1
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงตัวเลขการตกงานของเด็ก ‘จบใหม่’ ว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ฝ่ายค้านระบุ โดย 66% ทำงานเอกชน 20% ทำงานในระบบราชการ และที่เหลือประกอบอาชีพส่วนตัวและอาชีพอิสระ
ผมไม่แน่ใจว่าตัวเลขดังกล่าวมาจากไหน เพราะดูเหมือนในหัวของผู้นำประเทศจะไม่มีใคร ‘ตกงาน’ เลยแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้ หากตัดเรื่องความน่าเชื่อถือของ ‘ตัวเลข’ ออกไป ตัวเลขของเด็กจบใหม่ที่นายกฯ บอกว่าเข้ามาทำงานในระบบราชการ ที่มีมากถึง 20% ก็ดูจะน่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องนี้อาจไม่หนีจากความเป็นจริงเท่าไรนัก ข้อมูลเมื่อปี 2564 พบว่า ไทยมีข้าราชการทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน โดยงบประมาณภาครัฐปี 2564 3.3 ล้านล้านบาท ถูกใช้เป็นเงินเดือนสำหรับบุคลากรภาครัฐมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมากกว่า 35% พูดง่ายๆ ก็คือ 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดิน ถูกใช้เป็นเงินเดือนข้าราชการ
ปัญหาก็คือไม่มีใครรู้สึก ‘คุ้มค่า’ กับการมีระบบรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะขนาดนี้ ไม่มีใครบอกได้ว่า การมีระบบราชการ มีข้าราชการจำนวนมาก ส่ง ‘ผลดี’ ต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร และในระดับนโยบาย ก็ไม่เคยวิเคราะห์กันอย่างจริงจังว่าระบบนี้มี ‘ประสิทธิภาพ’ หรือไม่
และถ้าคิดว่าจำนวนข้าราชการขณะนี้มีจำนวนมากแล้ว อันที่จริงตัวเลขแนวโน้มข้าราชการต่อปียังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่ราว 1% ต่อปี ซึ่งสวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ ซึ่งมีแต่จะลดน้อยลง ทั้งยังสวนทางกับทิศทางการจ้างงานในองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีแต่จะ Lean ลง ทว่าระบบราชการกลับใหญ่ขึ้น
และยังคงมีแนวโน้มที่จะใหญ่มากต่อไปเรื่อยๆ
2
ในเวลาเดียวกัน คนในระบบนี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นเด็กจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี กลับไม่มีใครพอใจกับระบบที่เป็นอยู่ น้องคนหนึ่งบอกกับผมว่า ระบบนี้แทบไร้ซึ่งการตรวจสอบ-ถ่วงดุล มีแต่การต้องเชื่อฟังผู้อาวุโส และในสังคมไทย หากไม่เคารพ ‘ผู้ใหญ่’ ก็ไร้ซึ่งความก้าวหน้า แน่นอนว่าไม่เคารพผู้ใหญ่แบบไทยๆ ไม่ได้หมายความแค่ไม่ยืน ‘ค้ำหัว’ หรือต้องทำตามทุกอย่างที่ผู้ใหญ่สั่งเพียงอย่างเดียว หากแต่คำสั่งใดๆ จาก ‘ผู้ใหญ่’ ล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามเถียง ห้ามถาม และห้ามสงสัย ชีวิตจะดียิ่งขึ้น แม้ผู้ใหญ่คนนั้นจะเป็นผู้ใหญ่ห่วยๆ ก็ตาม
“งานราชการแทบจะเป็นอาชีพเดียวที่ทำให้ไม่ต้องย้ายถิ่น ลองคิดดูว่าในจังหวัดเล็กๆ จะมีอาชีพไหนที่มั่นคง มีรายได้ประจำ และมีสวัสดิการเท่ากับข้าราชการ ไม่มีหรอก” รุ่นน้องคนหนึ่งแลกเปลี่ยนกับผม
