ในภาษาอังกฤษ วิธีการสร้างประโยคเงื่อนไขที่ดาษดื่นที่สุดก็คือการใช้คำว่า if ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำให้เกิดประโยคสองท่อน ท่อนหนึ่งบอกเงื่อนไข ส่วนอีกท่อนบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือสิ่งที่ควรทำเมื่อเงื่อนไขนั้นเป็นจริง เช่น If he calls you, let me know. ประกอบด้วยท่อนเงื่อนไขก็คือ “ถ้าเขาโทรหา” ส่วนสิ่งที่จะให้ทำเมื่อเงื่อนไขนี้เป็นจริงก็คือ “บอกฉันด้วย” ถ้าเงื่อนไขไม่เกิดขึ้นก็ไม่ต้องทำ
ด้วยความที่ประโยคเงื่อนไขมีโครงสร้างแบบนี้ จึงเหมาะกับการชี้แนะสั่งสอนว่าให้ใครทำอะไรหรือตักเตือนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสถานการณ์ไหน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกเลยที่ภาษาอังกฤษจะมีสำนวนสุภาษิตชี้แนะตักเตือนมากมายที่ขึ้นต้นด้วย if
สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปดูสำนวนและสุภาษิตในภาษาอังกฤษที่มีคำว่า if และดูกันว่าคนรุ่นก่อนๆ เขาชี้แนะตักเตือนเรื่องอะไรกันบ้าง
If the shoe fits, wear it. – ไม่มีมูล หมาไม่ขี้
แม้จะสำนวนนี้พูดถึงรองเท้า แต่ความหมายที่ใช้กันจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับรองเท้าแต่อย่างใด แต่หมายถึง หากคำพูดในเชิงลบที่คนอื่นเรียกเราเป็นความจริง ก็ยอมรับเสียเถอะ ทำนองว่าที่เขาพูดมานั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีมูลเสียเลย ตัวอย่างเช่น หากนายกฯ ไม่พอใจที่คนเรียกตนเองว่าเป็นคนอารมณ์ร้อนหรือกักขฬะ พยายามปฏิเสธเสียงแข็ง เรา (ซึ่งเคยเห็นนายกฯ พูดคำหยาบและปาสิ่งของใส่ผู้สื่อข่าวมาแล้ว) ก็อาจจะพูดว่า If the shoe fits, wear it. ประมาณว่า ไม่มีมูล หมาไม่ขี้หรอก ยอมรับเถอะ อย่าปฏิเสธให้เหนื่อยเลย (หรือจะพูดย่อเหลือว่า If the shoe fit. ก็ได้)
นอกจากนั้น บางครั้งเราอาจได้ยิน If the cap fits, wear it. แทน โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ว่ากันว่าเวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นที่เก่าแก่กว่า (cap ในที่นี้หมายถึงหมวกตัวตลกที่มีปลายแหลมและมีพู่ห้อยตรงปลาย) ส่วนเวอร์ชั่นรองเท้านี้ว่ากันว่าโผล่มาภายหลังและอาจได้รับอิทธิพลจากเรื่อง Cinderella
If you want something done right, do it yourself. – ถ้าอยากให้ถูกใจ ต้องลงมือทำเอง
สุภาษิตนี้มีไว้ใช้เตือนเวลามอบหมายงานให้คนอื่นทำว่าย่อมมีโอกาสที่ผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่ได้ดั่งใจหวัง ดังนั้น ถ้าอยากให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่เราคาดหวัง ถูกใจแน่นอน ก็จะต้องลงมือทำเอง
โดยปกติแล้วเราจะได้ยินสำนวนนี้เวลาที่มีใครสั่งงานคนอื่นไปแล้วผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เช่น หากเพื่อนเรามาบ่นให้เราฟังว่า สั่งลูกน้องให้ร่างจดหมายสำคัญแล้วปรากฏว่าที่ลูกน้องเขียนมาไม่เอาอ่าวเลย เราก็อาจจะบอกเพื่อนว่า Well, you know what they say. If you want something done right, do it yourself.
