เสื้อวินเทจทหารอเมริกันยุคสงครามเวียดนามกว่า 60 ตัว แขวนเรียงรายภายในห้องพักขนาด 60 ตารางเมตร เสื้อแต่ละตัวราวกับจะปลุกประวัติศาสตร์ให้ตื่นขึ้นมาสนทนากับปัจจุบัน แม้สงครามเวียดนามจะจบไปแล้ว แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ยังคงเดินย่ำไปข้างหน้า เหมือนฝีเข็มที่ด้นเดินบนผืนผ้า เส้นด้ายร้อยเย็บเครื่องหมายหน่วยรบบนเครื่องแบบราวกับพยายามตรึงอดีตให้หยุดนิ่ง แน่นอนว่าไม่มีใครเปลี่ยนแปลงอดีตได้ และเช่นกัน ไม่มีใครตรึงอดีตไม่ให้เปลี่ยนแปลง ประหนึ่งฝีเข็มตรึงได้เพียงเครื่องหมายบนเสื้อเท่านั้น ส่วนความหมายนั้นมีชีวิตของตัวเอง และมันพร้อมจะออกเดินทางเสมอ

“วัตถุเหล่านี้มีความสามารถและลักษณะเหมือนจิตวิญญาณ เก็บเกี่ยวเวลาและเรื่องราวเพื่อผลิตมูลค่าและความน่าหลงใหลแบบต่อเนื่อง” ชัยพร สิงห์ดี เจ้าของเสื้อทหารวินเทจเหล่านี้ กล่าวถึงคอนเซ็ปต์ของวินเทจได้อย่างน่าหลงใหล

นอกจากหลงใหลของวินเทจ ชัยพรยังเป็นอาจารย์พิเศษวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ควบคู่กับการเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สองปีก่อน ชัยพรสวมชุดทหารอเมริกันสีเขียวมะกอกคลุมทับเสื้อเชิ้ตสีฟ้า ทรงผมของเขาอยู่ในรูปลักษณ์แบบ Military Haircut ซึ่งน่าจะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกเพียงคนเดียวในประเทศที่สวมเสื้อทหารวินเทจนำเสนอภาพร่างความคิดในการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘เสื้อผ้าเก่า สภาวะวัตถุใหม่ : การประกอบสร้างของเครือข่ายและการสะสมเสื้อทหารวินเทจในประเทศไทย’

กว่าสองปีที่สวมบทบาทนักสะสมเสื้อวินเทจเพื่อทำความเข้าใจวัตถุทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของกับผู้ครอบครอง กระทั่งต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ชัยพรกำลังจะเดินทางไปพำนักที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกผู้ได้รับทุนแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนางานชิ้นนี้ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน 

การพูดคุยถึงสิ่งที่เขาศึกษาในครั้งนี้ ทำให้เราเป็นเหมือน First Reader ในงานเขียนวิทยานิพนธ์ที่เขากำลังจะทำให้ลุล่วงในอีก 10 เดือนต่อจากนี้

น่าหลงใหลเสมอ การได้ฟังใครคนหนึ่งเล่าถึงสิ่งที่หลงรัก

อะไรทำให้คุณหลงใหลของวินเทจ

ผมชอบเสื้อผ้าวินเทจ ผมเกิดที่ตาคลี เติบโตมากับตลาดนัดจตุจักร

ย้อนกลับไปในยุคสงครามเวียดนาม คุณตาของผมเป็นคนขับรถให้ทหารอเมริกันในเมืองตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ครอบครัวของผมเป็นชนชั้นกลางที่ยากจน ตาเป็นคนจีนจากสิงห์บุรี ยายก็เป็นคนจีนมาจากลพบุรี ตาของผมเป็นนายท้ายเรือ ยายเป็นลูกสาวเจ้าของโรงสีเล็กๆ ทั้งสองเจอกัน จีบกัน ชอบพอกัน เริ่มที่จะสร้างครอบครัวด้วยการมองหาเมืองที่จะลงหลักปักฐาน ยายเคยไปเที่ยวตาคลี จึงบอกตาว่า “ตาคลีนี่ยอดผักบุ้งมันงามดีเนาะ” จากจุดนี้ตากับยายก็ลงหลักปักฐานที่ตาคลี พอเกิดสงครามเวียดนาม ตาคลีกลายเป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน ตาเข้าไปทำงานที่ฐานทัพในฐานะคนขับรถเทรลเลอร์และรถส่วนตัวของทหาร

ตาภูมิใจกับการได้ทำงานกับทหารอเมริกันมาก จนทุกวันนี้แม้ตาจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แต่ทุกครั้งที่เล่าถึงอดีตเมื่อครั้งถูกโหวตให้เป็น Driver of the Year ความทรงจำของตากระจ่างชัด ภูมิใจทุกครั้งที่เล่าถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาแล้ว

ตาคลีในยุคก่อนสงครามเวียดนามเป็นเมืองเล็กๆ ก่อนที่จะเจริญรุ่งเรืองในช่วงสงคราม เมืองเล็กๆ แห่งนี้เติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของภาคกลาง ตาคลีมีโรงหนัง 4 โรง ธุรกิจเติบโตมากครับ ยุคนั้นเป็นยุคทองของตาคลี

คนจนใช้ของอเมริกันเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไป สิ่งของจากอเมริกาช่วยยกสถานะและความเป็นสมัยใหม่ให้พวกเขา ในยุคนั้นสิ่งของที่มาจากอเมริกากระจายออกไปในวงกว้าง เราจึงเห็นสามล้อสวมแว่นตายี่ห้อเรย์แบน (Ray-Ban) ได้อย่างคุ้นตา

ผมเกิดในยุคที่ตาคลีพ้นยุคทองมานานแล้ว ตาคลีสำหรับผมจึงเป็นเมืองซึมๆ เซาๆ แต่ผมยังทันโรงหนังทั้ง 4 โรงอยู่ วัตถุจากสงครามเวียดนามวางอยู่ทั่วบ้าน ถังขยะ กล่องเครื่องมือ เชือก ทุกอย่างเป็นของอเมริกาทั้งหมด แต่ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจจะมองมัน เพราะเห็นตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อทำงานวิจัย เมื่อเรามีเลนส์ทางวิชาการ เราก็ตั้งคำถามมากขึ้น ตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมตาต้องภูมิใจขนาดนั้น ผมไม่เคยมองเห็นโครงสร้างทางสังคมที่ชัดเจน เมื่อก่อนเราก็มองว่าการที่คนหนึ่งรวยหรือจน ก็เป็นไปตามบุญตามกรรม นึกออกมั้ยครับ แต่พอเริ่มเข้าใจมากขึ้นก็เกิดคำถามย้อนกลับมาที่ครอบครัวตัวเอง เราต้องใช้สิ่งของเหล่านี้ในการที่จะรู้สึกภาคภูมิใจเหรอ หากไม่มีของเหล่านี้ เราจะหาอะไรมาภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น นอกจากความทันสมัยข้าวของเครื่องใช้จากอเมริกาบ่งบอกอะไรได้อีก

ผมอยู่ที่ตาคลีจนจบ ป.6 ก็ย้ายมาอยู่กับน้าที่กรุงเทพฯ น้าเปิดร้านขายของที่ตลาดนัดจตุจักร ผมก็โตมากับตลาดนัดจตุจักร เรียนรู้ชีวิตการค้าขาย รู้จักตลาดจตุจักรเป็นอย่างดี ตอนเรียนปริญญาโทผมก็ศึกษาการดำรงอยู่ของพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร

ตลาดเสื้อผ้าวินเทจบ้านเราใหญ่มากครับ เสื้อผ้าเหล่านั้นไม่เหมาะกับคนไทย เช่น เสื้อหนัง แจ็กเก็ตผ้าแว็กซ์ (Waxed Jacket) ผมก็เริ่มเกิดคำถาม แล้วเขาขายให้ใคร ราคาก็แพง คนซื้อส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติบินมาจากอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป เสื้อผ้าเหล่านี้มาจากการบริจาคจากต่างประเทศผ่านช่องทางต่างๆ แล้วเข้ามาขายในเมืองไทย วันดีคืนดีพวกฝรั่งก็กลับเข้ามาซื้อกลับไปอีก คำถามแรกที่ผมสงสัยก็คือการเปลี่ยนแปลงมูลค่า

