ในยุคแห่งการแสดงความเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์ เราล้วนเคยเห็นการนำคำพูดหรือข้อความที่คู่การเมืองเคยใช้สื่อสารนำกลับมาผลิตซ้ำอีกครั้งในต่างบริบทและต่างเวลา เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ และ เกรตา ธันเบิร์ก ที่หลายคนน่าจะทราบกันดีว่าเป็นคู่กัดที่ทัศนคติไม่ตรงกันเรื่องภาวะโลกร้อน ครั้งหนึ่งเกรตาได้ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดขณะกำลังดูทรัมป์ให้สัมภาษณ์ในงานประชุมสุดยอดแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสภาวะอากาศ โดยทรัมป์ ผู้มักแสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ของตนเองได้ทวีตถึงเกรตาว่า “น่าขันจริงๆ เกรตาต้องหัดจัดการกับความขี้โมโหของเธอ แล้วไปหาหนังเก่าๆ ดีๆ ดูกับเพื่อนสักเรื่องนะ ใจเย็นไว้ เกรตา ใจเย็น! ” (So ridiculous Greta must work on her Anger Management problem, then go to a good old fashioned movie with a friend! Chill Greta, Chill!) [1]
และรสชาติการรอคอยก็หอมหวานเสมอ
ผ่านไปประมาณหนึ่งปีในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2020 ช่วงที่ทรัมป์กำลังหัวเสียในทวิตเตอร์ โวยให้หยุดนับคะแนนเลือกตั้งที่ตนกำลังพ่ายแพ้ และข้อความไวรัลเดียวกันก็กลับมาอีกครั้ง หากเพียงแค่ครั้งนี้สลับตัวละคร โดยเกรตาเป็นผู้ทวีตแทนเสียเอง กับข้อความที่ว่า “น่าขันจริงๆ โดนัลด์ต้องหัดจัดการกับความขี้โมโหของเขา แล้วไปหาหนังเก่าๆ ดีๆ ดูกับเพื่อนสักเรื่องนะ ใจเย็นไว้ โดนัลด์ ใจเย็น!” (So ridiculous. Donald must work on his Anger Management problem, then go to a good old fashioned movie with a friend! Chill, Donald, Chill!”) โดยที่ทวีตนี้ได้กลายเป็นไวรัลที่มีผู้รีทวีตกว่า 420,000 ครั้ง มีคนกดไลก์กว่า 450,000 ครั้ง ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น [2]
ใช่ว่านี่จะเป็นเหตุบังเอิญ หากที่ไทยเองก็เคยพบปรากฏการณ์แบบนี้เช่นกันกับการแสดงความเห็นทางการเมืองบนพื้นที่ออนไลน์ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าหรอกว่าสิ่งที่เราเคยโพสต์ไปในวันหนึ่ง อาจมีคู่ขัดแย้งทางการเมืองนำคำพูดหรือข้อความที่เราเคยกล่าวไปใช้ซ้ำในอนาคต
เช่น ในปี 2556 ภรรยาของนักการเมืองผู้หนึ่งได้แชร์รูปภาพรถตู้ตำรวจสีขาวที่ถูกขีดเขียน ละเลงสีลงบนตัวรถ พร้อมแสดงความเห็นว่า “ไม่ถึงกับทำลายทรัพย์สินราชการนะ” [3] ซึ่งในช่วงนั้นมีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญคือการประท้วงของกลุ่ม กปปส. กำลังขับไล่รัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่พอดี โดยที่เจ็ดปีต่อมา ในปี 2563 ปีที่มีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของกลุ่มคณะราษฎร ก็เกิดสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน โดยที่คำพูดของภรรยานักการเมืองที่เคยโพสต์ไว้เมื่อเจ็ดปีที่แล้วนั้นก็ได้ย้อนกลับมาอีกครั้งบนโลกออนไลน์กับข้อความที่ว่า “ไม่ถึงกับทำลายทรัพย์สินราชการนะ”
ภาพ ที่มา เนชั่นสุดสัปดาห์ NationWeekend
การนำข้อความมาผลิตซ้ำแสดงถึงนัยยะสำคัญทางการเมืองอย่างหนึ่ง โดยการใช้คำพูดของคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่เคยสนทนาสื่อสารไว้ มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในรูปแบบของการล้อเลียนโดยเลียนแบบถ้อยคำ (mimic) เดิมของฝ่ายตรงข้าม นับเป็นวิธีการโต้ตอบทางการเมืองแบบหนึ่ง (tactic) เพื่อโน้มน้าวให้ผู้รับสารที่ได้รับข้อความนั้นเห็นถึงความย้อนแย้ง สองมาตรฐาน ที่ก่อให้เกิดความเห็นเชิงลบต่อผู้นำเสนอเป็นคนแรก ว่าในมุมมองต่อเหตุการณ์เดียวกัน ต่างเพียงผู้กระทำเป็นคนที่มาจากคู่ขัดแย้งทางการเมือง ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวก็สามารถแตกต่างกันได้ ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อถูกนำไปสื่อสารเป็นวงกว้างซึ่งอาจจำกัดอยู่เพียงการสื่อสารในพื้นที่ออนไลน์เท่านั้น
