เนื่องจากอวัยวะเป็นสิ่งพื้นที่ฐานที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน (แม้บางคนอาจจะมีไม่ครบ) ภาษาต่างๆ จึงมักนำคำที่ใช้เรียกอวัยวะมาใช้ทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ เช่น คุณลักษณะหรืออารมณ์ความรู้สึก
หากจะให้ยกตัวอย่างก็เช่นเวลาที่เราพูดว่า “เขามีหัวทางธุรกิจ” หรือ “He has a head for business.” คำว่า ‘หัว’ หรือ ‘head’ ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงอวัยวะที่อยู่บนบ่าของเราจริงๆ แต่หมายถึง ความถนัด แต่ที่เรานำคำว่า หัว มาใช้ ก็เพื่อที่จะได้เข้าใจแนวคิดที่เป็นนามธรรมนี้ได้ง่ายขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อวัยวะที่เชื่อมโยงกับคุณลักษณะหนึ่งๆ อาจจะไม่ตรงกันเสมอไปในแต่ละภาษา เช่น ความกล้าอาจจะเชื่อมโยงกับหัวใจภาษาไทย แต่สัมพันธ์กับกระเพาะปัสสาวะในภาษาจีน (胆)
เท่านั้นไม่พอ แม้แต่ในภาษาเดียวกัน อวัยวะที่สัมพันธ์กับคุณลักษณะหนึ่งๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น คนแต่ก่อนเคยโยงความสงสารเข้ากับตับไตไส้พุง (ในภาษาอังกฤษเคยใช้คำว่า bowel หมายถึง ความเวทนา) แต่ในเวลาต่อมา ความรู้สึกนี้กับไปโยงกับหัวใจมากกว่า เป็นต้น
และในทางกลับกัน สิ่งที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับอวัยวะหนึ่งๆ ก็อาจเปลี่ยนไปตามเวลาเช่นกัน เช่น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 คำว่า spleen (ม้าม) ในภาษาอังกฤษเคยหมายถึง ความเศร้าโศก แต่หลายร้อยปีให้หลัง กลับกลายไปหมายถึง ความโกรธ แทน แบบที่ภาษาอังกฤษในปัจจุบันพูดว่า vent your spleen (อาละวาดอย่างโกรธเกรี้ยว)
แต่ลักษณะอีกอย่างที่สำคัญและสัมพันธ์กับสิ่งที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ คุณลักษณะหนึ่งๆ อาจถูกนำไปโยงกับหลายอวัยวะก็ได้
ไหนๆ เห็นช่วงนี้เขานิยมสรรเสริญความกล้ากัน ในสัปดาห์นี้เราจะไปดูกันว่า ความกล้าในภาษาอังกฤษไปอยู่ที่อวัยวะไหนบ้าง
ความกล้าอยู่ที่หัวใจ – Courage
คำว่า courage ที่หมายถึง ความกล้าหาญ นี้ ภาษาอังกฤษรับผ่านมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าอีกที และสืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า cor ในภาษาละตินที่แปลว่า หัวใจ
แรกเริ่มเดิมทีภาษาอังกฤษใช้คำนี้หมายถึง หัวใจ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอวัยวะที่สูบฉีดเลือดอยู่ในหน้าอก (อันนั้นใช้คำว่า heart) แต่หมายถึงหัวใจในเชิงที่เป็นที่สถิตของความรู้สึกนึกคิดต่างๆ และจิตวิญญาณ แต่ในเวลาต่อมา ความหมายของ courage ก็ค่อยๆ ตีบแคบและเจาะจงมากขึ้น จากที่เคยหมายถึงความรู้สึกต่างๆ ก็กลายมาหมายถึง ความไม่กริ่งกลัวในการเผชิญหน้ากับภยันตราย หรือเรียกได้อีกอย่างว่า ความกล้า ดังเช่นในปัจจุบันนั่นเอง
คำว่า courage นี้ยังได้แฝงตัวอยู่คำว่า encourage ที่แปลว่า สนับสนุนส่งเสริม เพิ่มขวัญกำลังใจให้ฮึกเหิมกว่าเก่า (เช่น He felt encouraged by the Prime Minister’s personal praise. ก็คือ รู้สึกฮึกเหิมเพราะได้รับคำชมจากนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัว) รวมไปถึงคำตรงข้ามอย่าง discourage ที่หมายถึง ทำให้ท้อถอยหมดกำลังใจ หรือ ปรามไม่ให้ทำ (เช่น The protesters didn’t feel discouraged by the arrest of several protest leaders. คือ การจับกุมแกนนำหลายคนไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมเสียกำลังใจ)