เทรนด์ที่ย้อนกลับมาให้คุณค่าของวินเทจ ก็ทำให้ของเหล่านี้มีราคา มูลค่าก็เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการ ยิ่งของหายากสภาพดีก็จะมีมูลค่าสูง เมื่อวินเทจกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก แต่เราไม่สามารถหาซื้อได้ในห้างสรรพสินค้า โรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าวินเทจได้ เพราะกาลเวลาเป็นตัวสร้างความวินเทจ มีข้อถกเถียงกันในหมู่ผู้ศึกษาของวินเทจว่าผลิตปีไหนถึงจะเข้าข่ายเป็นวินเทจ แต่สุดท้ายความเป็นวินเทจก็อยู่ที่เรื่องราวของมัน สิ่งของนั้นผ่านอะไรมาบ้าง มัน แสดงถึงช่วงเวลาใด แสดงถึงความสัมพันธ์อะไร แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมช่วงไหน ของวินเทจเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์เหล่านี้เสมอ เช่น เสื้อทหารสงครามเวียดนาม เสื้อผ้าสไตล์ Workwear รองเท้าเบอร์เคนสต็อก (BIRKENSTOCK) รองเท้าด็อกเตอร์มาร์ติน (Dr.Martens) ของเหล่านี้มีเรื่องราว ของบางอย่างอยู่ในช่วงเวลาของการต่อต้านระบบของสังคม สิ่งของจึงมีจิตวิญญาณอบอวลอยู่ในนั้น

เสื้อมือสองมีความสัมพันธ์อย่างไรกับวัฒนธรรมการต่อต้าน

ประวัติศาสตร์เสื้อผ้ามือสองในอเมริกามีความน่าสนใจมาก เพราะเสื้อผ้ามือสองมักเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในอเมริกาเสมอ ถ้าเรามองย้อนกลับไปในยุคก่อนสงครามโลก หรือในยุควิกฤตเศรษฐกิจ (The Great Depression) เสื้อผ้ามือสองเป็นของที่คนจนซื้อมาใส่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาเติบโตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ ความขาดแคลนในยุคสงครามก็หมดไปเมื่อการผลิตดำเนินต่อ อเมริกาเรียนรู้การทำเสื้อผ้าจากฝรั่งเศส ก็ผลิตเสื้อผ้า Ready-to-wear ผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion ออกมาจำนวนมาก ขายในราคาที่ถูกลง คนก็เข้าถึงเสื้อผ้าคุณภาพเดียวกันได้เหมือนกันหมด เครื่องแต่งกายที่เหมือนกันก็ทำให้ความจนถูกบดบังออกไปจากการมองเห็น เสื้อมือสองจึงถูกนำมาใส่เพื่อทำให้ความจนถูกมองเห็น กระตุกเตือนสังคมว่ายังมีความจนดำรงอยู่ มันไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกระบบการผลิตเสื้อผ้าบดบังไว้เฉยๆ นี่คือนัยหนึ่งของเสื้อผ้ามือสอง

เสื้อมือสองยังมีนัยเรื่องเพศด้วย ในอเมริกายุคที่ยังไม่มีความหลากหลายทางเพศ คนที่เป็น Transgender หรือชายที่ต้องการแต่งหญิง เขาไม่สามารถซื้อเสื้อผ้าผู้หญิงในร้านค้าได้ เพราะแปลกประหลาด สังคมยังไม่ยอมรับ ผู้ชายจะมาซื้อเสื้อผ้าผู้หญิงใส่ได้อย่างไร สิ่งที่เขาทำได้คือหาซื้อเสื้อผ้ามือสองมาใส่ เขาเรียกว่า Genderfuck คือใช้เสื้อผ้ามือสองเผยตัวตน เพราะเสื้อผ้ามือหนึ่งไม่เปิดพื้นที่ให้เขา ไม่เฉพาะแค่ผู้ชายนะ ผู้หญิงที่ต้องการแต่งเป็นผู้ชายก็เช่นกัน

ดังนั้นเสื้อผ้ามือสองมีนัยของการต่อสู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้านสังคม ชนชั้น เศรษฐกิจ การเมือง และเพศ หรือแม้แต่ในยุคสงครามเวียดนาม คนหนุ่มสาวอเมริกันก็นำเสื้อทหารอเมริกันมาสวมใส่เพื่อต่อต้านสงคราม พวกเขาดัดแปลงเครื่องหมายบนเครื่องแบบ ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องแบบ แล้วใส่เสื้อทหารออกมาต่อต้านสงคราม

 

ในโลกของเสื้อผ้าวินเทจที่หลากหลาย ทำไมเลือกศึกษาเสื้อทหารอเมริกันยุคสงครามเวียดนาม

เสื้อผ้าวินเทจที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมีหลากหลายประเภทมาก ไม่ว่าจะเป็น Demin Vintage, Workwear, Western, Military และ Biking แต่เสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีราคาคงตัวไม่ผันผวนไปตามกระแสของแฟชั่น คือ เสื้อผ้าทหารวินเทจ เสื้อผ้าทหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเสื้อทหารอเมริกาจากสงครามในยุคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามอ่าว (Gulf War) และสงครามต่างๆ ที่อเมริกาเข้าไปมีส่วนร่วม แต่สงครามทั้งหมดที่ผมกล่าวมานั้น เครื่องแบบและเครื่องหมายที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบ้านเรา คือ สงครามเวียดนาม

มีปัจจัยหลายอย่างทำให้เสื้อทหารยุคสงครามเวียดนามได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมไทย สงครามเวียดนามมีความใกล้ชิดกับสังคมนักสะสมไทย เพราะประเทศไทยมีส่วนร่วมในสงครามคราวนั้น การที่เราเป็นฐานทัพให้ทหารอากาศในยุคนั้นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ รวมถึงเนื้อผ้าของเสื้อทหารอเมริกายุคสงครามเวียดนามก็เหมาะแก่การสวมใส่ในสภาพอากาศแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เวลาเลือกหัวข้อศึกษา ผมจะเลือกของที่มีเรื่องเล่า เสื้อทหารอเมริกันยุคสงครามเวียดนามมีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่ในงานที่ศึกษาผมให้ความสำคัญกับชีวิตของวัตถุและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าการสร้างความคงที่แน่นอนของความสัมพันธ์ที่มีมนุษย์เป็นองค์ประธาน ผมสนใจบทสนทนาระหว่างมนุษย์และเครื่องแบบ/เครื่องหมายจากสงครามเวียดนาม

  เสื้อผ้าเครื่องแบบ/เครื่องหมายจากสงครามเวียดนามไม่ได้ถูกจัดวางหรือตกแต่งในพิพิธภัณฑ์ แต่สวมบนเรือนร่างผู้สะสม สิ่งที่ผมอยากจะศึกษาก็คือความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ อวัตถุ และมนุษย์ มันสามารถหักเหความหมายและคุณค่าเดิมของการออกแบบและฟังก์ชันภายใต้บริบทและเวลาที่แตกต่างกันอย่างไร วัตถุสามารถ ‘กลาย’ และ ‘สร้าง’ ความเป็นไปได้ที่หลากหลายได้อย่างไร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจต่อผู้ครอบครอง

 

แล้วคุณพบคำตอบนั้นหรือยัง เอาคำถามแรกก่อน คำถามที่คุณมีต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเสื้อวินเทจ

พบแล้วครับ เรื่องมันเริ่มแบบนี้

เวลาที่สิ่งของถูกบริจาค มันจะไม่ใช่สินค้าอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นของขวัญ (Gift) ซึ่งองค์กรการกุศลในอเมริกาจะรับกิฟท์เหล่านี้ไป เช่น ร้าน Goodwill กับ Salvation Army เพื่อขายในราคาถูก แต่เสื้อผ้าที่เหลือจำนวนมหาศาลจะถูกเก็บที่ Warehouse เพื่อเปลี่ยนแปลงมูลค่า สร้างราคาให้กับมัน แต่เราไม่รู้หรอกว่าของชิ้นไหนจะมีราคาหรือไม่มีราคา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงราคาก็คือองค์ความรู้จากคนที่มีสายตาในการมองเห็นคุณค่า ของจะไม่มีคุณค่าหากปราศจากสายตาของมนุษย์ 

ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรีและโทอยู่ที่อเมริกา ความสุขของผมคือการไปร้านเสื้อผ้ามือสองเพื่อคุ้ยหาของมาขายในอีเบย์ วันเสาร์เมา ตื่นมาวันอาทิตย์ไปจับสินค้ามาขายในอีเบย์ ของ 7 เหรียญฯ ผมขายได้ถึง 100 เหรียญฯ เราเปลี่ยนแปลงมูลค่าได้ถ้ามีองค์ความรู้ในการมอง แต่ของจำนวนมหาศาลที่ไม่สามารถ Display ในร้านได้ ก็ถูกส่งกระจายเป็นขยะไปสู่พื้นที่ต่างๆ เช่น กัมพูชา มาเลเซีย ปากีสถาน เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าเหล่านี้เป็นขยะที่คนอเมริกันต้องการทิ้ง แต่พอถึงปลายยุค 90s ของเหล่านี้กลับมีมูลค่า เพราะตลาดต้องการ

ปากีสถานเป็นประเทศต้นทางก่อนที่เสื้อผ้าวินเทจจะเดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อเสื้อผ้ามือสองเดินทางมาถึงปากีสถาน เสื้อมือสองเหล่านี้จะเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงคุณค่าโดยการคัดเกรด แยกประเภทตามความต้องการของตลาด เมื่อเสื้อผ้าเหล่านี้ถูกคัดเลือกและทำความสะอาดก็จะถูกบรรจุในกระสอบ (Bale) ที่คละเคล้ากับเสื้อผ้าหลายเกรดก่อนจะถูกส่งต่อมายังประเทศไทยเพื่อเข้าสู่เครือข่ายกระจายสินค้าต่อไป

เมื่อก่อนคนจะมองว่าเสื้อผ้ามือสองหรือเสื้อผ้าวินเทจเป็นเสื้อผ้าสำหรับคนที่มีรายได้น้อยใช่มั้ยครับ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว มันเป็นสินค้าราคาแพง ปากีสถานเป็น Mysterious Land ที่ของไม่มีวันหมด มีการรับของมาจากอเมริกาเสมอ มีข่าวว่าคนอินเดียไปสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรการกุศลที่อเมริกา พวกเขาเอาของเหล่านี้มาคัดแยกที่ปากีสถาน บริจาคเงินให้องค์กรการกุศลแล้วรับทุกอย่างมากองไว้ที่ปากีสถาน

กระบวนการที่สำคัญจึงเป็นการคัดเลือก การใช้สายตาในการคัดเลือกแยกประเภท คนงานที่คัดเลือกมีความสำคัญมากๆ ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงมูลค่า เพราะเขาต้องคัดแยกเสื้อออกมาจากกองขยะปริมาณมหาศาล เขาต้องแยกได้ว่าเสื้อตัวไหนมีมูลค่า ในกระสอบเสื้อมือสองสมัยก่อนไม่มีการคัดเกรดของสินค้า พวกเขายังไม่มีความรู้ในการคัดเกรด ผู้ซื้อก็มีโอกาสฟลุกที่จะได้ของดี เพราะใน 1 กระสอบเขาอาจจะเจอเสื้อที่มีมูลค่าหลายตัว ก็สามารถทำกำไรได้

แต่ในปัจจุบันทุกคนมีองค์ความรู้กันหมด ทำให้การจัดการเสื้อผ้ามือสองเปลี่ยนไป เขาจะใส่ความหวังให้คุณ หมายความว่าการจัดการเสื้อผ้าวินเทจต้องมีการจัดการหัวกับหาง เวลาที่คุณซื้อเสื้อกระสอบ คุณจะได้เสื้อหัวคือเสื้อที่มีราคาแพง และผ้าหางคือเสื้อผ้าที่ไม่มีราคา หมายความว่าในกระสอบหนึ่งคุณก็จะได้ทั้งเสื้อผ้าที่ดีและไม่ดี แต่เมื่อก่อนคุณมีสิทธิฟลุกมากกว่านี้ สัดส่วนเสื้อในกระสอบจะถูกจัดการมาอย่างรัดกุม เขาจะใส่เสื้อไม่มีมูลค่า 70 เปอร์เซ็นต์ เสื้อผ้ามูลค่ากลางๆ 20 เปอร์เซ็นต์ และเสื้อมีมูลค่า 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้พ่อค้าที่ลงทุนมีความหวังในธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง ก็เป็นการจัดการความหวังให้ผู้ลงทุนรายเล็ก

ในการพูดคุยกับพ่อค้า ผมจะบอกพวกเขาเสมอ ผมไม่ใช่พ่อค้านะ ผมมาพูดคุยเพื่อนำข้อมูลไปเขียนงาน ถ้าบอกเป็นพ่อค้าผมจะได้ข้อมูลอีกแบบ คนก็จะเตือนผมเยอะว่าอย่าลงทุนทำนะถ้าเงินไม่ถึงหรือไม่รู้จักยี่ปั๊วใหญ่ๆ เพราะแต่ละกระสอบมีความเสี่ยงสูง ในกระสอบจะมีเสื้อที่สามารถทำกำไรได้เพียงตัวหรือสองตัว ใส่มาให้มีความหวังเท่านั้นแหละ แต่ถ้าคุณเป็นพ่อค้าที่รวยๆ คุณสามารถเข้าไปเลือกที่โกดังได้เลย แต่ถ้าคุณเป็นพ่อค้าที่ซื้อเสื้อกระสอบก็ไม่สามารถเลือกอะไรได้ ดังนั้นคนที่ลงทุนก็จะเจ๊งกันเยอะ เพราะความหวังในกระสอบมีจำกัด

 

เมื่อเสื้อผ้ามือสองมีมูลค่า คนที่เคยทิ้งหรือบริจาคก็ยังจะทิ้งหรือบริจาคเสื้อจากต้นทางอยู่อีกหรือ

นี่ก็เป็นคำถามที่ผมสงสัยเหมือนกัน แต่ของที่ค้างอยู่ในวัฏจักรยังมีมหาศาล แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ทำให้คนที่จะทิ้งของไม่ทิ้งง่ายๆ เหมือนเดิมแล้ว เขาจะต้องหาข้อมูลเพื่อดูว่าของที่จะทิ้งมีมูลค่าไหม อยู่ในกระแสหรือไม่ มันก็มีทั้งคนที่แคร์และไม่แคร์ คนรวยบางคนก็ไม่ได้แคร์ตรงนี้ เขาก็บริจาคให้คนที่ยากจน แต่เขาไม่รู้หรอกว่าของเหล่านี้ไม่เคยเดินทางไปถึงคนจนเลย มันถูกเปลี่ยนแปลงมูลค่า คนอเมริกันมีความเชื่อว่าการบริจาคเป็นการช่วยเหลือคนจน เขาคิดไม่ผิดหรอก แต่ความเป็นจริงก็คือการบริจาคได้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ล่อลวงให้คนบริจาค ของบริจาคเหล่านั้นเดินทางกลายไปเป็นสินค้า

ดังนั้นของจากขยะจึงน่าสนใจ เพราะคุณทิ้งเสื้อไป แต่วันดีคืนดีมันมีราคาแพงมากกว่าเสื้อตัวใหม่ที่คุณต้องการจะซื้อเสียอีก แต่การที่มันจะแพงได้ก็ขึ้นอยู่กับ Supply ที่น้อย กาลเวลาที่สิ่งของเก็บเกี่ยวมา และประสบการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในสิ่งของ แน่นอนเมื่อเราพูดถึงเสื้อผ้าวินเทจ คนที่เล่นของวินเทจก็จะรู้ว่าคุณภาพเสื้อวินเทจดีกว่าของ Fast Fashion คุณภาพของผ้าดีกว่า การตัดเย็บดีกว่า แพทเทิร์นดีกว่า

 

จากขยะที่ถูกทิ้ง ผ่านการคัดแยก ให้คุณค่า มีสาเหตุอื่นอีกมั้ยที่ทำให้เสื้อวินเทจได้รับความนิยม

