ท่ามกลางบรรยากาศของบ้านเมืองที่สถานการณ์ฉุกเฉินเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ในทางกลับกัน สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเราที่อึดอัดขัดข้องจากการถูกจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพนานับการมานานนมจนถ้านับดูก็ปาเข้าไปหกปีแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น ทำให้หลายคนต้องหาหนทางต่างๆ ในการระบายความคับข้องอย่างแนบเนียน ศิลปะเองก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการแสดงออกอย่างแยบยล ในจำนวนนั้น มีผลงานในนิทรรศการหนึ่งที่เพิ่งเปิดตัวไปในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลายจนหอศิลป์เพิ่งเปิดทำการได้ไม่นาน นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า 841.594
นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของ วิทวัส ทองเขียว ศิลปินผู้จบการศึกษาทางศิลปะในระดับปริญญาตรี-โท-เอก จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยทักษะและฝีไม้ลายมืออันเชี่ยวชาญในการทำงานจิตรกรรมเหมือนจริงราวกับภาพถ่าย (Photorealism) ผลงานของเขาได้รับรางวัลในเวทีประกวดศิลปกรรมระดับชาติมากมาย และถูกสะสมโดยองค์กรสำคัญของประเทศ รวมถึงเป็นที่ยอมรับของนักสะสมงานศิลปะชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเส้นทางอาชีพศิลปินของเขานั้นราบรื่นราวกับโรยด้วยกลีบกุหลาบเลยก็ว่าได้
แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่เรื้อรังอย่างต่อเนื่องในระยะเวลากว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้วิทวัสหวนกลับมาฉุกคิดและตั้งคำถามถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ เขาทุ่มเทเวลาและความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อค้นหาคำตอบนั้น ทั้งจากการวิจัย, ลงภาคสนาม พบปะ สัมภาษณ์ผู้คนที่ได้รับความสูญเสียและผลกระทบในหลายด้าน จากปัญหาการเมือง ความขัดแย้ง และการกระทบกระทั่งอันเกิดจากทัศนคติที่แตกต่างของผู้คนในชาติ
สิ่งที่เขาค้นพบทำให้เขารู้สึกไม่ต่างอะไรกับ ‘นีโอ’ ตัวละครเอกในหนัง The Matrix (1999) ที่เลือกกลืนยาเม็ดสีแดงแทนยาเม็ดสีน้ำเงิน และค้นพบความจริงที่ทำให้เขามองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
วิทวัสนำเอาข้อมูล ประสบการณ์ และความรู้สึกสะเทือนใจที่เขาได้รับ สื่อสารผ่านงานศิลปะที่มุ่งเน้นในการนำเสนอแนวความคิดทางการเมืองของเขา เพื่อตั้งคำถามต่อระบบในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธา —สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยวาทกรรมและมายาคติจนแทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ก่อนหน้านี้ เขานำเสนอผลงานในนิทรรศการชุด Prelude ที่จัดแสดงไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2561 ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับวาทกรรมและมายาคติทางการเมืองไทย ด้วยการใช้วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่แฝงเร้นด้วยสัญลักษณ์ทางการเมืองอันหลากหลาย เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมตั้งคำถามกับชุดความเชื่อของตนเองและผลลัพธ์ที่เกิดจากความเชื่อเหล่านั้น
