ช่วงหนึ่งของยุค 1990s โบแจ็ค เป็นนักแสดงดาวรุ่ง ใครต่อใครในฮอลลีวูดต่างคะเนว่าเขาจะกลายเป็นนักแสดงระดับต้นๆ ของวงการ แต่แล้วเมื่อเวลาล่วงผ่านไปอีกสามทศวรรษ สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือนักแสดงวัยห้าสิบผู้ใช้ชีวิตให้พ้นไปวันต่อวันด้วยการโอบกอดชื่อเสียงและอดีตอันแตกดับของตัวเอง หลับได้ด้วยแอลกอฮอลและตื่นได้ด้วยยาเสพติด ความทรงจำกลายเป็นสิ่งที่น่าชิงชัง ขณะที่อนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจทนนึกถึงเพราะมันไม่เหลืออยู่อีกแล้ว
ฟังดูเป็นเส้นเรื่องของหนังดราม่า เล่าเรื่องชีวิตแสนขมขื่นของคนวัยผู้ใหญ่ หากแต่จริงๆ แล้วนี่เป็นแอนิเมชันลายเส้น เล่าเรื่องจักรวาลของสัตว์ซึ่งทำกิจกรรมกันแบบมนุษย์ใน BoJack Horseman แอนิเมชันซีรีส์ความยาว 6 ซีซันที่เพิ่งปิดฉากลงไปเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา จับจ้องไปยังตัวละครที่ชื่อเดียวกับเรื่องอย่าง โบแจ็ค ฮอร์สแมน มนุษย์ม้าที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ย่านฮอลลีวูด ถูกหลอกหลอนด้วยอดีตท่ามกลางมิตรสหายที่ต่างแบกรับปัญหาชีวิตหนักหน่วงแตกต่างกัน
ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่าประหลาดที่หยิบเอา BoJack Horseman มาเล่าหลังจากที่หนังปิดฉากลงไปแล้วปีกว่า แต่เรื่องราวของมนุษย์ม้าผู้ชอกช้ำกับชีวิตยังถูกพูดถึงอยู่เนืองๆ โดยล่าสุด BBC Culture จัดอันดับ ‘100 ซีรีส์ที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 21’ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี Game of Thrones, The Crown, Stranger Things รวมทั้ง BoJack Horseman ด้วย หรือหากจะอ้างกันด้วยเหตุผลส่วนตัว ซีรีส์ที่ว่าด้วยม้าเศร้านี้ก็นับเป็นซีรีส์ที่ผู้เขียนย้อนกลับไปดูซ้ำรอบแล้วรอบเล่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาเคว้งคว้าง ทั้งจากแผลลึกส่วนตัวหรือจากภาวะเสียหลัก ซึ่งอย่างหลังเกิดขึ้นบ่อยเมื่อชีวิตย่างเข้าสู่ห้วงเวลาของการควานหาหลักมั่น
แน่นอนว่าเรื่อง BoJack Horseman ไม่ได้มอบคำตอบอะไรให้ ไม่แม้กระทั่งมอบความอุ่นใจให้ด้วยซ้ำ อันที่จริงมันเพียงกระซิบให้เรารู้ว่าไม่ได้มีแค่เราที่โอบกอดบาดแผลบางสิ่งหรือเผชิญหน้าบางอย่างเพียงลำพัง แต่มันยังมีมนุษย์ม้าเซื่องซึม, แมวเปอร์เซียบ้างาน, สาวลูกครึ่งเวียดนามที่เฝ้ามองหาตำแหน่งแห่งที่ของตนในโลกที่คล้ายจะทิ้งเธอไว้ข้างหลัง ตลอดจนดาราสาวติดยาที่กลบอดีตไว้ด้วยผงสีขาวเหล่านั้น สมกับที่ indiewire สำนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังมอบวลี “งดงามและสร้างความบอบช้ำทางจิตใจ” ให้แก่ซีรีส์เรื่องนี้
