หากจะกล่าวว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ความหมกมุ่นกับแนวคิดเรื่อง “ความดี” และ “คนดี” ของคนไทยได้ไต่ไปถึงระดับสูงสุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทยก็คงจะไม่เกินจริงไปนัก เพราะแนวคิดทั้งหลายเหล่านี้ถูกหยิบยกมาใช้กันถี่ แพร่หลาย และเปิดเผยขึ้นกว่าที่เคย ทั้งเพื่อการสร้างความชอบธรรม เช่นที่นายกฯ อ้างว่าสวดมนต์ทุกคืนดังนั้นจะไม่ทำอะไรที่ผิด หรือที่อ้างเหตุผลว่าเรายังเปิดเสรีเรื่องสื่อลามกไม่ได้เพราะขัดกับศีลธรรมอันดี และเพื่อติดป้ายแบ่งฝ่ายให้ชัดเจนและมอบสถานะให้อีกฝ่ายให้เป็นคนไม่ดีแบบกลายๆ เช่น ข้อความ “ทหารของพระราชาและตำรวจของประชาชน (คนดี) รวมพลังพร้อมปกป้องรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสถานที่สำคัญ” บนตู้คอนเทนเนอร์ที่ตั้งเป็นแนวกั้นบริเวณหน้าศาลฎีกาเมื่อหลายเดือนที่แล้ว
ความหมกมุ่นกับเรื่องคุณงามความดีและการอ้างตนว่ามีมาตรฐานทางศีลธรรมที่สูงส่งกว่าคนอื่นแบบนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่มีแต่เฉพาะในประเทศไทย แต่พบเห็นได้ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเช่นกัน
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูทั้งศัพท์และสำนวนที่เราสามารถนำมาใช้พูดถึงตัวบุคคล พฤติกรรม และความคิดความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการอ้างความเหนือกว่าทางศีลธรรม
มนุษย์ที่หมกมุ่นกับความดี
ภาษาอังกฤษมีคำที่ใช้เรียกมนุษย์ที่หมกมุ่นกับการเป็นคนดีอยู่ไม่น้อย คำแรกเลยก็คือคำว่า moralist หมายถึง คนที่เที่ยวตรวจตราศีลธรรมของชาวบ้านชาวช่อง เห็นอะไรที่ไม่ตรงกับชุดศีลธรรมของตัวเองแล้วรู้สึกอดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาสั่งสอน ด่าทอ หรือปราบปราม Only moralists can find a way to turn wearing a certain color shirt into a matter of virtue. ก็คือ มีแต่พวกคลั่งศีลธรรมเท่านั้นแหละที่หาวิธีทำการใส่เสื้อบางสีให้เป็นเรื่องของความดีชั่วได้
อีกคำที่เราหยิบนำมาใช้เรียกคนแบบนี้ได้คือคำว่า prig (เป็นคนละคำกับคำว่า prick แม้ว่า prig ส่วนใหญ่จะเป็น prick ด้วยก็ตาม) โดยปกติคำนี้จะใช้กับคนที่ยึดติดเรื่องความเหมาะสม (ตามมาตรฐานของตน) เป็นสารัตถะในชีวิต และคิดว่าตนเองเหนือหรือดีกว่าชาวบ้านเพราะตนเองทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าเหมาะสมถูกต้อง เช่น คนที่เชื่อว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น เพราะใช้จานชามช้อนส้อมบนโต๊ะอาหารได้ถูกต้อง หรือดีกว่าคนอื่นเพราะในธงชาติออกมาติดหน้าบ้านตอนช่วงใกล้วันสำคัญ เวลาเจอคนแบบนี้ เราก็อาจจะพูดว่า What a prig! (ระวังอย่าออกเสียงสระสั้นจนเกินไป เดี๋ยวคนจะได้ยินเป็น What a prick!)
