ท่ามกลางผู้คนมากมาย มีคนพิการจำนวนไม่น้อยที่กำลังต่อสู้กับตัวเองเพื่อให้ออกมาใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนทั่วไปในสังคม บ้างก็พยายามดิ้นรนที่จะออกมาหางานทำ สภาพร่างกายก็ไม่เอื้ออำนวย มีเพียงวุฒิป.6 และจิตใจพอที่จะสู้ ทว่าโอกาสที่พอจะมองเห็นนั้นกลับช่างเลือนราง เนื่องจากสถานประกอบการส่วนใหญ่ระบุคุณสมบัติข้อแรกคือ วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี
แล้วเพราะอะไรที่ทำให้ผู้พิการที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่าสองล้านคน ไม่สามารถเรียนต่อได้จนจบในระดับชั้นปริญญาตรีดังใจหวัง
วันนี้ มาร่วมหาคำตอบพร้อมฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปกับ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. หน่วยงานที่ได้สนับสนุนโครงการ ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’ มหกรรมแนะแนวการศึกษาสำหรับคนพิการแห่งเดียวในประเทศ ริเริ่มโดยบริษัท กล่องดินสอ จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้การสนับสนุน
(ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.)
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กพิการไทยไม่ค่อยได้มีโอกาสเรียนหนังสือตามวัย หรือสามารถเรียนต่อได้จนจบการศึกษา
เหตุผลอันดับต้นๆ คือ ‘ความพร้อม’ ความมั่นใจ และ ‘ศักยภาพ’ ส่วนบุคคลของเด็กพิการและผู้ปกครองที่จะออกมาสู่สังคมยังคงมีไม่มากเหมือนกับเด็กทั่วไป ในขณะที่เรื่องกฎหมาย สถานะทางการเงิน การคมนาคม รวมไปถึงสถานศึกษา หรือสถานประกอบการที่จะรองรับเด็กพิการนั้น ถือว่าเป็นเรื่องถัดๆ ไปที่จะพรากโอกาสการเรียนต่อของเด็กพิการ โดยเฉพาะเด็กพิการที่อยู่ในระดับอุดมศึกษา
ใช่หรือไม่ว่า ปัจจัยภายในเป็นตัวฉุดรั้งเบอร์หนึ่งที่ทำให้เด็กพิการไม่ได้เรียนหนังสือดั่งใจหวัง?
ถูกต้อง เพราะก้าวแรกของเด็กพิการที่จะไปโรงเรียนเป็นการย่างก้าวที่สำคัญ จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก ทำให้เรารู้ว่า เด็กพิการ ส่วนใหญ่ไม่อยากพบกับ ‘ความเจ็บปวด’ ความเจ็บปวด ณ ที่นี้ไม่ใช่ความเจ็บด้านร่างกาย แต่เป็นความเจ็บปวดข้างในจิตใจ ที่เด็กๆ จะต้องเผชิญหน้ากับการถูกเพื่อนล้อเลียนตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ได้เข้าไปเรียนหนังสือร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ทั้งคำพูดจา การแสดงท่าทีของเพื่อนร่วมชั้น หรือสายตาจากคนในโรงเรียนต่างๆ นานาๆ สิ่งนี่ต่างหากคือ บาดแผลเล็กและเจ็บลึก ก่อนที่จะขยายวงกว้างของแผลที่มองไม่เห็นนั้นออกไปถึงมายาคติของสังคมที่มีต่อผู้พิการในวัยที่เติบโตขึ้น
จากบาดแผลส่วนตัว กลายเป็น ‘กำแพง’ ขั้นที่หนึ่งที่ปิดกั้นใจ และรั้งเท้าไม่ให้เด็กพิการได้ออกมาเรียนรู้โลกภายนอก แต่ในจำนวนนั้นเด็กพิการบางคนก็ยังมีกำลังใจดีที่ได้มาจากครอบครัว แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะได้รับพลังเหล่านี้แล้วเดินหน้าต่อ อดทนและเข้มแข็งเรื่อยมาจนถึงวันแรกที่เข้ารั้วมหาวิทยาลัย แล้วกลับเจอเหตุการณ์เดิมซ้ำ บาดแผลที่เคยทำใจยอมรับได้แล้ว จู่ๆ วันนั้นอาจจะเจ็บหนักกว่าเดิม ความทุกข์นั้นไม่อาจจะคลี่คลายจากใจได้อีกต่อไป และอาจจะทำให้เขาไม่ก้าวออกจากบ้านอีกเลย
ตัวแปรต่อจิตใจเด็กพิการของการก้าวออกไปเรียนหนังสือได้ตลอดรอดฝั่งได้นั้น เป็นไปได้ไหมว่า ทัศนคติและความอดทนของพ่อแม่เองก็ส่งผลต่อตัวเด็ก
