แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้ ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต่างประสบและกำลังเร่งรัดในการแก้ไข ด้วยเหตุผลที่ว่าการย่อยสลายของพลาสติกหนึ่งชิ้นนั้นใช้เวลานานกว่าร้อยปี จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่นขึ้นรูปทรงได้อย่างใจ น้ำหนักเบา คงทน ฯลฯ เหล่านี้ที่ทำให้พลาสติกเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ตลอด 24 ชั่วโมง
พลาสติกสร้างความสะดวกสบายและให้ประโยชน์อะไรกับชีวิตเราบ้าง แค่หันไปรอบตัวเราก็จะพบคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์อาหาร อุปกรณ์การเกษตร เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนในยานพาหนะ ฯลฯ ไปจนกระทั่งเครื่องนุ่งห่ม ล้วนมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งสิ้น ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว พลาสติกยังมีส่วนช่วย ‘ลด’ การสูญเสียในทางอ้อม อาทิ การที่เครื่องบินใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบของชิ้นส่วน ทำให้น้ำหนักรวมของเครื่องบินลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ และลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเนื่องจากมีการผุกร่อนลดลง ในลอสแองเจลิสมีการนำลูกบอลปล่อยลงแหล่งน้ำเพื่อลดการระเหย หรืออย่างบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่สามารถช่วยรักษาคุณภาพสินค้าได้ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงลดการสูญเสียหรือทอนเวลาการหมดอายุของอาหารได้นานขึ้น
ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้เอง พลาสติกจึงได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมภาคต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่ใกล้ตัวที่สุดและเห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างธุรกิจอาหาร จากบรรจุภัณฑ์ที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาด และไม่ได้รับการกำจัดให้ถูกต้อง ซึ่งหากมองตามความเป็นจริงแล้ว พลาสติกเองไม่ได้เป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ฝ่ายเดียว เราต้องยืดอกยอมรับความจริงกันว่า มนุษย์เราเองต่างหากที่ใช้ประโยชน์จากพลาสติกได้ไม่สมประโยชน์ และขาดการจัดการที่ถูกต้อง จนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาถึงทุกวันนี้
แนวทางจัดการขยะที่สร้างผลลัพธ์
นับตั้งแต่ปัญหาขยะพลาสติกต่อระบบนิเวศ ได้ปรากฏชัดขึ้น เราก็ได้เห็นการตื่นตัวเรื่องการจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น และกำลังมีทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นในเยอรมนี ที่ติดตั้งตู้คืนขวดไว้ตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ทำให้คนนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาเปลี่ยนคืนเป็นเงิน ซึ่งวิธีนี้ได้ผลสองทางคือช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนนำขวดมาส่งต่อเพื่อรีไซเคิล และยังทำให้รัฐบาลลดรายจ่ายและลดเวลาในการจัดการขยะพลาสติกเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตสินค้าก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำขยะจากสินค้าของตนเองกลับมาจัดการ
หรืออย่างในสวีเดนที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมจัดการขยะพลาสติก ตั้งแต่ระดับครัวเรือนซึ่งถือเป็นต้นทางของขยะอย่างนวัตกรรมแยกสีขยะ 7 สี การสร้างท่อลำเลียงขยะอัตโนมัติที่เชื่อมตรงจากบ้านเรือนไปยังสถานที่จัดเก็บขยะซึ่งอยู่ใต้ดิน ไปจนถึงการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้สวีเดนถึงกับขาดแคลนขยะจนต้องประกาศนำเข้าขยะจากต่างประเทศเลยทีเดียว
นโยบายลดไปจนถึงงดใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ดูจะเป็นไม้ตายอันดับต้นๆ ที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไปและหักดิบ แต่ก็ให้ผลทางการสร้างการรับรู้และรณรงค์ตามมา เช่นเดียวกับประเทศไทยเองที่นโยบายงดให้ถุงพลาสติกของห้างร้าน กำลังเดินหน้า และผู้คนกำลังเริ่มปรับตัวด้วยการพกถุงผ้าหรือถุงใช้ซ้ำเวลาไปจับจ่าย
โรคระบาด ขยะพลาสติกก็ระบาด
การมาถึงของ โควิด-19 ได้สร้างปัญหาใหญ่ที่เป็นปัญหา ‘ร่วม’ ระดับโลกตามมา เพราะในเวลาเพียงไม่กี่เดือน แทบจะทุกประเทศล้วนประสบปัญหาขยะพลาสติกที่มาจากบรรจุภัณฑ์อาหารและหีบห่อสินค้าจากการสั่งซื้อแบบเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว จากมาตรการกักตัวที่หลายคนต้องใช้บริการซื้อขายแบบจัดส่งถึงประตูบ้าน รวมถึงการเฝ้าระวังการติดเชื้อที่ทำให้ทุกฝ่ายเคร่งครัดกับอุปกรณ์และภาชนะต่างๆ ด้วยการใช้พลาสติกแบบ ‘ใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ จนเกิดภูเขาขยะพลาสติกกองโตขึ้นหลายเท่า
มีการศึกษาปริมาณขยะพลาสติกจาก Food Delivery จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่าในช่วงเกิดการระบาดหนักของโควิด-19 และการประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 ขยะพลาสติกจาก Food Delivery มีการเติบโตมากว่า 100 % ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจะโตประมาณ 10-20% จากภาวะปกติ เท่านั้น
