หลังซีรีส์เรื่อง Snowdrop ตอนแรกออนแอร์ได้เพียงไม่นาน มีชาวเกาหลีใต้กว่า 9.7 หมื่นคน ร่วมลงชื่อในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดี (Blue House) ให้ยกเลิกการฉายซีรีส์เรื่องดังกล่าว และเมื่อตอนที่สองเริ่มฉายต่อ จำนวนผู้ลงชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกได้ทะลุเกิน 2.7 แสนรายชื่อ ขณะที่สปอนเซอร์และโฆษณาหลายเจ้าเริ่มถอนตัวออก เพื่อหนีกระแสต่อต้านซีรีส์เรื่องนี้
เกิดอะไรขึ้นกับ Snowdrop คนเกาหลีใต้ไม่พอใจส่วนไหนบ้าง และซีรีส์เรื่องนี้บิดเบือนประวัติศาสตร์จริงหรือไม่?
ความรักของนักศึกษาหญิง เผด็จการ และการประท้วงของประชาชน
Snowdrop เล่าเรื่องราวของ อึน ยองโร (รับบทโดย คิม จีซู) นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีโฮซู ที่จับพลัดจับผลูได้มารู้จักกับ อิม ซูโฮ (รับบทโดย จอง แฮอิน) นักศึกษาปริญญาโทที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ ท่ามกลางฉากหลังของเกาหลีใต้ 1987 ที่นักศึกษาจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาลเผด็จการ ซีรีส์ได้สอดแทรกสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด เห็นได้จากกฎของมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้นักศึกษาพูดถึงการประท้วง ห้ามอ่านหนังสือการเมือง จนทำให้บางคนต้องห่อปกหนังสือซ้อนกันเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ หรือการบอกเล่าปมชีวิตของยองโร ที่พี่ชายเคยออกมาประท้วงรัฐบาลแต่ถูกจับได้ ทางการจึงส่งตัวไปเกณฑ์ทหารโดยไม่เต็มใจ
อย่างไรก็ตาม อิม ซูโฮ ไม่ใช่นักศึกษาปริญญาโทอย่างที่กล่าวอ้าง ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นสายลับจากเกาหลีเหนือที่เข้ามาทำภารกิจลับในเกาหลีใต้ และถูกเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงไล่ล่า ก่อนได้รับความช่วยเหลือจาก อึน ยองโร และเพื่อนๆ ห้อง 207 เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้คิดว่า อิม ซูโฮ หนีการจับกุมของตำรวจ เพราะไปร่วมชุมนุมต่อต้านเผด็จการ
ขณะเดียวกัน ซีรีส์ยังสลับเล่าเรื่องการเมืองในสภาของเกาหลีใต้ การแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจของเหล่านักการเมือง การเจรจาข้อตกลงลับระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ และสังคมชนชั้นสูงที่ดูไม่น่าคบหา กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในการตามจับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างสุดความสามารถ
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื้อเรื่องและฉากบางส่วนของ Snowdrop ได้หลุดออกสู่สาธารณชน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของเนื้อหา ที่เล่าเรื่องราวความลับของสายลับเกาหลีเหนือกับนักศึกษาเกาหลีใต้ ในยุคที่การเมืองกำลังตึงเครียดมากที่สุดช่วงหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์