“ผมรู้สึกว่าอยู่อย่างนี้มองไม่เห็นอนาคต แต่ก็ต้องอยู่อย่างนี้ต่อไป จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ก็รู้สึกว่างานนี้มั่นคงมากเพียงพอแล้ว” น้องอีกคนกล่าวเสริม
แน่นอนว่าอนาคตที่เขามองไม่เห็น ไม่ใช่แค่อนาคตของตัวเขาเอง หากแต่คืออนาคตของประเทศเล็กๆ ประเทศนี้ด้วย…
3
อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สนาม ‘เลือกตั้งใหญ่’ กำลังจะมาถึง ทุกพรรคพูดตรงกันว่าปัญหาของประเทศคือระบบ ‘รัฐราชการรวมศูนย์’ ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่าง พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย กระทั่ง ‘พรรคกล้า’ หรือพรรคอนุรักษนิยมอย่าง ‘ไทยภักดี’ ก็ประกาศว่า ระบบราชการล้าหลังเป็นปัญหากับประเทศนี้
ข้อเท็จจริงก็คือ ประเทศไทยไม่เคย ‘รื้อใหญ่’ ระบบราชการ นับตั้งแต่ปี 2545 ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งแน่นอน มาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบ ‘ถอยหลัง’ หนุนเสริมให้ระบบราชการใหญ่เทอะทะมากขึ้น โดยเฉพาะจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
เพราะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนนั้นมี ‘วิธีคิด’ ก็คือ ต้องหนุนระบบราชการ ‘เป็นพวก’ ให้มากที่สุด เพราะตัวเองไม่ได้มีฐานจากประชาชน เพราะฉะนั้น ต้องดูแล ‘แขนขา’ ของตัวเองให้ดี ทั้งยังต้องเอาใจสารพัด เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นมวลชนใหญ่ที่สุด ที่จะบ่งบอกอนาคตของระบอบนี้ว่าจะอยู่หรือไป
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่จะสนับสนุนพวกเขาได้ดีที่สุด ที่ใกล้ชิดกับ ‘ศูนย์กลางอำนาจ’ มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ มหาดไทย หรือบรรดาหน่วยงานด้าน ‘ความมั่นคง’ ทั้งหลาย จึงได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะด้วยสวัสดิการพิเศษ ไม่ว่าจะด้วย ‘งบลับ’ หรือการขยายหน่วยงานใหม่ๆ
หากการขยายหน่วยราชการเป็นไปพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากการขยายตัวของระบบราชการเป็นไปเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นของสังคม ก็คงไม่มีใครว่าอะไร
แต่ทั้งหมดดูจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไม่ได้เพิ่มขนาดนั้น ตัวเลข ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผลโดยตรงก็คือ ภาษีเก็บได้เท่าเดิม แต่ต้องมา ‘ถม’ กับระบบราชการมากขึ้น งบประมาณแผ่นดินที่ควรถูกนำไปใช้ดูแลสวัสดิการประชาชน ไปใช้พัฒนาประเทศ กลับต้องถูกนำมาใช้เป็นเงินเดือนข้าราชการ และเป็นสวัสดิการต่างๆ แทน
เป็นระบบที่ ‘สิ้นหวัง’ จริงๆ
4
กล่าวสำหรับองค์กรทำงานในกระบวนการยุติธรรมอย่างศาลและอัยการ เงินเดือนของหน่วยงานเหล่านี้ถูกตั้งไว้ให้สูงกว่าระบบราชการอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่รับ ‘เงินพิเศษ’ และไม่ประกอบอาชีพอื่นๆ เพิ่ม จนทำให้เสียความเที่ยงตรงหรือเสียความยุติธรรม มีการคิดระบบสอบ สนามใหญ่ สนามเล็ก สนามจิ๋ว เพื่อให้มั่นใจว่าได้คนที่มีความสามารถจริงๆ เข้ามา บางคนต้องขวนขวายไปเรียนปริญญาโทในต่างประเทศ เพื่อเข้ามาสอบ ‘สนามจิ๋ว’ ให้ ‘ตัวหาร’ น้อยลง และมีโอกาสเข้าสู่ระบบง่ายขึ้น