“บางทีฉันก็รู้สึกอย่างกับว่าตัวเองเกิดมาพร้อมรูรั่ว สิ่งดีๆ ที่พยายามทำมาตลอดมันค่อยๆ ไหลออกจากตัวช้าๆ จนหมด โดยที่ฉันไม่มีทางได้มันกลับคืนมาเลยด้วย สายเกินไป …แต่ชีวิตมันคือการไล่ปิดประตูทีละบาน ทีละบาน อย่างนั้นไม่ใช่หรือ”
BoJack Horseman เป็นซีรีส์ที่สลักเสลามาจากชีวิตส่วนตัวของผู้สร้าง ราฟาเอล บ็อบ-แวคส์เบิร์ก คนเขียนบทผู้แจ้งเกิดอย่างงดงามจากแอนิเมชันชวนหดหู่เรื่องนี้ ไม่ว่าจะในแง่มุมความรู้สึกผุพังต่อตัวเอง ความเปราะบางของความสำคัญไปจนภาวะหมกมุ่นอยู่กับการเสพยาเพื่อให้ลืมความชอกช้ำ ไอเดียเรื่องมนุษย์ม้าปรากฏขึ้นตัวขึ้นในช่วงที่บ็อบ-แวคส์เบิร์กท้อแท้อย่างถึงที่สุด ภายหลังจากย้ายมายังลอสแองเจลิส-เมืองที่ค่าครองชีพแพงหูฉี่เป็นครั้งแรก และพยายามเอาตัวรอดด้วยการเสนอบทให้สตูดิโอต่างๆ เอาไปทำเป็นซีรีส์
ต้นกำเนิดคือไอเดียหลุดโลกเรื่อง The Good Times Are Killing Me ซีรีส์คอเมดี้ เล่าถึงพ่อค้ากีโยตินที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในยุคสมัยแห่งความหวาดกลัว (Reign of Terror) ของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ไม่มีสตูดิโอไหนคิดว่ามันน่าสนใจมากพอ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่บ็อบ-แวคส์เบิร์กไปนอนบ้านเพื่อนซึ่งตั้งอยู่ในย่านหรูหราของฮอลลีวูด และระหว่างที่มองออกไปยังป้าย Hollywood อันเป็นแลนด์มาร์คของเมือง บ็อบ-แวคส์เบิร์กก็พลันนึกไอเดียเกี่ยวกับความโดดเดี่ยวและการควานหาตัวตนของมนุษย์ขึ้นมาได้ นั่นเองที่เป็นต้นกำเนิดของ BoJack Horseman ซีรีส์ที่ในเวลาต่อมาแจ้งเกิดให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้สร้างซีรีส์ว่าด้วยชีวิตและความเปราะบางเนื้อหอมของอุตสาหกรรมนี้ในที่สุด
“คนอย่างผมที่จ่ายค่าห้องเดือนละ 800 เหรียญฯ แล้วได้มาอยู่ในแมนชั่นที่สวยหมดจดขนาดนั้น ไม่รู้ยังไงเหมือนกันนะ แต่จำได้ว่าตอนนั้นมีข่าวลือในกลุ่มเพื่อนบ้านว่าบ้านหลังที่สูงลิ่วเป็นอันดับที่สามในฮอลลีวูด คือบ้านที่ครั้งหนึ่ง จอห์นนี เด็ปป์ เคยพักอาศัย มันตั้งอยู่ตรงยอดเขาเลย” เขาเล่า “จำได้ว่าเคยเหม่อมองไปยังยอดเขาฮอลลีวูดแล้วรู้สึกเปี่ยมสุขอย่างที่สุด ไม่มีทั้งความโดดเดี่ยว ตัวคนเดียวอีกต่อไป ตอนนั้นแหละที่ผมเริ่มร่างภาพตัวละคร เป็นชายที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ มีทุกอย่างที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่อาจควานหาความสุขได้พบสักที”
บ็อบ-แวคส์เบิร์กเป็นชาวยิวที่เติบโตขึ้นมาในย่านแคลิฟอร์เนียต้นยุค 90s เขาใช้เวลาวัยเด็กและวัยรุ่นหมดไปกับ The Simpsons ซีรีส์แอนิเมชันจอมเสียดสีชนชั้นกลางชาวอเมริกา และในอีกสองทศวรรษต่อมา มันก็ส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงให้บ็อบ-แวคส์เบิร์กในการทำซีรีส์ BoJack Horseman