เราต้องการบ่งบอกข้อมูลบางอย่างจากการแต่งกาย เสื้อผ้าวินเทจมีความสามารถกระทำการ (Agency) มีพลังในการที่ทำให้เราดูแตกต่างจากคนอื่น ทำไมเราจึงบริโภคเสื้อผ้าวินเทจ อย่างแรก เสื้อวินเทจทำให้เราดูแตกต่าง ต่อให้มีเงินแต่คุณซื้อบางอย่างไม่ได้นะ เสื้อบางตัวมีเรื่องราว เสื้อผ้าวินเทจแต่ละตัวคือการกลับไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ สิ่งของเชื่อมเรากับอดีต แต่เสื้อผ้าวินเทจแนบชิดกับผิวหนังของเรา นักสะสมเสื้อผ้าทหารหลายคนบอกผมว่า เวลาเดินพิพิธภัณฑ์คุณจับต้องสิ่งของเหล่านั้นได้หรือเปล่า แต่เสื้อเหล่านี้เราเป็นเจ้าของ เราสวมใส่และเดินออกไปบนท้องถนน เราสร้างความสัมพันธ์กับมันได้ ทำให้คนที่ครอบครองรู้สึกพิเศษ

ที่สำคัญคนที่เก็บสะสมของเก่าส่วนมากจะคิดถึงเรื่องอนาคต เวลาที่เราเก็บสิ่งของ กาลเวลาจะสร้างสภาพวินเทจ ถ้าเราเก็บไว้ต่อไปมูลค่าก็เพิ่ม จะจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่นี่คือความหวัง ดังนั้นเสื้อผ้าวินเทจในตัวมันเองจะมี 3 เฟส เชื่อมอดีตเข้ากับปัจจุบัน และฝากความหวังไปที่อนาคตได้ด้วย

เสื้อผ้าวินเทจที่ไม่มีอดีตก็ไม่มีอนาคต ไม่มีราคา เสื้อวินเทจต้องมีเรื่องราวและประสบการณ์ที่ผ่านการใช้งาน คำว่า Patina หรือร่องรอยของการใช้จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในสายตาของคนเล่นของวินเทจ แต่เสื้อวินเทจมีหลายแขนง บางคนชอบเก็บของแบบใหม่ๆ ไม่เคยใช้งาน ก็จะมีราคาสูง แต่ผมหรือใครหลายคนชอบเสื้อผ้าที่ผ่านเรื่องราวมา มีรูบ้างขาดบ้าง เพราะร่องรอยเหล่านี้แสดงการถูกใช้งาน มันถูกใครบางคนที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์สวมใส่ทำภารกิจ และในปัจจุบันเรายังสามารถใช้งานมันได้อยู่ และวันหนึ่งเสื้อตัวนี้ก็อาจจะสร้างอนาคตให้กับเราได้ หากวันหนึ่งข้างหน้ามูลค่ามันสูงขึ้น

ในทางทฤษฎี คนที่เก็บเสื้อผ้าวินเทจก็จะเป็นคนที่มีอายุมาก หมายความว่า คนเราเมื่อเหลือวันเวลาในชีวิตน้อยลง เมื่อเราเดินเข้าใกล้ความตาย เราต้องการที่จะให้ชีวิตของเราดำรงอยู่ต่อ หรือให้ตำนานของเราสืบสานต่อไป ดังนั้นหลายคนก็เลือกเก็บของเก่า เพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตได้ผูกโยงกับของเก่า ลากอดีตมาบรรจบกับปัจจุบัน และต่อยอดไปยังอนาคตผ่านสิ่งของ

เสื้อวงดนตรีก็เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น ผมก็สนใจนะว่าเขามองเสื้ออย่างไร แตกต่างจากนักสะสมเสื้อทหารหรือเปล่า เพราะเสื้อวงก็มีประวัติศาสตร์ เล่นที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร คนเล่นเสื้อวินเทจที่มีความรู้มากก็จะยิ่งอินเพราะเขารู้ว่าของที่อยู่ในมือมูลค่ามันอยู่ตรงไหน

คนที่เล่นเสื้อผ้าทหารอาจไม่ได้มอง Narrative ของประวัติศาสตร์เป็นหลัก เขาอาจชอบศิลปะการออกแบบเครื่องหมายบนเสื้อ ชอบเรื่องราว ตำนาน วีรกรรมของบุคคลหรือหน่วยรบพิเศษบางหน่วยที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเขา ดังนั้นคนที่เก็บเสื้อทหารก็จะมองประวัติศาสตร์ผ่านวัตถุเข้าไป การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านเสื้อผ้าวินเทจไม่ได้ศึกษาผ่านตัว Text แต่ศึกษาผ่านวัตถุ แล้วเราก็จะเข้าใจในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

การสะสมเสื้อทหารอเมริกันทำให้เกิดความหมายใหม่ระหว่างผู้สะสม สิ่งของ และประวัติศาสตร์อย่างไร

ในโลกของการบริโภคและสะสมเสื้อทหารในยุคสงครามเวียดนามมีอยู่ 2 วิธี คือ การสะสมแบบเดิมๆ และการประกอบสร้างขึ้นใหม่ การสะสมแบบเดิมๆ ผู้สะสมจะไม่ปรับแต่งเสื้อผ้าและเครื่องหมายเลย แม้เครื่องแบบและเครื่องหมายจะอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ก็ตาม นักสะสมจะซื้อเก็บในสภาพเดิม ดังนั้นความถูกต้องและดั้งเดิมจึงสำคัญที่สุด

วิธีการสะสมอีกแบบคือการประกอบสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งวิธีนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักสะสมไทย แต่การสะสมในต่างประเทศจะเน้นการเก็บแบบดั้งเดิม การแต่งเสื้อในบ้านเราจะต่างไปจากที่อื่น ที่อื่นเขาไม่ทำกัน เขาจะมองว่าเป็น Reproduction เป็นเสื้อผ้าที่ไม่มีความแท้

เสื้อผ้ามือสองที่เข้ามาในบ้านเราจะมีสภาพไม่สมบูรณ์ ไซส์เสื้อไม่พอดีตัวบ้างล่ะ เสื้อมีรูบ้างล่ะ เสื้อขาดบ้างล่ะ มีรอยเปื้อนสารพัด อาร์มหรือเครื่องหมายที่ติดมากับเสื้อมาไม่ครบ ดังนั้นผู้สะสมหรือผู้ขายอาจจะเลาะเครื่องหมายออกจากเสื้อตัวที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อมาเย็บใส่บนเสื้อที่มีสภาพหรือขนาดที่ถูกใจผู้สวมใส่

การแต่งเสื้อจึงเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทน เวลา องค์ความรู้ และความสัมพันธ์ที่ดีในการเสาะหา การประกอบเสื้อด้วยอาร์มใหม่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมตามยุคสมัย มีความสมจริงถูกต้องตามกฎระเบียบของกองทัพสหรัฐในยุคนั้น ผู้สะสมจะใช้รูปถ่ายของทหารในยุคเวียดนามมาเป็นสิ่งอ้างอิงในการแต่งเสื้อให้เหมือนกับยุคดั้งเดิมมากที่สุด

การเลือกแต่งอาร์มเครื่องหมายของผู้สะสมแต่ละคนขึ้นอยู่กับเรื่องราว ความสามารถ วีรกรรม ความเสียสละในสนามรบของตัวบุคคลหรือหน่วยรบนั้นๆ ซึ่งมีบทบาททางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน เครื่องหมายจะมีราคาแพงถ้าเป็นหน่วยรบที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในหมู่นักสะสม เครื่องหมายของหน่วยรบที่มีความโหดในการฝึก ราคาและความต้องการก็จะสูงตามไปด้วย การติดอาร์มบนเสื้อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้สะสม เพราะการติดอาร์มต้องมีความสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงของระเบียบกองทัพในยุคนั้น ถ้าติดผิดตำแหน่งหรือไม่ตรงกับมาตรฐานของกองทัพก็จะทำให้เสื้อตัวนั้นขาดความเดิมและถูกลดทอนคุณค่า

การเสาะหาอาร์มเครื่องหมายหรือเสื้อสภาพเดิมเป็นความท้าทายสำหรับผู้ที่สะสม เพราะเสื้อผ้าทหารและอาร์มเครื่องหมายวินเทจจากเวียดนามมีจำนวนจำกัด การเสาะแสวงหาทั้งเสื้อและเครื่องหมายจึงเป็นความท้าทายของผู้ที่คลั่งไคล้วัตถุชนิดนี้ บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นปีในการรอเสื้อและอาร์มที่จะมาประกอบร่างเป็นเสื้อตามจินตนาการและประสบการณ์ของผู้สะสมนั้นๆ