ในผลงานในนิทรรศการ 841.594 ครั้งนี้ วิทวัสยังคงหยิบเอามุมมองของสิ่งของเครื่องใช้ดาษดื่นสามัญที่เห็นได้ทั่วไปในแทบทุกบ้าน สถานที่คุ้นหูคุ้นตา หรืออาจเป็นกิจกรรมธรรมดาๆ ที่เราพบในกิจวัตรประจำวันทั่วๆ ไป มานำเสนอในรูปแบบที่ดูคล้ายกับ ‘โปสเตอร์’ หรือ ‘ป้ายโฆษณา’ เพื่อเชื้อเชิญและกระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราๆ สำรวจและแบ่งปันความทรงจำ ไปจนถึงตั้งคำถามกับภาพแทนของวาทกรรมและมายาคติในสังคมนี้ร่วมกัน
โดยผลงานในนิทรรศการนี้ประกอบด้วยภาพวาดจำนวน 13 ชิ้น ที่ถูกสร้างขึ้นในขนาดที่เฉพาะเจาะจงคือ 84.1×59.4 ซม. (A1) ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของโปสเตอร์หรือป้ายโฆษณาที่ถูกใช้โดยทั่วไป ในภาพเป็นวัตถุสิ่งของ ไปจนถึงภาพสถานที่ต่างๆ ที่วิทวัสเชื่อมโยงถึงกระบวนการสร้างความเชื่อของรัฐ ที่ศิลปินหรือแม้แต่ผู้ชมงานเองล้วนแล้วแต่พบเจอในชีวิตประจำวัน
“ผลงานชุดนี้เป็นการทบทวนตะกอนในจิตใต้สำนึกให้ปรากฏขึ้นเป็นภาพ ผ่านการใช้วัตถุสิ่งของ หรือสถานที่ในชีวิตประจําวันที่แสนจะปกติธรรมดา มาครุ่นคิดและตั้งคำถาม ว่าทำไมสิ่งเหล่านี้มักจะผุดขึ้นมาในความทรงจำของเรา และพยายามค้นหาความหมายของการดำรงอยู่ของมัน
ผมคิดว่าการดำรงอยู่ของทุกสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาล้วนมีบทบาทหน้าที่ในตัวของมันเอง บางครั้งมันทำหน้าที่ส่งสารจากผู้ส่ง ตรงมายังสมองและดิ่งลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของผู้รับโดยไม่รู้ตัว บางครั้งสิ่งเหล่านี้ถูกใช้เป็นซอฟต์ พาวเวอร์อันทรงพลังที่ทำงานได้เป็นอย่างดีในอดีต (แต่อาจจะไม่) ถึงปัจจุบัน” วิทวัสกล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานในนิทรรศการชุดนี้ของเขา
“ผมมองว่าฟังก์ชั่นของโปสเตอร์ คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับกระบวนการสร้างความเชื่อในสังคมไทย ผมเลยถาม อ. ติ๊ก (สันติ ลอรัชวี) อาจารย์สอนดีไซน์และกราฟฟิกดีไซเนอร์ที่ผมนับถือ ว่าขนาดของโปสเตอร์ตามมาตรฐานปกติในประเทศไทยคือขนาดไหน? เขาก็บอกว่าขนาดของโปสเตอร์มาตรฐานคือ A1 (84.1×59.4 ซม.) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ เราก็เลยพยายามทำงานศิลปะชุดนี้ให้ดูเหมือนโปสเตอร์มากที่สุด ด้วยการใช้เฟรมวาดภาพขอบบาง ไม่ใส่กรอบงาน และพยายามวาดให้ระนาบของพื้นผิวดูแบน และแขวนภาพวาดในแนวตั้ง เพื่อให้ดูเหมือนโปสเตอร์ให้มากที่สุด” วิทวัสเผยถึงแรงบันดาลใจในการใช้โปสเตอร์เป็นกุญแจหลักในการทำงาน
เรามาชมผลงานบางส่วนของเขาในนิทรรศการนี้เพื่อเป็นการเรียกย้ำย่อยกันพอหอมปากหอมคอก่อนไปชมนิทรรศการจริงก็แล้วกัน
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๑’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) ภาพนี้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของอาคารหอศิลป์กรุงเทพฯ งานชิ้นนี้เราตั้งคำถามถึงบทบาทและหน้าที่ของงานศิลปะในประเทศนี้ส่วนใหญ่ว่าถูกสร้างมาเพื่ออะไรกันแน่?
