ฟรานซิส สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (Francis Scott Fitzgerald) เคยเป็นหนุ่มมหัศจรรย์ของแวดวงวรรณกรรมอเมริกัน หลังจากผลงานนวนิยายเรื่องแรกของเขา This Side of Paradise ตีพิมพ์ในปี 1920 ขณะนั้นเขาเพิ่งอายุได้ 23 ปี ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มมีสุ้มเสียงขึ้นมาในสังคม
อีกทั้งหนังสือรวมเรื่องสั้น Tales of the Jazz Age (1922) ก็สามารถสร้างชื่อให้เขาอย่างมั่นคงยาวนานนับทศวรรษ จนถึง The Great Gatby (1925) ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตสังคมฟุ้งเฟ้อ แต่กลวงเปล่าได้อย่างชัดเจน
และเขาก็เป็นหนึ่งในสังคมฟุ้งเฟ้อนั้น เงินทองที่หามาได้จากการเขียนเรื่องสั้นให้กับนิตยสารต่างๆ ตลอดสองทศวรรษ ฟิตซเจอรัลด์ใช้สอยหมดไปกับวิถีชีวิตชั้นสูง ในยุคสมัยที่ยังไม่มีโทรทัศน์ และวิทยุก็ยังไม่ตอบโจทย์ความบันเทิงให้กับผู้คนได้มากพอ จะมีก็เพียงนิตยสารอย่าง New Yorker หรือ The Saturday Evening Post เท่านั้นที่เป็นสื่อบันเทิงสำคัญ และนิตยสารเหล่านั้นเปรียบเสมือนบ่อเงินสำหรับบรรดานักเขียนที่มีชื่อเสียง รวมถึงฟิตซ์เจอรัลด์ ให้อยู่ดีกินดีท่ามกลางปัญหาชีวิตทับถม
แต่ครั้นย่างวัย 30 ปี ดูเหมือนฟิตซ์เจอรัลด์จะก้าวถึงจุดอิ่มตัวกับงานเขียน ชีวิตหักเหสู่ภาวะวิกฤต ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นในวงการอย่างเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) จอห์น โดส พาสซอส (John Dos Passos) และวิลเลียม โฟล์คเนอร์ (William Faulkner) กลับประสบความสำเร็จกับผลงานนวนิยาย สาเหตุเพราะฟิตซ์เจอรัลด์มีปัญหาการติดสุราเรื้อรัง และความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับภรรยา–เซลดา ทำให้การเขียนงานของเขาล่าช้า กว่านวนิยายเรื่องใหม่จะแล้วเสร็จเขาต้องใช้เวลาอยู่นานถึงเก้าปี แต่แล้วก็พบว่า Tender Is the Night (1934) กลายเป็นหนังสือที่แทบไม่มีใครอยากอ่าน
ฟิตซ์เจอรัลด์สามารถขายเรื่องสั้นของเขาจำนวนหลายสิบเรื่องให้กับนิตยสารไปจนถึงปี 1940 ที่เขาเสียชีวิต ได้ค่าตอบแทนต่อเรื่องระหว่าง 1,000 ถึง 4,000 ดอลลาร์ เรื่องสั้นเหล่านั้นถูกนำไปตีพิมพ์ ถูกอ่าน และถูกลืมไปในที่สุด เมื่อนิตยสารฉบับใหม่ออกมา
…..
เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 1896 ในเมืองเซนต์พอล รัฐมินเนโซตา เป็นลูกคนที่สามของครอบครัว พี่สาวทั้งสองคนของเขาเสียชีวิตสามเดือนก่อนเขาจะลืมตาดูโลก น้องสาวอีกคนที่เกิดในปี 1900 ก็มีลมหายใจได้เพียงชั่วโมงเดียว ส่วนแอนนาเบล (Annabel) น้องสาวคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้นั้น เกิดในปี 1901
ชื่อหน้า ‘ฟรานซิส’ พ่อและแม่ของเขาผู้เคร่งในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เอามาจากปู่ทวด–ฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ (Francis Scott Key) ผู้ประพันธ์เพลงชาติอเมริกา
ฟิตซ์เจอรัลด์ผู้พ่อมีโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ‘American Rattan and Willow Works’ ในความครอบครอง ทว่าสองปีถัดจากนั้นก็ถูกบังคับให้ต้องขายกิจการ และต้องโยกย้ายไปเป็นพนักงานฝ่ายขายของบริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิลในบัฟฟาโล นิวยอร์ก แต่แล้วในปี 1908 พ่อวัย 55 ก็ต้องตกงานอีกครั้ง จึงพากันย้ายครอบครัวกลับไปถิ่นฐานเดิมที่เซนต์พอล รัฐมินเนโซตา
เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์เข้าเรียนที่เซนต์พอล อะคาเดมี และเริ่มเขียนบทละคร บทเพลง และบทกวี งานเรื่องสั้นเรื่องแรก The Mystery of the Raymond Mortgage ที่เขาเขียนตอนอายุ 13 มีโอกาสได้ตีพิมพ์ในหนังสือของโรงเรียนในปี 1909 ผลการเรียนของเขาอยู่ในระดับดี พ่อและแม่จึงตัดสินใจส่งเขาไปเรียนต่อที่โรงเรียนประจำคาทอลิกในแฮ็กเคนแซ็ค รัฐนิวเจอร์ซีย์
กันยายน 1913 ฟิตซ์เจอรัลด์เริ่มเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน แม้ว่าเขาจะสนใจมหาวิทยาลัยเยลมากกว่า ทว่าเขาทำคะแนนสอบเข้าได้ไม่ถึงเกณฑ์ และเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนที่พรินซ์ตัน จนต้องทิ้งไปกลางคัน
ปีถัดมา ฟิตซ์เจอรัลด์เริ่มคบหากับ จิเนฟรา คิง (Ginevra King) หญิงสาวจากชนชั้นสูงในเซนต์พอล แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ้นสุดลงเมื่อต้นปี 1917 สำหรับเขาแล้ว การยุติความสัมพันธ์ครั้งนั้นยังเป็นหลักฐานแสดงให้เขารู้สึกได้ว่า อุปสรรคทางสังคมและการเงินทำให้เด็กหนุ่มฐานะยากจนไม่สามารถแต่งงานกับหญิงสาวฐานะร่ำรวยได้
6 เมษายน 1917 สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เดือนถัดมาฟิตซ์เจอรัลด์เข้าประจำการในกองทัพสหรัฐอเมริกา และได้รับการแต่งตั้งเป็นร้อยตรีในหน่วยทหารราบ ตลอดอายุขัยฟิตซ์เจอรัลด์นึกเสียดายอยู่เพียงว่า เขาไม่เคยถูกส่งตัวไปสนามรบที่ยุโรปเลย หากรับใช้ราชการทหารอยู่แต่ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ประจำการอยู่ที่ฟอร์ต ลีเวนเวิร์ธ ในรัฐแคนซัส เขาเริ่มวางโครงเรื่องนวนิยายกึ่งชีวประวัติของตัวเอง เรื่อง The Romantic Egoists
เมื่อย้ายมาประจำการที่ฐานทัพในมอนต์โกเมอรี รัฐแอละแบมา เดือนกรกฎาคม 1918 ฟิตเจอรัลด์มีโอกาสได้รู้จักกับเซลดา แซร์ (Zelda Sayre) สาววัยอ่อนกว่าเขา 4 ปี เขาตกหลุมรักเธอในทันที และปรารถนาจะแต่งงานกับเธอให้ได้ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น แต่ข้อกังขาว่าฟิตซ์เจอรัลด์จะมีรายได้เพียงพอจะหาเลี้ยงครอบครัวหรือไม่กลายเป็นคำถามให้เซลดาชั่งใจ และตอบปฏิเสธเขาไป