ความสัมพันธ์ของผู้สะสมกับวัตถุที่เชื่อมโยงกับสงครามเวียดนามได้สร้างสะพานไปสู่การจินตนาการและความเข้าใจสงครามเวียดนามแบบใหม่ ผู้สะสมเข้าถึงประวัติศาสตร์ผ่านความสัมพันธ์แบบเฉพาะด้วยการสร้างตัวตนใหม่บนเสื้อของเขาเพื่อเข้าถึงเรื่องเล่าของสงคราม ซึ่งความหมายของสงครามที่ปรากฏผ่านการรวมตัวของวัตถุ อาจจะแตกต่างจากองค์ความรู้ของสงครามในรูปแบบของงานวิชาการและประวัติศาสตร์นิพนธ์

ลักษณะการแต่งเสื้อแบบนี้เข้าข่ายแฟนซีไหม

ไม่แฟนซีครับ เพราะอิงกับข้อเท็จจริงของระเบียบกองทัพอเมริกันในยุคนั้น เครื่องหมายที่หาซื้อกันก็เป็นของที่ผลิตในยุคสงครามเวียดนาม แต่การแต่งเสื้อจะเกินเบอร์ไปหน่อย เพราะทหารคนหนึ่งจะไม่เก่งเท่านายทหารในจินตนาการของนักสะสม

จุดเริ่มต้นชีวิตของเครื่องแบบและเครื่องหมายของทหารถูกออกแบบและผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในสงคราม ให้ทหารที่สวมใส่ได้รับความสะดวกสบายและตอบสนองการใช้งานในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว เครื่องแบบและเครื่องหมายเหล่านี้จึงเป็นวัตถุที่คอยติดตามทหาร เพื่ออำนวยความสะดวก และป้องกันในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ส่วนตัวเครื่องหมาย (Insignia) มีหน้าที่แสดงและสื่อสารชื่อ ยศ เหล่า หน่วย ความสามารถพิเศษที่ได้รับการฝึก รวมไปถึงคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ดังนั้นเครื่องแบบและเครื่องหมายในช่วงสงครามจึงมีอำนาจและความสามารถในการกำหนดผู้สวมใส่ให้อยู่ภายใต้ความหมายที่ถูกสร้างมาและกำหนดขึ้นมาโดยกองทัพ

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเครื่องแบบและเครื่องหมายเดินทางจากสงครามเวียดนามมาอยู่ในการครอบครองของนักสะสมชาวไทย จากการสังเกตและพูดคุยกับนักสะสมหลายคน ผมพบว่าการเป็นผู้ปฏิบัติการของเครื่องแบบและเครื่องหมาย ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องราวที่สะสมผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ตำนาน ภารกิจและการปฏิบัติการต่างๆ ของทหารที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ เก่งกาจ องอาจ การเสียสละ การสูญเสียในสมรภูมิ รวมไปถึงความก้าวหน้าทางด้านวัตถุ เทคโนโลยีในมิติต่างๆ ของกองทัพ เรื่องราวเหล่านี้ของแต่ละหน่วยรบทหารมีแรงดึงดูดผู้สะสมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และชีวิตของแต่ล่ะคน

ตัวอย่างของหน่วยทหารที่ได้รับความนิยมในไทยคือ หน่วยรบสงครามพิเศษ Special Force หรือ Green Beret เป็นหน่วยรบที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความสามารถในการรบมาอย่างยาวนาน และมีส่วนร่วมในหลายภารกิจที่สำคัญในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารจากหน่วยนี้เป็นที่รู้กันว่าได้รับการฝึกอย่างหนักหน่วง และมีความสามารถพิเศษที่หลากหลายในสมรภูมิ นอกจากนั้นทหารจากหน่วยนี้ยังได้รับการฝึกภาษาท้องถิ่นเพื่อปฏิบัติภารกิจด้วย ดังนั้นเครื่องแบบของหน่วยรบพิเศษนี้จึงถูกประดับด้วยเครื่องหมายมากมาย คล้ายๆ กับ ผบ.ทบ.บ้านเรา แสดงถึงคุณสมบัติและความสามารถของทหารนายนั้นๆ

ในวัฒนธรรมป๊อป หน่วยรบพิเศษได้ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์เรื่อง First Blood โดยตัวแสดงหลักคือแรมโบ้ ซึ่งก็เป็นทหารปลดประจำการของหน่วยรบพิเศษด้วย

อีกตัวอย่างของหน่วยที่ได้รับความนิยมคือ หน่วย 1st Cavalry Division หน่วยนี้เป็นหน่วยที่มีการสูญเสียด้านกำลังพลมากที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยอื่น หน่วยนี้ได้นำวิธีการรบที่ทันสมัย คือการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการรบโจมตีและลำเลียงขนส่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสงคราม ดังนั้นหน่วยนี้จึงแสดงถึงความทันสมัยด้านเทคโนโลยี

เสื้อทหารแต่ละตัวจึงเปรียบเสมือนเวทีที่แสดงถึงความหมายและอำนาจทางทหารที่ยึดโยงกับเครื่องหมายต่างๆ เสื้อทหารที่ได้รับการแต่งแบบสมบูรณ์เสร็จสิ้นนั้น อาจจะไม่ได้คงอยู่บนเสื้อตัวนั้นตลอดไป เครื่องหมายต่างๆ และเสื้อมีโอกาสถูกเลาะแยกออกจากกัน เพื่อไปติดกับเสื้อตัวใหม่และสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความปรารถนา อารมณ์ ความเบื่อหน่าย และความเข้าใจใหม่ของผู้สะสม

ยกตัวอย่าง ในฐานะที่ผมเป็นนักมานุษยวิทยา ผมก็จะชอบหน่วย Special Force เพราะหน่วยนี้ต้องเข้าใจชาวบ้าน ต้องไปเรียนรู้ภาษาและวิถีชีวิตที่แตกต่างคล้ายบทบาทของนักมานุษยวิทยา

เสื้อแต่ละตัวก็จะเติมเต็มเรื่องราวเหล่านี้ เสื้อแต่ละตัวของผู้สะสมจะมีเรื่องราวไม่เหมือนกัน

ช่วยอธิบายถึงตัวตนหรือเรื่องราวที่เขียนขึ้นบนเสื้อทหารของคุณสักตัวได้ไหม

(เดินไปหยิบเสื้อวินเทจที่แขวนอยู่บนผนัง)

ตัวนี้ถือว่าแต่งเต็ม ตัวเสื้อเป็นเสื้อยุคที่ 2 เรียกว่า Tropical Combat Jacket ซึ่งต่างจากเสื้อ Utility Shirts ซึ่งเป็นกระดุมโชว์เรียกว่า First Pattern ซึ่งผลิตน้อย เพราะตอนที่ผลิตออกมามันไม่ Practical กระดุมเสื้อมักไปเกี่ยวกิ่งไม้ใบไม้ยามที่ทหารใส่ออกปฏิบัติการ เขาจึงผลิตรุ่นที่สองออกมาเป็น Tropical Combat Jacket ซ่อนกระดุมเก็บไว้ข้างใน

ก่อนที่จะแต่งเสื้อคุณต้องจินตนาการก่อนว่าอยากจะเป็นใคร ผมอยากอยู่หน่วย Special Force ในบรรดาหน่วยรบพิเศษ หน่วย Green Beret ดังที่สุด ก็ต้องมีหน่วยนี้ยืนพื้น ผมอยากเป็นจ่าแก่ๆ ที่ผ่านประสบการณ์มายาวนาน ผมก็ติดอาร์มเครื่องหมายยศทหาร US ARMY Rank Sergeant First Class (E-7) ผมเป็นจ่าแก่ๆ ที่ผ่านสมรภูมิมาโชกโชน ก็จะมีเครื่องหมายความสามารถ CIB (The Combat Infantryman Badge) เป็นสัญลักษณ์ของการผ่านสมรภูมิมาแล้ว เมื่อผ่านการสู้รบก็จะได้เครื่องหมายนี้มาติดเสื้อ ส่วนชิ้นนี้คือเครื่องหมาย Parachutist Badge ถ้าคุณผ่านการฝึกกระโดดร่มมาแล้วก็จะได้สัญลักษณ์นี้มา ส่วนอาร์มชิ้นนี้ชื่อว่า Pathfinder ราคา 3,000 บาท เครื่องหมายนี้บอกว่าคุณผ่านการฝึกนำทางในป่า ส่วนเครื่องหมายนี้เรียกว่า Jungle Expert เป็นเครื่องหมายแสดงการฝึกดำรงชีพและนำทางในป่าเช่นกัน