คำว่า courage นี้ยังไปโผล่ในคำว่า Dutch courage ด้วย หมายถึง ความกล้าที่เกิดมาจากการดื่มเหล้า ทำนองว่าพอแอลกอฮอล์เข้าปากปุ๊บ ความยับยั้งชั่งใจและความเหนียมอายก็มลายไปสิ้น เกิดฮึกเหิมกล้าหาญขึ้นมาเสียอย่างนั้น (ส่วนเหล้าก็เรียกได้อีกอย่างว่า liquid courage ทำนองว่าเป็นความกล้าเวอร์ชั่นน้ำแบบพร้อมดื่ม กินปุ๊บกล้าปั๊บ)
ความกล้าอยู่ในตับไตไส้พุง – Guts
คำนี้โดยปกติแล้วหมายถึง ตับไตไส้พุง จะหมายถึงของสัตว์ (เช่น fish guts หรือ เครื่องในของปลา) หรือของคนก็ได้ (เช่น He puked his guts out. คือ อ้วกเอาสิ่งที่อยู่ในไส้ในพุงออก)
คำนี้มีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษเก่าที่หมายถึง เท อาจเป็นเพราะท้องไส้ของเราเป็นเหมือนท่อที่อาหารถูกเทใส่ลงไปผ่านปาก
ที่น่าสนใจก็คือ คนแต่ก่อนเคยมองว่าท้องไส้เป็นที่สถิตของความรู้สึกนึกคิดเบื้องลึกของเราด้วย ดังจะเห็นได้จากสำนวน gut feeling (ความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณเบื้องลึก) หรือ feel it in your guts (รู้สึกในระดับสัญชาตญาณ) เช่น My gut feeling is telling me he’s not being honest. I can feel it in my guts. ก็คือ สัญชาตญาณบอกเลยว่าไอ้คนนี้ปกปิดอะไรบางอย่างอยู่ ไม่ได้พูดความจริงอยู่ รวมถึงสำนวน go with your gut หมายถึง ทำตามสัญชาตญาณ
แต่นอกจากนั้นแล้ว ตับไตไส้พุงยังถูกนำไปโยงกับความกล้าหาญในเวลาต่อมาด้วย ทำให้คำว่า guts ถูกนำมาใช้หมายถึง ความกล้า แต่ในที่นี้ไม่ใช่กล้าหาญชาญชัยแบบอัศวินแต่อย่างใด แต่เป็นความกล้าลงมือทำอะไรที่เราไม่ค่อยอยากทำสักเท่าไร เช่น ถ้าไม่กล้าบอกเลิกแฟน ก็อาจจะพูดว่า She doesn’t have the guts to break up with her girlfriend.
คำว่า guts นี้ยังทำให้เกิดคำว่า gutsy ที่แปลว่า กล้าบ้าบิ่น อีกด้วย เช่น It was very gutsy of him to call out his boss in front of everyone. ก็คือ มันกล้ามากที่พูดว่าเจ้านายทำอะไรไม่ถูกต้องต่อหน้าทุกคน
ส่วนอีกสำนวนที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตับไตไส้พุงและความกล้าก็คือ intestinal fortitude ซึ่งหมายถึง ความกล้าแบบแน่วแน่ มุมานะ เช่น Not everyone has the intestinal fortitude it takes to survive in the world of politics. ก็คือ ไม่ใช่ทุกคนจะมีความกล้ามุมานะที่จะทำให้อยู่รอดในแวดวงการเมืองได้
ความกล้าอยู่ในเส้นประสาท – Nerve
ภาษาอังกฤษยืมคำนี้มาจากคำว่า nervus ในภาษาละติน ซึ่งในภาษาต้นทางไม่ได้หมายถึงแค่เส้นประสาทเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง เส้นเอ็น พละกำลัง รวมไปถึงเครื่องเพศของผู้ชาย ได้ด้วย
คำนี้เมื่อเข้ามาในภาษาอังกฤษแล้วก็เคยถูกใช้ในความหมายทั้งหมดที่กล่าวไป (ใช่ครับ nerve เคยแปลว่า จู๋ ได้ด้วย) แต่ว่าที่น่าสนใจก็คือ คำว่า nerve ยังพัฒนาความหมายในแบบที่ไม่เจอในภาษาต้นทางด้วย คือกลายมาหมายถึง ความกล้าหาญ ได้ด้วย เช่น It takes a lot of nerve to ask somebody out for the first time. ก็คือ การชวนคนไปออกเดทครั้งแรกต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่ง หรือหากตั้งใจจะเข้าไปชวนคนที่ชอบไปออกเดท แต่มาป๊อดเอานาทีสุดท้าย ก็อาจจะบอกว่า I lost my nerve at the last minute.