If the mountain will not come to Mohammed, Mohammed must go to the mountain. – หากสิ่งที่หวังไม่เกิดขึ้นอย่างใจ ก็ต้องยอมใช้วิธีอื่น
สำนวนนี้บางครั้งก็พูดย่อๆ ว่า If the mountain will not come to Mohammed มีที่มาจากนักปราชญ์ชาวอังกฤษ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ซึ่งเคยเล่าไว้ในหนังสือรวมข้อเขียน Essays ว่ามุฮัมมัดพยายามจะแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการเรียกภูเขาให้เคลื่อนเข้ามาหาตน แต่พอเรียกแล้วภูเขาไม่ขยับ จึงพูดว่า หากภูเขาไม่เคลื่อนมาหามุฮัมมัด มุฮัมมัดก็จะไปหาภูเขาเอง
ด้วยเหตุนี้ ในเวลาต่อมาสำนวนนี้จึงถูกนำมาใช้พูดเวลาที่เราต้องลงมือทำอะไรบางอย่างหรือเปลี่ยนวิธีที่ใช้เพราะสิ่งที่เราหวังให้เกิดไม่เกิดขึ้นดั่งหวัง ตัวอย่างเช่น หากเราโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยทาสีทางม้าลายแถวบ้านที่จางแล้วใหม่แต่ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงเสียที เลยคิดจะบุกไปที่หน่วยงานเองเสียเลย แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า If the mountain will not come to Mohammed, Mohammed must go to the mountain.
If you can’t stand the heat, get out of the kitchen. – ทนไม่ได้ก็ออกไป
สำนวนนี้แปลตรงตัวได้ว่า หากทนร้อนไม่ไหว ก็ออกไปจากครัวซะ ปกตินำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยหมายถึง หากทนแรงกดดันหรือรับมือกับปัญหาไม่ได้ ก็ควรจะนำตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นเสีย ไม่ควรทู่ซี้ทนอยู่ต่อไป ตัวอย่างเช่น หากเรารำคาญเวลานายกฯ บ่นว่าเหนื่อย ตนเองพยายามสุดความสามารถแล้ว เราก็อาจจะพูดว่า If you can’t stand the heat, get out of the kitchen. ก็คือ ทนไม่ได้ก็ออกไปเลยจ้า
สำนวนนี้เป็นที่นิยมขึ้นมาเพราะประธานาธิบดีแฮร์รี่ เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ของสหรัฐอเมริกาใช้สำนวนนี้ตอนที่ประกาศว่าจะไม่ลงสมัครอีกสมัย
If you lie down with dogs, you will get up with fleas. – คบคนพาล พาลพาไปหาผิด
สำนวนนี้ไม่ได้เป็นการเตือนคนที่ชอบลงไปนอนกลิ้งกับน้องหมาว่าเวลาลุกขึ้นมาแล้วเห็บก็จะติดมาด้วยแต่อย่างใด แต่เป็นการเปรียบเปรยคนไม่ดีกับหมาและเปรียบชื่อเสียหรือคุณลักษณะที่ไม่ดีกับเห็บ เพื่อจะเตือนว่า หากเราเกลือกกลั้วกับคนไม่ดี เราก็อาจติดนิสัยที่ไม่ดีหรือชื่อเสียงในทางลบของคนๆ นั้นมาด้วย ตัวอย่างเช่น หากดาราที่เราชอบประกาศเปิดตัวว่าไปสมัครเข้าพรรคการเมืองที่เราไม่ชอบ เราก็อาจจะพูดว่า If you lie down with dogs, you will get up with fleas. ก็คือ ระวังจะเหม็นเน่าตามพรรคไปด้วย
สำนวนนี้ว่ากันว่ามาจากสำนวนภาษาละติน Qui cum canibus concumbunt cum pulicibus surgent ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน
บรรณานุกรม
http://oed.com/
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Crystal, David, and Ben Crystal. Shakespeare’s Words: A Glossary & Language Companion. Penguin Books: London, 2002.
Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.
Tags: if, proverbs, Word Odyssey