ปีนี้เป็นปีที่ 29 บนสนามการเมืองของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เธอเข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรก ในการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 การเลือกตั้งที่ทำให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ผ่านไปเกือบสามทศวรรษ บริบททางการเมืองยังเป็นแบบเดิม โจทย์การเมืองใหญ่ยังเป็นสมการที่ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ ทหาร และนักการเมือง ที่ยังคงแก้ไม่ตก แถมด้วยประเด็นที่ซับซ้อนไปกว่านั้นคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ปีที่ 29 ของคุณหญิงสุดารัตน์ คือการแยกตัวจากพรรคเพื่อไทย พร้อมกับประกาศตั้งพรรคการเมืองใหม่ ชื่อว่าไทยสร้างไทยพรรคที่เธอรับบทเป็นประธานพรรคและว่าที่หัวหน้าพรรค ซึ่งเธอบอกว่า น่าจะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองครั้งสุดท้ายในชีวิต และครั้งนี้จะเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด 

ไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด ไทยสร้างไทยจะส่ง ..ลงทุกเขตทั่วประเทศ ด้วยความเชื่อมั่นว่าตัวเธอเองในฐานะผู้นำ และกองหนุนของพรรคในเวลานี้ ทั้งทีมกฎหมายและทีมเศรษฐกิจของพรรคต่างพรั่งพร้อมไปด้วยประสบการณ์ มีการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อย่างลงตัว

คำถามก็คือ ด้วยโจทย์ที่ว่าด้วยฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเผด็จการที่ขีดเส้นแบ่งชัดในเวลานี้ และบนสนามของฝ่ายประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองใหม่ๆ มีตัวเลือกใหม่ๆ มากมายนั้นไทยสร้างไทยและตัวคุณหญิงสุดารัตน์เจ้าของภาพตัวแทนของนักการเมืองรุ่นเก่าจะยืนอยู่ตรงไหนในสนามนี้ 

และโจทย์ใหญ่ว่าด้วยการล้มพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับทุกองคาพยพที่แวดล้อม ในวันที่เสียงของฝ่ายค้านเพิ่งพ่ายเสียงจากฝ่ายรัฐบาลไปหมาดๆ จนดูเหมือนว่าทำอะไรก็จะแพ้ทุกเรื่องนั้นเป็นอย่างไร

เราเคยให้คำมั่นสัญญา เป็นสัญญาประชาคมและเป็นความเชื่อของเรา ว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ได้ตั้งแต่วันแรกที่เราหาเสียง แล้วเราก็ทำมาตลอดในนามประธานยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย จนถึงช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตกไป ซึ่งเรารู้สึกผิดหวังมากที่พรรคฝ่ายค้านเดินตามก้นคุณไพบูลย์แบบนั้น เราจึงต้องหาทางสานต่อพันธกิจที่เคยพูดไว้

จุดมุ่งหมายของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งสุดท้ายของคุณหญิงสุดารัตน์จะมีโฉมหน้าเช่นไร ในวันที่ฝ่ายประชาธิปไตยกำลังสิ้นหวังอย่างสิ้นเชิง ด้วยบริบทการเมืองแบบนี้

บริบทการเมืองในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับช่วงที่คุณสุดารัตน์เพิ่งเริ่มเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คืออยู่ในรัฐบาลที่มีความเผด็จการเหมือนกัน ใช้รัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ เหมือนกัน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญในอนาคตข้างหน้าเหมือนกัน คุณมองแนวโน้มทางการเมืองแบบนี้อย่างไรบ้าง 

เรามองว่าการเมืองทุกวันนี้เหมือนกับกงล้อมันหมุนกลับมาหยุดอยู่ที่เดิม 

ตอนเราเข้ามามีบทบาทการเมืองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือช่วงมีนาคม 2535 หลังจากที่คุณจำลอง ศรีเมือง ได้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม ซึ่งเราในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ก็ต้องไปร่วมหาเสียงกับเขาอยู่นาน แต่สุดท้าย พลเอก สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกฯ เอง โดยตอนนั้นก็มีการบอกว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ บอกว่าจะคืนอำนาจการเลือกตั้ง แต่เราก็ต่างรู้กันดีว่ามันมีการสอดไส้อำนาจเอาไว้ว่าให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น .. เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า 

จำได้ว่าช่วงก่อนการเลือกตั้ง สื่อมวลชนทั้งหลายยังไปถามคุณสุจินดาอยู่เลยว่าจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ประชาชนก็ออกมาแสดงพลัง ไปกดดันจนเขาแจ้งมาว่าไม่รับตำแหน่งอย่างแน่นอน ก็เลยปล่อยให้มีการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลไป แต่สุดท้ายคุณสุจินดาก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีโดยมีพรรคของเขาที่ไปหนุน ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค

จำได้ว่าตอนนั้นพรรคพลังธรรมก็ออกมาอภิปรายในเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ มีประชาชนมารวมตัวกันเพื่อที่จะประท้วงทวงสัญญา มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและ ..พรรคร่วมออกไป และให้ ..ฝ่ายค้านออกมาร่วมกับประชาชน ซึ่งคุณจำลอง ศรีเมืองตอนนั้นก็เริ่มมีการไปปราศรัยด้านนอกบ้างแล้ว

ช่วงนั้นมีเหตุการณ์สำคัญกับเราอยู่อย่างหนึ่งคือ คุณจำลองได้เขียนหนังสือฉบับหนึ่งด้วยลายมือของตัวเอง สั่งเราที่เป็น ..สมัยแรก ให้เอาหนังสือไปให้คุณสุจินดา และไปเจรจาให้ลาออกซะ เราก็งงว่า เฮ้ย ทำไมถึงเป็นเรา ทำไมไม่เป็นคนอื่นในพรรคที่เป็นผู้ใหญ่เป็นทหารเหมือนกัน แล้วเราจะพูดอย่างไรให้เขาลาออกได้ คุณจำลองก็บอกว่า ผมเชื่อว่าคุณทำได้ คุณเอาจดหมายนี้แหละไปเจรจากับเขา

เราก็เข้าไปในสภา ไปหลังบัลลังก์ห้องนายกรัฐมนตรี จำได้ว่าตอนนั่งรออยู่ครึ่งชั่วโมง ข้างในนั้นทหารเต็มไปหมด พอเจอหน้าคุณสุจินดาก็เอาหนังสือให้ เขาก็อ่าน อ่านเสร็จก็เงยหน้ามาดูเรา แล้วก็พูดว่าทำไมต้องไล่เขา ในเมื่อสภาเลือกเขาแล้ว

เราก็ร่ายยาว… ร่ายยาวเหมือนที่อธิบายไปข้างต้นว่า เป็นเพราะคุณยึดอำนาจมา คุณบอกนักการเมืองโกงจะเข้ามาจัดระเบียบใหม่ จะเข้ามาปฏิรูปการเมือง แต่สุดท้ายคุณกลับเขียนรัฐธรรมนูญที่เอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี และถึงแม้ประชาชนจะออกมาต่อต้านการกระทำดังกล่าว แต่คุณก็ยังทำเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจของตัวเองต่อ ปากก็บอกว่าทำเพื่อประชาชน แต่สุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าทำเพื่อพาตัวเองเข้ามาสู่อำนาจด้วยกฎเกณฑ์ที่คุณเขียน 

เขาก็แย้งว่าพรรคต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งและทำงานต่อเนื่อง เราก็คุยกันอยู่นาน คุยกันหลายสิบนาทีเลย เราเลยยิงคำถามสำคัญเลยว่าตกลงจะลาออกไหม เขาก็บอกว่าไม่ลาออก เราก็เลยบอกไปว่า ถ้าเป็นแบบนั้น ต่อไปท่านต้องเผชิญการต่อต้านของประชาชน ส่วนพวกเรา ..ที่ประชาชนเรียกพวกเราเข้าไปร่วมก็คงต้องเป็นเช่นนั้น เนื่องจากเวลาสู้ในสภาท่านไม่ฟังเหตุผลเราเลย แล้วการที่ท่านตัดสินใจแบบนี้ เราก็จะรับข้อความของท่านไปพูดให้ประชาชนฟัง

จากนั้นเราก็ไปรายงานให้คุณจำลอง ท่านก็บอกให้ไปขึ้นเวทีรายงานให้ประชาชนฟังว่ามีการเจรจาให้แล้ว ว่านายกฯ ไม่ออก มันก็เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย จากนั้นก็เริ่มขบวนการม็อบอย่างเต็มที่ นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น คือเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535

กลับมาปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่ต่างกับสิ่งที่เราเล่าไปเลย กงล้อมันหมุนกลับมาที่เดิม ตลอด 89 ปีของประชาธิปไตยไทย มันเป็นการแย่งอำนาจกันระหว่างคน 2 กลุ่ม คือตัวแทนที่มาจากประชาชนและตัวแทนของรัฐราชการที่นำโดยทหาร แย่งอำนาจผลัดกันไปผลัดกันมา โดยที่เราไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาประชาธิปไตยเลย เพราะไม่ว่าจะตัวแทนจากฝากฝั่งไหน ทั้งสองกลุ่มย่อมมีเรื่องข้อผิดพลาดและการทุจริตเหมือนกัน 

เพียงผู้มีอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร ตัวแทนของระบอบรัฐราชการ อำนาจนิยม เขาไม่ต้องเกรงใจประชาชน เขาไม่ต้องกลัวประชาชน มันเลยเป็นเหตุให้การทุจริตทุกครั้งหลังรัฐประหารจะมากเป็นพิเศษ 7 ปีที่ผ่านมาก็พอจะเห็น เพียงแต่ว่ากลไกการตรวจสอบของเรามันเดี้ยง มันเลยไม่เห็นแผลที่ชัดเจนเท่าไร

กงล้อประวัติศาสตร์มันเลยหมุนกลับมาที่เดิมเลย ระบบเดียวกัน การสืบทอดอำนาจด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ ซึ่งในยุคนี้เรามองว่ามีมากกว่าเดิมอีก สังเกตได้จากการเขียนให้มีกลไกสร้างความปลอดภัยให้ตัวเองหลายชั้นทั้ง .. 250 คน ทั้งนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ที่หวังให้อำนาจของตนฝังอยู่ในประเทศ 20 ปี 

มันทำให้เห็นว่าจากอดีตที่ผ่านมาประเทศก็ยังย่ำอยู่กับที่ ไม่พัฒนาไปไหน และมองไปอีกข้างหน้า เราก็ยังเห็นอนาคตที่แตกต่างไปจากเดิมริบหรี่มากๆ เรายังต้องอยู่กับวลีว่า ‘นักการเมืองโกงกินชุบตัวเป็นคนดีเข้ามากู้บ้านกู้เมือง’ อีกถึงเมื่อไรกัน

คุณมองการต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภาครั้งนี้ยากง่ายแค่ไหน

ยากแน่นอน และเป็นครั้งที่ยากที่สุด เนื่องจากกลไกในรัฐธรรมนูญและกลไกรัฐสภา เราจะเห็นได้ว่ามีการฮั้วในรัฐสภา มีงูเห่าอยู่เป็นระยะ เสียงของพรรคฝ่ายค้านที่น้อยกว่าด้วย อีกทั้งยังมีรัฐธรรมนูญที่เขียนให้การเมืองอ่อนแอ ให้ ..เป็นเอกสิทธิ์ พรรคมาบังคับการโหวตไม่ได้จนเกิดการซื้อตัว เกิดการแจกกล้วยเป็นครั้งๆ อย่างที่เห็นจากการอภิปราย

อีกสาเหตุสำคัญคือกลไกการตรวจสอบที่อ่อนแอ หลายกรณี คนถูกตรวจสอบคือคนออกกฎ องค์กรอิสระเองก็กลายเป็นบ่อเงินให้คนบางกลุ่มเข้ามาหาผลประโยชน์ เกิดการผูกขาดรอบด้าน ทุกวันนี้เราจึงเหมือนสู้อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการที่ซ่อนรูปอยู่ในเสื้อคลุมประชาธิปไตยอยู่ตลอด

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ‘พลังประชาชนซึ่งก็เป็นเรื่องน่าผิดหวังมากสำหรับเรา ที่กุญแจสำคัญในการออกปัญหานี้คือรัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกลับไม่ได้ไปต่อ เราจะเห็นได้ว่าหลังรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเคยมาถึงวาระที่ 2 เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แล้วคุณไพบูลย์ นิติตะวัน (รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ) ก็ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการจะทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไหม ซึ่งศาลก็วินิจฉัยมาว่าทำได้ แต่ต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนต้องการหรือไม่

ซึ่งตอนนั้นเราออกมาจากพรรคเพื่อไทยแล้ว และก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ที่เป็นเพียงพรรคเดียวในการส่งเสียงขอร้องให้สมาชิกในรัฐสภาว่าควร pending รัฐธรรมนูญไว้ก่อน อย่าเพิ่งโหวตวาระที่ 3 รอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนว่าต้องทำประชามติ เพราะหลังจากนั้นเสียงประชาชนมันจะถล่มทลายเลย 

แต่ด้วยความที่เรามีเสียงข้างน้อย แล้วพรรคฝ่ายค้านไปโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราย่อมแพ้พรรครัฐบาลด้วยจำนวนของเสียงที่น้อยกว่า ก็กลายเป็นการเดินตามเกม ตามก้นของคุณไพบูลย์ในการแก้รายมาตราแทน ไม่ได้แก้เพื่อสิทธิของพลเมืองที่ขาดหายไป ไม่ได้แก้ตรงปัญหาที่จะล้างอำนาจคุณประยุทธ์อย่างถาวร การแก้เรื่องระบบการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นแค่ผลประโยชน์ของพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้นเอง 

มันจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ที่สิ่งนี้จะนำไปสู่การปิดโอกาสในการที่ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขประเทศอย่างถาวร เพราะถ้าเราปล่อยให้มีการเลือกตั้งโดยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอยู่ ก็จะเจอ .. 250 คน ที่เลือกพรรคพวกของเขากลับมา ไม่เป็นพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทายาทของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้นเราต้องหาทางล้างระบอบนี้ให้มันถาวรก่อน การเมืองเป็นเรื่องของ ecosystem มันตั้งคำถามเราว่าจะใช้ชีวิตอยู่ใน ecosystem แบบไหน ดังนั้นต้องมองให้ถึงราก วางแผนล้างให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งสำหรับเราก็เป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก ที่พวกเราทิ้งโอกาสนี้ไปจากการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3

ทำไมคุณถึงคิดจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ในเวลานี้ ทั้งที่ปัจจุบันมีพรรคการเมืองเต็มไปหมด และ ‘ไทยสร้างไทย’ มีความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นอย่างไร

เราเคยให้คำมั่นสัญญา เป็นสัญญาประชาคมและเป็นความเชื่อของเรา ว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ได้ ตั้งแต่วันแรกที่เราหาเสียง ตอนที่อยู่กับพรรคเพื่อไทย แล้วเราก็ทำมาตลอดในนามประธานยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย จนถึงช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตกไป ซึ่งเรารู้สึกผิดหวังมาก ที่พรรคฝ่ายค้านเดินตามก้นคุณไพบูลย์แบบนั้น เราจึงต้องหาทางสานต่อพันธกิจที่เคยพูดไว้

แต่ด้วยความคิดเห็นที่หลากหลายของคนในพรรคเพื่อไทย และเราก็มั่นใจว่าแนวคิดของตัวเองถูก เลยมองว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะมาเดินเส้นทางการเมืองด้วยตัวเอง เป็นการดำเนินงานครั้งสุดท้ายของเราในฐานะเครื่องมือของประชาชนอย่างเที่ยงตรง ซึ่งก็กลายเป็นพรรคไทยสร้างไทยด้วยคอนเซ็ปต์ถามในทุกแคมเปญและนโยบายจากประชาชนก่อน 

เราอยากสร้างพรรคที่เป็นของประชาชนจริงๆ ขณะนี้เรามีเวทีชื่อฟังเสียงสร้างไทยที่จะคอยรับฟังปัญหาในแต่ละรายพื้นที่ ตามแต่ละจังหวัด และในแต่ละหมวดหมู่ ท่องเที่ยว เอสเอ็มอี ร้านอาหาร ซึ่งเราจะใช้เวลา 3 ชั่วโมงในคืนวันอาทิตย์ และจะสร้างนโยบายด้วยการฟัง และจะให้ประชาชนโหวตว่าเห็นด้วยไหมในเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างที่เคยให้โหวตว่าจะฟ้องประยุทธ์หรือไม่ แล้วเราก็จะดำเนินงานเพื่อประชาชนต่อ

อีกส่วนที่สำคัญคือเรามองว่าการเมืองต้องดิสรัปต์ตัวเอง เราไม่เชื่อว่าผู้นำคนเดียวจะแก้ไขปัญหาในยุคนี้ได้ เราเชื่อการทำงานเป็นทีม จึงจำเป็นอย่างมากต้องดิสรัปต์พรรคการเมือง คือต้องวางโครงสร้างให้มีทั้งนักการเมืองรุ่นใหญ่ที่รู้บทบาททางการเมือง รู้เรื่องกฎหมายและกลไกต่างๆ และนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีบทบาททางการเมือง แต่มีความเก่งเฉพาะที่สามารถแก้ปัญหาโลกในยุคนี้ได้จริง 

เราเชื่อว่าเด็กยุคใหม่มีความเก่งในการเอาความรู้และเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่มาทำให้สังคมหรือธุรกิจของเขาดี เราจึงอยากเชิญชวนให้คนเหล่านี้เข้ามาทำให้ประเทศดีด้วย

ทั้งหมดนี้คือมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้ายของเรา กับพรรคการเมืองที่ชื่อว่าไทยสร้างไทย พูดกันตามตรง สิ่งนี้คือฝันของเรา ตลอดระยะเวลาทางการเมือง เราเข้ามาจากพรรคพลังธรรม เราถูกสอนให้เอาผลงานแลกคะแนนเสียง เราจึงอยากสร้างพรรคการเมืองในฝัน ที่เป็นปากเป็นเสียง เป็นเครื่องมือในการทำงานให้ประชาชน