นอกจากความกล้าในแบบที่ว่าไป คำว่า nerve ยังพัฒนาไปไกลจนหมายถึง กล้าดี ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น He had the nerve to ask what he had done wrong? ก็คือ มันมีหน้ามาถามอีกหรือว่ามันทำอะไรผิด
ความกล้าอยู่ในอัณฑะ – Balls
คำว่า ball เป็นคำพื้นฐานที่ใช้เรียกของต่างๆ ที่มีสัณฐานเป็นทรงกลม ใช้เรียกได้ตั้งแต่ลูกบอลไปจนถึงลูกชิ้น ไม่เว้นแม้แต่ลูกอัณฑะ (ซึ่งแม้จะไม่กลมดิ๊กแต่ก็กลมอยู่พอสมควร)
ด้วยความที่ลูกอัณฑะเป็นอวัยวะของเพศชาย จึงไม่แปลกที่จะถูกนำไปโยงกับคุณลักษณะอย่างความใจกล้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังจากผู้ชาย (toxic จังเนอะ) ด้วยเหตุนี้ คำว่า balls จึงหมายถึง ความใจกล้า ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น It takes a lot of balls to ask for a raise while people are being fired left and right. ก็คือ ใจกล้ามากที่ขอขึ้นเงินเดือนทั้งที่คนโดนไล่ออกกันเป็นเบือ
ทั้งนี้จะสังเกตว่า balls ในความหมายนี้จะใช้รูปพหูพจน์ นั่นก็เพราะผู้ชายส่วนใหญ่มีลูกอัณฑะเป็นคู่นั่นเอง
นอกจากนั้น คำว่า balls ยังถูกนำมาสร้างเป็นคำว่า ballsy หมายถึง กล้าบ้าบิ่น ไม่เกรงกลัว เช่น It was a very ballsy move for her to expand the business now. คือ กล้ามากที่ตัดสินใจขยายธุรกิจตอนนี้
ทั้งนี้ ยังมีอีกสำนวนที่สื่อถึง balls ในความหมายนี้แบบกลายๆ นั่นก็คือ to grow a pair สำนวนนี้คือว่าค่อนข้างหยาบคายเพราะ a pair ในที่นี้ หมายถึง a pair of balls หรือ testicles นั่นเอง ความหมายทำนองว่าตอนนี้เอ็งมันไม่มีอัณฑะ ไปงอกอัณฑะมานะ จะได้มีความกล้าหาญหน่อย ตัวอย่างเช่น You need to grow a pair and ask him out already. ก็คือ เอ็งกล้าๆ ไปชวนเขาออกเดทเสียที
ความกล้าอยู่ในกระดูกสันหลัง – Backbone
เนื่องจากกระดูกสันหลังเป็นสิ่งที่ทำให้มีลำตัวเราตั้งตรง คำว่า backbone จึงถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเพื่อหมายถึง ความเข้มแข็งหรือกล้าหาญ อันเป็นคุณลักษณะที่ช่วยให้เรายืดอกผึ่งผายได้ในฐานะมนุษย์ ตัวอย่างเช่น He doesn’t have the backbone to admit that he’s a bad leader. ก็คือ เขาไม่มีความกล้าพอที่จะยอมรับว่าตนเองเป็นผู้นำที่ไม่ดี หรือ He needs to show some backbone. ก็คือ เขาต้องแสดงความกล้าหาญหน่อย
อีกคำที่ใช้เรียกกระดูกสันหลังและใช้ในความหมายเชิงเปรียบเปรยได้เหมือนกันก็คือ spine เช่น The senators lack the spine to do what is right. ก็คือ สว.ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนั้น ในภาษาอังกฤษยังมีคำว่า spineless ที่สอดคล้องกับความหมายนี้ หมายถึง ขี้ขลาด เหยาะแหยะ เช่น a spineless coward ก็คือ ไอ้คนขี้ขลาดตาขาว
บรรณาณุกรม
http://www.etymonline.com/
http://oed.com/
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006..
Shorter Oxford English Dictionary
Sims, Michael. Adam’s Navel: A Natural and Cultural History of the Human Form. Penguin Books: New York, 2003.
Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: Word Odyssey