ฟิตซ์เจอรัลด์ขวนขวายหาช่องทางที่จะสร้างตัวใหม่ ด้วยการสมัครเข้าเป็นพนักงานที่บริษัทโฆษณาบาร์รอน คอลลิเยร์ในนิวยอร์ก และใช้เวลาช่วงตอนค่ำเขียนเรื่องสั้น บทละคร และบทกวี ด้วยความหวังจะมีรายได้เพิ่ม ช่วงเวลานั้นเขาสามารถขายเรื่องสั้นให้กับนิตยสารได้เรื่องละ 30 ดอลลาร์ แต่ได้รับจดหมายปฏิเสธผลงานถึง 122 ฉบับ ซึ่งเขานำมันไปปิดผนังห้องประชดตนเองเหมือนคนโรคจิต
มิถุนายน 1919 เซลดาขอยกเลิกการหมั้นหมาย เดือนถัดมาฟิตซ์เจอรัลด์ลาออกจากงานที่บาร์รอน คอลลิเยร์ และเดินทางกลับไปบ้านพ่อแม่ที่เซนต์พอล เพื่อเขียนนวนิยายที่เขาวางโครงเรื่องทิ้งค้างไว้
สำนักพิมพ์ Scribner’s แสดงความสนใจต้นฉบับนวนิยายเรื่อง The Romantic Egoists ของฟิตซ์เจอรัลด์ แต่ต้นฉบับทั้งสองร่างที่เขาส่งไปไม่ผ่านการพิจารณา จนถึงร่างที่สามชื่อเรื่องเปลี่ยนเป็น This Side of Paradise ปรากฏว่าผ่าน Scribner’s ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาในปี 1920 หลังจากเขาเริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ตามนิตยสารชื่อดัง โดยเฉพาะ The Saturday Evening Post นั้นยอมจ่ายค่าตอบแทนให้เขาสูงถึงเรื่องละ 500 ดอลลาร์
เซลดา แซร์หวนกลับมาคบหากับฟิตซ์เจอรัลด์ และรับหมั้นเขาอีกครั้งในเดือนเมษายน 1920 หนึ่งสัปดาห์หลังจากผลงานนวนิยายของเขาออกวางจำหน่าย ในเวลาต่อมาทั้งสองเข้าพิธีแต่งงานกันที่นครนิวยอร์ก
…..
จู่ๆ คู่สามี–ภรรยาฟิตซ์เจอรัลด์ก็ได้ก้าวไปยืนโดดเด่นอยู่ในวงสังคม สื่อให้ความสนใจหนุ่มหล่อสาวสวยรวยเสน่ห์คู่นี้ ที่เป็นเสมือนตัวแทนและขวัญใจของคนรุ่นใหม่ และมักรายงานเรื่องราวในชีวิตของทั้งสองอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน เกิดในเดือนตุลาคม 1921 ฟิตซ์เจอรัลด์ตั้งชื่อให้ว่า ฟรานเชส สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (Frances Scott Fitzgerald) และมีชื่อเล่นว่า ‘สก็อตตี’ แต่พ่อแม่วัยหนุ่มสาวก็ยังใช้ชีวิตหนักหน่วงตลอดช่วงสิบปี ไหนจะปาร์ตี้ ไหนจะเดินทางตระเวนยุโรป และการดื่มอย่างไม่ยับยั้งชั่งใจ กระทั่งเซลดาต้องกลายเป็นคนไข้ประจำของคลินิกจิตแพทย์ ส่วนฟิตซ์เจอรัลด์ต้องจบชีวิตลงด้วยโรคหัวใจวายขณะอายุเพียง 44 ปีในท้ายที่สุด
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สองสามี–ภรรยาใช้ชีวิตของตนเองประหนึ่งเวทีการแสดง ดำเนินชีวิตคล้ายเด็กที่ไม่เคยผ่านการอบรมบ่มสอน ฟิตซ์เจอรัลด์ใช้ชีวิตตนเองเพื่อหาวัตถุดิบสำหรับงานเขียน ส่วนเซลดานั้นต้องยืนซ่อนอยู่ในเงาของเขา แต่เธอก็สามารถเรียนรู้ได้เร็ว ในการอยู่และเป็นอย่างที่เธอต้องการ
The Great Gatsby ที่ยอดขายไม่สู้ดีในช่วงเวลาที่ฟิตซ์เจอรัลด์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ภายหลังมันกลับกลายเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา และได้รับการดัดแปลงเป็นทั้งละครเวทีและภาพยนตร์
งานเขียนส่วนใหญ่ของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์มักเกี่ยวโยงกับเรื่องราวในชีวิตจริง ที่ดัดแปลงจากตัวเขา ภรรยาของเขา และเพื่อนๆ ของเขา
ยังมีข้อมูลจากแวดวงวรรณกรรมอเมริกันแถมท้ายมาอีกว่า บางครั้งเขาเคยแม้กระทั่งคัดลอกข้อความทั้งประโยคจากสมุดบันทึกของเซลดาเพื่อมาใช้ในงานเขียนของตนเอง
อ้างอิง:
Tags: F. Scott Fitzgerald