อีกคำที่ใกล้เคียงกับ prig ก็คือ Mrs. Grundy ซึ่งมีที่มาจากละครชื่อ Speed the Plough ของ Thomas Morton เนื่องจาก Mrs. Grundy เป็นที่เกรงกลัวของเพื่อนบ้านที่เป็นตัวเอกของเรื่อง ผู้พะวงตลอดเวลาว่า Mrs. Grundy จะคิดอย่างไร จะตำหนิหรือไม่ปลื้มอะไรไหม ชื่อของ Mrs. Grundy จึงเป็นคล้ายๆ ตัวแทนของครรลองสังคมและถูกนำมาใช้เรียกคนที่ยึดติดกับสิ่งที่สังคมคิดว่าถูกต้องดีงาม เช่น หากคุณป้าข้างบ้านของเราคิดว่าการอยู่กินกับแฟนก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องบัดสีบัดเถลิง คนดีมีจรรยาไม่ทำกัน เราก็อาจจะเรียกคุณป้าข้างบ้านว่าเป็น Mrs. Grundy
นอกจากนั้นก็ยังมีคำว่า puritan ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนาจัดในช่วงศตวรรษที่ 16-17 เนื่องจากคนกลุ่มนี้เคร่งศาสนามาก ปฏิเสธความสุขทางโลก มองเรื่องเซ็กซ์นอกสมรสเป็นเรื่องไม่ถูกต้องสมควร เราจึงนำคำนี้มาเรียกคนที่ยึดกรอบศีลธรรมตนเองเป็นมาตรฐานและขมวดคิ้วใส่เรื่องความสุขทางโลกและเซ็กซ์ว่าเป็นเรื่องผิดบาปไม่เหมาะไม่ควรได้อีกด้วย เช่น These puritans would lose their minds if they knew their child has an OnlyFans account. ก็คือ พวกคลั่งศีลธรรมคงประสาทแตกถ้ารู้ว่าลูกเปิดโอนลี่แฟน (ถ้าเน้นเรื่องความกระดากเหนียมอายต่อเรื่องเพศอย่างเดียว จะใช้คำว่า prude ก็ได้)
วิธีแสดงออกว่าเป็นคนดี
คนดีหลายคนมักคอยพูดเรื่องคุณงามความดีเพื่อแสดงให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมีคุณธรรมและยกตนเองให้สูงขึ้น คำหนึ่งที่เรานำมาใช้พูดถึงการแสดงตนเป็นคนดีแบบนี้ ภาษาอังกฤษเราอาจใช้คำว่า moral grandstanding มาจากคำว่า grandstand ที่เมื่อเป็นคำนามหมายถึง อัฒจันทร์ และใช้เป็นกริยาได้ด้วย หมายถึง แสดงออกให้คนดูประทับใจ เช่น หากผู้นำคนหนึ่งย้ำแทบทุกครั้งเมื่อมีโอกาสว่าตนเองเป็นคนดี จริงใจ ไหว้พระทุกวัน ไม่โกงกินเหมือนนักการเมือง เราก็อาจจะพูดว่า What’s with all the moral grandstanding? ก็คือ จะอวดอ้างแสดงตัวเป็นคนดีอะไรนักหนาเนี่ย (คนประเภทนี้เราจะเรียกว่า moral grandstander ก็ได้)
แต่หากคนคนนั้นไม่ได้ถึงขนาดประกาศโจ่งแจ้งว่าตนเองเป็นคนดี แต่เน้นสื่อสารอ้อมๆ ว่าตนเองเป็นคนดีด้วยการแสดงความคิดเห็นสนับสนุนหรือแชร์สิ่งที่คนในสังคมยอมรับกันว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงาม ทั้งนี้บางครั้งตัวเองไม่ได้เชื่อแบบนั้นจริงๆ ด้วยซ้ำ (ออกแนวลูกชุบ) แบบนี้เราจะใช้คำว่า virtue signaling มาจากคำว่า virtue ที่แปลว่า คุณธรรม มารวมกับ signaling ที่หมายถึง ส่งสัญญาณ ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนเราแชร์บทความรณรงค์เรื่องการประหยัดน้ำบนหน้าเฟซบุ๊กเพราะอยากให้คนอื่นๆ เห็นว่าตนเองเป็นคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ตัวเองชอบแช่น้ำในอ่างอาบน้ำมาก หรือออกมาสนับสนุน Black Lives Matter แค่อยากให้คนอื่นเห็นว่าตนเองเป็นคนดี แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า What he shares on his feed is not a reflection of his conviction. It’s just virtue signaling.
