บริษัท สนุกออนไลน์ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ sanook.com และ JOOX มิวสิกสตรีมมิงอันดับหนึ่งในไทย ประกาศเดินหน้าใหม่ในชื่อ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) หรือ Tencent Thailand อย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมกับตั้งเป้าว่าในปีหน้า จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการสร้างสรรค์ จัดหา และบริการคอนเทนต์ที่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย

ในงานแถลงข่าว ‘Tencent Thailand: Road to 2017’ ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 19 ธ.ค. 2559 กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท Tencent Thailand กล่าวว่า บริษัท Tencent เล็งเห็นศักยภาพของตลาดในไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานออนไลน์สูงและมีกำลังซื้อ จึงได้เข้ามาลงทุนกับบริษัท สนุกออนไลน์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2553 และเปลี่ยนชื่อมาเป็น Tencent Thailand แต่ยังคงโฟกัสกับผู้บริโภคในไทยเป็นหลัก มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคออนไลน์ในไทย

“ก่อนหน้านี้ เราโฟกัสกับการทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์ และเว็บพอร์ทัล เราเน้นให้บริการข้อมูลข่าวสารกับสังคมไทย จนถึงเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เราเพิ่งเปิดตัวเว็บไซต์ข่าวสาร Muan.la ในลาว แต่ตลอดระยะเวลาที่เราทำคอนเทนต์ เราเห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคออนไลน์เปลี่ยนแปลง นอกจากการอ่านบทความบนเว็บพอร์ทัลแล้ว สมัยก่อนอ่านบนพีซี ก็เปลี่ยนมาอ่านบนโทรศัพท์มือถือและสมาร์ตโฟนในรูปแบบแอปพลิเคชัน เราก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่

“ปัจจุบันเราโฟกัสกับคนไทยนะครับ สิ่งที่ได้จาก Tencent คือโปรดักต์ แล้วเอาความเป็นแบรนด์มาครอบเพื่อเข้ากับความต้องการของ user ในไทย เราโฟกัสกับ localize โปรดักต์พวกนี้ เช่น WeChat ซึ่งไม่ได้เจาะกลุ่มคนไทย แต่เป็นแบรนด์ของไทยที่ต้องการจะไปเจาะตลาดในเมืองจีน, Joox และเว็บ Sanook”

แล้วเราควรจับตาอะไรกันบ้าง?

1. Tencent Thailand กับการปักธงเป็นผู้นำด้าน Content and Service Platforms ในร่มใหญ่ของ Tencent

ชื่อของ Tencent อาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก แต่สำหรับแวดวงนักธุรกิจและคนที่สนใจตลาดออนไลน์ในจีน Tencent ก็คืออีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในระดับเดียวกันกับ Alibaba และ Baidu ผลิตภัณฑ์ของ Tencent ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจเกมออนไลน์ แอปพลิเคชันแชต WeChat และยังถือหุ้นทั้งหมดของ Sanook.com

การที่ Tencent เข้ามาลงทุนในไทย ผ่าน Tencent Thailand น่าจะเป็นเพราะว่า Sanook นั้นมีผู้ใช้งานสูงถึง 36 ล้านราย/เดือน ทั้งยังเป็นผู้ให้บริการออนไลน์อีกมากมาย และการเดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มด้านคอนเทนต์และบริการ ก็จะยิ่งทำให้ Tencent เข้าถึงผู้บริโภคหลายกลุ่ม หลากไลฟ์สไตล์ กว่าเดิม

Tencent Thai จะสร้างแพลตฟอร์ม 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

1) กลุ่มข่าวสารสาระบันเทิง (News & Portal) ได้แก่ เว็บ Sanook และบริการข่าวใหม่ NoozUP (นิวส์อัพ)

2) กลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนต์และมัลติมีเดีย (Entertainment & Multimedia Platforms) เจาะตลาดบริการเพลงและเกมบนมือถือ ได้แก่ Joox, Tencent Games, V Station

3) กลุ่มบริการ (Services) คือ TOPSPACE เอเจนซีผู้ให้บริการด้าน Digital Service

“สนุกออนไลน์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Tencent Thailand แล้ว เพราะนอกจากเว็บ Sanook แล้ว ตอนนี้เรามีแพลตฟอร์มอื่นๆ เพิ่มเข้ามา มันไม่เหมือนกับตอนแรกที่คนยังไม่รู้จักว่า Tencent คืออะไร ตอนนั้นผลิตภัณฑ์ของเราคือ Sanook ด้วย แต่ตอนนี้เราต้องการจะยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของเราครอบคลุมพฤติกรรมของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์จริงๆ”

2. ขยายบริการสู่ ‘Live Content’ และ ‘Offline’

กฤตธี บอกกับ The Momentum ว่า สิ่งที่ยังขาดใน ecosystem ของตลาดคอนเทนต์ออนไลน์ในไทยก็คือ คอนเทนต์ประเภทวิดีโอ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคปัจจุบัน เช่น วิดีโอข่าว หรือแม้แต่ live content เช่น V Station ของ Joox ฟีเจอร์ใหม่ที่นำคอนเสิร์ตและรายการต่างๆ มาฉายในระบบออนไลน์สตรีมมิง โดยที่ผู้ชมสามารถอินเตอร์แอ็กทีฟกับศิลปินได้แบบเรียลไทม์ และที่ผ่านมา Joox ได้ถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลดนตรี K-Pop ‘Melon Music Award’ จากเกาหลีใต้มาแล้ว และยังนำรายการทีวีไทยมาเผยแพร่ผ่านสตรีมมิงด้วย เช่น Thailand’s Got Talent

