หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดตัวขบวนรถนอนใหม่ 115 คัน ไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน และปล่อยขบวนปฐมฤกษ์ 2 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 9 และ 10 ‘อุตราวิถี’ กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ และขบวนรถด่วนพิเศษที่ 23 และ 24 ‘อีสานวัตนา’ กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ ไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (ส่วนเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ‘อีสานมรรคา’ และกรุงเทพ-หาดใหญ่ ‘ทักษิณารัถย์’ เปิดให้บริการต้นเดือนธันวาคม)

The Momentum ได้มีโอกาสโดยสารขบวนรถนอนใหม่ โดยเลือกขบวนรถด่วนพิเศษที่ 23 อีสานวัตนา มีจุดหมายที่จังหวัดอุบลราชธานี ตู้ที่เราโดยสารเป็นรถนอนปรับอากาศชั้น 1 ซึ่งเป็นประเภทรถที่ดีที่สุดของ รฟท. แต่เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว เรามีภาพจากตู้นอนชั้น 2 และรถเสบียงมาให้ชมกันด้วย

บอกเลยว่า หลังจากการโดยสารขบวนรถนอนใหม่ครั้งนี้ เราพบรายละเอียดและสิ่งอำนวยความสะดวกที่น่าสนใจทั้งหมด 9 ข้อ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นปฐมบทมาตรฐานใหม่ของรถไฟไทยก็ว่าได้

จอแอลอีดีแบบทัชสกรีน
ที่สามารถสั่งอาหารให้บริกรเดินมาส่งอาหารและเครื่องดื่มได้ที่ห้อง
เลือกชมรายการบันเทิง ทั้งภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอในช่องต่างๆ
โดยขอหูฟังจากพนักงานประจำตู้เพื่อรับชมความบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ

1. เอี่ยมอ่องอรทัย ใหม่ถอดด้าม

เราเดินทางถึงสถานีกรุงเทพก่อนเวลารถออกเล็กน้อย และขบวนรถกำลังจอดเทียบที่ชานชาลา ตัวรถใหม่เอี่ยม ทำความสะอาดอย่างดีทุกครั้งก่อนให้บริการ และที่สะดุดตาเราในครั้งแรกจากภายนอกคือ ป้ายบอกรายละเอียดขบวนและเลขตู้เป็นไฟจอแอลอีดี พื้นสีดำ อักษรสีขาว ขึ้นสลับระหว่างภาษาไทยและอังกฤษ ส่วนระบบประตูได้มีการพัฒนาให้รองรับชานชาลาพื้นสูงเสมอระดับกับพื้นในตู้ขบวน และสามารถเคลื่อนกางออกเป็นบันไดเมื่อเปิดประตูได้สำหรับชานชาลาพื้นต่ำ โดยตัวรถนั้นทาง รฟท. ได้สั่งผลิตจากบริษัท CRRC (China Railway Rolling Stock Corporation) จำกัด และทยอยส่งมอบให้ รฟท. ไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

2. รถนอนชั้น 1 โรงแรมเคลื่อนที่ พร้อมฟรี Wi-Fi

เมื่อเดินเข้าไปในตู้นอนชั้น 1 (บนอ.ป.) ประกอบด้วยห้อง 12 ห้อง แต่ละห้องจุผู้โดยสารได้ 1-2 คน ซึ่งระบบการจองตั๋วจะคัดเลือกให้ผู้โดยสารเพศเดียวกันอยู่ในห้องเดียวกันเสมอ (เว้นแต่ว่ามาจองด้วยกัน ระบบจะแจ้งเป็นเพศใดเพศหนึ่ง) ที่นั่งด้านในจะหันด้านสลับกันไปในแต่ละห้อง และสามารถเปิดที่กั้นระหว่างห้องได้ เหมาะสำหรับผู้โดยสารที่มากันเป็นครอบครัว และจองห้องติดกันแบบหันหน้าเข้าหากัน

สิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารชั้น 1 นั้นก็มีหลากหลายมากขึ้นกว่าตู้รถนอนชั้น 1 รุ่นเดิม ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ จอแอลอีดีแบบทัชสกรีน ที่สามารถสั่งอาหารให้บริกรเดินมาส่งอาหารและเครื่องดื่มได้ที่ห้อง เลือกชมรายการบันเทิง ทั้งภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอในช่องต่างๆ โดยขอหูฟังจากพนักงานประจำตู้เพื่อรับชมความบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ เราลองกดเลือกช่องต่างๆ ดู พบว่าเป็นวิดีโอแนะนำขบวนรถไฟ มิวสิกวิดีโอเพลงเทิดพระเกียรติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งทาง รฟท. ชี้แจงว่าอยู่ในช่วงไว้อาลัย จึงยังไม่ใส่ภาพยนตร์ลงไป

นอกจากนี้ ผู้โดยสารสามารถเลือกดูข้อมูลการเดินทาง ซึ่งรถไฟขบวนนี้มีระบบจีพีเอสแบบเรียลไทม์ จึงสามารถบอกได้ว่ารถไฟวิ่งอยู่ที่ใด สถานีก่อนหน้าและสถานีต่อไปคืออะไร รถวิ่งที่ความเร็วเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้โดยสารมั่นใจว่าจะไม่ลงรถไฟเลยป้าย และยังมีรายละเอียดการใช้ห้องน้ำและห้องอาบน้ำในตู้อยู่ที่มุมขวาล่างว่ามีผู้ใช้งานอยู่หรือไม่

ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายในห้องก็ยังมีกระจกแต่งหน้า ซึ่งสามารถเปิดฝาเพื่อเก็บแก้วน้ำ เครื่องใช้เล็กๆ น้อยๆ ได้ พร้อมอ่างล้างหน้า, ปลั๊กไฟ 220 โวลต์ พร้อมไฟส่องสว่างที่หัวนอน, ช่องเสียบชาร์จแบบ USB, ปุ่มเปิด-ปิดไฟในห้อง และปุ่มเรียกพนักงาน เมื่อผู้โดยสารกดปุ่มนี้ ไฟสีแดงเหนือประตูหน้าห้องจะสว่างขึ้น และจะมีสัญญาณเข้าไปในห้องพนักงานประจำตู้ เพื่อแจ้งให้พนักงานทราบ รวมถึงประตูห้องนอนมีผังแจ้งห้องต่างๆ ภายในตู้ และช่องตาแมว

และพิเศษสำหรับผู้โดยสารรถนอนปรับอากาศชั้น 1 สามารถใช้ Wi-Fi ได้ฟรี 45 นาที ต่อการเชื่อมต่อ 1 ครั้ง เราทดลองเชื่อมต่อแล้วพบว่าเชื่อมต่อได้รวดเร็วดี สัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วมาตรฐาน ไม่เร็วปรู๊ดปร๊าดแต่ก็ไม่ถึงกับสะดุดจนใช้การไม่ได้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นการแปลงสัญญาณ 3G/4G ผ่าน Wi-Fi Router และแชร์พร้อมกันหลายเครื่อง จึงอาจมีปัญหาสัญญาณในบางครั้ง

3. รถนอนชั้น 2 เหมือนจะคล้ายเดิม แต่เพิ่มเติมคือปลั๊กไฟ และจอดูข้อมูล

เราเดินออกจากตู้นอนชั้น 1 ไปยังตู้นอนชั้น 2 (บนท.ป.) พบว่าในตู้โดยสารมีลักษณะคล้ายตู้นอนชั้น 2 รุ่นเดิม คือไม่มีการแบ่งเป็นห้อง เก้าอี้แบ่งเป็นสองฝั่งหันหน้าเข้าหากัน และเตียงที่พับกางลงมาได้ แต่ที่พิเศษกว่าในรถนอนรุ่นใหม่คือ ปลั๊กไฟพร้อมไฟส่องสว่างในทุกที่นอน จอแอลอีดีที่แจ้งเลขตู้และรายละเอียดการเดินทาง และการใช้สุขาที่แขวนไว้บนเพดานเหนือทางเดิน โดยรายละเอียดบนจอคล้ายกับจอในตู้ชั้น 1 แต่ไม่เป็นระบบทัชสกรีน และเลือกช่องรายการความบันเทิงไม่ได้ นอกจากนี้ หากผู้โดยสารนำสัมภาระที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าช่องสัมภาระข้างที่นั่งผู้โดยสารจะวางได้ภายในตู้รถนอนชั้น 2 บริเวณห้องน้ำยังมีช่องสำหรับใส่สัมภาระเกินขนาด ซึ่งจากการทดลองใส่จักรยานพับขนาดวงล้อ 20 นิ้ว ก็สามารถใส่ได้พอดี
Tips: ผู้โดยสารสามารถนำสัมภาระติดตัวขึ้นรถไฟได้ โดยสัมภาระนั้นต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 50 กิโลกรัมสำหรับผู้โดยสารชั้น 1 และไม่เกิน 40 กิโลกรัมสำหรับผู้โดยสารชั้น 2 และมีขนาดที่สามารถเก็บในช่องสัมภาระได้ (มิติกว้างXยาวXสูง ด้านละไม่เกิน 50 ซม.) หากมีขนาดใหญ่หรือน้ำหนักเกินกว่าช่องสัมภาระจะรับได้ ผู้โดยสารต้องเสียค่าระวาง (เทียบได้กับค่าซื้อน้ำหนักบนเครื่องบิน) เพิ่มเติม