นั่นคือเหตุผลที่พรรคไทยสร้างไทยมีแคมเปญที่ร้อนแรงอย่างการล่ารายชื่อฟ้องร้องพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ใช่ นั่นก็เป็นผลงานที่มาจากการรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 2 แคมเปญ

แคมเปญแรกของไทยสร้างไทยคือการล่ารายชื่อฟ้องประยุทธ์จากการบริหารการจัดการโควิดผิดพลาด ทำเศรษฐกิจล่มสลาย โดยให้สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ นำประชาชนที่ได้รับความเสียหายไปฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

แคมเปญที่ 2 คือการล่าชื่อ สนับสนุน กดดัน ให้พลเอกประยุทธ์ทำประชามติตามวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะด้วยกฎหมายประชามติเก่าที่ยังทำได้ หรือกฎหมายประชามติที่กำลังร่างอยู่ก็ได้ แต่ต้องกดดันให้เกิดการทำประชามติขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิอย่างถล่มทลายว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชน เขียนโดยประชาชน เพื่อประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยมองว่าเป็นหนทางที่ต้องกดดัน เพื่อจะเป็นการทำการล้างระบอบอำนาจเก่า และสร้างประชาธิปไตยโดยประชาชนอย่างแท้จริง

การที่ต้องแข่งกับพรรคสังกัดเก่าของคุณอย่างพรรคเพื่อไทย มันท้าทายแค่ไหนตามความคิดคุณ

คงยากในเรื่องของจิตใจ เราเองก็แคร์จิตใจของเพื่อนๆ ที่ไม่ได้ร่วมงาน และกลายเป็นคู่แข่งกับเขา แต่สุดท้าย นี่คือสิ่งที่เราเลือกแล้ว เราก็ต้องสู้เพื่อความเชื่อของเรา 

ส่วนการที่มีกลุ่มเป้าหมายทับซ้อนกันไปมานั้น เราอยากให้มองความแตกต่างเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า เพราะว่าความหลากหลาย ความแตกต่างของแต่ละพรรค สำหรับเราจะเป็นตัวแทนของความต้องการและความหวังให้ประชาชนได้ อยากให้มองว่าเป้าหมายของแต่ละพรรคจะตอบสนองได้ครบถ้วนไหม 

หลังจากออกจากพรรคเพื่อไทย คุณสุดารัตน์ยังคุยกับคุณทักษิณ ชินวัตร ได้อยู่ไหม

กับฝั่งประชาธิปไตย เราคงไม่เป็นศัตรูกับใคร เป็นศัตรูกันก็เท่านั้น แต่เราก็ติติงกันตามเหตุตามผล เช่น ติติงเรื่องการไปเดินตามก้นคุณไพบูลย์ในการแก้รัฐธรรมนูญ อันที่จริงจะบัตรสองใบหรือบัตรใบเดียว เราไม่มีปัญหา บัตรสองใบ เขาก็อาจจะเลือก ..เก่า แต่กาพรรคใหม่ได้ แต่ที่ต้องติติงคือ มันไปปิดโอกาสที่เราควรจะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งเราทำกันมาถึงวาระที่ 3 แล้ว ก่อนที่คุณไพบูลย์จะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ 

เราก็คิดว่าหนามยอกเอาหนามบ่ง ไหนๆ ตีความมาแล้ว ก็ควรจะพุ่งไปสู่การกดดันให้ทำประชามติ ใช้พลังประชาชน แล้วเราก็เชื่อว่าพลังประชาชนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

อย่างปีที่แล้ว แม้แต่พรรคพลังประชารัฐก็ยอมในการเขียนรัฐธรรมนูญประชาชน ..ก็บอกว่าฉันยอม ไม่โหวตแม้จะมีสิทธิ์ ทั้งหมดนี้คือตามระบบอย่างสันติ ไม่ใช่การทำนอกระบบ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำประชามติ ก็ต้องประชามติ ใช้ประชาชนกดดัน เป็นการทำตามระบบ ตามกฎหมาย

เราเป็นคนที่พยายามยึดระบบ เพราะเราอยู่มานาน แล้วหากเรานอกระบบ คนอื่นก็นอกระบบด้วย เราเลยพยายามทำอะไรตามระบบจนถูกกล่าวหาจากนักการเมืองบางคนหรือสื่อบางสื่อว่าซี้กับพลเอกประวิตร (วงษ์สุวรรณ) เลยพยายามไปแก้รัฐธรรมนูญแบบนี้ ก็ได้แต่บอกว่า ไม่เป็นไร ถ้าไม่เห็นด้วย เราก็ทำของเราเอง แล้วก็เป็นอย่างนี้ วันนี้คนก็พอเห็นแล้วว่า ถ้าจะแก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบได้ คือต้องแก้ทั้งระบอบประยุทธ์ ไม่ใช่แค่ไล่ประยุทธ์ 

