สวัสดีปีเสือครับ
แม้เสืออาจไม่ใช่สัตว์ที่เราได้พบเห็นกันบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เราก็ยังมีโอกาสได้พบสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความดุร้ายชนิดนี้แทรกซึมอยู่ในภาษาที่เราใช้ ตั้งแต่ฉายา เช่น เสือตัวที่ห้าของเอเชีย เสือผู้หญิง ชื่ออาหาร เช่น เสือร้องไห้ ไปจนถึงสำนวนสุภาษิตต่างๆ เช่น ใจดีสู้เสือ เสือนอนกิน น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เขียนเสือให้วัวกลัว
ในทำนองเดียวกัน ในภาษาอังกฤษเองก็มีเสือไปโผล่ในสำนวนต่างๆ เช่นกัน
คอลัมน์ Word Odyssey สัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านไปสำรวจกันว่า มีสำนวนเสืออะไรบ้างในภาษาอังกฤษที่เราหยิบมาใช้กันได้ในปีเสือนี้
A paper tiger เสือกระดาษ
ภาษาอังกฤษได้สำนวนนี้มาจากภาษาจีนเช่นเดียวกับภาษาไทย มีความหมายว่า คนหรือสิ่งที่ดูน่าเกรงขาม แต่จริงๆ แล้วไม่มีน้ำยาอะไร มีไว้เผื่อขู่ให้เกรงกลัวเฉยๆ เช่น The recent situation in Mae Sot has shown that despite all the blustering from the government and the army, Thailand is just a paper tiger. ก็คือ เหตุการณ์ในแม่สอดที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า แม้รัฐบาลและกองทัพจะคุยโวมากมาย แต่เมืองไทยก็เป็นเพียงแค่เสือกระดาษ
Eye of the tiger สัญชาตญาณการเอาตัวรอด ความมุมานะไม่ยอมแพ้
หลายคนอาจเคยได้ยินวลีนี้จากเพลง Roar ของ Katy Perry แต่ความจริงแล้ววลีนี้มีที่มาจากเพลง Eye of the Tiger ของวง Survivor ที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Rocky ภาค 3 ในเนื้อเพลงจะเห็นได้ว่าผู้แต่งกำลังพูดถึงสายตาของเสือตอนออกติดตามล่าเหยื่อ พร้อมสู้และเอาชนะเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นวลีนี้จึงมีความหมายทำนองว่า สัญชาตญาณการเอาตัวรอด ความมุมานะไม่ยอมแพ้
เนื่องจากเพลงนี้โด่งดังมากจนถึงขนาดได้รับรางวัลแกรมมี และเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม วลี ‘eye of the tiger’ จึงเริ่มมีคนนำมาใช้และกลายมาเป็นสำนวนที่แพร่หลายในปัจจุบัน
Ride a tiger ขี่หลังเสือ
สำนวนนี้มาจากสุภาษิตเต็มๆ ว่า “He who rides a tiger is afraid to dismount.” ซึ่งรับมาจากภาษาจีนอีกทอด หมายถึง ผู้ที่ขี่หลังเสือแล้วย่อมกลัวที่จะลงจากหลังเสือ ทำนองว่าถ้าลงจากหลังเสือก็มีโอกาสถูกเสือกิน
ปกติแล้วสำนวนนี้ไม่ได้หมายถึงขี่เสือจริงๆ แต่ใช้ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง ลงมือทำอะไรบางอย่างที่หันหลังกลับหรือเลิกทำได้ยากเพราะอาจเกิดอันตราย ตัวอย่างเช่น The coup maker knows he’s essentially riding a tiger, so he is doing everything to stay in power. ก็คือ คนทำรัฐประหารรู้ดีว่าตนเองขึ้นหลังเสือแล้ว จึงทำทุกอย่างเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป
Have a tiger by the tail หันหลังกลับไม่ได้
สำนวนคล้ายกับ ride a tiger คือมีความหมายว่า เมื่อเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้ว แต่ล้มเลิกได้ยากเพราะจะนำภัยมาสู่ตัวเอง ทำนองว่าจับหางของเสือไว้ได้แล้ว ถ้าปล่อยมือเสือก็แว้งมาขย้ำ หากไม่ใช้กริยา have จะพูดว่า hold, catch หรือ take ตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลดำเนินโครงการคนละครึ่งต่อ ก็จะต้องใช้เงินมหาศาลจนอาจไม่ยั่งยืน แต่หากหยุดทำก็เสียหาย เพราะเสียคะแนนนิยม ผู้คนก่นด่าที่ไม่มีการช่วยเหลือเยียวยา แบบนี้เราก็อาจพูดว่า The government found itself holding a tiger by the tail.
A tiger doesn’t change its stripes. เสือไม่เปลี่ยนลาย
สำนวนนี้ถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรย ทำนองว่าหากเสือเปลี่ยนลายตามกำเนิดไม่ได้ฉันใด คนก็เปลี่ยนนิสัยเนื้อแท้ (หรือหากใช้คำที่แรงกว่านั้นก็คือสันดาน) ของตนไม่ได้ เช่น You can’t expect an inveterate liar to be honest for long. A tiger doesn’t change its stripes. ก็คือ เราหวังให้คนตอแหลลงตับทำตัวซื่อสัตว์นานไม่ได้หรอก สันดานเปลี่ยนยาก
อีกสำนวนที่คล้ายกันและอาจพบได้บ่อยกว่าหน่อยก็คือ A leopard cannot change its spots. ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า เสือดาวเปลี่ยนลายจุดบนตัวไม่ได้ ซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล บทเยเรมีย์ 13:23 ที่เขียนว่า “Can the Ethiopian change his skin, or the leopard his spots?” (ชาวเอธิโอเปียจะเปลี่ยนสีผิวของตนได้หรือ? เสือดาวจะเปลี่ยนลายของมันได้หรือ?)
Tiger mother/Tiger mom แม่พันธุ์เฮี้ยบ
คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกแม่ที่เลี้ยงลูกแบบโหดเฮี้ยบ เพื่อผลักดันให้ลูกประสบความสำเร็จ เช่น หากแม่คนหนึ่งบังคับลูกว่าทุกวิชาต้องได้เกรด 4 เท่านั้น แต่ละวันต้องฝึกดนตรี 2 ชั่วโมง ห้ามเล่นเกมเกิน 15 นาทีต่อวัน แบบนี้เราก็อาจพูดว่า She’s definitely a tiger mom.
อันที่จริงคำนี้มีใช้ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 แล้ว แต่เพิ่งมาเป็นที่แพร่หลายจริงๆ ในช่วงปี 2011 เนื่องจากหนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ Battle Hymn of the Tiger Mother ของ Amy Chua ในหนังสือติดอันดับขายดีเล่มนี้ ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์สอนนิติศาสตร์อยู่มหาวิทยาลัยเยล (Yale) เล่าเรื่องวิธีการเลี้ยงลูกสุดโหดของตนตามแบบฉบับคนเอเชีย ทำให้เกิดกระแสถกเถียงกันยกใหญ่ในอเมริกาในช่วงนั้น มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าปรัชญาการเลี้ยงลูกแบบตะวันตกทำให้เด็กหย่อนยานเหลาะแหละกับผู้ที่ประณามว่าผู้เขียนทารุณกรรมเด็ก
บรรณานุกรม
http://oed.com/
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Crystal, David, and Ben Crystal. Shakespeare’s Words: A Glossary & Language Companion. Penguin Books: London, 2002.
Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Tags: สำนวนภาษาอังกฤษ, คำศัพท์ภาษาอังกฤษ, เสือ, tiger, Idioms, Word Odyssey