พ่อแม่หรือผู้ปกครองคือส่วนสำคัญ ไม่ใช่แค่เด็กที่เสียขวัญ พ่อแม่เองก็ขวัญหายและต้องฝ่าฟันเรื่องเหล่านี้ไม่ต่างกัน จากการลงพื้นที่ทำให้เรารู้ว่า ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยเลยที่ซ่อนลูกตัวเองไว้จากสังคมด้านนอก อาจจะด้วยความเป็นห่วงด้านความปลอดภัย และมีไม่น้อยที่เกิดความอายที่ต้องพาลูกพิการออกไปข้างนอก กลัวว่าอาจจะไปทำพฤติกรรมแปลกๆ หรือแม้แต่ควบคุมอารณ์ของตัวเองไม่ได้ จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับผู้อื่นได้ รวมไปถึงไม่อยากฟังคำดูถูก ไม่อยากที่จะต้องมาตอบคำถามและอธิบายให้คนในชุมชนฟังว่า ทำไมต้องพาลูกพิการไปโรงเรียน ทั้งๆ ที่หลายคนเองก็มองว่า เรียนไปก็เท่านั้น ไม่ได้ทำงานอยู่ดี แถมยังต้องเจอแบบนี้ซ้ำๆ ทุกวัน ท้ายสุดก็ท้อถอย
แม้ว่าจะท้อ แต่ไม่เคยถอย ในเมื่อกำลังใจดี แต่ผู้ปกครองหลายบ้านก็พร้อมถอยเสมอ
การเดินทาง…คุณลองนึกดูว่า เด็กทั่วไปในวัยเดียวกันกับเด็กพิการ บางคนการเดินทางไปโรงเรียนก็ยังมีอุปสรรค ต่อให้เป็นเด็กยากจน หรือเด็กในเมืองก็ตาม ทุกวันนี้ก็ต้องมีผู้ปกครองคอยประคับประคองบ้างในบางเส้นทาง เพราะไม่สามารถเดินหรือคมนาคมไปโรงเรียนต่างเขตต่างอำเภอได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ในเมื่อเด็กทั่วไปยังยาก แล้วเด็กพิการล่ะจะยากกว่าแค่ไหน และไม่ใช่แค่ยากอย่างเดียว แต่ยังมีต้นทุนที่สูงกว่าคนทั่วไป
ต้นทุนนั้นหมายถึงความเท่าเทียม หรือตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆ
ทั้งสองอย่างที่ทำให้ต้นทุนชีวิตของเด็กพิการสูงกว่าคนทั่วไป ยกตัวเองกรณีนั่งวีลแชร์ แน่นอนว่าไม่สามารถใช้รถสาธารณะได้เลย เพราะการขึ้นรถเมล์เป็นเรื่องที่ลำบากมาก และนี่คือเหตุผลที่คนพิการเรียกร้องรถเมล์ชานต่ำ เพราะเขาอยากได้ค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับคนทั่วไป ในราคา 10 บาท หรือ 15 บาทเท่ากับทุกคน ไม่ใช่ราคา 90 บาท 150 บาทต่อเที่ยว วันหนึ่งต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ แล้วจะมีกี่ครอบครัวที่จะส่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จนกว่าจะลูกจะเรียนจบในแต่ระดับชั้น ดังนั้นหลายครอบครัวจึงเลือกที่จะให้เด็กพิการอยู่ที่บ้านมากกว่าการออกมาเผชิญโลกภายนอก
ทราบมาว่า รัฐบาลให้เด็กพิการเรียนฟรีได้จนถึงปริญญาตรี น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงที่ไปผลักดันให้เด็กพิการได้เรียนต่อ แต่ทำไมตัวเลขของเด็กพิการที่เรียนจบแค่ระดับชั้นประถมจึงมากที่สุด
เรามองว่าที่ผ่านมา เด็กพิการยังคงต้องเผชิญหน้ากับ ‘ปัญหา’ และ ‘อุปสรรค’ ของการใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อย แม้เราจะมองว่าบางอย่างเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับพวกเขาเหล่านั้นคือเรื่องใหญ่และสำคัญของชีวิต ถึงแม้รัฐบาลจะให้เรียนฟรีก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เด็กพิการตกหล่นทางการศึกษาไปไม่น้อย ทำให้เด็กพิการส่วนใหญ่เรียบจบแค่ชั้นประถมประมาณหนึ่งล้านสองแสนกว่าคน ในขณะที่เรียนจบระดับอุดมศึกษาในปีที่ผ่านมาเพียงแค่สองหมื่นกว่าคน