ในการจัดการระดับบุคคล เราทำอะไรได้บ้าง
เมื่อเราสั่งอาหารเดลิเวอรี่หนึ่งมื้อ สำหรับคนหนึ่งคน เชื่อได้ว่าเราสามารถนับขยะพลาสติกที่อาจจะมีทั้งแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และใช้ซ้ำได้ โดยเฉลี่ยแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ชิ้นต่อ 1 เมนู เพราะสิ่งที่แถมมาพร้อมกับอาหาร คือ ถุงหิ้วพลาสติก กล่องอาหาร ซองเครื่องปรุง ช้อนส้อมพลาสติก (กรณีที่ไม่ได้สั่งงด) และจะยิ่งเพิ่มทบทวีหากมีหลายเมนู เมื่อเกิดการเปรอะเปื้อน พลาสติกเหล่านั้นจะถูกรวมทิ้งลงถังขยะทั่วไป แต่ถ้าเราแยกประเภทพลาสติกจากขยะเหล่านี้ เราจะสามารถยืดอายุของพลาสติกให้ยาวนานขึ้น ด้วยการนำมาใช้ต่อ หรือนำส่งหน่วยงานหรือองค์กรที่รับขยะพลาสติกเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ที่ในตอนนี้เรียกได้ว่ามีโครงการหรือองค์กรที่รองรับการจัดการขยะพลาสติกแล้วทั้งหมด ซึ่งหากเคร่งครัดกับตัวเองสักนิด เราสามารถจัดการขยะพลาสติก ไม่ว่าจะมาจากบรรจุภัณฑ์อาหาร หรือพลาสติกทุกประเภท เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ก่อเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการ ‘วน’ เป็นโครงการรับถุงและเศษพลาสติกที่มีคุณสมบัติยืดได้ ไม่ว่าจะถุงบรรจุอาหาร ถุงช้อปปิ้ง ซองพลาสติกจากสินค้าเดลิเวอรี่ ฟิล์มห่อสินค้า ฯลฯ นำกลับมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นถุงพลาสติก ออกมาหมุนเวียนใช้ได้ใหม่ เป็นการใช้ประโยชน์จากพลาสติกได้สูงสุด โดยพลาสติกเหล่านั้นจะต้องเป็นพลาสติกที่ผ่านการล้างทำความสะอาดแล้ว และนำไปฝากทิ้งยังจุดรับต่างๆ ที่ตอนนี้มีอยู่หลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ในเพจ (Facebook : Won)
โครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนในช่วงวิกฤติ โควิด-19 เพราะมองเห็นปัญหาขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นสะพานส่งต่อขยะพลาสติก ไปยังหน่วยงานรีไซเคิลพลาสติกโดยตรง โครงการนี้รับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกแบบที่มีคุณสมบัติยืดได้ที่แห้งและสะอาด และพลาสติกแข็งในรูปบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะถูกส่งต่อไปยังกระบวนการรีไซเคิลขององค์กรที่ร่วมโครงการ (Facebook : ส่งพลาสติกกลับบ้าน)
โครงการ ‘แก้วแลกยิ้ม’ เป็นนวัตกรรมต้นแบบโครงการนำร่องสำหรับพนักงานในองค์กร ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดแยกและจัดเก็บแก้วพลาสติก PET ของทางร้านที่มี QR Code ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิด Circular Economy เพื่อนำไปแปรรูปและนำกลับมาใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า (Premium Product) และยังสามารถแลกของที่ระลึกผ่านการกดเบอร์โทรศัพท์เมื่อสะสมคะแนนครบตามกำหนด ซึ่งวิธีนี้หากนำไปใช้ในวงกว้าง จะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากแก้วพลาสติกที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ และยังทำให้ผู้บริโภคได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในตัวอีกด้วย
‘ฝาขวดน้ำพลาสติกสู่ชีวิตใหม่’ การจัดการขยะของ Precious Plastic Bangkok ซึ่งจะนำฝาขวดน้ำพลาสติกไปหลอมแล้วขึ้นรูปเป็นภาชนะพลาสติกชิ้นใหม่ ปัจจุบันมีจุดรับอยู่ในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และจัดส่งไปยังโครงการได้ (Facebook : Precious Plastic Bangkok )
‘Ecobrick’ อีโคบริก คือวัสดุที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างบ้านดิน โดยทุกคนสามารถทำอีโคบริกได้ง่ายๆ ด้วยการนำพลาสติก อย่างซองขนม ซองน้ำยาล้างจาน เศษสก็อตเทป ตัดเป็นชิ้นเล็กแล้วใส่ลงไปในขวดน้ำเปล่าให้แน่น ส่งต่อไปยังน้านิด แห่งสโมสรผึ้งน้อย (Facebook : ผึ้งน้อยนักสู้)
‘N15 Technology’ องค์กรที่รับขยะพลาสติกรีที่รีไซเคิลไม่ได้ นำไปคัดแยกและบดย่อยเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในเตาเผาปูนซีเมนต์ ซึ่งขอแนะนำว่าควรเป็นขยะที่ไม่มีที่ไปแล้วจริงๆ เพื่อให้ขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ ได้ทำหน้าที่ของการเป็นพลาสติกได้ยาวนานและเป็นประโยชน์ที่สุด (Facebook : N15 Technology)
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งขององค์กรและโครงการที่รองรับการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งเป็นทางเลือกที่ทำให้เรามีความหวังได้เห็นการเปลี่ยนวิถีไปสู่การเป็น New Normal ในการจัดการขยะ จนกลายเป็นเรื่อง ‘Normal’ ไปในที่สุด ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่การใช้พลาสติกหนึ่งชิ้นได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และจัดการหลังการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะการใช้ซ้ำ หรือนำมาสร้างมูลค่าใหม่ต่อไป
Tags: พลาสติก, ลดถุงพลาสติก, โควิด-19, ปตท., New Normal, PTT, plastic