ส่วนถ้าหากคนพูดอ้างชัดเจนว่าตัวเองเป็นคนดีมีคุณธรรมกว่าอีกคน เราก็อาจจะใช้สำนวน claim/take the moral high ground เช่น You can claim the moral high ground all you want, but one day people will see you for who you really are. ก็คือ อยากจะอ้างว่ามีมาตรฐานศีลธรรมสูงส่งก็เชิญเถอะ แต่สักวันคนก็จะเห็นธาตุแท้เอง
อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวกันคือ pearl clutching เนื่องจากในอดีตมักมีภาพจำกันว่า ผู้หญิงผู้ดีทั้งหลายจะต้องสวมสร้อยไข่มุก และเวลาที่ได้ยินเรื่องฉาวผิดศีลธรรมอะไร ก็จะต้องแสดงความตกใจด้วยการเอามือจับไปที่หน้าอกบริเวณที่ใส่สร้อยไข่มุกอยู่ จึงเกิดเป็นสำนวน pearl clutching หมายถึง การแสดงความช็อกอย่างออกหน้าออกตาต่อสิ่งที่ตนคิดว่าผิดศีลธรรม ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่คนยอมรับกันเป็นปกติแล้ว ซึ่งในนัยหนึ่งก็เป็นการแสดงออกว่าตนเองมีระดับศีลธรรมที่เหนือกว่าชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น คุณป้าเราหัวโบราณมาก เห็นคนมีรอยสักแล้วรับไม่ได้ เอามือกุมอกทำท่าตกอกตกใจรับไม่ได้ เราก็อาจจะพูดว่า You have to stop clutching your pearls whenever you see people with tattoos.
ฉันเชื่อว่าฉันเป็นคนดีกว่าชาวบ้าน
คนที่หมกมุ่นกับความดี ส่วนใหญ่แล้วก็มักมีทัศนคติที่ว่าตนมีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนอื่น และสิ่งที่ตนเองยึดถือคือสิ่งที่ถูกต้อง คำหนึ่งที่เราใช้พูดถึงคนหรือการแสดงออกในลักษณะนี้ได้ก็คือ self-righteous เช่น How self-righteous must she be to be accusing another person of having never made any contribution to the country? ก็คือ ต้องคิดว่าตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรมสูงส่งขนาดไหน ถึงกล้าพูดว่าคนอื่นไม่เคยทำอะไรดีๆ ให้กับประเทศชาติ
อีกคำหนึ่งที่เรานำมาใช้ได้ก็คือ sanctimonious ซึ่งแต่เดิมหมายถึง ศักดิ์สิทธิ์ แต่ในปัจจุบันใช้บรรยายคน คำพูด หรือน้ำเสียงที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อว่าตนมีศีลธรรมสูงส่งกว่าชาวบ้านชาวช่อง เช่น Thanks to public outrage, the government finally dropped the sanctimonious tone of voice and stopped censuring the public for “letting their guard down.” ก็คือ หลังจากประชาชนแสดงความไม่พอใจ รัฐบาลจึงเลิกใช้น้ำเสียงยกตนข่มท่านและติเตียนประชาชนว่าการ์ดตกในที่สุด
อีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้กันและมีความเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์เช่นกันก็คือคำว่า holier-than-thou คำนี้มีที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล ในหนังสืออิสยาห์ บท 65 พวกนอกรีตไล่ให้พระเจ้ายืนห่างจากพวกตนเพราะเชื่อว่าตนบริสุทธิ์กว่าพระเจ้า (“Stand by thyself, come not near to me; for I am holier than thou.”) ในปัจจุบัน เราใช้คำนี้เพื่ออธิบายความคิดความเชื่อว่าตนเองดีหรือมีคุณธรรมกว่าคนอื่น เช่น Many defenders of traditional values have a holier-than-thou attitude about them. ก็คือ ผู้ปกปักษ์รักษาค่านิยมแบบเก่าจำนวนมากมีทัศนคติว่าตนมีคุณธรรมสูงส่งกว่าคนอื่น
บรรณานุกรม
http://oed.com/
https://blogs.scientificamerican.com/beautiful-minds/are-you-a-moral-grandstander/
https://www.vox.com/science-and-health/2019/11/27/20983814/moral-grandstanding-psychology
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Tags: Word Odyssey, สำนวนภาษาอังกฤษ, คำศัพท์ภาษาอังกฤษ, moral superiority, คนดี