ถ้าหากเราได้ยินประโยคบอกใบ้ถึงภาพยนตร์รักเรื่องหนึ่งว่าชายหนุ่มชวนหญิงสาวลงจากรถไฟ ทั้งคู่ใช้เวลาด้วยกันหนึ่งคืน ก่อนจะแยกย้ายจากกันด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะกลับมาพบกันอีกแทบทุกคนคงจดจำใบหน้าของเขาและเธอได้ และตอบได้ทันทีว่า นั่นคือภาพยนตร์ไตรภาคของความสัมพันธ์ ‘The Before Trilogy’ ที่รับบทแสดงนำโดย อีธาน ฮอว์ค และจูลี เดลพี

อีธาน ฮอว์ค วัย 49 ปีในวันนี้ แต่เขายังคงเป็นคนที่มีความกระตือรืนร้นกับหลายๆ สิ่ง เขาเขียนนวนิยาย กำกับภาพยนตร์ และมีงานแสดงนับไม่ถ้วน ฮอว์คเติบโตมาโดยการเลี้ยงดูของแม่ ก่อนที่เธอจะแต่งงานใหม่เมื่อเขาอายุสิบขวบ ส่วนความสัมพันธ์กับพ่อ เขาเคยพูดไว้ว่าตอนที่ผมยังเด็ก พ่อเป็นฮีโร่ที่เหนือกว่าฮีโร่ เพราะมันง่ายมากที่จะรักใครสักคนที่ไม่มีตัวตนและเมื่ออายุมากขึ้น ผมนึกไม่พอใจเขามาก ผมรู้สึกถูกทอดทิ้งโดยสิ้นเชิงซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่นวนิยายของเขามักจะมีตัวละครที่มาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์

ในปี 1989 ฮอว์คปรากฎตัวใน Dead Poets Society โดยรับบทเป็นหนึ่งในนักเรียนในชั้นเรียนของครูคีทติง (โรบิน วิลเลียมส์) ซึ่งนับเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับเขา หลังจากนั้นเส้นทางของเขาก็ดูจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นกับบทเด่นๆ ในภาพยนตร์หลายเรื่องที่ The List ขอชวนมาย้อนรอยให้ชม

Gattaca (1997)
ชายผู้ไม่ยอมแพ้ต่อพันธุกรรม

ภาพยนตร์แนวไซไฟดิสโทเปีย เขียนบทและกำกับฯ โดยแอนดรูว์ นิคคอล มีเนื้อหาเกี่ยวเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการตัดต่อพันธุกรรม และผลกระทบที่ส่งแรงกระเพื่อมสู่สังคม ชื่อภาพยนตร์ Gattaca ประกอบด้วยตัวอักษรตัวแรกของ DNA ทั้งสี่ตัว คือ Adenine, Thymine, Cytosine และ Guanine

ตอนแรกภาพยนตร์ถ่ายทำในชื่อ The Eighth Day ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงเรื่องราวการสร้างโลกในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ระบุว่าโลกถูกสร้างขึ้นในหกวัน และในวันที่เจ็ด พระผู้เป็นเจ้าทรงพักผ่อน ซึ่งชื่อเรื่องเดิมนี้มีความหมายถึงการดัดแปลงมนุษย์ด้วยสิ่งที่พระเจ้าได้สร้างไว้แล้ว แต่เนื่องจากมีภาพยนตร์ที่ใช้ชื่อนี้เข้าฉายก่อน รวมถึงมีหนังสือชื่อ The Eighth Day of Creation ที่ตีพิมพ์ซ้ำด้วย แอนดรูว์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์เป็น Gattaca

การรับบทนำในเรื่องนี้ของฮอว์คทำให้เขาได้พบรักกับ อูมา เธอร์แมน ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1998 และมีลูกด้วยกันสองคน แต่ท้ายที่สุดก็จบลงที่การหย่าร้างในปี 2005

เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในโลกอนาคต วันที่มนุษย์มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรม และทำให้มนุษย์ที่มียีนเด่นได้รับการยอมรับมากกว่ามนุษย์ที่มียีนด้อย โลกจะไร้ซึ่งการแบ่งชนชั้นด้วยเพศ สีผิว หรือชาติพันธุ์ แต่กลับจะเหยียดหยามกันด้วยยีนของแต่ละคน วินเซนท์ เป็นเด็กหนุ่มที่เกิดมาพร้อมกับยีนด้อย ร่างกายอ่อนแอ และอาจมีชีวิตเพียงแค่ 30 ปี พ่อแม่ของเขาจึงตัดสินใจให้กำเนิดลูกอีกคนที่คัดเอาแต่ยีนเด่นมาโดยเฉพาะ นั่นคือ แอนโทน น้องชายที่แข็งแรง และเป็นเลิศกว่าวินเซนท์ในทุกๆ ด้าน

แต่ถึงสังคมจะกีดกันโอกาสทุกอย่างไว้ให้เฉพาะผู้ที่มียีนเด่น วินเซนท์ก็ยังไม่ละทิ้งอาชีพในฝันอย่างนักบินอวกาศ เขาดิ้นรนหาหนทางจนมาเจอกับเจอร์โรม หนุ่มยีนเด่นที่หมดหวังในชีวิต เจอโรมจึงขายพันธุกรรมของตัวเองให้กับวินเซนท์ เพื่อช่วยปลอมแปลงและปิดบังยีนด้อยของเขา ส่งให้วินเซนท์ก้าวใกล้ความฝันของตัวเองยิ่งขึ้น ทว่าแต่ละก้าวย่างนั้นเขากลับต้องตั้งคำถามมากมายกับตัวเอง

Before the Devil Knows You’re Dead (2007)
น้องชายผู้ขลาดเขลา

ภาพยนตร์อาชญากรรมสุดเข้มข้น ผลงานการกำกับฯ เรื่องสุดท้ายของซิดนีย์ ลูเมต ผู้ที่เคยฝากผลงานเด่นไว้ทั้ง 12 Angry Men (1957) Dog Day Afternoon (1975) และ Verdict (1982) 

บทภาพยนตร์เดิมของเรื่องนี้ สองตัวละครเอกไม่ได้เป็นพี่น้องกัน แต่ลูเมตเปลี่ยนแปลงรายละเอียดดังกล่าว เพื่อให้เนื้อหามีความดราม่ามากยิ่งขึ้น

ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน รับบทแอนดี้ ผู้เสพติดทั้งโคเคนและเฮโรอีนอย่างหนัก (ไม่ต่างจากชีวิตจริงของฮอฟฟ์แมนที่จากไปอย่างกะทันหันในวัย 46 ปี เพราะกลับไปเสพเฮโรอีนเกินขนาด) ส่วนฮอว์ครับบทแฮงค์น้องชาย

ภาพยนตร์เล่าเรื่องโดยดำเนินเรื่องไปข้างหน้า ย้อนกลับสู่อดีต สลับไปมาแบบนี้ มันเป็นเรื่องราววีรกรรมของสองพี่น้องคู่นี้ที่ต่างประสบปัญหาด้านการเงิน แอนดี้เป็นผู้บริหารด้านการเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่กำลังถูกตรวจสอบเพราะยักยอกเงิน ส่วนแฮงค์เป็นพ่อม่ายที่ต้องการเงินไปจ่ายค่าเลี้ยงดูลูก

เมื่อจนปัญญาจะหาหนทาง แอนดี้จึงวางแผนการปล้นโดยชักชวนแฮงค์เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อความปลอดภัยและให้แผนรัดกุมที่สุด แอนดี้เสนอว่าพวกเขาจะปล้นร้านเพชรของพ่อแม่ เพราะมันจะไม่สร้างอันตรายให้ใคร และพ่อแม่ก็ไม่ได้ผลกระทบแต่อย่างใด เพราะอย่างไรเสียประกันก็ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่แผนปล้นครั้งนี้ก็พังไม่เป็นชิ้นดี เพราะแฮงค์ไปดึงคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่ได้ปรึกษาแอนดี้ เรื่องราวจึงบานปลายส่งผลให้มีคนถึงแก่ความตายในที่สุด