นอกจากนี้ Tencent Thailand ยังเตรียมพัฒนาคอนเทนต์ประเภท online learning เพื่อตอบสนองคนยุคใหม่ที่อยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง รวมทั้งทำคอนเทนต์ออฟไลน์มากขึ้นในรูปแบบการจัดคอนเสิร์ตในปีหน้า

ทั้งนี้กฤตธีเห็นว่า ถึงแม้เทรนด์ User-Generated Content (UGC) จะมาแรง แต่แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค (และแบรนด์) ควรจะมีส่วนผสมของคอนเทนต์ที่สร้างโดยมืออาชีพ หรือ Professionally-Generated Content (PGC) ด้วย

3. ‘คอนเทนต์ที่ใช่ ต้องอยู่ในสื่อที่ใช่’ เปลี่ยนกลยุทธ์การทำคอนเทนต์ของแบรนด์ (Branded Content) แบบ Cross Platform

เมื่อถามถึงโมเดลธุรกิจ กฤตธีอธิบายว่าธุรกิจบริการแพลตฟอร์มด้านคอนเทนต์ ควรมีรายได้จากฝั่งแบรนด์และผู้บริโภค พร้อมเสริมว่าคนไทยในปัจจุบันมีความเข้าใจและพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อบริโภคคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้นในอนาคต

ที่สำคัญ การทำคอนเทนต์ให้กับแบรนด์จะไม่จำกัดแค่แบนเนอร์โฆษณาอีกต่อไป แต่ควรเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ จัดทำโดยมืออาชีพและผู้บริโภคมีโอกาสมองเห็นสูง มียูนิตการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ทั้งยูเซอร์และแบรนด์บนหลายแพลตฟอร์ม (Cross Platform) เช่น การโฆษณารีวิวร้านอาหารในเว็บ Sanook เว็บ NoozUP และการสร้างเพลย์ลิสต์ของแบรนด์ใน Joox

4. ยกทัพบริการด้านดิจิทัล เจาะตลาดจีนและอาเซียน

หลายคนอาจมองว่าการเข้ามาของ Tencent จะทำให้ธุรกิจไทยสูญเสียโอกาส แต่ในอีกด้านหนึ่ง ดูเหมือน Tencent Thailand เล็งจะบุกตลาดจีนกลับเหมือนกัน โดยผ่านแอปพลิเคชัน WeChat ซึ่งมีผู้ใช้เป็นคนจีนที่อยู่ในประเทศจีนและต่างประเทศทั่วโลก จึงเปิด TOPSPACE ดิจิทัลเอเจนซี เพื่อซัพพอร์ตด้านการซื้อมีเดีย โดยเน้นกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของไทยที่ต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าคนจีน ผ่านการโฆษณาในแอปพลิเคชัน WeChat และช่องทางอื่นๆ

นอกจากนี้ บริษัทยังเริ่มขยายตลาดคอนเทนต์ในอาเซียน เช่น เปิดเว็บข่าว Muan.la (ม่วน.แอลเอ) เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคในประเทศลาว โดยเป็นคอนเทนต์แปลจากภาษาไทย (60%) และข่าวในประเทศ (40%) และเตรียมจะเปิดให้บริการในอินโดนีเซียเป็นลำดับถัดไป

5. เตรียมลงทุนบริษัทสตาร์ทอัพ

ไม่เพียงเท่านั้น Tencent Thailand ยังเผยว่าจะลงทุนบริษัทสตาร์ทอัพในไทย

เพื่อซัพพอร์ตด้านการสร้าง content service และ ecosystem ที่เอื้อต่อคอนเทนต์แพลตฟอร์มของบริษัท โดยไม่จำกัดรูปแบบว่าจะต้องเป็นเพลง หนัง หรือหนังสือ

ปัจจุบัน Tencent Thailand เป็นพาร์ตเนอร์กับ SkillLane และ Ookbee

และ Tencent Headquarter จะเป็นผู้สนับสนุนการลงทุนในสตาร์ทอัพ

มาเต็มขนาดนี้ เราอาจได้เห็นแนวทางการปรับตัวใหม่ๆ ของธุรกิจสื่อที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับ Tencent Thailand ทางเลือกของผู้บริโภคจะยิ่งทวีความหลากหลาย และสตาร์ทอัพไทยสายคอนเทนต์จะมีโอกาสได้ร่วมทุนหรือเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็น่าจับตามองต่อไปว่าหลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งมีทุนมหาศาลเข้ามาลงทุนในธุรกิจคอนเทนต์และสตาร์ทอัพในไทยแล้ว จะยังมีช่องว่างให้ธุรกิจไทยเติบโต โดยไม่ถูกกลืนไปด้วยหรือไม่

ภาพประกอบ: Karin Foxx

Tags: , , , , , ,