เสื้อตัวนี้ถือว่า Full Option แต่งต่อไม่ได้แล้ว เพราะเต็มแล้ว โอเวอร์มากด้วย ไม่น่าจะมีจ่าทหารคนไหนเก่งขนาดนี้ บางคนแต่งเป็นนายพล บางคนติดสี่ดาวใหญ่สุดในอเมริกา บางคนก็ชอบอะไรแบบนี้

แต่วันดีคืนดี ผมอยากขายเสื้อตัวนี้ เสื้อที่ผมลงทุนแต่งจน Full Option แต่ตอนจะขายราคาจะไม่สูง เพราะแต่งครบแล้ว และมันเป็นเสื้อของผม ถ้าจะขายผมต้องเลาะ เลาะออกมาเป็นชิ้น ขายเสื้อเปล่า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนอื่นได้แต่งเติมเรื่องราวของเขา ความรู้สึกต่างๆ ของการที่คุณได้เลือกสีเอง เลือกหน่วยเอง ทำให้คุณมีความใกล้ชิดกับเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาเองมากกว่า

ตอนแรกผมอินกับการประกอบเสื้อ แต่พอเราเข้าใจกลไกการตลาดของมัน การประกอบเสื้อเป็นเหมือนการสร้างประวัติศาสตร์บนเสื้อ แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ดั้งเดิม พอพูดถึงในเชิงมูลค่า ของสะสมควรที่จะมีราคาสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งการเก็บเสื้อเดิมๆ ราคาจะไปต่อได้ แต่การประกอบเสื้อราคาจะตก คนที่ขายเขาจะเลาะเป็นชิ้นๆ ออกมาขายเหมือนฆ่าช้างเอางา

 

เสื้อตัวนี้คุณลงทุนไปเท่าไร

(ชูสองนิ้ว) เสื้อเปล่าๆ ก็ราคา 8,000 บาทแล้ว เพราะเป็นเสื้อรุ่นที่สองซึ่งหายาก ส่วนเครื่องหมายแต่ละชิ้นมีตั้งแต่ราคา 1,000-3,000 บาท ผมอยากรู้ว่าตัวเองจะรู้สึกยังไง ก็พบว่าคล้ายการต่อจิ๊กซอว์ กว่าจะครบและสมจริง สีของเครื่องหมายกับสีของเสื้อก็ต้องตรงกัน เราก็ต้องรอหรือไม่ก็ต้องหาวิธีทำให้สีสมูท ก็มีหลายวิธี เอาไปซัก ตากแดด มีหลายวิธีที่ทำให้เก่า สนุกมากและดราม่าด้วย

 

ตอนนี้คุณมีเสื้อทหารกี่ตัว

น่าจะไม่ต่ำกว่า 60 ตัว ผมมีประวัติศาสตร์ 60 กว่าแบบแขวนอยู่ในบ้าน

 

ในหนังสือ สงครามเวียดนาม: สงครามกับความจริงของรัฐไทย ของอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ฉายให้เห็นความแตกต่างของความทรงจำที่มีต่อสงครามเวียดนามระหว่างอเมริกากับรัฐไทย รัฐไทยมีแนวโน้มที่จะภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม ความทรงจำของนักสะสมเสื้อวินเทจชาวไทยเป็นแบบไหน 

ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ สงครามเวียดนามสำหรับชาวอเมริกันคือความพ่ายแพ้และสูญเสีย เป็นสิ่งที่ไม่น่าภูมิใจ ต่างจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อเมริกาคือฮีโร่ ปลดปล่อยยุโรปจากนาซี ปลดปล่อยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากญี่ปุ่น แต่สงครามเวียดนามต่างออกไป คนหนุ่มสาวในประเทศก็ต่อต้าน สงครามเวียดนามเป็นสิ่งที่ล้มเหลว ผมสันนิษฐานว่าเสื้อผ้าทหารยุคสงครามเวียดนามถูกบริจาคออกมาเยอะมาก เพราะสิ่งนี้แหละครับ มันถูกทิ้งเพราะเขาไม่อยากจดจำ เวลาที่เขาบริจาคเสื้อทหารอเมริกันก็จะเลาะป้ายชื่อออก

แต่คนไทยกลับมองสงครามเวียดนามอีกแบบ ผมก็ถามนักสะสมว่าทำไมไม่เก็บเสื้อผ้าทหารเวียดกง ทำไมไม่เก็บอนุสรณ์ของผู้ชนะ เขาบอกว่าเครื่องแบบทหารเวียดกงไม่เท่ ทหารเวียดกงใส่เสื้อดำผ้าขาวม้าบ้านกูก็มี แต่มึงดูทหารอเมริกันสิโคตรเท่เลย เขาฝึกมาอย่างดี มีความเป็นมืออาชีพ นักสะสมเข้าใจสงครามผ่านวัตถุที่พวกเขาให้คุณค่า

งานของผมไม่สามารถบอกได้เพียงคำตอบเดียวว่าการสะสมบ่งบอกนัยอะไร จำเป็นต้องเล่าเป็นกรณีๆ ไปให้คนเข้าใจว่า มีความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุดในความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับคน ของบางชิ้นอยู่กับเรามีความหมายแบบหนึ่ง แต่จะมีความหมายอีกแบบเมื่อไปอยู่กับอีกคน ความหมายของสิ่งของเปลี่ยนไปเรื่อยๆ งานของผมจึงไม่สามารถบอกได้ว่า คนเก็บอาร์มของหน่วยนี้เพราะอะไร แต่จะเล่าถึงสิ่งของที่สร้างความเป็นไปได้ในการมองวัตถุ เพราะงานของผมเป็น Material Culture ผมไม่ได้ใช้คนเป็นแกนหลัก แต่ใช้วัตถุเป็นแกนหลักในการตั้งคำถามและศึกษาลงไป ดังนั้นถ้าเราตั้งสมการแบบนี้ เราจะสร้างคอนเซ็ปต์ที่ครอบคลุมคำตอบที่เบ็ดเสร็จไม่ได้ เราต้องเปิดช่องให้มีความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด

การสะสมเสื้อก็ไม่สิ้นสุดในตัวมันเอง เมื่อคุณจบโปรเจ็กต์หนึ่งคุณก็เลาะเครื่องหมายต่างๆ ที่แต่งไว้ออกเพื่อไปสร้างโปรเจ็กต์ใหม่ วันนี้มิสเตอร์กอนซาเลซอยู่กับผม เมื่อผมขายเสื้อตัวนี้ไป พรุ่งนี้กอนซาเลซก็อาจจะเปลี่ยนยศเปลี่ยนหน่วยตามเรื่องราวและจินตนาการของผู้ครอบครองคนใหม่ ซึ่งก็มีเรื่องราว ความทรงจำ และมุมมองของเขาที่จะเชื่อมโยงกับกอนซาเลซไปเรื่อยๆ

ผมสัมภาษณ์นักสะสมเสื้อทหารหลายคน จึงพบเรื่องราวเฉพาะของแต่ละคน เช่น ลุงคนหนึ่งเป็นอาจารย์เกษียณที่ขอนแก่น สาเหตุในการสะสมเสื้อทหารของลุงเป็นเพราะชีวิตของเขาน่าเบื่อ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่การประกอบเสื้อทหารทำให้ลุงมีกำลังใจในการใช้ชีวิต ลุงเลือกหน่วยรบที่เก่งกาจ ดึงพลังจากตรงนี้มาใส่ตัวเอง ลุงใส่เสื้อทหารไปตลาด ใส่ไปทำสวน ใส่ในชีวิตประจำวัน

