ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายในสเปนยังคงยื้อยุดกันในการเมืองว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติ ข้างหนึ่งเรียกร้องความรู้รักสามัคคี ข้างหนึ่งต้องการเยียวยาเหยื่อของระบอบทหาร ร่างกฎหมายความทรงจำแบบประชาธิปไตยที่รัฐบาลสังคมนิยมเสนอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นความพยายามล่าสุดของฝ่ายหลัง

ถึงแม้ท่านจอมพลฟรังซิสโก ฟรังโก บาฮามอนเด สิ้นชีพไปเป็นเวลา 45 ปีแล้ว ทว่าระบอบเผด็จการที่กินเวลา 36 ปีของเขาได้ทิ้งบาดแผลไว้กับชาวสเปนนับล้าน ประมาณกันว่า ในช่วงปี 1939-1975 มีประชาชนถูกกองกำลังความมั่นคงสังหารราว 15,000-50,000 คน 

จนป่านนี้ ญาติพี่น้องของผู้ถูกสังหารจำนวนมากไม่อาจรู้ได้ว่า ศพของบุคคลอันเป็นที่รักถูกฝังไว้ที่ไหน เพราะไม่เคยมีบันทึกเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของสุสานหมู่ ไม่เคยมีพิธีฝังอย่างเหมาะสม ไม่เคยมีป้ายชื่อหลุมศพ 

ประเทศควรจารึกหน้าประวัติศาสตร์ยุคเผด็จการทหารอย่างไร กำลังเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงสารพันในสเปน นี่ยังไม่นับประเด็นที่ว่า สเปนควรมีสถาบันกษัตริย์ต่อไปหรือไม่ แว่นแคว้นต่างๆ ควรมีสิทธิปกครองตนเองมากน้อยแค่ไหน 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สังคมคุกรุ่นด้วยการโต้แย้งในประเด็นอ่อนไหว สเปนยังคงเดินหน้าหาข้อยุติด้วยอำนาจอธิปไตยของปวงชน ผ่านกลไกรัฐบาล รัฐสภา และศาลสถิตยุติธรรม 

ยุคขวาพิฆาตซ้าย 

ระบอบฟรังโกถือกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามกลางเมืองในช่วงปี 1936-1939 ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสเปนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่สองเมื่อปี 1931 ต่อมาในปี 1936 กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้ง ฝ่ายขวาพ่ายคะแนนเพียงฉิวเฉียด ฟรังโกเข้าร่วมกับคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายนิยมสาธารณรัฐแต่ไม่สำเร็จ 

จากนั้น ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายนิยมลัทธิฟาสซิสม์จึงเข้าห้ำหั่นกัน การสู้รบปิดฉากในปี 1939 ด้วยชัยชนะของฝ่ายฟรังโก เขาปกครองสเปนด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จจนถึงวันตายในปี 1975 

หลังจากมรณกรรมของเขา 2 วัน ฆวน การ์โลส พระราชนัดดาของกษัตริย์องค์สุดท้ายของสเปนก่อนสถาบันกษัตริย์ถูกยกเลิกเมื่อปี 1931 ได้ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน สเปนหวนกลับเป็นราชอาณาจักรอีกครั้ง

ระบอบปกครองของฟรังโกจับกุมคุมขังและเข่นฆ่าผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวาง บรรดาองค์กรรณรงค์ประเมินว่า มีคนเสียชีวิตในสงครามกลางเมืองราว 100,000 คน เมื่อรวมกับจำนวนผู้ถูกสังหารในยุคเผด็จการทหารที่ตามมา ตัวเลขการสูญเสียอาจเป็นรองแค่กัมพูชา

ค้นหาศพคืนให้ญาติ 

พรรคสังคมนิยมของสเปนชูนโยบายสืบสานความทรงจำถึงผู้ตกเป็นเหยื่อตลอดมา ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 15 กันยายน รัฐบาลฝ่ายซ้ายให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความทรงจำแบบประชาธิปไตย’ (Law on Democratic Memory) 

สาระสำคัญของร่างกฎหมายที่จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ คือ จัดสรรงบประมาณสำหรับปี 2020 จำนวน 750,000 ยูโร หรือประมาณ 27.6 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการค้นหาและขุดสุสานหมู่ที่ฝังร่างของผู้ถูกสังหาร ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองจนสิ้นสุดยุคของฟรังโก 

กฎหมายดังกล่าวระบุว่า ภาระในการขุดสุสานหมู่ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐโดยกำหนดให้มีการสร้างฐานข้อมูลดีเอ็นเอเพื่อใช้ระบุตัวตนของศพ สร้างแผนที่ระบุพิกัดของสุสานหมู่ ซึ่งเชื่อว่ามีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และยกเลิกการเชิดชูเกียรติของเผด็จการตามสถานที่ราชการ

หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชส ผู้เป็นหัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ทวีตข้อความว่าความทรงจำ ความยุติธรรม และการเยียวยา ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ วันนี้ เราก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งด้วยการระลึกถึงเหยื่อในสงครามกลางเมืองและเหยื่อของเผด็จการ วันนี้ เราสมานบาดแผลอีกครั้ง เราจะมองไปยังอดีตด้วยความรู้สึกมีศักดิ์ศรียิ่งกว่าเดิม”  

จำอะไร จำอย่างไร

กฎหมายฉบับนี้เป็นการสานต่อพระราชบัญญัติความทรงจำทางประวัติศาสตร์’ (Historical Memory Law) ที่รัฐบาลสังคมนิยมของหัวหน้าพรรคคนก่อนหน้าเขา โฮเซ ลูอิส โรดริเกซ ซาปาเตโร ได้ผลักดันผ่านสภาเมื่อปี 2007 ในครั้งนั้น กฎหมายเพียงแต่เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ต้องการค้นหาและขุดสุสาน 

อย่างไรก็ตาม หลังจากพรรคการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม คือ พรรคประชาชน (Popular Party) ขึ้นครองอำนาจในปี 2011 รัฐบาลใหม่ได้ยกเลิกการสนับสนุนเหล่านั้น ด้วยข้ออ้างว่า ไม่ต้องการฟื้นฝอยหาตะเข็บ หรือสร้างความแตกแยก 

ร่างกฎหมายความทรงจำแบบประชาธิปไตยเป็นผลงานอันดับสองของซานเชสต่อจากการย้ายสุสานของฟรังโกออกจากอนุสรณ์สถานแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2019 โดยส่งไปฝังในสุสานของตระกูลฟรังโกที่ชานกรุงมาดริด

ร่างดังกล่าวยังกำหนดด้วยว่า อนุสรณ์สถานที่เคยฝังศพฟรังโกต้องเปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองและระบอบเผด็จการ คำพิพากษาความผิดของผู้ต่อต้านเผด็จการต้องถือเป็นโมฆะ พร้อมกับแต่งตั้งอัยการขึ้นตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงสงครามกลางเมืองและยุคเผด็จการ

ก่อนหน้านี้ การสอบสวนเจ้าหน้าที่ยุคฟรังโกไม่สามารถทำได้ เพราะติดขัดกฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายนี้ลงนามโดยบรรดาผู้นำทางการเมืองภายหลังมรณกรรมของฟรังโก ด้วยเหตุผลที่ว่า ชาติต้องการความสามัคคี  

ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาในสเปนคงขับเคี่ยวกันต่อไป ช่วงชิงความชอบธรรมในประเด็นที่ว่า สังคมควรจดจำอะไร และจดจำอย่างไร 

อ้างอิง

AFP via France24, 15 September 2020

El Pais, 15 September 2020

Tags: