เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยข้อมูลว่าภาวะเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2559 มีสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% หรือ 450,000 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2559 ที่ตัวเลขว่างงานอยู่ที่ 0.9% หรือ 330,000 ราย
เท่ากับว่าผ่านไปแค่เดือนเดียวยอดคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 120,000 คน!
แม้ตัวเลขบนกระดาษจะต่างกันแค่ 0.3% แต่เมื่อย้อนกลับมาดูสภาพความเป็นจริง 0.3% นี้อาจไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะตัวเลขการว่างงานถือเป็นหนึ่งปัจจัยในการสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี
ตัวเลขนี้กำลังบอกอะไรเรา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คืออะไร และคนที่ยังมีงานทำอยู่ควรต้องกังวลด้วยไหม?
เราโยนโจทย์คำถามเหล่านี้ไปที่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อมวลชน และ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เพื่อร่วมกันค้นหาคำตอบ
ผมคิดว่าตัวเลขคนว่างงานจริงน่าจะสูงกว่านี้
เพราะในระบบการนับคนว่างงานของประเทศไทย
ใช้วิธีการนับแค่ว่าใครมีงานทำ 1 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ก็ถือว่าเป็นคนมีงานทำแล้ว
เพราะฉะนั้นวิธีการนับของเราจึงทำให้ตัวเลขคนว่างงานน้อยกว่าความเป็นจริง
อัตราว่างงานเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ สัญญาณเตือนของเศรษฐกิจไทย
ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำมาโดยตลอด และถึงขั้นมีปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำในบางช่วงเวลา
แต่สถานการณ์ในปีนี้กลับแตกต่างออกไป เพราะหากย้อนดูตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2559 จะพบว่าอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.97% เพิ่มขึ้นจาก 0.94% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 ส่วนในไตรมาส 2 ปี 2559 ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.08% มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2558 ที่ตัวเลขอยู่ที่ 0.88% ส่วนในเดือนตุลาคมตัวเลขก็ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.2%
แม้ตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ แต่ศิโรตม์กลับมองว่าตัวเลขนี้อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ
“ผมคิดว่าตัวเลขคนว่างงานจริงน่าจะสูงกว่านี้ เพราะในระบบการนับคนว่างงานของประเทศไทย ใช้วิธีการนับแค่ว่าใครมีงานทำ 1 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ก็ถือว่าเป็นคนมีงานทำแล้ว เพราะฉะนั้นวิธีการนับของเราจึงทำให้ตัวเลขคนว่างงานน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งถ้านับแบบประเทศอื่นคือต้องมีงานทำอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน ผมว่าตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก”
นอกจากนี้ศิโรตม์ยังมองว่าปรากฏการณ์นี้ ‘ไม่ธรรมดา’ เนื่องจากตัวเลขสะท้อนชัดเจนว่าผู้ว่างงานจำนวนมากเกิดขึ้นจากการเลิกจ้าง
“การว่างงานมีหลายสาเหตุ เช่น ยังหางานใหม่ไม่ได้ แต่การว่างงานที่เกิดจากการเลิกจ้างถือเป็นสัญญาณสำคัญของการฝืดเคืองทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด เพราะการว่างงานที่เกิดจากการเลิกจ้างมันสะท้อนปัญหา เช่น โรงงานปิด หรือคนที่เคยทำงานบริการรับจ้างเหมาแรงงาน (subcontract) ไม่มีงานทำอีกต่อไป ตัวการว่างงานที่เกิดจากการเลิกจ้างที่เพิ่มขึ้นนี้คือภาพสะท้อนว่าการว่างงานรอบนี้ไม่ธรรมดา และไม่ได้เป็นแค่ตัวเลขบนกระดาษ”
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.ยงยุทธ ที่มองว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยต่อเศรษฐกิจภาพรวมของไทย
“ผมถือว่าตัวเลขนี้เป็นการเตือนภัยอ่อนๆ เพราะตัวเลขการว่างงานจริงๆ ที่ขึ้นสูงมาถึง 1% ต้นๆ ก็ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนัก ปกติเราจะเห็นในไตรมาส 2 มากกว่า เพราะไตรมาส 2 เป็นฤดูแล้ง คนที่ทำนาไม่ได้ก็เลยต้องหางานอื่นทำ แต่ไม่เคยเห็นในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงฤดูที่มีงานทำเยอะ แต่กลับมีคนว่างงาน ถือเป็นอัตราที่น่าห่วงสำหรับรัฐบาลที่จะต้องหามาตรการมาเสริมเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ เช่น การจัด Job Fair เพื่อจับคู่แรงงานกับผู้ว่าจ้าง หรือการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการลงทะเบียนคนว่างงานว่าต้องการคนประเภทไหน มีความรู้อย่างไรบ้าง”
ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ
แต่คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่แรงงานระดับล่างของเรา
แต่เป็นแรงงานต่างชาติทั้งหมด
นโยบายที่ผิดพลาดส่งให้ตัวเลขว่างงานพุ่ง?
เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็ไม่มีสัญญาณบวกให้เห็น อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นจึงสะท้อนให้เห็นปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างได้เป็นอย่างดี
นโยบายของรัฐบาลมีส่วนรับผิดชอบต่อการว่างงานครั้งนี้ไหม? ศิโรตม์มองว่า
“ตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังปี 2557 เพราะฉะนั้นนโยบายรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะว่าลำดับของการเกิดเหตุ และความเข้มข้นของสถานการณ์การว่างงานมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่าภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ทำให้คนไม่กล้าลงทุน ความเชื่อมั่นลดลง หรือภาวะเศรษฐกิจแย่จนคนต้องปิดกิจการไป เรื่องเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนว่ามันมีความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจจำนวนมากเกิดขึ้นในประเทศจริงๆ ขณะที่คนว่างงานเพิ่มขึ้น แต่ตำแหน่งงานก็ลดลงเพราะคนไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐโดยตรง”
ด้าน ดร.ยงยุทธ อธิบายสาเหตุที่ทำให้การว่างงานสูงขึ้นว่าเกิดจาก 2 ปัจจัย ส่วนแรกเกิดจากภาคเอกชนไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้การดูดซับแรงงานลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนเกิดจากแรงงานที่จบการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
“คนไปเรียนปริญญาตรีกันเยอะ แต่ขณะที่แรงงานระดับกลาง หรือระดับมัธยมปลายกำลังขาดแคลน แล้วโครงการประชารัฐก็เร่งผลิตคนเหล่านี้ สุดท้ายคนจบปริญญาตรีบางคนต้องถึงขนาดยอมเอาวุฒิม.ปลาย ไปทำงานที่ต่างจังหวัด เพราะภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้เขาไม่มีทางเลือก
“ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ แต่คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่แรงงานระดับล่างของเรา แต่เป็นแรงงานต่างชาติทั้งหมด ส่วนในต่างจังหวัด กิจการเลี้ยงสัตว์ กิจการเกษตร หรือประมง ก็มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่เต็มหมดแล้ว เหมือนกับแก้วที่มันเต็มน้ำแล้ว ทีนี้แรงงานไทยก็เลยไม่สามารถเข้าไปแทรกตรงส่วนนี้ได้”
แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะแจกจ่ายเงินช่วยเหลือคนจนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี แต่ศิโรตม์กลับมองว่าความพยายามนี้อาจเป็นความพยายามที่ล้มเหลว
“ผมมองว่าการแจกจ่ายเงินคงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้นิดหน่อย แต่ไม่น่าจะมีผลอะไรมาก เพราะเงินที่รัฐใช้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ช่วยเหลือคนประมาณ 8,000,000 คน ซึ่งถือว่าไม่ได้เยอะมาก เพราะ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 2 ล้านล้าน ฉะนั้น 20,000 ล้าน ก็คิดเป็น 0.01% คงไม่มีผลแบบมีนัยยะสำคัญอะไร”
แรงงานที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่มก็คือ เด็กที่กำลังจะจบใหม่
เพราะคนเก่าๆ ที่เป็นคนดีมีฝีมือองค์กรก็คงต้องรักษาไว้
แต่คนใหม่นี่สิ จะรับเพิ่มได้ยังไงในเมื่อเศรษฐกิจมันแย่
ว่างงานสูงอาจเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลร้ายกับเศรษฐกิจระยะยาว
เมื่อย้อนกลับมาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นครั้งนี้จะพบว่าปัญหานี้อาจไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่แก้เสร็จแล้วจบในครั้งเดียว แต่อาจลุกลามบานปลาย จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาวด้วย