“[The Simpsons] มันมีทั้งความอ่อนไหว ทั้งอารมณ์ขัน เอพิโซดที่ผมชอบมากเป็นการส่วนตัวคือเอพิโซดที่มันเศร้าๆ หน่อยอย่าง Lisa’s Substitute (เล่าเรื่องลูกสาวของครอบครัวที่ผิดหวังในตัวผู้ใหญ่ที่เธอเคารพ) หรือไม่ก็ Marge Be Not Proud (ลูกชายโกรธที่แม่ไม่ยอมซื้อของเล่นให้เลยลงมือขโมยแต่โดนจับได้ และต้องทนเห็นแววตาแตกสลายจากแม่ที่มาช่วยเหลือ)”
“ผมชอบเอพิโซดพวกนี้มากและหวังว่าพวกเขาจะเขียนบทอะไรแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ทั้งผมยังหยิบน้ำเสียงการเล่าเรื่องแบบนี้มาใช้ใน BoJack Horseman ซีซันแรกด้วยเพราะอยากให้มันมีกลิ่นอายแบบ The Simpsons ตอนเศร้าๆ ทั้งนี้ ผมว่าสิ่งที่ทำให้เอพิโซดพวกนั้นมันดีงามมากๆ คือมันไม่ได้ทิ้งมุกตลกไปทั้งหมดแค่เพราะอยากเล่าเรื่องสะเทือนอารมณ์ แต่มันยังทำตัวตลก ยิงมุกเฉียบๆ แต่ก็แสนจะเปราะบางและชวนเศร้าอย่างมากเลย”
BoJack Horseman ออกฉายซีซันแรกในปี 2014 เริ่มด้วยการแนะนำตัวละครหลักของเรื่องคือ โบแจ็ค นักแสดงเคยดังที่ปัจจุบันผลาญเวลาชีวิตไปกับเหล้าและยาเสพติด เขาพยายามจะกลับมาทำงานแสดงอีกครั้งแต่ก็พบว่าตัวเองไร้วินัยเกินไป เหนื่อยล้าเกินไป ทั้งยังเลิกรากับ ปรินเซสส์ แคโรลิน แมวเปอร์เซียที่เป็นทั้งคู่นอนและเป็นทั้งผู้จัดการส่วนตัวของเขาด้วย เพื่อจะให้โบแจ็คกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง เธอจึงแนะนำให้เขาออกหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง พร้อมจ้าง ไดแอน เหงียน นักเขียนสาวมารับหน้าที่ร้อยเรียงชีวิตของเขาให้ หากแต่ไดแอนกลับพบว่า โบแจ็คซึ่งควรจะบอกเล่าชีวิตตัวเองอย่างละเอียดเพื่อเอาไปเขียนในหนังสือนั้น กลับดึงดันจะเล่าแต่ยุคสมัยที่เขายังรุ่งโรจน์ในแวดวงการแสดงจากซิตคอม Horsin’ Around และหลีกเลี่ยงจะบอกเล่าถึงอดีตและชีวิตวัยเด็กของเขาเด็ดขาด
ซีซันแรกของ BoJack Horseman จึงทำหน้าที่พาคนดูสำรวจชีวิตประจำวันอันไร้แก่นสารของโบแจ็ค ความยโสโอหังในฐานะอดีตนักแสดงดังแต่ก็เปราะบางและอ่อนไหวอย่างยิ่ง รวมทั้งตัวละคร เพื่อนฝูงที่รายล้อมรอบตัวเขาก็ดูแบกรับปัญหาหนักหน่วงไม่แพ้กัน ทั้งตัวไดแอนที่เอาแต่พะวงว่าเธอกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ กำลังสร้างอนาคตที่สว่างไสวให้ตัวเองอยู่หรือเปล่า, ท็อดด์ เพื่อนที่มาอาศัยบ้านหรูของโบแจ็คเป็นที่ซุกหัวนอน และใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไร้เป้าประสงค์ราวกับฟองสบู่ หรือ ซาราห์ ลินน์ นักแสดงสาวที่แจ้งเกิดจาก Horsin’ Around ร่วมกันกับโบแจ็คและเติบโตมาโดยมีบาดแผลทางจิตใจที่ไม่ว่าพยายามกลับมันด้วยเหล้ายาสักเท่าไหร่ ก็ดูไม่มีทางถมเต็มสักที