Boyhood (2014)
พ่อที่คิดถึงลูกทุกปี

ส่วนใหญ่แล้วภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องตัวละครในช่วงเวลายาวนานสิบยี่สิบปีมักจะใช้นักแสดงคนละชุดตามช่วงวัยกัน แต่ผู้กำกับฯ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ กลับบ้าบิ่น เพราะเขาเลือกที่จะใช้นักแสดงชุดเดิมตลอดเวลา 12 ปีในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ และนักแสดงทุกคนต่างใช้สัญญาใจในการทำงาน เพราะกฎหมายระบุว่าสัญญาจ้างงานมีอายุเพียง 7 ปีเท่านั้น หากยาวนานเกินกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย

ริชาร์ดและทีมงานมารวมตัวกันทุกปีเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยวิธีการทำงานของเขาคือการถ่ายภาพยนตร์สั้นที่มีความยาว 10-15 นาทีหลายเรื่องตลอดระยะเวลา 12 ปี โดยแต่ละเรื่องจะแสดงให้เห็นถึงแต่ละช่วงอายุของเด็กชายคนหนึ่ง จากนั้นจึงนำทั้งหมดมาตัดต่อรวมกันเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว

จุดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่เมสัน เด็กชายวัย 6 ขวบที่อาศัยอยู่กับแม่และพี่สาว เนื่องจากพ่อแม่ของเขาหย่าร้างกัน ฮอวค์รับบทพ่อผู้ที่นานๆ ครั้งจะมาเยี่ยมครอบครัว และพาลูกๆ ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ไม่กี่ปีต่อมา แม่ของเมสันก็แต่งงานใหม่ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ล่วงผ่าน ชีวิตของเมสันและคนรอบข้างมีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากันไป

เราจะเห็นสายสัมพันธ์ที่ทั้งเปราะบางและเหนียวแน่น เห็นเด็กชายและเด็กหญิงที่ค่อยๆ เติบโต เห็นผู้เป็นแม่ที่ทุ่มเทให้ลูกๆ และพยายามไขว่คว้าความรักเพื่อชดเชยส่วนที่ขาด เห็นผู้เป็นพ่อที่คอยเข้าหาลูกๆ และพยายามผลักดันทุกอย่างให้เป็นไปในทางที่ดี แต่การเยียวยาบาดแผลเพื่อก้าวต่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า เพื่อที่จะไม่ต้องผิดพลาดหรือเสียใจซ้ำซากอีก บางครั้งก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป และบางทีมันก็เป็นเพราะใครสักคนได้เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองไว้แล้ว

Born to Be Blue (2015)
ศิลปินนักทรัมเป็ตแจ๊ซกับดนตรีเสียงเศร้า

หากนักเขียนต้องสูญเสียนิ้ว หากนักวิ่งต้องสูญเสียขา หากนักวาดต้องสูญเสียดวงตา ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่นั้นก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับ เชท เบเกอร์ ที่ต้องสูญเสียฟันหน้า แล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยการค้นหาเสียงจากการเป่าทรัมเป็ต เป็นอีกครั้งที่ได้เห็นความตั้งใจของฮอว์คในการสำรวจลงลึกทุกรายละเอียดของตัวละคร กับบทของ เชท เบเกอร ศิลปินนักทรัมเป็ตแจ๊ซผู้ครอบครองสำเนียงดนตรีแสนเศร้า เจ้าของสมญานามเจมส์ ดีน แห่งวงการเพลงแจ๊ซที่โลกนี้ไม่มีวันลืม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ระบุว่าเป็นเรื่องกึ่งจริงกึ่งสมมติและเลือกที่จะเล่าเรื่องราวของเชท เบเกอร์ หลังจากผ่านยุครุ่งโรจน์ของชีวิตมาแล้วช่วงหนึ่ง ในช่วงเริ่มต้นอาชีพ เบเกอร์ก้าวสู่การเป็นนักดนตรีแจ๊ซชั้นนำพร้อมๆ กับเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด ซึ่งเป็นผลพวงให้ชีวิตดิ่งลงเหวอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี 1966 เขาถูกรุมทำร้ายจากมาเฟียค้ายา จนต้องเสียฟันหน้าไป และนั่นทำให้เขาไม่สามารถเป่าทรัมเป็ตได้ดังเดิม