พื้นในห้องสุขาและห้องอาบน้ำเป็นพื้นยางกันลื่น
เรียกได้ว่านอกจากจะสะอาดแล้ว ยังปลอดภัยอีกด้วย

4. สุขาระบบสุญญากาศ สะอาด ปลอดภัย ไม่แพร่กระจายสิ่งปฏิกูล

สำหรับสุขาขบวนรถนอนรุ่นใหม่นี้ ทาง รฟท. แจ้งว่าสุขาเป็นระบบปิดทั้งขบวน ไม่มีการปล่อยสิ่งปฏิกูลลงบนทางรถไฟ โถสุขภัณฑ์เป็นระบบสุญญากาศ หลังจากกดชำระเพื่อทำความสะอาด สิ่งปฏิกูลจะถูกลมดูดหายลงไปในถังพัก (หลักการเดียวกับสุขาบนเครื่องบิน) นอกจากนี้ พื้นในห้องสุขาและห้องอาบน้ำเป็นพื้นยางกันลื่น เรียกได้ว่านอกจากจะสะอาดแล้ว ยังปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งห้องสุขานี้จะมีอยู่ในทุกตู้ โดยมีห้องสุขาแบบชักโครก 2 ห้อง และห้องสุขาแบบโถปัสสาวะ 1 ห้องเหมือนกันทั้งในตู้ชั้น 1 และชั้น 2 แต่สิ่งอำนวยความสะดวกจะแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ตู้ชั้น 1 มีห้องอาบน้ำ แต่ตู้ชั้น 2 จะเป็นอ่างล้างหน้าพร้อมกระจกบานใหญ่ให้แทน

ที่น่าสังเกตคือ มีสินค้าประเภท Non-Food จำหน่ายในตู้เสบียงด้วย
ไม่ว่าจะเป็น ผ้าอนามัย แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แป้ง ยาดม
ไปจนถึงยาแก้ไข้และแก้ท้องเสีย
ถือว่ามีร้านสะดวกซื้อขนาดย่อมๆ ในตู้เสบียงก็ว่าได้

5. ตู้เสบียงกว้างสบาย มีขายมากกว่าอาหาร (แต่เป็นอวสานของนักสูบและนักดื่ม)

ตู้เสบียง (บกข.ป.) ในชุดขบวนรถนอนชุดใหม่นี้มีการแบ่งสัดส่วนชัดเจน ทั้งส่วนของห้องครัว เคาน์เตอร์ขายอาหาร และที่นั่งรับประทานอาหาร ซึ่งจะมีเอกชนมารับช่วงต่อในการบริหารจัดการ โดยได้บริษัทในเครือซีพีมาเป็นผู้บริหารจัดการตู้เสบียงในช่วง 1 ปีแรกของการเดินรถ เราหยิบเมนูอาหารมาดู และมองไปยังกล่องอาหารที่วางเตรียมไว้ พบว่าเป็นแซนด์วิช อาหารกล่องแช่แข็ง และไส้กรอก และไม่มีระบบการปรุงสดจากในครัว (เนื่องด้วยเหตุผลความปลอดภัยในการป้องกันอัคคีภัยจากการปรุงอาหาร) แต่เมนูอาหารมีหลากหลายกว่าเดิม (โดยเฉพาะกาแฟสด!)