สสส. มีแนวทางในเสริมสร้างความกล้าหาญและความมั่นใจให้กับเด็กพิการอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ทางสสส.ลงมือและลงพื้นที่คือ การเตรียมความพร้อมของเด็กพิการ ครอบครัว และชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ การเปิดโอกาส เปิดทัศนคติและเปิดหัวใจรายบุคคล เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของความแตกต่าง และเข้าใจวิธีการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยสสส.เป็นตัวกลางที่จะลงไปนั่งจับเข่าคุยกันกับชุมชนและเด็กพิการ รวมไปถึงการพูดคุยกับเรื่องการเตรียมความพร้อมในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยด้วย งานนี้ถือว่าเป็นงานใจเย็นๆ ที่ต้องอาศัยการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจเป็นหลัก
ในทางปฏิบัติ ทางสสส. ได้ใช้โมเดลใดในการจัดองค์ความรู้เหล่านี้
สำหรับการเตรียมพร้อมของเด็กและผู้ปกครอง สสส.ได้ใช้รูปแบบที่เรียกว่า self-help group การช่วยเหลือกันเองระหว่างกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกพิการเหมือนกัน ผ่านการสนับสนุนและทำงามร่วมกับผู้ปกครองของเด็กพิการด้วยการเปิดคอร์สเสริมสร้างความมั่นใจ และการเห็นคุณค่าของตัวเองในรูปแบบที่แตกต่างและหลากหลาย ตามความพิการแต่ละประเภท รวมถึงเด็กพิเศษ สสส.จึงเป็นพื้นที่ตรงกลางเชื่อมผู้ปกครองแต่ละครอบครัว ให้มารวมกันและแลกเปลี่ยนชุดประสบการณ์ร่วมกัน ทำให้ผู้ปกครองได้รับคำปรึกษาเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะประสบการณ์ทางด้านการเรียนจนจบมหาวิทยาลัย นอกจากนี้เด็กพิการก็จะเกิดการร่วมกลุ่มกัน พูดคุยกันได้อีกทาง สิ่งนี้ได้กลายมาเป็นต้นแบบของการรวมกลุ่มผู้ปกครอง และส่งต่อไปให้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิธีการมากมายที่จะช่วยเอื้อและประคับประคอง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องมายาคติต่อคนพิการในระดับชุมชนนั้น สสส.ได้มีหลักสูตรนำร่องที่เป็นตัวอย่างให้เห็นหรือไม่
สสส.ได้จัดทำสูตรที่เรียกว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการโดยชุมชน CBR (community base rehabilitation) ซึ่งเริ่มใน 5 จังหวัด โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กพิการ ที่ช่วยดูแลและเกื้อหนุนกันตั้งแต่เรื่องของสุขภาพ การศึกษา ด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงด้านอาชีพ ด้วยการดึงหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือโรงพยาบาล ให้เข้ามาช่วยกันดูว่า เด็กพิการคนหนึ่งจำเป็นต้องเข้าไปช่วยฟื้นฟูและพัฒนาในด้านใดบ้าง หรือทางเทศบาล อบต. ก็ต้องมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือเพื่อให้ผู้พิการเข้ารับบริการได้เหมือนคนอื่นๆ อสม.เข้าไปช่วยเป็นหูเป็นตาเรื่องพัฒนาการของเด็ก กศน.เองก็ต้องหาวิธีนำการศึกษามาให้เรียยนถึงบ้าน เพราะเด็กบางคนอาจเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือไม่สามารถออกจากบ้าน ก็จะได้เรียนเช่นกัน นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่ง ทั้งหมดจะประเมินโดยให้ทุกคนเป็นศูนย์กลางและช่วยกันออกแบบ โดยใช้สูตรนี้ก็จะช่วยเอื้อให้ผู้พิการสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ และพึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด
เหตุใด CBR จึงเริ่มต้นที่ต่างจังหวัด ไม่ได้เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ
เพราะต่างจังหวัดทำง่ายกว่ากรุงเทพ ความเป็นชุมชนที่ต่างจังหวัดชัดเจนและเข้มแข็งกว่า ส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าเด็กคนหนึ่งคือลูกหลานใคร มีปัญหาอะไร มีการจดแจ้งเรื่องเด็กพิการ เพื่อรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เมื่อจดแจ้งก็จะมีหน่วยงานเข้าไปให้ความรู้และให้การช่วยเหลือได้มากกว่า ด้วยความสัมพันธ์ระดับชุมชน ทำให้หน่วยงานเล็กๆ อย่าง อสม. เข้าหาแต่ละบ้านได้อย่างสะดวกใจ แต่ไม่ใช่ว่าที่กรุงเทพฯ โอกาสจะน้อยกว่า อาจจะมีมากกว่าในแง่ของการศึกษา เพราะมีโรงเรียนทางเลือกเฉพาะทางของเด็กพิการให้เลือกมากกว่าตามต่างจังหวัด
โอกาสทางการศึกษาคือกุญแจสำคัญของเด็กทุกคนในช่วงวัย แต่สำหรับเด็กพิการทางแยกที่สำคัญที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ทาง สสส. ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อบ้าง
สสส.ได้ทำงานร่วมกับ DSS (Disabled Student Services หรือ ศูนย์บริการสำหรับนิสิต / นักศึกษาพิการ) ซึ่งเป็นศูนย์บริการนักศึกษาพิการของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้กับนักศึกษาพิการ ไม่ว่าจะเป็นล่ามภาษามือ หนังสือเสียง ทางลาด สื่อการสอนต่างๆ คณะที่เปิดรับเด็กพิการเข้าไปเรียน หอพักนักศึกษาพิการ ทุกอย่างที่จะช่วยให้เรียนได้อย่างราบรื่นจนจบมหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นสื่อกลางระหว่าง DSS ของแต่ละมหาวิทยาลัยได้มีพื้นที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้และประสบการณ์ของการเปิดรับนักศึกษาพิการ เพื่อเป็นแนวทางให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่อไป
เมื่อทุกอย่างได้เตรียมการพร้อม แต่จากตัวเลขที่พบก็ยังเห็นว่ามีข้อต่อบางอย่าง ที่ทำให้เด็กพิการบางส่วนต้องยุติกลางทาง หรือรู้สึกเคว้าคว้างหลังเรียนจบ คุณคิดว่าสิ่งนั้นคืออะไร
มีความกังวลมากมายในโลกของเขา โดยเฉพาะเรื่องของการมีงานทำ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลายความกังวลและอำนวยความสะดวกให้เพื่อผลักดันให้เด็กพิการ สามารถเป็นผู้พิการที่มีความมั่นใจในตัวเองและมีงานทำได้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของตลาดนัดการศึกษา ที่เรียกว่า ‘มหกรรมแนะแนวการศึกษาเพื่ออนาคตคนพิการ’
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สสส. ให้การสนับสนุนภายใต้งาน ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’ โดย บริษัท กล่องดินสอ จำกัด ซึ่งจัดขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’64 ตอนปั้นฝันเป็นตัว’ ซึ่งจะช่วยแนะแนวทางการเรียนต่อของเด็กพิการในระดับอุดมศึกษา มีทางเลือกคณะที่เรียนมากมายจากหลากหลายมหาวิทยาลัยที่มาให้ความรู้และพร้อมรับเด็กพิการเข้าไปเรียนร่วม มีการแนะนำเรื่องของการสมัครงานและสร้างพอร์ท เพื่อให้เด็กพิการมั่นใจ และรู้ว่าการเรียนต่อของพวกเขามีพื้นที่ทั้งระหว่างการเรียนและโอกาสทางด้านการทำงาน ทั้งยังได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากรุ่นพี่ผู้พิการ แถมยังได้เจอกับเพื่อนๆ ผู้พิการด้วยกัน ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกันพร้อมให้กำลังใจกันและกันได้อีกต่อ
เด็กพิการ รวมถึงผู้ปกครองที่สนใจจะสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัวโครงการนี้ได้อย่างไร