ทางสถานีโทรทัศน์ JTBC ออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนว่า ที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นการพูดถึงกันไปก่อนโดยไม่มีข้อมูลครบถ้วน เนื่องจากซีรีส์ยังไม่ออกอากาศ ข้อมูลที่หลุดไปเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของเรื่องเท่านั้น และยืนยันว่า Snowdrop ไม่ใช่ซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี 1987 แต่อย่างใด โดยเหตุการณ์ทั้งหมดในซีรีส์ ทั้งระบอบทหาร องค์กรรัฐ และอำนาจเผด็จการในเกาหลีใต้ ที่สมคบคิดกับเกาหลีเหนือ จะเป็นแค่เรื่องสมมติ
JTBC ยังระบุอีกด้วยว่า สิ่งที่ซีรีส์พยายามถ่ายทอดคือความกระหายอำนาจของทุกฝั่งทุกฝ่าย ทั้งทหาร สายลับ และนักการเมืองในเรื่อง Snowdrop ไม่ได้เชิดชูสายลับหรือผู้ที่ทำงานในองค์กรด้านความมั่นคงใดทั้งนั้น ส่วนข้อกังวลที่ว่าซีรีส์นำบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์อย่าง ชอน ยองโช (อึน ยองโร) นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย มาเป็นตัวหลักของเรื่อง ทางบริษัทได้ทำการเปลี่ยนชื่อตัวละครหญิงดังกล่าว เพื่อลบข้อกังขาว่าตัวละครในเรื่องชวนทำให้นึกถึงบุคคลในชีวิตจริง และยืนยันว่าซีรีส์เรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ ชอน ยองโช
หากเป็นไปตามแถลงการณ์ดังกล่าว ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะจบลงด้วยดี กระนั้นเอง เมื่อสองตอนแรกได้ออกอากาศ ก็กลับมีผู้ร่วมลงชื่อ ‘แบน’ กว่า 2.7 แสนคน และได้ทำให้ประเด็นละเอียดอ่อนที่ถูกพูดถึงในช่วงต้นปี 2021 วนกลับเข้ามาในกระแสสังคมอีกครั้ง
เนติเซนเกาหลีใต้แบ่งเป็นสองฝ่าย ‘สนับสนุน’ กับ ‘เรียกร้องให้ยกเลิก’
หลังเกิดการเรียกร้องให้ลงชื่อคัดค้าน และมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเนื้อเรื่องของสองตอนแรก ในเว็บไซต์ Naver มีกระทู้หนึ่งโต้เถียงกันยาวเหยียด โดยช่วงอายุของคนในกระทู้อยู่ระหว่าง 20-30 ปี ฝ่ายที่มองว่าซีรีส์เรื่องนี้ควรหยุดฉายได้แล้ว เพราะบิดเบือนเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ สร้างวาทกรรมสวยงามสนับสนุนเผด็จการ สิ่งที่เกิดขึ้นใน Snowdrop ถือเป็นการดูหมิ่นเหล่านักเรียนนักศึกษาที่อุทิศชีวิตวัยเยาว์ เพื่อเรียกร้องให้ประเทศเกาหลีใต้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ทีมงานควรนึกถึงใจของผู้ที่ถูกจับกุมคุมขัง ถูกใส่ร้าย ถูกทำร้ายร่างกาย และผู้เสียชีวิต
ตอนหนึ่งของซีรีส์ อิม ซูโฮ กำลังหนีการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ เขาได้วิ่งผ่านกลุ่มนักศึกษาที่กำลังร้องเพลง Sola Blue Sola (솔아 푸르른 솔아) ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ก่อนถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงด้วยแก๊สน้ำตาและการไล่ทุบตี บทเพลงดังกล่าวเป็นเพลงที่ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวจริง จึงทำให้มีชาวเกาหลีใต้หลายคนรู้สึกรับไม่ได้ที่ Snowdrop นำบทเพลงดังกล่าวเข้ามาใช้ในจังหวะที่สายลับเกาหลีเหนือกำลังหนีการจับกุม
มีรายงานเพิ่มเติมว่า ครอบครัวของเหยื่อผู้ประท้วงที่เสียชีวิตจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับจากเกาหลีเหนือ ถูกรัฐบาลซ้อมทรมานและเสียชีวิต ประณามซีรีส์ Snowdrop เรียกร้องให้ผู้เขียนบทออกมาชี้แจงต่อการเล่าเรื่องสายลับเกาหลีเหนือที่เป็นตัวเอกของเรื่อง และมีเสียงกังวลจำนวนมากมองว่า หากซีรีส์เรื่องนี้ยังได้ฉายต่อ ชาวต่างชาติที่ดูผ่านแพลตฟอร์ม Disney+ จะรับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ไปแบบผิดเพี้ยนหรือไม่