ส่วนคุณภาพและรสชาตินั้นก็ได้มาตรฐานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารยักษ์ใหญ่ ราคาก็ไม่ถีบตัวสูงจากราคาปกติเท่าใดนัก และที่น่าสังเกตคือ มีสินค้าประเภท Non-Food จำหน่ายในตู้เสบียงด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าอนามัย แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แป้ง ยาดม ไปจนถึงยาแก้ไข้และแก้ท้องเสีย ถือว่ามีร้านสะดวกซื้อขนาดย่อมๆ ในตู้เสบียงก็ว่าได้ รวมไปถึง Wi-Fi ให้ใช้ฟรี 45 นาที เช่นเดียวกับในตู้ชั้น 1

ส่วนใครที่จะมองหาเบียร์ สุรา บุหรี่ หรือที่สูบบุหรี่บนรถไฟขบวนนี้ เราก็ต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะ รฟท. ไม่อนุญาตให้จำหน่าย รวมถึงไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารดื่มสุราและสูบบุหรี่บนขบวนรถทุกประเภท ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2555 (ที่มา : http://old.ddc.moph.go.th/law/showimg5.php?id=147)
Tips: ตู้เสบียงปิดให้บริการเวลา 00.00-05.00 น.

ฟูกที่นอนนั้นไม่แข็งและไม่นิ่มจนเกินไป หมอนก็นุ่มสบายกำลังดี
และอาการสั่นโยกเยกก็น้อยกว่าตู้โดยสารรุ่นเก่าอย่างเห็นได้ชัด

6. ทดลองนอนจริง นิ่มและนุ่ม

เราเดินกลับมายังห้องนอนในตู้ชั้น 1 ขณะเดียวกับที่พนักงานก็กำลังปรับเปลี่ยนจากที่นั่งเป็นที่นอนอย่างคล่องแคล่ว ไม่ถึง 2 นาที เบาะผ้ากำมะหยี่ที่นั่งสีชมพูเข้มก็ถูกปรับเป็นที่นอนกว้างขวางแสนสบาย และจากการขึ้นไปนอนบนเตียงก็พบว่าฟูกที่นอนนั้นไม่แข็งและไม่นิ่มจนเกินไป หมอนก็นุ่มสบายกำลังดี และอาการสั่นโยกเยกก็น้อยกว่าตู้โดยสารรุ่นเก่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใครที่นอนดิ้นแล้วกลัวว่าจะตกเตียง รถนอนในขบวนนี้ก็มีที่กั้นสเตนเลสให้อย่างแน่นหนา แม้ว่าม่านตรงหน้าต่างจะบางจนแสงลอดมารบกวนการนอนบ้าง แต่ขณะนี้ทาง รฟท. รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว เพื่อแก้ไขให้แสงลอดเข้ามาน้อยกว่าเดิม

ตู้นอนชั้น 2 ที่อยู่ติดกับตู้นอนชั้น 1 นั้น
พนักงานประจำตู้เป็นผู้หญิงทั้งหมด
ซึ่งแตกต่างจากตู้นอนตู้อื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้ชาย
จากการสอบถามจากเจ้าหน้าที่จึงได้ความว่าตู้นอนชั้น 2 ดังกล่าวนี้คือ
ตู้เลดี้คาร์

7. ไม่ใช่แค่ ‘ใหม่’ แต่ยัง ‘ปลอดภัย’ รอบด้าน

ความปลอดภัยระหว่างการเดินทางคือสิ่งสำคัญ รถไฟขบวนนี้ก็เช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าหน้าที่คอยตรวจตราเป็นระยะ แต่ยังมี ‘ผู้ช่วย’ อีกหลายรูปแบบที่จะช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับผู้โดยสาร