ภาพเบเกอร์ในอ่างอาบน้ำที่ลองเป่าทรัมเป็ตเป็นครั้งแรกหลังสวมฟันปลอมช่างน่าเศร้าเสียยิ่งกว่าช่วงเวลาทั้งหมดที่ผ่านมา แต่ถึงมันจะฟังดูสิ้นหวัง เขาก็พยายามอีกครั้งพยายามมากขึ้นและมากขึ้น พอถึงช่วงปลายปีนั้น เบเกอร์ก็กลับมาเริ่มแสดงดนตรีได้อีกครั้ง แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่ที่แน่ๆ เขาเลิกข้องแวะกับยาเสพติดโดยสิ้นเชิงผมต้องการชีวิตของผมกลับคืนมาเพื่อหวนคืนสู่เส้นทางดนตรีที่เขาเคยจากพรากไปอีกครั้ง

First Reformed (2017)
สาธุคุณผู้จ่อมจมในความเศร้า

เขียนบทและกำกับฯ โดย พอล ชเรเดอร์ มือเขียนบทภาพยนตร์ชื่อดังอย่างเรื่อง Taxi Driver (1976) ซึ่งเขาเคยบอกว่า ตอนที่ตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาอดประหลาดใจไม่ได้ว่ามันมีบางอย่างคล้ายคลึงกับเรื่อง Taxi Driver แต่บทเรื่อง First Reformed นั้น เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสิ้นหวังของตัวเองที่ส่งผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศบนโลก

ฮอว์คซึ่งรับบทนำในเรื่องนี้กล่าวถึงการแสดงของเขาอย่างชัดเจนว่าเราจะไม่พยายามสร้างความบันเทิงให้คุณ แต่เราพยายามทำอย่างอื่น ซึ่งจะเป็นการเชิญคุณเข้าสู่ภาพยนตร์เรื่องนี้

บาทหลวงทอลเลอร์ผู้ยึดมั่นในคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า อาศัยอยู่อย่างสันโดษในเมืองอันห่างไกล เก็บความโศกเศร้าจากการสูญเสียลูกชายในสงครามอิรักไว้ในใจ และใช้ชีวิตไปตามครรลองของตัวเอง แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อบาทหลวงทอลเลอร์ได้พูดคุยกับแมรี่ สมาชิกของโบสถ์ที่ตั้งครรภ์ และมาขอคำปรึกษาเรื่องครอบครัว

สามีของแมรี่เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังพิจารณาเรื่องการฆ่าตัวตาย และต้องการให้แมรี่ทำแท้ง เพราะเขาเห็นว่าโลกนี้ช่างต่ำทราม ทั้งสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงทุกที และระบบทุนนิยมที่กำลังมีชัยชนะเหนือทุกสิ่ง เหล่านี้คือเหตุที่ทำให้บาทหลวงทอลเลอร์ต้องหาหนทางต่อสู้กับวิกฤตศรัทธาในการมีชีวิต เขาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของนายทุน ในขณะที่คนกลุ่มนั้นก็คือผู้สนับสนุนหลักของเครือข่ายคริสตจักรในเมืองนี้ ศาสนาที่เขายึดมั่นจะมีคำตอบให้เขาหรือไม่? ถึงที่สุดแล้ว เขาควรทำอย่างไร? และสิ่งที่หลงเหลืออยู่นั้นคือความหวังหรือสิ้นหวังกันแน่?

Tags: , , , ,