คุณจะทำอย่างไร? หากวันหนึ่งต้องกลายเป็นนักท่องเที่ยวดวงซวยที่ถูกไล่ล่าขณะมาพักร้อนในต่างประเทศ พูดภาษาท้องถิ่นก็ไม่ได้ ไม่มีทักษะป้องกันตัว ไม่มีพรรคพวกคอยช่วยเหลือ อีกทั้งคนที่กำลังตามล่าคุณดันเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันกับอิทธิพลมืดเสียอีก
ทั้งหมดคือโจทย์สำคัญที่ภาพยนตร์เรื่อง Beckett ผลงานการกำกับของ เฟอร์ดินานโด ฟิโลมาริโน ชวนให้คนดูตั้งคำถามและคอยลุ้นกับคำตอบ ผ่านเรื่องราวสุดระทึกซึ่งจัดเต็มทั้งในส่วนของเนื้อหาที่ทับซ้อนระหว่างฉากไล่ล่ากับประเด็นทางการเมือง รวมถึงรายชื่อนักแสดงมากฝีมือ งานโปรดักชันที่ไม่ธรรมดาทั้งภาพและเสียง จนกลายเป็นหนังน้ำดีอีกเรื่องหนึ่งในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่ไม่ควรพลาด
คอลัมน์ Screen and Sound ครั้งนี้ จะมาอธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไม Beckett หนังแนวไล่ล่าผสมประเด็นทางการเมืองเรื่องนี้จึงดูสนุก ให้รสชาติแปลกใหม่ ทั้งยังสะท้อนความจริงที่ว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน’ ได้อย่างชัดเจน
ความน่าสนใจอย่างแรกคือการทับซ้อนเนื้อเรื่องในสองประเด็นพร้อมกันได้อย่างลงตัว ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า Beckett เป็นเรื่องราวของชาวต่างชาติที่ต้องเอาชีวิตรอดจากการถูกตามล่าในต่างประเทศ เนื้อเรื่องของหนังจึงดำเนินไปในแนว Thriller/Survival ชวนให้ผู้ชมเอาใจช่วยว่าตัวเอกจะสามารถรอดชีวิตจากสถาการณ์ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้น หนังเรื่องนี้มีความแหลมคมไปอีกขั้น ด้วยการแฝงประเด็นทางการเมืองไว้เป็นฉากหลัง เรื่องราวของการช่วงชิงผลประโยชน์ การประท้วงที่สะท้อนปากเสียงของประชาชน และการแทรกแซงโดยประเทศมหาอำนาจ ทั้งหมดคือปัญหาทางการเมืองอันสุดแสนคลาสสิกที่มีให้เห็นอยู่ในหลายประเทศ
หนังเรื่องนี้หยิบประเด็นดังกล่าวมาใช้ได้อย่างพิสดารกว่านั้น นั่นคือการหยิบการเมืองในประเทศมาจับต้องกับคนนอกประเทศ สะท้อนถึงความจริงว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน หากบ้านเมืองยังมีช่องว่างให้คนใช้อำนาจกับผู้อื่นได้อยู่ ‘คนนอก’ อาจจะกลายเป็น ‘คนใน’ ได้ เมื่อสังคมยังยินยอมให้เกิดการใช้อำนาจกดหัวผู้คนเช่นนี้อยู่
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนดูคือความรู้สึกไม่ปลอดภัย ปกติแล้วเวลาเราดูหนังแนวเอาชีวิตรอด ส่วนใหญ่สถานที่หรือสถานการณ์ที่ตัวละครหลักต้องพบเจอมักอยู่ในสถานที่แปลกประหลาด เต็มไปด้วยอันตรายทุกย่างก้าว แต่เรื่องนี้กลับทำออกมาได้อย่างเรียบง่ายแสนสามัญ เราจะเห็นตัวเอกเดินทางไปมาในเมืองต่างๆ ของประเทศกรีซ โดยที่มีประชาชนทั่วไปใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนไม่มีอะไรแปลกประหลาด ราวกับว่าไม่มีชาวต่างชาติคนไหนจะตายเพราะถูกไล่ล่าอยู่
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นการออกแบบสถานการณ์ในหนังที่น่าสนใจว่า ความอันตรายอาจจะไม่มาให้เห็นเป็นรูปธรรม และอาจจะเป็นไปในรูปแบบนามธรรม ผ่านโครงสร้างอำนาจ ความแตกต่างของเชื้อชาติ ที่ทำให้แม้สถานการณ์ตรงหน้าจะดูปกติ แต่ในความเป็นจริงกลับมีความอันตรายแฝงอยู่ตลอดเวลา
ในส่วนของนักแสดงก็โดดเด่นไม่แพ้กัน บทบาทของ จอห์น เดวิด วอชิงตัน (John David Washington) พระเอกที่แจ้งเกิดจาก Tenet (2020) หนังฟอร์มยักษ์ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (แต่ผู้เขียนชื่นชอบการแสดงของเขาจากเรื่อง Blackkksman มากกว่า) ที่คราวนี้ยอมเพิ่มน้ำหนักให้ดูเป็นมนุษย์ทั่วไปที่หุ่นไม่ต้องเป๊ะเหมือนพร้อมจะไปกู้โลกตลอดเวลา ซึ่งวอชิงตันทำได้น่าประทับใจไม่แพ้ผลงานก่อนหน้าของเขาแต่อย่างใด
สิ่งที่น่าสนใจของตัวละครนี้คือการสร้างพื้นฐานตัวละครที่สมจริง ตัวละครที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นฮีโร่ เป็นพระเอก แต่ยังรักตัวกลัวตาย แถมมีความเป็น ‘ผู้ตาม’ เล็กน้อย (สังเกตจากการเป็นคนที่ต้องเห็นด้วยกับแฟนสาวในทุกเรื่องอยู่เสมอ) หนังใช้บุคลิกภาพตรงนี้ดำเนินเรื่องให้ดูสมจริงสมจัง ค่อยๆ พัฒนาจากมนุษย์ที่สุดแสนปกติ เริ่มเปลี่ยนให้กลายเป็นคนประหลาดเมื่อเหตุการณ์ผิดปกติถาโถมเข้ามาหาเขามากขึ้น
อีกส่วนที่น่าสนใจคือเรื่องโปรดักชัน เริ่มจากมุมมองการเล่าเรื่องที่โดดเด่นในแง่ของการเป็นผู้แอบมอง คอยเฝ้าดูตัวละครในเรื่องว่าจะเอาชีวิตรอดไปได้อย่างไร หลายครั้งเราเห็นมุมภาพในระนาบเดียวกับกล้องวงจรปิด ตั้งตระหง่านแต่กลับดูไร้ตัวตนในบท ซึ่งเป็นผลงานการกำกับภาพของ สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพชาวไทยที่เคยสร้างชื่อจาก Call Me By Your name (2017) และ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010)
รวมไปถึงบรรยากาศของประเทศกรีซที่หนังเรื่องนี้เนรมิตออกมาได้อย่างงดงาม ยิ่งใหญ่ เงียบสงบ ผ่อนคลาย แต่ชวนให้รู้สึกโหวงเหวง สิ้นหวัง ไม่ปลอดภัยก็ได้เช่นกัน หากมองในสายตาของคนที่รู้สึกว่าอันตรายกำลังคืบคลานเข้ามา
สุดท้ายคือการคลอเคล้ากับบรรยากาศของเสียงดนตรี โดย ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) ที่คราวนี้ใช้เปียโนและเครื่องสายมาสร้างบรรยากาศแบบหนังสืบสวนสอบสวนในยุค 70s ได้อย่างลงตัว หลายฉากในเรื่องชวนให้นึกถึงผลงานเรื่องดังต่างๆ ของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ที่มักเล่นกับความหวาดกลัวของผู้คน
แม้ส่วนผสมจะน่าสนใจขนาดนี้ แต่การปรุงแต่งเรื่องกลับไม่ได้ ‘อร่อย’ สำหรับทุกคน หนังเลือกจะไปในเส้นทางที่เรียบง่ายกว่าที่ควรจะเป็น มีช่องว่างให้ผู้คนได้ตั้งคำถามและคิดต่อยอดเพิ่มได้เยอะในช่วงต้น แต่น่าเสียดายที่ช่วงท้ายหนังเลือกจะสรุปคลายปมทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าตอนเริ่มผูก ไม่ชวนให้เกิดการถกประเด็นกันต่อหลังหนังจบ ทั้งที่ในความเป็นจริง Beckett มีทรัพยากรที่ดีพอในการจะไปถึงขั้นนั้น
อย่างไรก็ตาม Beckett ยังคงเป็นหนังคุณภาพที่มีความน่าสนใจอีกหลายอย่างให้ผู้คนเลือกซึมซับกันตามความชอบ ไม่ว่าจะบทหนัง นักแสดง เทคนิคการถ่ายทำ ซึ่งล้วนแต่เป็นจุดแข็งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ควรถูกมองข้ามด้วยประการทั้งปวง
ชม Beckett (2021) ได้ทางเน็ตฟลิกซ์
Tags: Netflix, Screen and Sound, Beckett