การผลิตซ้ำถ้อยคำของคู่ขัดแย้งทางการเมืองเป็นวิธีการแสดงออกทางการเมืองเชิงสันติวิธีที่น่าสนใจ นอกจากเป็นการแสดงออกในเชิงจิกกัด เสียดสี ล้อเลียนแล้ว ข้อความที่สื่อสารนั้นยังซ่อนอารมณ์ตลกขบขันไว้อีกด้วย ซึ่งการนำความตลกมาใช้ในทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นมาช้านาน สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ในยุคกรีก โรมัน [3] เคยมีนักเขียนละครตลกชาวเอเธนส์ นามว่า อริสโตฟานเนส ซึ่งมักจะร่ายบทกวี ละครตลกเพื่อเสียดสีทางการเมือง และแนวคิดปรัชญาต่างๆ แต่ในยุคสมัยนั้น เป็นไปเพียงเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น
อริสโตฟานเนส ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งเรื่องชวนหัว’ ในสมัยกรีกโรมัน
การนำความตลกขบขันมาใช้ในทางการเมืองเริ่มปรากฏชัดในช่วงหลังปี 1990 หลังจากการปรากฏภาพของนักการเมืองในรายการบันเทิงและทอล์กโชว์ของอเมริกา จนเกิดการศึกษาเรื่องความตลกขบขันทางการเมือง (Political Humor) อย่างจริงจังในแวดวงวิชาการที่นักแสดงตลกมักนำเอาประเด็นทางการเมือง หรือท่าทางของนักการเมืองมาล้อเลียนเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดู โดยวิธีการเช่นนั้นได้ส่งผลทำให้การเมืองกลายเป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่นิยมเสพสื่อหลากหลาย
นอกจากเป็นการสร้างความสนใจทางการเมืองแล้ว เรื่องตลกขบขันยังถูกใช้ในการทดสอบความนิยมชมชอบต่อนักการเมืองอีกด้วย โดยการทดสอบความเห็นของสาธารณชนต่อท่าทีของนักการเมืองสามารถส่งผลต่อการกำหนดทิศทางทางการเมืองและพฤติกรรมของนักการเมืองได้ เช่นที่ จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนหนังสือแนวดิสโทเปียอย่าง Animal Farm และ 1984 เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกเรื่องตลกคือการปฏิวัติเล็กๆ” (Every joke resembles a tiny revolution[4]) เนื่องจากเรื่องตลกนั้นส่งผลด้านวัฒนธรรมที่สั่นคลอนเรื่องปกติที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนทำให้ความเชื่อของผู้คนเปลี่ยนผันไป การสร้างเรื่องตลกขบขันต่อผู้นำทางการเมือง (ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย) เป็นการทำลายความเลื่อมใสและศรัทธาของมวลชนที่มีต่อ ‘ผู้ทรงอำนาจ’ ทำให้ผู้มีมาดจริงจัง ขึงขังแตะต้องไม่ได้กลายเป็นคนน่าตลกขบขันไปได้
การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สอดแทรกอารมณ์ขันจึงนับเป็นการสื่อสารเชิงสันติวิธีที่น่าสนใจ และสามารถยึดโยงมวลชนไว้ได้ด้วยการสร้างความสนุกสนาน (ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด)
อาจเป็นได้ว่าในอนาคตเราอาจเห็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น การเคลื่อนไหวอาจไม่จำกัดอยู่ในสภาหรือท้องถนนอีกต่อไป แต่อาจแผ่ขยายองคาพยพไปได้ในพื้นที่ออนไลน์เพียงแค่พวกเขากรีดกรายนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ และหยอดอารมณ์ขันลงไป เป็นการประท้วงแบบใหม่ที่ไร้ความรุนแรง หากทรงพลังในการระดมพลผู้คน สามารถจูงใจคนหมู่มากได้ เป็นการปฏิวัติการสื่อสารแบบใหม่ที่แม้ประเด็นนั้นจะตึงเครียดเพียงใด ก็ยังชวนยิ้ม ขำพรวดออกมาได้จริงๆ
อ้างอิง
[1] Twitter: @realDonaldTrump December 12, 2019
[2] www.theguardian.com/environment/2020/nov/05/greta-thunberg-donald-trump-twitter-chill
[3] Dannagal G. Young, Theories and Effects of Political Humor: Discounting Cues, Gateways, and the Impact of Incongruities, The Oxford Handbook of Political Communication, (2014)
[4] George Orwell, Funny but not Vulgar
Tags: โดนัลด์ ทรัมป์, เกรตา ธันเบิร์ก, Political Humor, Aristophanes