คุณมองอย่างไรที่มีคนบอกว่า การมีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมากนั้น สุดท้ายจะนำไปสู่การตัดเสียงตัดคะแนนกันเอง

ก็เป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการที่เราจะนำเสนอว่าเราเป็นพรรคอะไร อย่างไร แล้วเราจะนำความหวังไปสู่ประชาชนได้หรือไม่ อย่างไทยสร้างไทย ตัวเราพยายามสร้างมาสเตอร์พีซ ทำให้ ไม่ใช่ทำเอา ก็ต้องพิสูจน์ แข่งกับตัวเอง ไม่มีใครเป็นคู่แข่ง ให้ประชาชนเลือกเราให้ได้

วันนี้เราก็สู้จนโดน ดร.แรมโบ้ (เสกสกล อัตถาวงศ์) กับ ดร.ธนกร (ธนกร วังบุญคงชนะ) ฟ้องว่าให้ข้อมูลเท็จบ้าง ไปใส่ร้ายรัฐบาลเขาบ้าง ก็สู้ไป จะฟ้องกี่ร้อยกี่พันคดีก็สู้ ว่ามา อยู่ในระบอบนี้ อย่างไรก็ต้องสู้แบบนี้ ภายใต้กุญแจดอกสุดท้าย คือให้เขาทำประชามติ สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก่อนการเลือกตั้งให้ได้ ไม่ใช่เพื่อพรรคไทยสร้างไทย แต่เพื่อให้ประชาชนออกจากปัญหาการเมือง ปัญหาอำนาจนิยม รัฐราชการ ที่มันใหญ่โตขึ้นทุกวันจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

สิ่งที่เราเห็นคือ โควิดเหมือนกับการทำให้ประชาชนเข้าไอซียูเกือบทุกคน ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ฉะนั้น หลังโควิด เราต้องทำให้ประชาชนลุกขึ้นได้ และวิ่งได้ให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะวิกฤต และเมื่อวิกฤตแล้ว มันจะไม่ใช่เรื่องการต่อต้านคุณประยุทธ์อย่างเดียว แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างคนรวยและคนจน ยิ่งช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างกันเท่าไร จะยิ่งอันตราย และทำให้คนจนหมดทางสู้ ไม่ว่าอะไรเขาก็ต้องพยายามทำให้เขาอยู่ได้ สุดท้ายช่องว่างห่าง คนจนและคนรวยก็จะเป็นศัตรูกัน แนวโน้มมันเป็นอย่างนี้ 

คุณมองพลเอกประยุทธ์อย่างไร จะอยู่ได้อีกนานขนาดไหนในสภาพแบบนี้

คิดว่าคุณประยุทธ์จะอยู่ยาว คือจริงๆ แล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจมันมีจุดที่ควรจะยิง แล้วควรจะเข้าเป้าได้ นอกจากเรื่องโควิด คือเรื่องทุจริตในบางกระทรวงที่สำคัญ แต่ก็แปลกใจที่บุคคลสำคัญหลุดโผการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การที่เราจะเอาชนะเขาได้ หมายถึงฝ่ายประชาธิปไตยต้องขึงให้เห็นทั้งความล้มเหลวในเรื่องการแก้โควิดและทุจริต ต้องเป็นคีย์แมนสำคัญในเรื่องการทุจริต

เพราะคุณประยุทธ์ไม่ได้ทำอะไรหรอก เพราะว่าเป็นนายกฯ แต่ถามว่ามีทุจริตไหม มันมี และมันมีกระทรวงที่ทุจริต และเป็นคนค้ำบัลลังก์คุณประยุทธ์ แต่ไม่ได้ถูกอภิปราย เกมในสภาก็เหมือนกับมีเหยียบเท้ากันอยู่บ้าง ก็ว่ากันไป ก็ถลกคุณประยุทธ์เรื่องโควิด แต่สุดท้าย เรามองว่าคุณประยุทธ์จะรอด แล้วก็อยู่ไปยาว จนกว่าเขาจะได้วัคซีนเข้ามาเยอะๆ เขาจะใช้เงินของเรา เอามาแจกเราแบบขอทาน ให้เราเป็นข้าทาส ให้เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเขา แล้วท้ายที่สุด ประชาชนจะเลือกเขา เพราะเขาเป็นคนมาโปรยทานให้ เราว่าเขาจะอยู่ไปถึงจุดนั้น แล้วเขาก็จะถึงจุดที่ตัดสินใจทางการเมือง ยอมเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง

แต่คุณประยุทธ์ไปไม่พอ ระบอบประยุทธ์ต้องไปด้วย เพราะวันนี้ ถ้าประยุทธ์ไป ก็จะมีประยุทธ์ 2 ที่อาจจะอ้วนๆ ตัวกลมๆ ขึ้นมาแทน

เพราะฉะนั้น อาจมีคนถามว่า จะต้องเอาคุณประยุทธ์ออกไปให้ได้ก่อน หรือแก้รัฐธรรมนูญก่อน คำตอบของเราก็คือทำคู่กัน จะไล่ก็ไล่ แต่ต้องแก้รัฐธรรมนูญไปด้วย และต้องทำให้จบก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า ถึงจะทำให้เราไม่ต้องทนอยู่กับระบอบประยุทธ์อีก 4 ปี ถ้านับตอนนี้ด้วย ก็แปลว่าต้องอยู่กับคุณประยุทธ์อีก 6 ปี 

อีก 2 สัปดาห์ กำลังจะครบรอบ 15 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คุณสุดารัตน์ทำอะไรอยู่ในเวลานั้น และเท่าที่รู้ การรัฐประหารครั้งนั้นก็เปลี่ยนตัวคุณไปพอสมควร จนหลายคนคิดว่าคุณจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกแล้ว

ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตอนท่านทักษิณให้ไปเป็น เราก็ช็อก เพราะว่าเราเป็น ..กรุงเทพฯ แต่ให้เราไปอยู่กระทรวงเกษตรฯ แต่ท่านก็บอกว่า นโยบายแก้จน เป็นนโยบายหลักของพรรคไทยรักไทย เราก็เห็นปัญหา แล้วเราก็เคยแก้ความเหลื่อมล้ำเรื่องสุขภาพได้ ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เป็นฝันว่าอยากแก้ความเหลื่อมล้ำเรื่องเศรษฐกิจ เกษตรก็เป็นเรื่องหลัก ก็ตกลง ทั้งที่กระทรวงนี้มีคนแย่งกันมาก

พอเราไปอยู่เกษตรฯ ก็ไม่เอาเลยนะ จำนำ ประกัน โดยเฉพาะลำไย เป็นสินค้าที่เป็นฐานเสียงพรรคไทยรักไทย ประชาชนก็เคยชินกับการจำนำ/ประกัน ก็เสียเงินกับจำนำ/ประกัน ไป 2 หมื่นกว่าล้านแล้ว ก็ไปบอกท่านนายกฯ ทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ว่าขอไม่ทำโครงการจำนำหรือประกันต่อ แต่ 5 แสนตัน จะขายให้หมด เราก็ขายหมด แล้วเราก็เลยทำหน้าที่เซลส์แมนขายลำไยตั้งแต่นั้นมา

19 กันยายน 2549 มีการจัดฉลองความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศส ก็มีการจัด Thai Week สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ กระทรวงวัฒนธรรมก็นำโขนไปแสดงที่พระราชวังแวร์ซายส์ แล้วตัวเราก็ผลักดันเรื่องศูนย์กระจายสินค้าไทย ตอนนั้นเวียดนามยังไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตเวียดนามแบบที่เห็นในยุโรปและอเมริกา แล้วเราก็คิดจะทำศูนย์กระจายสินค้าในยุโรปด้วยการเช่าโกดัง แล้วก็นำสินค้าไทยกระจายไปให้ร้านอาหารไทย ร้านอาหารเวียดนาม ร้านอาหารจีน ซึ่งใช้วัตถุดิบของเอเชีย เราก็ไปปารีสเพื่อผลักดันเรื่องนี้

สุดท้าย วันนั้นเรารู้ก่อนแล้วว่าจะมีการรัฐประหาร เพราะมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแจ้งว่ามีรถถังออกมาแล้วตั้งแต่ตอนตี 3 ตามเวลาประเทศไทย ก็โทรบอกท่านทักษิณ ท้ายที่สุดติดต่อกัน นายกฯ ทักษิณก็ไม่เชื่อ แต่ข่าวมันก็ชัดมากขึ้น สุดท้ายก็มีเหตุบางอย่าง ทำให้ทหารยึดบ้านเราอยู่หลายวัน จนเขาปฏิวัติเรียบร้อย ทหารก็ยังอยู่ในบ้าน 10 กว่าวัน เรากลับจากฝรั่งเศสไม่ได้ ก็เลยเตร็ดเตร่อยู่แถวยุโรป กลายเป็นบ้านเราหลังเดียวที่ทหารยึดยาวนานมาก (หัวเราะ)

หลังจากนั้นไทยรักไทยก็ถูกยุบพรรค เราก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง คิดว่าจะไม่ทำการเมือง จะหายจากการเมืองแล้ว ไปทำเรื่องศาสนา เราไปทำเรื่องศาสนาก็มีความสุข จนไปเรียนปริญญาเอกด้านพุทธศาสนา แต่เราก็ไม่ได้มองศาสนาเป็นความเชื่อ หรือการไปขอพรพระพุทธเจ้า ในมุมมองเรา ศาสนาพุทธ เป็นหลักปรัชญาชีวิต สอนให้รู้จักว่าดำรงชีวิตอย่างไร ตัวเองถึงจะมีความสุขและพบความเจริญ โดยไม่ต้องเบียดเบียนคนอื่น ฉะนั้น เราก็มีความสุขในการเผยแผ่ศาสนากับการทำเรื่องแบบนี้ รวมถึงการบูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

วันนั้น เราก็คิดว่าจะไม่กลับมาทำงานการเมืองแล้ว แล้วก็ไปซวยโดนชวน แล้วก็ดันใจอ่อน กลับมาการเมือง ติดมาจนถึงวันนี้ (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่าเป็นงานสุดท้ายที่จะทำก่อนจะเกษียณแล้ว แล้วก็อยากจะมีพรรคการเมืองดีๆ ในฝัน เพื่อจะเป็นเครื่องมือในการแก้วิกฤตของชาติครั้งนี้ให้ได้ 

คุณคิดเห็นอย่างไรบ้างกับการชุมนุมบนท้องถนน

เราคิดว่าการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนที่ทำได้ และไม่ควรจะมีใครบาดเจ็บหรือล้มตายจากการชุมนุม โดยพลเอกประยุทธ์ต้องออกมาสอดส่อง ดูแล อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเยียวยาและรับผิดในเหตุความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเขาไม่แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เราในฐานะประชาชนก็มีสิทธิใช้กฎหมายบังคับให้เขาต้องมารับผิดได้

แต่พูดกันตามตรง ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มันไม่ควรมีใครควรบาดเจ็บล้มตายจากการแสดงความคิดเห็น เมื่อปีที่แล้วเราเคยเสนอว่าต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันได้ โดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของกลุ่มผู้ชุมนุม ต้องมานั่งฟังปัญหาของพวกเขา รัฐสภาที่เป็นตัวแทนประชาชนต้องมานั่งฟังข้อเรียกร้องของพวกเขา องค์กรยุติธรรมที่เป็นตัวแทนของความยุติธรรมก็ต้องมานั่งฟังสิ่งที่พวกเขาต้องการ ทำเป็นการพูดคุยสาธารณะ ไม่มีการปิดห้องคุย มันถึงจะเป็นเวทีหาทางออกได้ แต่ถ้าคุณยังใช้การคุมฝูงชน ม็อบซ้อนม็อบ สร้างความรุนแรง มันก็ไม่จบ มันจะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากกว่า 

คุณประยุทธ์ถ้าจริงใจพอต้องทำตามสิ่งที่ตัวเองพูดสักครั้งบ้าง การที่พูดว่าทำเพื่อประเทศชาติ ถ้าผมไม่ทำใครจะทำ ผมไม่ทำประเทศจะล่มสลาย เราอยากเสนอให้คุณลองทำแบบนี้ดู มาฟังคนรุ่นใหม่เพื่อหาทางออกให้ประเทศที่ตัวเองบอกจะรักษา

กับข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ล่ะ คุณคิดอย่างไร

เราคิดว่าต้องเอามาพูดคุย พูดแบบแฟร์ๆ เลย ประชาชนคนปกติยังมีกฎหมายละเมิดหรือหมิ่นประมาท สถาบันกษัตริย์ก็มีได้ แต่ก็ควรพูดคุยว่ามีตรงไหนต้องปรับบ้าง ปรับอย่างไรให้ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามคนเห็นต่าง โดยเฉพาะการใช้มาตรา 112 ที่ไม่เป็นผลดีกับคนที่โดน รวมไปถึงสถาบันกษัตริย์เอง ไม่เป็นผลดีกับใครเลย นอกจากคนที่ใช้อำนาจแทนสถาบันกษัตริย์ที่ได้ผลประโยชน์

 

ภาพ: คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

Fact Box

  • คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรกใน 2535 ในฐานะสมาชิกพรรคพลังธรรม ก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 12
  • คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก่อนที่จะถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี หลัง พรรคไทยรักไทยถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
Tags: , , , , ,