“การสร้างโลกคอมมิวนิสต์มันเพ้อฝัน”
“แนวคิดนี้มันล้มเหลวไปแล้ว”
“คอมมิวนิสต์เป็นเผด็จการ ไม่รู้เหรอ”
“คอมมิวนิสต์จะยึดครองแปรงสีฟันของเราไป”
หากใครที่เคยศึกษาหรือพยายามเรียนรู้เข้าใจถึงทฤษฎีมาร์กซิสม์ หรือเอ่ยปากบอกว่าตนเองชอบแนวนี้ คงมักเคยได้ยินคำนี้ แต่ในปัจจุบัน กลับมีคนหันกลับมาสนใจ ศึกษา และพยายามพูดคุยมากขึ้น อย่างในกรณีของม็อบ REDEM ที่เคยใช้ภาพชูธง ‘ค้อนเคียว’ ในการเคลื่อนไหว หรือการตีพิมพ์หนังสือที่มากขึ้นที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่หากใครต้องการจะทำความเข้าใจแนวคิดนี้ในปัจจุบันนั้น ควรเริ่มจากอะไรดี?
เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น: ทฤษฎีสังคมมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21 เขียนโดย รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวแนวคิดและทฤษฎีของทฤษฎีมาร์กซิสม์ พร้อมทั้งปัดฝุ่นทฤษฎีแนวคิดที่หลายคนมองว่าตายไปแล้ว นำมาชวนคุยพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ความคิดนอกกรอบกระแสหลัก เพื่อทำการศึกษาและทำความเข้าใจถึงการเคลื่อนไหวของสังคม พร้อมทั้งมองเห็นทุนนิยมเบื้องหลังที่แอบแฝงอยู่ในทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่เพียงระบบเศรษฐกิจหากแต่ลงลึกไปถึงระบบความคิดของมนุษย์
คอมมิวนิสต์ไม่เท่ากับเผด็จการหรือแปลว่าเหมือนๆ กัน
คนที่ไม่เคยเชื่อในแนวคิดคอมมิวนิสม์มักชอบอ้างคำว่า คอมมิวนิสต์ก็เป็นเผด็จการ โดยใช้คำว่า ‘เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ’ (Dictatorship of the Proletariat) เพื่อมาโจมตี โดยที่ไม่ได้มองถึงแก่นหรือความหมายของคำ
‘เผด็จการ’ กลายเป็นสัญญะที่อยู่คู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย โดยที่ไม่ได้ดูถึงเผด็จการของชนชั้นกระฎุมพีที่กำลังเกาะกินสังคมในปัจจุบัน โดยมีฉากหน้าเป็นประชาธิปไตย สำหรับความหมายของคอมมิวนิสม์ที่เก่งกิจได้นำเสนอไว้ในคำนำนั้นได้แสดงให้ถึงว่า คอมมิวนิสม์นั้นเท่ากับความคิดว่าด้วยส่วนรวม พร้อมทั้งความเสมอภาคที่ประกอบไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ไม่ได้แปลว่าต้องเหมือนๆ กันทั้งหมด โดยเป็นความสมานฉันท์อันแตกต่างหลากหลายเพื่อทำลายโครงสร้างที่กำลังกดขี่เราอยู่ คอมมิวนิสม์จึงหมายถึงเผด็จการของคนส่วนใหญ่เพื่อโค่นล่มเผด็จการ 1 % ที่กำลังครอบงำโลก
ยอมรับทุนนิยมและปฏิรูป หรือปฏิเสธและปฏิวัติ?
นับตั้งแต่การต่อสู้จนถึงความพ่ายแพ้ของขบวนการฝ่ายซ้ายในทศวรรษที่ 1970 จนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นเส้นทางของพัฒนาการทฤษฎีมาร์กซิสม์ไว้ 2 แนวทางคือ
1. สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมและแสวงหาแนวทางแบบปฏิรูป
2. ปฏิเสธแนวคิดเสรีนิยมและหาหนทางในการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนหรือปฏิวัติ
ทั้งนี้ แม้ว่าทั้ง 2 แนวทางของพัฒนาการจะแตกต่างกันไป และไม่ได้มีความคิดตายตัวพร้อมจะผสมผสานกับแนวคิดอื่นๆ แต่มีลักษณะร่วมสำคัญคือ หนึ่ง เชื่อในความเป็นไปได้ในการอธิบายระบบทุนนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และสอง คือการมีความหวังต่ออนาคตในการทำลายความไม่ยุติธรรมและสร้างสังคมที่ยุติธรรมกว่านี้
จากความพ่ายแพ้สู่โอกาสใหม่ในการต่อสู้
หลังความพ่ายแพ้และการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในที่ต่างๆ และความไม่เพียงพอของทฤษฎีเก่าที่อยู่ในทศวรรษ 1970 กลับกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทำเกิดการสร้างสรรค์ทฤษฎีใหม่ๆ จากการกลับมาทบทวนความพ่ายแพ้ในประวัติศาสตร์ ทำให้มีเครื่องมือทางทฤษฎีมากขึ้นเพื่อนำมามาอธิบายระบบทุนนิยมและหาแกนหลักในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม
โดยภายในหนังสือเล่มนี้ เราจะได้เรียนรู้ถึงทฤษฎีจาก 5 นักคิด ตั้งแต่ทฤษฎีที่ได้นำแนวคิดเสรีนิยมมาประยุกต์ใช้อย่าง Analytical Marxism ของอีริค โอลิน ไรท์ (Erik Olin Wright), ชีวิตอันเปลือยเปล่าของ จิออร์จิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) ที่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและอำนาจอธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่, อันโตนิโอ เนกรี (Antonio Negri) ที่ทำความเข้าใจผ่านการวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมด้วยเศรษฐกิจการเมืองแบบมาร์กซิสม์, อแลง บาดียู (Alain Badiou) ที่ปฏิเสธเศรษฐกิจการเมือง แต่ให้ความสำคัญการทำความเข้าใจผ่านมุมมองทางปรัชญา มองในฐานะเครื่องมือในการแสวงหาความจริง และ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) มองว่าประเด็นความไม่อดทนต่อความหลากหลาย เป็นการเบี่ยงประเด็นปัญหาของระบบการเมืองและทุนนิยมในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่มาทำลายกรอบโครงสร้างที่กำลังขูดรีดเราอยู่
เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น
จากหน้าที่ 231 ของหนังสือเล่มนี้ สลาวอย ชิเชค นักปรัชญามาร์กซิสม์ชาวสโลวีเนียได้เสนอให้เรา ‘เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น’ เพื่อกลับมาทบทวนถึงสิ่งเราเคยคิดและไม่เคยคิด ดังนั้นเริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้นจึงไม่ใช่การก้าวไปข้างหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างช้าๆ แต่เพื่อกลับมาตั้งต้นที่จุดเริ่ม กลับมาถามคำถามนั้นซ้ำๆ จากจุดใหม่ที่เรายืน เพราะการปฏิวัติไม่ใช่กระบวนการเดินไปข้างหน้า แต่เป็นการทำซ้ำ การทำซ้ำจุดเริ่มต้นอีกครั้ง และอีกครั้ง
Fact Box
เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น: ทฤษฎีสังคมมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21, ผู้เขียน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, สำนักพิมพ์ Illuminations Editions, จำนวนหน้า 296 หน้า, ราคา 200 บาท