หลังจากผ่านการเดินทางมาเกือบตลอดคืน เช้าวันใหม่ จากหน้าจอตรงที่นอนแจ้งว่ารถไฟเพิ่งวิ่งออกจากสถานีศรีสะเกษมาเล็กน้อย เราตัดสินใจลุกออกจากห้องนอนเพื่อเดินไปกินอาหารเช้าที่ตู้เสบียงอีกครั้ง และสังเกตว่าตู้นอนชั้น 2 ที่อยู่ติดกับตู้นอนชั้น 1 นั้น พนักงานประจำตู้เป็นผู้หญิงทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากตู้นอนตู้อื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้ชาย จากการสอบถามจากเจ้าหน้าที่จึงได้ความว่าตู้นอนชั้น 2 ดังกล่าวนี้คือ ตู้เลดี้คาร์ รับเฉพาะผู้โดยสารสุภาพสตรีเท่านั้น ซึ่งพนักงานประจำตู้จึงต้องเป็นผู้หญิงทั้งหมดด้วยเช่นกัน

เมื่อเราแหงนขึ้นไปเหนือประตูระหว่างตู้ ก็เจอกับกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งในทุกตู้ โดยภาพทั้งหมดจะส่งไปยังห้องพนักงานในตู้ Power Car ช่วยสอดส่องเหตุการณ์ในทุกตู้ให้ผู้โดยสาร ประตูด้านหน้าที่ไม่ได้มีเพียงแค่ความไฮเทคในการกางบันได แต่ยังป้องกันการถูกหนีบแบบเดียวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยจะดีดกลับอัตโนมัติเมื่อประตูหนีบสิ่งกีดขวาง รวมไปถึงที่ดับเพลิงที่ติดตั้งในทุกตู้โดยสาร

ไม่เพียงเท่านี้ ระบบเบรกของรถไฟขบวนนี้เป็นระบบดิสก์เบรก พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก (ABS) และวัสดุภายนอก-ภายในตู้โดยสารแบบไม่ติดไฟ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้โดยสารว่าปลอดภัยอย่างรอบด้าน

มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการ
ทั้งที่เก็บรถเข็นพร้อมรถวีลแชร์สำรอง
ลิฟต์ยกรถเข็นจากชานชาลาเข้าสู่ตู้โดยสาร
รวมไปถึงการออกแบบพื้นตู้โดยสารแบบเสมอระดับ
และไม่มีช่องว่างระหว่างข้อต่อขบวน

8. Universal Design เพื่อผู้โดยสารทุกคน

เรานั่งจิบกาแฟร้อน (แน่นอนว่าเป็นเอสเพรสโซ) กับแซนด์วิชทูน่า มองพระอาทิตย์ค่อยๆ โผล่ขึ้นฟ้า ทอแสงสีส้มลงบนท้องนา ความเย็นจากเครื่องปรับอากาศไม่เย็นและไม่ร้อนจนเกินไป แล้วหันไปมองตู้นอนที่อยู่ถัดจากตู้เสบียง และเห็นห้องใหญ่ๆ ห้องหนึ่งกั้นอยู่ ด้วยความสงสัยจึงเดินออกจากตู้เสบียงเพื่อไปที่ห้องที่อยู่ตู้นั้น ระหว่างก่อนข้ามไปอีกตู้พบว่าเป็นห้องโล่งๆ ปรากฏว่าเป็นพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับคนพิการ และเมื่อข้ามไปอีกตู้ ห้องใหญ่ๆ ที่กั้นอยู่นั้นคือห้องน้ำคนพิการ และบริเวณโดยรอบก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการ ทั้งที่เก็บรถเข็นพร้อมรถวีลแชร์สำรอง ลิฟต์ยกรถเข็นจากชานชาลาเข้าสู่ตู้โดยสาร รวมไปถึงการออกแบบพื้นตู้โดยสารแบบเสมอระดับและไม่มีช่องว่างระหว่างข้อต่อขบวน เพิ่มความสะดวกในการเข็นรถข้ามไปมาระหว่างตู้ เรียกได้ว่าออกแบบมารองรับผู้โดยสารทุกคน ทั้งคนปกติและอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ต้องใช้รถเข็นอย่างแท้จริง

9. แม้จะมีราคาพอๆ กับสายการบินโลว์คอสต์ แต่มีเหตุผลมากกว่าสโลว์ไลฟ์

รถไฟเดินทางถึงสถานีอุบลราชธานีในเวลา 06.40 น. ช้ากว่าเวลาที่ระบุในตั๋ว 10 นาที เพราะเสียเวลารอหลีกทางให้รถไฟอีกขบวนที่สถานีกันทรารมย์ อากาศช่วงปลายฝนต้นหนาวของที่นี่กำลังเย็นสบาย ฟ้าเพิ่งสว่างได้ไม่นานนัก เราแบกกระเป๋าลงจากรถ เดินออกจากสถานี เพื่อเตรียมตัวเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองต่อไป

ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 800 กว่าบาทสำหรับรถนอนชั้น 2 และ 1,100 บาทขึ้นไปสำหรับชั้น 1 จะสู้สายการบินราคาประหยัดได้ไหม ราคานี้ขึ้นรถทัวร์หรือเครื่องบินไม่ดีกว่าหรือ แล้วการเดินทางแบบนี้เหมาะกับใคร?

ลองดูเหตุผลต่อไปนี้ อาจทำให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

– คุณต้องการความสะดวกสบายในระหว่างการเดินทางในตอนกลางคืน ที่นอนที่นอนได้จริง ไม่ใช่แค่เบาะปรับเอน

– คุณต้องการถึงที่หมายในตอนเช้าตรู่อย่างสดชื่น ไม่อยากสะโหลสะเหลตื่นตี 3 เพื่อไปเช็กอินที่สนามบินสำหรับเที่ยวบินรอบ 6 โมงเช้า และการออกเดินทางในช่วงเย็นหรือหัวค่ำเพื่อเดินทางข้ามคืนไม่ใช่อุปสรรคสำหรับคุณ

– คุณต้องการขึ้น-ลงระหว่างทาง ซึ่งการเดินทางไปสนามบินไม่สะดวกเท่า (รถไฟขบวนนี้จอดรายจังหวัดและอำเภอใหญ่ๆ โปรดสอบถามการจอดในแต่ละขบวนกับเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ อีกครั้ง)

– คุณไม่อยากลุ้นว่าค่าโดยสารจะขึ้นลงตามโปรโมชันและอุปสงค์-อุปทาน เพราะรถไฟจองช่วงเวลาไหนก็ราคาเดิม แม้สายการบินจะออกโปรโมชันอยู่บ่อยๆ แต่ถ้าจองตั๋วเครื่องบินช่วงเทศกาลหรือวันหยุดพิเศษ ค่าโดยสารอาจพุ่งกว่า 2,000 บาท

ถ้าคุณมีเหตุผลที่ถูกใจมากกว่า 3 ข้อ หรือเห็นด้วยทั้งหมด แล้วอยากสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการเดินทางด้วยรถไฟที่ไม่ ‘ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง’ อีกต่อไป ก็ออกไปจองตั๋วกันที่สถานีรถไฟ หรือติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของ รฟท. ได้เลย!

Tips: 

– แม้ รฟท. จะกำลังปรับปรุงระบบการจองตั๋วโดยสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่คุณก็สามารถสอบถามที่นั่งว่าง และทำการจองตั๋วได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 1690

– สามารถจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าสูงสุด 60 วัน หากไปจอง โปรดเตรียมระบุชื่อ และเลขประจำตัวประชาชนของผู้โดยสารทุกคนไว้ด้วย เพราะ รฟท. ทำประกันอุบัติเหตุให้กับผู้โดยสารทุกที่นั่ง

– จองตั๋วรถไฟก็ไม่ต่างกับการซื้อตั๋วหนัง เตรียมข้อมูลในใจให้พร้อม แล้วบอกพนักงานว่าจะขึ้นที่ไหน ลงที่ไหน ไปเมื่อไหร่ รถประเภทอะไร แล้วเจ้าหน้าที่จะหาที่ว่างและออกตั๋วให้คุณ

– ได้ตั๋วมาแล้ว รักษาไว้ให้ดี การรถไฟฯ ไม่รับผิดชอบหากสูญหาย แต่คุณสามารถถ่ายภาพตั๋วเก็บไว้ได้ หากตั๋วหายก็สามารถไปแจ้งความ แล้วนำใบแจ้งความพร้อมภาพถ่ายตั๋วไปยังสถานีรถไฟเพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกตั๋วใหม่ให้ได้ อุ่นใจเรื่องตั๋วแล้วก็นับวันรอเดินทางกัน!

DID YOU KNOW?

Did You Know?

ชื่อของขบวนรถไฟทั้ง 4 สายนี้ พระราชทานนามโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี