดง่ายๆ ก็คือ คนชั้นสูงเริ่ม ‘เบื่อ’ ไม่ได้เห็นว่าเป็นของวิเศษอะไรนักหนาอีกต่อไป และกลไกตลาดเริ่มทำงาน รถยนต์ถูกโฆษณาให้เป็น ‘ปัจจัยที่ห้า’ ของมนุษย์ ผลลัพธ์ก็คือเมื่อเรียนจบเริ่มทำงาน เป้าหมายหลักในชีวิตของมนุษย์เมืองก็คือต้อง ‘ซื้อรถ-ผ่อนบ้าน-แต่งเมีย’ กันทุกรายไป โดยทำอย่างนี้เป็นขั้นเป็นตอนเป็นลำดับเสียด้วย
เมืองที่สมาทานวัฒนธรรมรถยนต์ ถนนมักได้รับการออกแบบมาแบบ ‘ไส้ตรง’
คือพยายามให้ของเสียในลำไส้ (อันได้แก่รถยนต์ทั้งหลาย)
มันไหลออกไปที่ทวารหนักให้หมดเร็วที่สุด
ทั้งหมดนี้นี่แหละครับ ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาเป็น ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ ให้สังคมไทยก้มหัวเรียกรถยนต์ว่า ‘ใต้ล้อ’ (แทนที่จะเป็น ‘ใต้เท้า’) กันมาตลอด
แต่ไม่ว่าจะเป็นอำนาจแบบไหนก็ตาม คุณสังเกตไหมครับว่ารถยนต์นั้นเป็น ‘สมบัติทางวัฒนธรรม’ ที่แทบจะถูกผูกขาดโดย ‘ผู้ชาย’ ตลอดมา
คนออกแบบรถยนต์คันแรกเป็นผู้ชาย คนที่ซื้อหารถยนต์มาขับเป็นคนแรกในครอบครัวก็คือผู้ชาย คนที่ทำให้รถยนต์กลายเป็นอุตสาหกรรมแบบสายพานก็เป็นผู้ชาย แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ กระทั่งกลุ่มคนหรือขบวนการออกแบบเมือง (Urban Planning) ที่ ‘เปลี่ยน’ เมืองจากเมืองสมัยก่อนมาเป็นเมืองที่รองรับรถยนต์ได้ ก็เป็นกลุ่มคนที่ใช้วิธีคิดแบบผู้ชายในการออกแบบด้วย
ถามว่าวิธีคิดนี้คืออะไร?
คุณเคยด่าผู้หญิงว่าขับรถไม่ดีไหมครับ ขับงกๆ เงิ่นๆ ขับเกะกะกีดขวาง ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเอาอย่างไร ไม่เด็ดขาดเฉียบพลันเหมือนผู้ชายขับเลย
ที่เป็นอย่างนั้น มีคนวิเคราะห์เอาไว้หลายสำนักมากว่าเป็นเพราะการออกแบบเมืองและการออกแบบการจราจรนั้นมันสุดแสนจะ ‘เป็นชาย’ น่ะสิครับ นั่นทำให้เวลาขับรถ ผู้หญิง (ที่สมาทานความเป็นหญิง ซึ่งก็มีปัญหาของมันเองอีกแบบหนึ่ง) เหมือน ‘หลุด’ เข้าไปอยู่ในดินแดนของวิธีคิดแบบผู้ชาย อันเป็นดินแดนที่จะว่าไปก็แปลกหน้าอย่างยิ่ง และโดยทั่วไปก็ต้องใช้เวลามากกว่าเพื่อที่จะเรียนรู้ให้คุ้นเคย
มีคนยกตัวอย่างการช้อปปิ้งของผู้ชายกับผู้หญิงเอาไว้นะครับว่า เวลาผู้ชายซื้อของ ก็จะนึกไว้ก่อนว่าจะซื้ออะไร แล้วตรงดิ่งไปซื้อสิ่งนั้นเลย จากนั้นก็กลับบ้าน
คำถามก็คือ สิ่งที่ผู้ชายซื้อคืออะไรครับ
ถ้าคิดแบบ ‘เหมารวม’ หรือใช้ภาพตัวแทนผู้ชายทั่วไป (ที่เป็นแค่จินตนาการ) เราน่าจะนึกออกนะครับว่าผู้ชายก็มักจะไปซื้อสว่าน ไขควง รองเท้าผ้าใบ หรืออะไรเทือกๆ นั้น พูดง่ายๆ ก็คือเป็นของที่เจือความ ‘สนุก’ ในแบบ Boys’ Toys อยู่ด้วย ผู้ชายจึงมักรีบซื้อรีบกลับเพื่อไป ‘เล่น’ ของเหล่านั้น พูดอีกอย่างก็คือ ของเหล่านั้นมักเป็นของที่ผู้ชายซื้อ ‘เพื่อตัวเอง’ (แม้จะอยู่ในนามของ Home Improvement ก็เถอะ)
แต่สำหรับผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว พวกเธอไม่ได้เป็นแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังถูกผนึกเข้าไปสู่ภาระของการเป็น ‘แม่’ และ ‘เมีย’ ที่ต้องดูแลครอบครัวด้วย ดังนั้นเวลาไปซื้อของ พวกเธอจึงมักต้องเป็นคนคอย ‘รองรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น’ ด้วยการคิดว่า เอ๊ะ! ที่บ้านขาดทิชชู่เช็ดก้นหรือเปล่า ข้าวสารหมดไหม สบู่ล่ะ หรือควรมีขนมขบเคี้ยวเอาไว้ให้สามีตอนเขาเล่นเจาะสว่านกับผนังบ้าน หรือเล่นซ่อมเก้าอี้ดีนะ ผู้หญิงจึงเดินไปทั่ว ค่อยๆ ช้อปฯ ค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ เลือก กลัวลืมนั่นลืมนี่
การขับรถของผู้ชายกับผู้หญิงก็เหมือนการเดินช้อปปิ้งนั่นแหละครับ ผู้ชายจะเดินทางไปมาในชีวิตประจำวันแบบ ‘จุดต่อจุด’ เช่น จากบ้านไปทำงาน จากที่ทำงานไปผับ จากผับกลับบ้าน คือเดินทางเป็นเส้นตรง เห็น ‘เป้าหมาย’ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องบรรลุ
แต่ผู้หญิงขับรถอีกแบบ พวกเธอต้องทำโน่นนี่หลายอย่าง เช่น เอาลูกไปส่งที่โรงเรียน แวะเอาผ้าไปซัก แต่เอ๊ะ! ขับๆ ไปแล้วเห็นป้ายร้านลดราคา แวะไปซื้อหน่อยดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าดูการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้หญิง เราจะเห็นว่าพวกเธอกระตึกกระตักแวะโน่นแวะนี่อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ใช้เส้นทางแบบ ‘จุดต่อจุด’ เหมือนผู้ชาย
การ ‘คืนผิวจราจรให้ประชาชน’ นั้น ทำให้อดตั้งคำถามขึ้นมาไม่ได้
ว่า คำว่า ‘ประชาชน’ ที่ว่าคือใคร
เป็นคนที่มีเงินมากพอจะซื้อรถ? เป็นผู้ชาย? หรือเป็นคนที่ต้องมีวิธีคิดแบบไหน
แต่คำถามก็คือ แล้ว ‘ถนน’ ได้รับการออกแบบมาแบบไหนครับ
สำหรับเมืองที่สมาทานวัฒนธรรมรถยนต์ ถนนมักได้รับการออกแบบมาแบบ ‘ไส้ตรง’ คือพยายามให้ของเสียในลำไส้ (อันได้แก่รถยนต์ทั้งหลาย) มันไหลออกไปที่ทวารหนักให้หมดเร็วที่สุด ดังนั้นกากใยของเสียอะไรจะมัวมาแวะทักทายดีดติ่งผนังลำไส้เล่นอะไรไม่ได้เป็นอันขาด ต้องขับตรงไปเท่านั้น การที่ใครจะมาจอดรถทำโน่นนี่ จะกลายเป็นการกีดขวางการจราจรอย่างร้ายกาจ อาจส่งผลให้รถติดไปทั้งเมืองได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการ ‘จอดรถรอรับลูก’ แถวๆ หน้าโรงเรียนไงครับ บทบาทการไปรับไปส่งลูกนี่ เดิมทีเดียวถ้าคิดตามแบบแผนนิยมแล้วละก็ ต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่เป็นแม่และเมียนะครับ แต่ในโลกยุคใหม่ที่ซับซ้อนขึ้น บทบาทของชายหญิงสลับกันไปมาได้ คนที่ไปจอดรถรอรับลูกก็เลยมีทั้งหญิงชายแม่เมียพ่อผัวคละกันไป แต่โดย ‘วิธีการ’ นั้น พูดได้ว่าเป็นวิธีการที่มาจากวิธีคิดแบบผู้หญิง ที่ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ เพียงแต่มันไม่สอดคล้องกับระบบถนน ที่ออกแบบมาโดยวิธีคิดแบบผู้ชาย
ดังนั้น ‘เมือง’ จึงไม่ใช่แค่เมือง แต่ ‘เมือง’ คือผลผลิตของวิธีคิดที่มีฐานเรื่องเพศมารองรับด้วย และประเทศที่ศิวิไลซ์เขาก็รู้และคิดเรื่องนี้กันมานานแล้ว!