ปัญหาก็คือ ในแวดวงที่ต่างคนต่างพยายามดิ้นรนเข้ามานั้น ก็ปรากฏเป็นข่าวเรื่องเกี่ยวกับการ ‘ทุจริต’ หรือมีรายได้อื่นๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง และที่ยังไม่ปรากฏเป็นข่าวก็ยังผ่านหู ผ่านตา อยู่บ่อยๆ บางครั้งมีเรื่องเล่าถึงขนาดว่า ตำรวจและอัยการอาจ ‘มีนอกมีใน’ กัน ทำยอดในบางจังหวัดที่เป็นดินแดนสีเทาๆ
ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องพูดถึง ‘ตำรวจ’ ที่ติดท็อป 3 ทุกครั้งเวลาที่มีผลสำรวจว่าหน่วยงานใดมีการ ‘คอร์รัปชัน’ สูงสุด ใกล้เคียงกับกรมการขนส่งทางบกและกรมที่ดิน เป็นหน่วยงานที่ไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบได้ และแม้ว่าเรื่องจะอื้อฉาว ภาพลักษณ์จะย่ำแย่เพียงใด
ระหว่างที่ผมกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล กำลังพูดเรื่อง พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าชุดทำคดีโรฮีนจา ที่ขอลี้ภัยไปอยู่ในออสเตรเลีย เมื่อปี 2558 หลังจากทำคดี จัดการจนทหารยศ ‘พลโท’ จนเข้าคุกได้สำเร็จ เมื่อหลายปีก่อน แต่หลังจากจัดการเสร็จ เขากลับถูกย้ายลงไปยังภาคใต้ เขตอิทธิพลของนายทหารนายนั้น และเขตต้นเรื่องที่ขบวนการค้ามนุษย์โรฮีนจายังหากินกันอยู่อย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีแต่นายทหารคนเดียวเท่านั้นที่ถูกเชือดอยู่คนเดียว ทั้งที่ขบวนการนี้พัวพันกับข้าราชการเป็นหางว่าว
พลตำรวจตรีปวีณรู้ว่าถ้าอยู่ก็ ‘ตาย’ เลยขอลี้ภัยดีกว่า
5
“ระบบราชการมีอยู่แค่ 2 อย่างครับ อย่างแรกคือตามน้ำ เขาทำอะไร เราก็ทำไปตามนั้น ไม่ขวาง” น้องคนหนึ่งที่อยู่ในวงการนี้บอก
“และถ้าตามน้ำไปมากๆ เราจะอยู่เป็น เราจะเติบโตขึ้นไป โดยที่ไม่มีอะไรขัดขวาง ไม่ต้องขัดขากับใคร แล้วสักวันหนึ่ง เราจะอยู่ข้างบนของห่วงโซ่เพื่อรับใช้นายต่อไป” นี่คือคำอธิบาย ซึ่งเป็นบทสรุปของเรื่องนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นในวงการราชการไทย
คำถามสำคัญที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือ เพราะเหตุใด เรายังปล่อยให้ระบบนี้ฝังรากลึกแบบนี้ เพราะเหตุใด เราจึงยอมให้เงินงบประมาณจำนวนมากลงไปหล่อเลี้ยงระบบนี้ และทำไม ถึงมีแต่คนรู้ และไม่มีใครลงไปจัดการเรื่องนี้จริงจังเสียที
หรือเป็นเพราะมีคนได้ประโยชน์จากระบบแบบนี้ หรือเป็นเพราะระบบนี้มีไว้เพื่อรักษาทั้ง ‘ห่วงโซ่’ ให้คงอยู่ด้วยกันตลอดไป หรือเป็นเพราะประเทศนี้ อยู่ได้ด้วยระบบ ‘มาเฟีย’ ที่ต้องดูแลกันเป็นทอดๆ โดยที่ประชาชนไม่ได้มีความหมายเท่าไรนักในสมการ
คำตอบอาจเป็นได้ทั้ง ‘ถูก’ ทั้งหมด หรือ ‘ผิด’ ทั้งหมด…
แต่ที่แน่ๆ ถ้าระบบนี้ ถูกวางไว้อย่างนี้ ประเทศไทยจะไม่มีทางไปไหนได้ไกลอย่างแน่นอน
Tags: From The Desk, ราชการไทย, ระบบราชการ, ข้าราชการ, ราชการ