ดร.ยงยุทธ อธิบายว่า “คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากตัวเลขการว่างงานครั้งนี้แน่นอนว่าเป็นแรงงานระดับล่าง คือเมื่อแรงงานออกจากงานไปแล้ว จะไม่สามารถกลับเข้าไปทำงานได้อีก เพราะทุกวันนี้กิจการพยายามจะเอาแรงงานออกเพื่อลดต้นทุน ส่วนที่จะเอาเข้าไปใหม่ก็จะเลือกแต่ดีๆ เข้าไปแทน
“แรงงานที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่มก็คือ เด็กที่กำลังจะจบใหม่ เพราะคนเก่าๆ ที่เป็นคนดีมีฝีมือองค์กรก็คงต้องรักษาไว้ แต่คนใหม่นี่สิ จะรับเพิ่มได้ยังไงในเมื่อเศรษฐกิจมันแย่ แล้วยังเป็นคนใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์อีกด้วย ดังนั้นภาคเอกชนจะต้องชะลอรับเด็กจบใหม่ที่มีเป็นแสนคน มันก็อาจจะทำให้ตัวเลขยอดตกค้างเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”
ปัญหาการว่างงานรอบนี้มันจะไม่ใช่แค่ปัญหาการว่างงานของแรงงานเท่านั้น
แต่จะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ใหญ่มาก
เพราะตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้น เป็นคนว่างงานแบบไม่มีเงินออม
และเป็นคนว่างงานที่ไม่มีตำแหน่งงานใหม่ แล้วคนเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหนในสังคม
ด้านศิโรตม์มองว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อคนว่างงานที่มีรายได้ขั้นต่ำอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีเงินเก็บ และเมื่อต้องตกงานอาจทำให้กลายเป็นคนตกงานถาวร
“ตัวเลขของกระทรวงแรงงานสรุปว่า คนต้องมีรายได้อย่างต่ำวันละ 370 บาทถึงจะพอกับค่าครองชีพ แต่เป็นการพอกับค่าครองชีพแบบไม่มีเงินออมเลย เพราะฉะนั้นแปลว่าคนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ก็ต้องหางานพิเศษให้ได้เพิ่มอีกวันละ 70 บาท ถึงจะพอกับค่าครองชีพโดยไม่มีเงินออม แล้วเมื่อต้องตกงาน คนเหล่านี้จะเป็นคนตกงานโดยไม่มีเงินออมเลย ผลกระทบมีแน่นอน เพราะเขาจะเอาอะไรกิน แถมยังเป็นการตกงานในเวลาที่ตำแหน่งงานใหม่ไม่เพิ่ม เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเป็นการตกงานถาวรมีสูง
“คือปัญหาการว่างงานรอบนี้มันจะไม่ใช่แค่ปัญหาการว่างงานของแรงงานเท่านั้น แต่จะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ใหญ่มาก เพราะตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้น เป็นคนว่างงานแบบไม่มีเงินออม และเป็นคนว่างงานที่ไม่มีตำแหน่งงานใหม่ แล้วคนเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหนในสังคม
“ถ้าตัวเลขนี้ยังไม่หยุด ปัญหาก็สะสมมากขึ้น และผมคิดว่าตัวเลขจะยังไม่หยุด เพราะสัญญาณเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีขึ้น สัญญาณเศรษฐกิจโลกก็หนักหน่วงขึ้น โอกาสที่ตัวเลขทั้งหมดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาวก็มีความเป็นไปได้”
ความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจ
นอกจากตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ล่าสุดดูเหมือนสถานการณ์จะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เลวร้ายลงไปอีก เพราะจากรายงาน Global Wealth Report 2016 ของ Credit Suisse ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 3 ที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนมากที่สุดในโลก
ซึ่งเมื่อนำเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกับปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้น ศิโรตม์ให้ความเห็นว่า
“สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว แต่การที่คนจำนวนเพียง 1% ครอบครองรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วอันดับความเหลื่อมล้ำก็ขยับสูงขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของโลก ก็อาจเป็นพราะคนกลุ่มที่มีรายได้น้อยในประเทศเรากำลังมีรายได้น้อยลงโดยเปรียบเทียบ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำอาจไม่ขยับขึ้นเลยเป็นเวลา 3-4 ปี ในขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้ซึ่งมีประมาณ 13-14 ล้านคนจะจนลงโดยเปรียบเทียบแน่นอน
“นอกจากนี้คนที่ได้ค่าแรงมากกว่า 300 บาท ก็อาจจะถูกฟรีซค่าแรงไปด้วย เพราะถ้าไม่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คนกลุ่มที่ได้มากกว่า 300 ก็อาจจะไม่มีการปรับตาม เพราะเอกชนอ้างอิงรายได้จาก 300 เป็นหลัก
ทั้งหมดนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่รายได้ผู้ใช้แรงงานลดลงโดยเปรียบเทียบ รายได้ของคนที่มีรายได้ขั้นต่ำก็ลดลงโดยเปรียบเทียบ รายได้ของคนที่ได้มากกว่ารายได้ขั้นต่ำก็ลดลงโดยเปรียบเทียบ ขณะที่รายได้ของเกษตรกรก็ลดลง ทั้งหมดนี้จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นแน่นอน เพราะคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนที่ยากจนที่สุดมีรายได้ลดลงหมดเลย”
ด้าน ดร.ยงยุทธ อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้ามองความเหลื่อมล้ำในแง่รายได้ ประเทศไทยอาจไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำสูงขนาดนั้นเมื่อเทียบกับชาวโลก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือความเหลื่อมล้ำในเชิงทรัพย์สิน เพราะคนจำนวนไม่ถึง 20% กำลังถือครองทรัพย์สินในประเทศมากกว่า 50% ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยกว้างมากขึ้น
“ในที่สุดมันก็จะเกิดปัญหาการแก่งแย่ง เช่น การบุกรุกพื้นที่ที่มีเจ้าของ หรือบางคนก็บอกว่าความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้คนแบ่งแยกกันเป็นกลุ่มก้อนทางการเมือง และทำให้เกิดความขัดแย้งตามมาในที่สุด”
ปัญหาการว่างงานและความไม่มั่นคงในการทำงานจะเป็นประเด็นใหญ่มากๆ
ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของกิจการ
หรือไม่ใช่พนักงานระดับที่บริษัทขาดคุณไม่ได้จริงๆ
ทุกคนกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงในการทำงานเหมือนกันหมด
คนมีงานทำอย่านิ่งนอนใจ เพราะภัยร้ายกำลังจะคืบคลานเข้ามา
ไม่ใช่แค่คนว่างงานเท่านั้นที่ต้องกังวลกับพิษเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะแม้แต่คนมีงานทำเองก็อาจจะต้องรับมือกับพิษเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้เช่นกัน ศิโรตม์ให้ความเห็นว่า
“ผมคิดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมันมีโอกาสฝืดเคืองแบบนี้ไปอีกนาน และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็กำลังหนักขึ้น แต่ถ้าดูจากผลงานของคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผมคิดว่าโอกาสที่เขาจะทำงานได้ดีกว่าที่ผ่านมาไม่น่าจะมี ภายใต้โจทย์โลกที่มันยากขึ้น ขณะที่ผลงานของคนทำงานด้านเศรษฐกิจไม่น่าจะดีขึ้น ปัญหาก็น่าจะรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
“ผมว่าปัญหาการว่างงานและความไม่มั่นคงในการทำงานจะเป็นประเด็นใหญ่มากๆ ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของกิจการ หรือไม่ใช่พนักงานระดับที่บริษัทขาดคุณไม่ได้จริงๆ ทุกคนกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงในการทำงานเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นผมมองว่ามันเป็นยุคที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจสูงมาก ถ้าไม่มีแรงกดดันทางการเมือง หรือทางสังคม ผมว่าเราคาดหวังได้ยากที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ”
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไรต่อไปในอนาคต แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้มีคนจำนวน 450,000 คน กำลังรอความหวังอย่างเร่งด่วนให้พวกเขามีโอกาสได้กลับไปทำงานตามศักยภาพของตัวเองอีกครั้ง