ขณะที่ไซมอนเป็นนายช่างที่นนทบุรี เป็นเสื้อแดง เป็นสามกีบ ซึ่งหายากมากในหมู่ผู้สะสมเสื้อทหาร คนเล่นเสื้อทหารส่วนมากจะเป็นอนุรักษนิยม เหตุผลที่เขาสะสมเสื้อทหาร เพราะมองเสื้อทหารอเมริกันในยุคสงครามเวียดนามเป็นความหวัง เขาบอกผมว่าในประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม นายทหารอเมริกันที่ไปรบเวียดนามเพราะต้องการสร้างประชาธิปไตย ทหารหนุ่มที่ตายไปเพราะต้องการรักษาประชาธิปไตย จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้นะครับ แต่ในสายตาของเขา เรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามเวียดนามของเขาเป็นแบบนี้ เขาเชื่อแบบนี้ เขาเก็บเสื้อทหารเพราะต้องการแสดงถึงความหวังในการสร้างประชาธิปไตยในบ้านเรา

เสื้อทหารอเมริกัน 1 ตัว เมื่ออยู่บนร่างกายของมนุษย์ 2 คน ความหมายของเสื้อตัวนี้มีแนวโน้มที่จะแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นเสื้อตัวเดียวกัน

ผมยกตัวอย่างกรณีไซมอนกับการ์ฟังเกลที่ผมได้เจอพวกเขา ในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ผมมีโอกาสไปร่วมงานรวมตัวของผู้สะสมเสื้อผ้าทหารในประเทศไทย คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “นักนิยมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ทหาร” จัดขึ้นที่โคราช เป็นการรวมตัวกันของคนบ้าเสื้อวินเทจทหาร จุดประสงค์เพื่อมาศึกษาเครื่องแบบและเครื่องหมายซึ่งกันและกัน เพราะของแบบนี้ให้นั่งอ่านหนังสือก็ลำบาก ก็ต้องจับของจริง มาดูว่าขอบอ่อนเป็นอย่างไร ขอบกากีเป็นอย่างไร หลังมุ้งไหม มีคนไปประมาณ 300 กว่าคน บรรยากาศก็จะเหมือนสงครามเวียดนามเลยครับ ผู้คนแต่งตัวเต็มยศ นั่งกินเหล้า ซื้อขายแลกเปลี่ยน มีคนทุกอาชีพ คนรวยคนจน สถานที่ในการจัดงานตั้งอยู่บนภูเขา บรรยากาศคล้ายเราอยู่ที่ Hamburger Hill สมรภูมิหนึ่งในสงครามเวียดนามที่มีชื่อเสียง

ที่นั่นผมได้เจอกับไซมอน ซึ่งสะสมเสื้อผ้าทหารเวียดนามมา 10 กว่าปี วันนั้นเขาใส่เสื้อ Tropical Combat Jacket ของ 1st Cavalry Division อย่างที่ผมเล่าไปเมื่อครู่ ไซมอนมองว่าการเสียสละและสูญเสียชีวิตของเด็กหนุ่มอเมริกันเพราะต้องการสร้างประชาธิปไตยในประเทศเวียดนาม ตัวของไซมอนก็หวังที่จะเห็นการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในประเทศไทยเหมือนที่เด็กหนุ่มอเมริกันเหล่านั้นได้เสียสละชีวิตไปในเวียดนาม ไซมอนไม่ค่อยได้เล่าถึงความหวังที่เขามีต่อประเทศนี้เนื่องด้วยคนรอบตัวชื่นชมรัฐบาลทหาร ในมุมมองไซมอน ทหารไทยมีคุณค่าต่างจากกองทัพของอเมริกาอย่างสิ้นเชิง ประสบการณ์และความหวังของไซมอนเมื่อมาสร้างความสัมพันธ์กับวัตถุจากสงครามเวียดนาม จึงได้เปิดเผยให้เห็นความเป็นไปได้อีกแบบหนึ่ง นั่นก็คือความหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยในสังคมไทย ผ่านการประกอบสร้างความสัมพันธ์ของไซมอนกับวัตถุนี้

ในขณะที่การ์ฟังเกลก็เป็นอีกหนึ่งผู้ร่วมงานที่สวมใส่เสื้อของ 1st Cavalry Division เหมือนไซมอน แต่ความเข้าใจสงครามผ่านวัตถุของการ์ฟังเกลแตกต่างออกไป การ์ฟังเกลชื่นชอบเทคโนโลยีและความทันสมัยของหน่วย 1st Cavalry Division ที่แสดงออกมาในสงครามเวียดนาม ดังนั้นเครื่องแบบและเครื่องหมายสำหรับการ์ฟังเกลคือการพัฒนาที่ทันสมัย การ์ฟังเกลอายุห้าสิบกว่า เดินทางมาจากนครพนม ในช่วงที่เติบโตที่นครพนมก็มีโอกาสได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของอเมริกันผ่าน GI โดยตรง เขาได้เห็นคนถีบสามล้อและหลายคนรอบตัวใส่รองเท้าหนังกลับยี่ห้อเชคโก สวมแว่นตาเรย์แบน กางเกงลีวายส์ หรือแม้แต่กางเกงในยี่ห้อแอร์โรว์ การ์ฟังเกลยังคงประทับใจภาพที่เคยเห็นในอดีต แม้ว่าจะไม่ได้ครอบครองวัถตุเหล่านั้น เพราะในสมัยนั้นสิ่งของจากอเมริกามีราคาสูง

จากประสบการณ์ของการ์ฟังเกลที่ได้เติบโตมาในยุคที่สิ่งของเครื่องใช้จากอเมริกาถูกมองว่าเป็นของที่ก้าวหน้าทันสมัย สามารถมอบความมีหน้ามีตาต่อผู้ครอบครองได้ เราจะเห็นได้ว่าการมีวัตถุจากอเมริกาไว้ครอบครองสามารถต่อรองทางด้านชนชั้นในสังคมไทยได้ กล่าวคือในยุคนั้นวัตถุจากทหารอเมริกันสามารถยกฐานะและหน้าตาของผู้ครอบครองได้โดยเฉพาะคนในชนบท ซึ่งในยุคสงครามเวียดนามทหารอาสาสมัครไทยที่รบในเวียดนามต่างพากันซื้อของจากอเมริกาเพื่อยกฐานะของตนเองและครอบครัว เช่นเดียวกับครอบครัวของผมที่เมืองตาคลี

เราจะเห็นว่าความเข้าใจประวัติศาสตร์ของไซมอนและการ์ฟังเกลต่างกันแม้ทั้งสองจะสวมเสื้อตัวเดียวกัน ความเป็นผู้ปฏิบัติการของเครื่องหมาย 1st Cavalry Division แสดงออกมาได้อย่างหลากหลายบนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไป การทำความเข้าใจสงครามผ่านวัถตุเหล่านี้เกิดจากการประสานกันของวัตถุและอวัตถุด้วยประการฉะนี้

ความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดในการสร้างความหมายให้กับวัตถุสิ่งของ โดยเฉพาะสิ่งของจากประวัติศาสตร์ จะทำให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บิ่นหักหรือคลาดเคลื่อนไหม

ประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ที่มองมัน เราให้คน 10 คนมาอ่านประวัติศาสตร์ พวกเขาก็ตีความต่างกัน การมองเห็นประวัติศาสตร์ที่ต่างกันจึงไม่สำคัญ เพราะการอ่านประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับมุมมองที่เขามีต่อปัจจุบันและอดีต เขาพร้อมที่จะโน้มนำประวัติศาสตร์ไปทางที่ตนเชื่อ แน่นอนว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ แต่คนจะเข้าใจประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างไรก็เป็นสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งคนกลุ่มที่สะสมเสื้อทหารวินเทจก็เลือกที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์สงครามเวียดนามแบบนี้ เขาเลือกที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์ผ่านสิ่งของที่เขาสัมพันธ์ด้วย

เมื่อเขาสะสมไปเรื่อยๆ ค้นคว้าลึกลงไปเรื่อยๆ จนความหมายของประวัติศาสตร์ที่เขาพบมันไปด้วยกันไม่ได้กับความหมายที่เขาสร้างไว้กับสิ่งของ ถึงวันหนึ่งเขาอาจจะทิ้งเสื้อไปเลยก็ได้ เป็นไปได้แทบทั้งสิ้น

 