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าซีรีส์ Snowdrop เพิ่งฉายได้เพียง 2 ตอนเท่านั้น ยังไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้ว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ บางส่วนมองว่าชาวเน็ตเกาหลีส่วนใหญ่ชอบไหลไปกับกระแส เมื่อมีประเด็นหนึ่งถูกวิจารณ์จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต คนก็จะอยู่ฝั่งที่มีกระแสที่ดีกว่าโดยไม่ได้แยกแยะหรือดูเนื้อหาว่าเป็นจริงตามที่ตัดสินไปแล้วหรือไม่
มีการวิเคราะห์เนื้อเรื่องโดยระบุว่า หากดูดีๆ จะพบว่าซีรีส์เสียดสีอำนาจเผด็จการในช่วงเวลานั้น มีทั้งการจิกกัดสังคมชั้นสูง จิกกัดทหาร จิกกัดนักการเมือง ไปจนถึงเหล่าคุณนายภรรยาทหาร และบางส่วนยินดีที่จะมีการตรวจสอบเนื้อหาทั้งหมดอีกครั้ง เพราะหากตรวจสอบผ่านแล้วฉายต่อได้ เท่ากับว่าลบล้างความข้อกล่าวหาว่าซีรีส์อวยเผด็จการ
นอกจากนี้ ฝ่ายที่ยืนยันว่า Snowdrop ไม่ได้บิดเบือนประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่าในรายชื่อที่เรียกร้องให้ยกเลิก อาจจะมีกลุ่มแอนตี้แฟนของนักแสดงนำด้วยหรือไม่ และใช้การโจมตีเนื้อหาซีรีส์เป็นข้ออ้าง เพื่อร่วมแบนผลงานดังกล่าว ข้อสังเกตนี้ไม่สามารถตรวจสอบแน่ชัดได้ ไม่มีการยืนยันชัดเจน แต่ก็เป็นหนึ่งในข้อสังเกตที่หลายเสียงยืนยันว่าไม่สามารถทิ้งไปได้เช่นกัน
สปอนเซอร์แห่ถอนตัว ส่วนสถานีโทรทัศน์ยืนยันว่าซีรีส์ไม่บิดเบือนประวัติศาสตร์
วันที่ 20 ธันวาคม 2021 P&J Group บริษัทผู้เป็นหนึ่งในสามทุนใหญ่ที่สนับสนุนทุนสร้างซีรีส์ Snowdrop ถอนตัวจากการผลิตแล้ว โดยทางคณะผู้บริหารได้ออกแถลงการณ์สั้นๆ ในเว็บไซต์ของบริษัทว่า “ทางเราต้องขออภัยอย่างสูงต่อการสนับสนุนการผลิตซีรีส์นี้” นอกเหนือจาก P&J Group ยังมีแบรนด์แฟชั่น แบรนด์อาหาร รวมถึงร้านค้าออนไลน์ ต่างทยอยกันออกจดหมายขอโทษที่สนับสนุนซีรีส์
ตอนนี้ สิ่งที่เหมือนกันของชาวเกาหลีใต้ที่แตกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ทั้งสองฝ่ายเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ JTBC ออกมาชี้แจงในฐานะผู้อำนวยการสร้างซีรีส์
หลังกระแสร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด JTBC ออกมาแถลงการณ์อีกครั้งว่า ซีรีส์เรื่อง Snowdrop ไม่มีเจตนาบิดเบือนประวัติศาสตร์ ภูมิหลังของเรื่องจะเป็นช่วงที่เกาหลีใต้กำลังเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่านั้น ก่อนทาง JTBC จะทิ้งท้ายว่ารู้สึกเสียใจมากที่ไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้จริงๆ แต่ความเข้าใจผิดทั้งหมดจะคลี่คลายในอนาคต และซีรีส์เรื่องนี้จะยังคงออกอากาศต่อไป
อ้างอิง
https://n.news.naver.com/article/079/0003587836
https://tv.naver.com/v/24156615
https://n.news.naver.com/entertain/article/609/0000524794
Tags: Report, Global Affairs, เกาหลีใต้, ซีรีส์เกาหลี, ข่าวต่างประเทศ, Snowdrop, จีซู, จอง แฮอิน