อย่างไรก็ดี ซีซันแรกของ BoJack Horseman นั้นได้รับเสียงวิจารณ์กลางๆ มีทั้งจากที่รู้สึกว่าตัวละครไม่น่าเอาใจช่วย คนดูไม่ได้รู้สึกเอ็นดูโบแจ็คที่เอาแต่ตัดสินใจผิดๆ โยนโอกาสของตัวเอง ไม่ว่าจะทางการแสดงหรือการได้สานสัมพันธ์กับผู้คน ทิ้งแล้วกลับไปโบยตีตัวเองซ้ำซาก หรืออีกส่วนก็รู้สึกว่าแอนิเมชันที่ว่าด้วยสัตว์ที่ใช้ชีวิตแบบมนุษย์เหล่านี้หมกมุ่นอยู่กับตัวละครที่ ‘แตกสลาย’ ซึ่งไม่มีใครคลี่คลายประเด็นใดๆ ของตัวเองได้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าน้ำเสียงเสียดสีกับการจับจ้องไปยังบาดแผลของชีวิตเหล่านี้ ทำให้ BoJack Horseman เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อันยากจะลืมเลือน แม้เราไม่เอาใจช่วยตัวละคร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราต่างเข้าอกเข้าใจและเชื่อมร้อยกับบาดแผลต่างๆ ของตัวละครไม่มากก็น้อย
“ตอนแรกๆ ผมตั้งใจให้มันเป็นซีรีส์ตลกๆ บ๊องบวมแบบเดียวกับแอนิเมชันสำหรับผู้ใหญ่หลายๆ เรื่อง แต่พอถึงตอนจบของซีซันแรก มันก็เต็มไปด้วยความดราม่าขำขื่นมากขึ้นยังกับเป็นซีรีส์คนแสดงแบบพวกซีรีส์ Girls ไม่ก็ Mad Men ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยคาดเดาว่าจะมีแบบนี้ในแอนิเมชันน่ะ” บ็อบ-แวคส์เบิร์กเล่า “การจะให้คนดื่มด่ำไปกับความจริงจังและความสะเทือนอารมณ์ของมัน เราต้องเริ่มด้วยการทำให้คนดูเข้าใจไปเองก่อนว่าไอ้เจ้าซีรีส์นี้มันก็เหมือนซิตคอมแอนิเมชันทั่วๆ ไป แล้วพอถึงตอนจบ พวกเขาก็จะเพิ่งคิดขึ้นได้ว่า ‘ตายละ ทำไมฉันรู้สึกอะไรแบบนี้ได้ล่ะเนี่ย มันมาจากไหนกัน’”
บ็อบ-แวคส์เบิร์กไม่ได้ออกแบบให้โบแจ็คเป็นที่รัก ตรงกันข้าม หากจะนิยามตัวตนของโบแจ็คจริงๆ นั้น ภายใต้อารมณ์ขันขื่นและเสียดสี เขามีลักษณะของคนที่เกลียดตัวเองเท่ากันกับที่หาโอกาสทำลายตัวเองทุกวิธีเท่าที่จะเป็นไปได้ นับตั้งแต่การโยนโอกาสดีๆ ทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อไปจมอยู่กับเหล้าและยาเสพติด พยายามบำบัดภาวะต่างๆ ให้หายขาดแต่ก็ไม่อาจก้าวข้ามอดีตทะมึนของตัวเองจนพาชีวิตวนกลับมาเจอกับสิ่งเสพติดอีกครั้ง
“ฉันไม่รู้จริงๆ ว่าคุณจะไปคาดหวังคนอื่นให้มารักคุณได้ยังไง ในเมื่อมันชัดเจนจะตายว่าคุณน่ะเกลียดตัวเอง” ปรินเซสส์ แคโรลินพูดใส่เขาอย่างเหลืออดทั้งในฐานะอดีตคนรักและในฐานะผู้จัดการส่วนตัว รวมทั้งเมื่อเธอชี้หน้าเขาว่า “ขอทีเหอะ คุณมันไอ้พวกชื่นชอบการโบยตีตัวเอง ฉันพูดเรื่องดีๆ เกี่ยวกับคุณสิบเรื่องและเรื่องแย่ๆ ของคุณแค่เรื่องเดียว คุณก็ได้ยินแค่ไอ้เรื่องแย่ๆ เรื่องเดียวนั่นแหละ”