ในปี 1999 ตอนที่กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย คิดจะ ‘รีโมเดล’ เมืองใหม่ สิ่งที่เวียนนาทำก็คือการตั้งเป้าไปที่การ ‘แปลงเพศ’ เมือง จากเมืองที่สมาทานวัฒนธรรมรถยนต์ มาเป็นเมืองที่ ‘หลากหลาย’ การเดินทางมากขึ้น
ความหลากหลายทางการเดินทางนั้น ไม่ต้องไปตั้งเป้าที่วิธีคิดแบบ non-binarism ทางเพศก็ได้นะครับ เอาแค่ให้เมืองมันรองรับ (accommodate) ความเป็นหญิงเพิ่มขึ้น ก็ทำให้เกิดวิธีคิดแปลกใหม่ และทำให้เมืองมีสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลยครับ
การสำรวจหนึ่งที่เวียนนาค้นพบนั้นสอดคล้องกับ ‘วิธีช้อปปิ้ง’ ที่ว่ามาข้างต้นมาก นั่นคือผู้ชายส่วนใหญ่จะเดินทางแค่วันละสองเที่ยว คือจากบ้านไปทำงาน แล้วก็จากที่ทำงานกลับบ้าน โดยอาจใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือบริการสาธารณะ แต่ผู้หญิงไม่ได้เป็นอย่างนั้น พวกเธอไม่ได้ใช้แค่รถส่วนตัวหรือรถสาธารณะ ทว่าใช้สาธารณูปโภคในการเดินทางทุกอย่าง ตั้งแต่พื้นผิวถนน ทางเดินเท้า รถประจำทาง รถใต้ดิน รถราง สนามเด็กเล่น ฯลฯ คือมีอะไรให้ใช้เป็นใช้หมด และไม่ได้เดินทางกันแค่วันละสองเที่ยวเหมือนผู้ชายนะครับ ทว่ามีเส้นทางสัญจรที่แลดูเหมือน ‘มั่ว’ ไปหมด
เหตุผลที่เป็นแบบนี้ก็เพราะผู้หญิงต้องรับผิดชอบ ‘งานในบ้าน’ ทั้งหลาย เธอจึงต้องไปซื้อของชำ ทำงานกระจุกกระจิก พาลูกไปสวนไปสนามเด็กเล่น ฯลฯ ถ้าจะรองรับการสัญจรของผู้หญิง เมืองก็ต้อง ‘หลากหลาย’ มากขึ้นด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง มีการศึกษาพบว่า หลังอายุ 9 ขวบไปแล้ว การใช้สวนสาธารณะของผู้หญิงจะ ‘ลดฮวบ’ ลงอย่างน่าประหลาด ทั้งนี้ก็เพราะการออกแบบสวนสาธารณะของเวียนนาในสมัยก่อนนั้น ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้เป็นพื้นที่ของผู้ชาย เรื่องนี้ถ้าจะอธิบายต้องใช้เวลานานมาก และเกี่ยวพันถึงประวัติศาสตร์ยุโรปในหลายเรื่อง เช่น การกีดกันผู้หญิงจาก common room ในมหาวิทยาลัย แต่ใน common room นั้นแหละ คือที่มาของการไหลเวียนของ ‘ความรู้’ อย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ผู้หญิงแลดู ‘รู้น้อย’ กว่าผู้ชาย สวนสาธารณะก็คล้ายๆ กัน คือมีการออกแบบให้มีพื้นที่กว้างๆ โล่งๆ ใหญ่ๆ ซึ่งเหมาะกับ ‘การเล่น’ ของเด็กชายมากกว่า
เวียนนาใช้เวลาหลายปีในการ ‘แปลงเพศ’ ตัวเอง เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามมากมาย เป็นคำถามต่อ ‘ระบอบเก่า’ เพื่อหาแผนการใหม่ในการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย ไม่ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง โดยเฉพาะอุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่ เงินเป็นใหญ่ หรืออำนาจเป็นใหญ่
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเห็นข่าวการยกเลิก BRT ผมจึงนึกถึงเวียนนา
การ ‘คืนผิวจราจรให้ประชาชน’ นั้น ทำให้อดตั้งคำถามขึ้นมาไม่ได้ว่า คำว่า ‘ประชาชน’ ที่ว่าคือใคร
เป็นคนที่มีเงินมากพอจะซื้อรถ? เป็นผู้ชาย? หรือเป็นคนที่ต้องมีวิธีคิดแบบไหน
แล้วผู้มีอำนาจล่ะ เป็นมนุษย์ที่มีวิธีคิดแบบไหน
ภาพประกอบ: คุณเค
Tags: Gender, LGBT, BRT, UrbanPlan