ช่องทางการเข้าร่วมงาน สามารถดูรายละเอียดได้ทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’ และเฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘เด็กพิการอยากเรียนมหา’ลัย’ โดยภายในเพจจะมีข้อมูลการศึกษาต่อมากมาย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาระหว่างนักเรียนพิการที่อยากเรียน รุ่นพี่ผู้พิการและไม่พิการมาให้คำแนะนำ รวมไปถึงคณะอาจารย์เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย เด็กพิการและผู้ปกครองก็สามารถคลิกเข้ามาค้นหาข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมได้เลย
เหตุการณ์ใดที่ทำให้คุณรู้สึกว่าสิ่งที่สสส.ทำมาโดยตลอดนั้น เรียกว่ามาถูกทาง
ยกตัวอย่างน้องเมธี ผู้พิการทางการมองเห็น นิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ ได้เข้าร่วมงานเด็กพิการเรียนไหนดีเมื่อปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลว่า อยากพูดภาษาจีนให้ได้ เพราะบ้านของเขาอยู่พัทยา ได้พบกับนักท่องเที่ยวจึงค่อนข้างบ่อย หากสื่อสารภาษาจีนได้ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดี เมื่อเขาได้เข้ามาร่วมงานก็รู้ว่ามีมหาวิทยาลัยและคณะที่เปิดรับสิ่งที่เขาต้องการศึกษาต่อ แม้จะดีใจแต่ก็ยังมีความกังวล เพราะมหาวิทยาลัยอยู่จังหวัดเชียงราย แต่บ้านของเราอยู่จังหวัดชลบุรี สสส.และภาคีก็ได้ใช้วิธีการเตรียมความพร้อมภายในให้กับเขา จนสุดท้ายเขามั่นใจและมุ่งมั่น จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในคณะที่ต้องการได้สำเร็จ
นี่คือส่วนหนึ่งที่เราภูมิใจ ทั้งยังส่งผลให้มหาวิทยาลับแม่ฟ้าหลวงเองได้นำประสบการณ์นี้มาเล่าต่อ แถมยังระบุว่า ที่คณะฯ มีหนังสือเรียนแบบอักษรเบลล์ ที่ทำให้น้องเมธีเรียนจนจบปี 1 ได้สำเร็จ อีกไม่นานหนังสือเบลล์ก็จะถูกผลิตในทุกๆ วิชาของปีสองจนจบปีสี่ ท้ายสุดก็จะสามารถรับนักศึกษาผู้พิการทางสายตาได้ทุกคน
สิ่งนี้สามารถวัดผลได้จากตัวเลขของนักศึกษาพิการที่เรียนจบและมีการงานทำได้หรือไม่
ตัวเลขอาจจะบอกปริมาณของเด็กพิการที่เรียนจยจบระดับมหาวิทยาลัยและมีงานทำได้ก็จริง แต่เหนือสิ่งอื่นใด สสส.ก็ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์และมีเป้าหมาย ไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนเรื่องตัวเลขของเด็กที่ได้เรียนต่อหรือจบแล้วมีงานทำเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญคือ การทำให้ผู้พิการสามารถพึ่งพิงและพึ่งพาตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้ดีและมีรายได้เพื่อประคับคองชีวิต เห็นคุณค่าในตัวเองเสมอ และใช้ชีวิตอยู่ต่ออย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการได้ทำสิ่งที่รัก มีความสุข รวมไปถึงการมีอาชีพ มีงานทำ และได้ชีวิตนอกบ้านได้เหมือนคนอื่นๆ ในสังคม
ล่าสุดที่งาน “เด็กพิการเรียนไหนดี’64 ตอน ปั้นฝันเป็นตัว” ที่ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ภายในงานมีกิจกรรมให้นักเรียนคนพิการได้เรียนรู้ระบบการสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อ ให้ความรู้เรื่องสิทธิทางการเรียนของคนพิการ การรับเข้าและดูแลนักศึกษาพิการจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษากว่า 18 สถาบัน และยังมีกิจกรรมเวิร์คชอปปั้นฝันเป็นตัว การทำแฟ้มสะสมผลงาน และเทคนิคการสอบสัมภาษณ์ รวมทั้งมีการรับฟังรุ่นพี่นักศึกษาคนพิการ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์ เพื่อให้นักเรียนคนพิการได้รับข้อมูลด้านการศึกษาอย่างรอบด้าน และเป็นแนวทางในการตัดสินใจวางแผนการศึกษาต่อที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/LearnNaiDee/
Tags: สสส., Thaihealth, เด็กพิการเรียนไหนดี