สิ่งที่ทำให้ BoJack Horseman สมจริงอย่างที่สุดแม้มันจะเล่าผ่านโลกคู่ขนานที่สัตว์ใช้ชีวิตแบบมนุษย์ คือการที่มันโยนเอาความขมขื่นของชีวิตเข้าใส่หน้าคนดูแบบไม่เกรงอกเกรงใจ ไม่ว่าจะภาวะกังขาในความสามารถตัวเอง ความรู้สึกกลวงเปล่าของคนเมือง “ผมไม่เข้าใจเลยจริงๆ ว่าคนอื่นเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร” เขาว่า “สำหรับผม ผมว่ามันน่าอัศจรรย์มากที่คนเราตื่นขึ้นมาทุกเช้าแล้วบอกว่า ‘เอาล่ะ! วันใหม่มาเยือนแล้ว เริ่มต้นกัน!’ คนเราทำอย่างนั้นได้ยังไงกันนะ”
เราคือความขมขื่นของโบแจ็ค ความรู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรได้รับความรัก ไม่ควรเป็นที่รักเพราะเราไม่ดีพอ คือความทะเยอทะยานอันเปราะบางของปรินเซสส์ แคโรลิน ที่โถมตัวเองเข้าใส่กองงานเพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองว่างเปล่าเกินไป คือความเศร้าสร้อยที่เฝ้าโบยตีตัวเองของไดแอน ผู้ที่ดูเข้าใจความชอกช้ำของคนอื่นๆ แต่ไม่อาจรับมือบาดแผลของตัวเองได้
เราคือผู้ที่เหนื่อยหน่ายกับชีวิต ออกวิ่งห้อเต็มเหยียดมาอย่างยาวนานเพื่อจะพบว่าไม่มีอะไรรออยู่ที่ปลายทาง โลกฝันเฟื่องทำให้เราเชื่อว่าหากทุ่มเทกำลังเต็มที่แล้วจะต้องมีสิ่งดีๆ รอเราอยู่อย่างแน่นอน แต่ชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งเรากลายเป็นคนที่เราเกลียด ทำในสิ่งที่เราไม่รัก โบยตีตัวเองซ้ำซากด้วยบาดแผลเดิมๆ กลืนยาขมของชีวิตไปรอบแล้วรอบเล่าเพื่อหวังว่าสักวันมันจะดีขึ้นมาบ้าง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนแฝงฝังอยู่ใน BoJack Horseman รอคอยเวลาที่เหล่าคนดูจะสังเกตเห็นและเชื่อมโยงประเด็นปัญหาของตัวเองเข้ากับบาดแผลของตัวละคร
หากแต่มันไม่ได้มีน้ำเสียงสิ้นหวัง มันอาจไม่ได้ชุบชูหัวใจอย่างที่ซีรีส์หรือหนังพลังบวกหลายคนทำ แต่มันปลอบประโลมเราว่า ชีวิตมันไม่ใช่เรื่องง่ายก็จริงอยู่ แต่มันไม่ได้พังทลายไปตลอดกาล “ผมอยากสื่อสารวิธีที่ผมมองโลกอย่างจริงที่สุดล่ะมั้ง แต่ทั้งอย่างนั้นก็ยังรู้สึกว่าโบแจ็คเป็นซีรีส์พลังบวกนะ” บ็อบ-แวคส์เบิร์กปิดท้าย “ไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้ แต่ผมว่ามันก็ทำให้เห็นว่าคนเรามันเปลี่ยนแปลงกันได้ ว่าเรามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงผู้อื่นมากแค่ไหน และเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชีวิตใครสักคนได้อย่างไร ซึ่งมันอาจเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องที่ลึกซึ้งก็ได้ทั้งนั้น”
Tags: Screen and Sound, BoJack Horseman, โบแจ็ค ฮอร์สแมน, มนุษย์ม้า