ในการติดตามสิ่งของในงานชิ้นนี้ คุณใช้วิธีการแบบไหนในการศึกษา

เวลาที่นักวิชาการโดยเฉพาะสาย Anthropology สนใจศึกษาเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง เราต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ศึกษา ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้สนใจเสื้อทหารเลย ผมจะเก็บของวินเทจพวกกางเกงยีนส์ เสื้อแปลกๆ แต่เสื้อทหารไม่เคยเก็บ ผมก็ต้องเข้าไปเป็นนักสะสม เพื่อที่จะได้รู้ว่าเรามองเสื้อผ้าเหล่านี้อย่างไร สิ่งของเหล่านี้ทำให้มุมมองของเราที่มีต่อประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปไหม เรายังมองประวัติศาสต์สงครามเวียดนามเหมือนเดิมหรือเปล่า เมื่ออยากรู้ว่านักสะสมรู้สึกอย่างไร ผมก็ต้องเข้าไปเสาะหาเครื่องหมายการรบ รอซื้ออาร์ม ไปแย่งซื้อแย่งประมูลราคา เพื่อสัมผัสความรู้สึกการรอคอยสิ่งของ มันหงุดหงิดนะเวลาที่เราทำอะไรค้างคา ซึ่งเราต้องรอคอยในกระบวนการแต่งเสื้อทหาร

เมื่อก่อนนักมานุษยวิทยาต้องลงพื้นที่ไปในหมู่บ้าน แต่งานของผมไม่ได้ติดตามคน แต่ตามสิ่งของ ผมจะตามว่าของไปที่ไหน ผมจะตามไปดูว่าเวลาที่ของแต่ละชิ้นเดินทางไป มันไปสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือความเข้าใจอย่างไรกับคนบ้าง ดังนั้นผมจึงต้องเดินทางไปหลายที่ ผมไปนครพนม เชียงใหม่ ขอนแก่น หลายจังหวัดในภาคใต้ ไปดูว่าแต่ละคนสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งของอย่างไร แต่ละคนมีเรื่องราวแตกต่างกันอย่างไร แต่ละคนมีมุมมองต่อสิ่งของอย่างไร เสียดายที่ผมไปปากีสถานไม่ได้ เพราะเป็นตลาดที่คนไทยรับเสื้อผ้าวินเทจมามากที่สุด เสื้อวงดนตรีที่เราเห็นในตลาดปัจจุบันส่วนมากมาจากปากีสถาน

เวลาที่ผมไปไหนก็จะสวมเสื้อทหาร ก็จะโดนคนแซวเยอะ คนด่าก็เยอะ มึงอินทหารเหรอ มึงชอบลุงตู่เหรอ ซึ่งความจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะทหารไทยกับทหารอเมริกันต่างกันนะ ถ้าผมมองความต่างนี้ผ่านการสะสมเสื้อทหาร ผมพบว่าทหารอเมริกันใส่ใจคุณภาพชีวิตของทหารของเขา ใครก็รู้ว่าเสื้อทหารเกณฑ์บ้านเราคุณภาพเป็นอย่างไร แต่ทหารอเมริกันมีมาตรฐาน

ผมมีโอกาสได้คุยกับลุงคนหนึ่งที่เคยไปรบที่เวียดนาม ผมก็ถามมุมมองของเขาที่มีต่อเสื้อผ้าเหล่านี้ เขาก็ชื่มชมทหารอเมริกัน เพราะให้ความสำคัญกับชีวิตคนมากกว่าอุปกรณ์ ไม่เหมือนทหารไทย ทหารไทยจะยอมสละชีพเพื่อปกป้องรถถัง ปกป้องนั่นนู่นนี่ แต่ทหารอเมริกันชีวิตคนสำคัญที่สุด เราสัมผัสได้จากเสื้อผ้าแต่ละชิ้น แพตเทิร์นดี การตัดเย็บมีมาตรฐาน

แต่มุมมองของคนที่ผมพบเจอก็หลากหลาย คนสิงคโปร์คนหนึ่งบอกผมว่า เขาไม่สามารถใส่เสื้อทหารอเมริกันได้เลย เขาไม่เข้าใจด้วยว่าคนไทยใส่ได้อย่างไร เพราะทหารอเมริกันทำเรื่องแย่ๆ กับบ้านเขาไว้มาก เขาทำใจไม่ได้เวลาเห็นคนใส่ ผมก็คิดว่าน่าสนใจมากเลย เพราะเขามองความหมายกลับกันจากนักสะสมที่ผมเจอมา

 

คุณมีวิธีบาลานซ์ระหว่างบทบาทของนักมานุษยวิทยากับนักสะสมเสื้อวินเทจที่มีเสื้อถึง 60 ตัว อย่างไร

แน่นอน เวลาเราเข้าไปในวงการใหม่ๆ โดนฟันอยู่แล้วครับ เราซื้อของมั่วซั่ว ซื้อของปลอม ของไม่ทันยุค จนกว่าเราจะเจอคนที่ให้ข้อมูลกับเรา ผมเจอพี่ๆ หลายคนน่ารัก ถ่ายทอดความรู้ให้ผม ความสัมพันธ์แบบนี้เกิดในเพจคนที่เล่นเสื้อทหาร แสดงให้เห็นกลุ่มก้อนที่เขาแชร์ความสนใจคล้ายๆ กัน แบ่งปันข้อมูลความรู้กัน ผมเข้าไปอยู่ในนั้นก็รู้สึกอบอุ่น เวลาที่ผมอยู่นานๆ ผมก็ซื้อเยอะ ในการสะสมเราต้องเสียก่อนจึงจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็เสียไปเยอะ ถึงจุดหนึ่งผมก็อินไปกับมัน รุ่นนี้ยังไม่มีก็ต้องหา ผมก็บ้าไปประมูลกับเขา มันก็พัฒนาความสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ จนผมกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนักสะสมเสื้อทหาร

ตอนที่ผมเขียนงานร่างแรกๆ อาจารย์ที่ปรึกษาก็เบรกผม เพราะผมอินกับการสะสมมากไปแทนที่จะวิเคราะห์กระบวนการที่เกิดขึ้น อาจารย์ที่ปรึกษาก็เตือนเรื่องเส้นแบ่งของบทบาท เราเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ผู้สะสม เราต้องถอยออกมาดูว่ามีประเด็นที่สำคัญอะไรบ้าง ผมก็ถอยออกมามองกระบวนการการสะสมว่ามีคำถามอะไรที่น่าสนใจบ้าง เราจะมองมันอย่างไร ถอดหมวกนักสะสมออก สวมหมวกนักวิชาการเข้าไป

ถ้าอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา ศึกษาคนไร้บ้าน เขาไปใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้าน กินนอนแบบคนไร้บ้าน คุณก็เป็นนักสะสม ใช้ประสบการณ์ชุดเดียวกันกับนักสะสม 

ใช่ อินเลยครับ หยุดไม่อยู่ ซื้อเต็มบ้านเลย

ผมเป็นคนชอบสิ่งของ และเชื่อว่าทุกคนก็มีสิ่งของที่ตัวเองชื่นชอบ แล้วความเป็นตัวตนของเราก็มักจะปรากฏบนสิ่งของเสมอ ไม่ว่าคุณจะอินกับอะไรก็ตาม คุณจะเลือกเฟ้นสิ่งนั้นมาครอบครอง ฉะนั้นของเหล่านี้เป็นจุดเชื่อมต่อหลายอย่าง เชื่อมตัวตนของเรา เชื่อมสิ่งที่เราเชื่อสิ่งที่เราคิด การศึกษาสิ่งของทำให้เราเห็นภาพที่ไม่สามารถพูดเป็นคำพูดได้ มันเป็นความรู้สึกบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในวัตถุนั้น อย่าลืมว่าของบางอย่างมีเรื่องราวอยู่แล้ว พอใส่ตัวเราเข้าไปมันจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา แล้วความหมายนี้ก็เดินทางไปเรื่อยๆ

Fact Box

  • ชัยพร สิงห์ดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ควบคู่กับการเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เขาเพิ่งได้รับทุนในการเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน ใช้เวลา 10 เดือนนับจากกุมภาพันธ์ 2565 ในการพัฒนางานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหัวข้อ ‘เสื้อผ้าเก่า สภาวะวัตถุใหม่ : การประกอบสร้างของเครือข่ายและการสะสมเสื้อทหารวินเทจในประเทศไทย’
Tags: , , , , , , , , ,