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๒’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) ภาพนี้เป็นสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยปกติแล้ว สะพานนอกจากจะถูกใช้งานในการข้ามแม่น้ำแล้ว การตั้งชื่อสิ่งก่อสร้างหรือสถานที่สำคัญๆ อย่างเช่นสะพานในประเทศเราก็มีนัยยะหรือความหมายบางอย่างแฝงอยู่ ที่เราวาดให้เห็นแค่ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ผู้ชมไปค้นหาเอาเองว่าเป็นสะพานอะไร รวมถึงปี พ.ศ. ที่สร้างสะพานเองก็มีความหมายบางอย่างที่ย้อนแย้งแฝงอยู่
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๓’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) ภาพนี้เป็นภาพขยายส่วนหนึ่งของธนบัตรรุ่นที่กำลังจะเลิกใช้แล้ว เราตัดเอาเฉพาะมุมเล็กๆ ของธนบัตรที่มีรายละเอียดที่แสดงถึงชีวิตของชาวบ้านที่กำลังทำนา เก็บผักผลไม้อยู่ ซึ่งภาพนี้เป็นตัวแทนของแนวคิดบางอย่างที่เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความเชื่อของรัฐไทย
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๔’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) ภาพนี้เป็นภาพวาดฝาผนังบนกำแพงรูปที่เรามักจะพบเห็นผ่านตาในชีวิตประจำวันเวลาเราเดินทางในกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีภาพวาดคล้ายๆ กันแบบนี้อยู่ในสถานที่หลายแห่ง สิ่งที่แปลกก็คือ ปกติภาพวาดฝาผนังหรือกราฟฟิตี้แบบนี้จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะมักจะถูกบอมบ์ (พ่นทับ) โดยศิลปินกราฟฟิตี้คนอื่นๆ แต่ภาพวาดพวกนี้กลับไม่ถูกบอมบ์ และอยู่ในสภาพเดิมแบบนี้มาหลายปีแล้ว ภาพวาดนี้เราวาดออกมาในขนาดเท่าจริง ถ้าเอาภาพนี้ไปแปะเทียบบนกำแพงต้นฉบับก็จะเท่ากันพอดี ซึ่งน่าสนใจว่า ผลงานสตรีทอาร์ตหรือกราฟฟิตี้ที่โดยปกติเป็นศิลปะแห่งการต่อต้าน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถูกนำมาใช้ในกระบวนการสร้างความเชื่อได้เช่นเดียวกัน
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๕’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) ภาพนี้เป็นปฏิทินของบ้านนักเรียนที่เราไปสอน เป็นปฏิทินเก่าที่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว แต่ยังถูกเก็บไว้ ไม่ทิ้ง เราก็ไปขอเขามา ในภาพเราวาดเฉพาะบางส่วนของปฏิทินที่มีร่องรอยถูกฉีกไป 11 ครั้ง จนเหลือแผ่นสุดท้ายของปี ความบังเอิญที่น่าสนใจก็คือ ในปฏิทินมีวันสำคัญทางการเมืองไทยติดมาด้วย
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๖’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) ภาพนี้เป็นกำแพงใกล้กับโรงพยาบาลที่เราไปรักษา เราจงใจเขียนภาพนี้ให้มืด เพราะช่วงที่เราถ่ายภาพเป็นช่วงที่พระอาทิตย์กำลังตก พอเราโฟกัสภาพไปที่ท้องฟ้า กำแพงก็จะมืดจนตัวอักษรสีขาวที่พ่นบนกำแพงดูเลือนรางจนเกือบมองไม่เห็น ที่น่าสนใจก็คือเศษแก้วแตกที่อยู่ด้านบนของกำแพงดูเหมือนเป็นตัวกั้นที่แบ่งแยกระหว่างกำแพงกับท้องฟ้าออกจากกัน
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๘’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) หนังสือเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในการเผยแพร่และสร้างความเชื่อทางอุดมการณ์ของรัฐชาติมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราเลือกหนังสือที่บ้านที่มีสันเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนบางสิ่งบางอย่าง ตอนเลือกไม่คิดว่าจะมีเยอะขนาดนี้ แต่ถึงแม้หนังสือจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อและปลูกฝังอุดมการณ์ แต่หนังสือที่ถูกเลือกมาในภาพนี้กลับเป็นหนังสือที่ถอดรื้อความเชื่อและอุดมการณ์เหล่านั้นอีกที เป็นหนังสือที่รื้อถอนมายาคติจนทำให้เราตาสว่างขึ้นมา เหมือนเป็นการมองมุมกลับ
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๙’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) องค์ประกอบของธงชาติในภาพนี้แสดงนัยยะถึงพื้นที่ทางอุดมการณ์ในสังคมเราอย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมา
‘โปสเตอร์แผ่นที่ ๑๑’ สีน้ำมันบนลินิน, ขนาด 841 x 594 มม. (2563) ภาพนี้เป็นตลาดแห่งหนึ่ง องค์ประกอบเกือบ 99% ในภาพนี้ถูกวาดขึ้นมาเพื่อพูดถึงส่วนเล็กๆ เพียงแค่ 1% ที่ซ่อนอยู่
สิ่งที่น่าสนใจผลงานของวิทวัสในนิทรรศการนี้คือการตั้งคำถามกับกระบวนการสร้างความเชื่อที่ถูกสื่อสารผ่านวัตถุ สิ่งของ สถานที่ หรือกิจกรรมรอบๆ ตัวทั่วไปในชีวิตประจำวัน อันเป็นลักษณะของการใช้ซอฟต์ พาวเวอร์หรือการใช้อำนาจอันละมุนละม่อม ในการดึงดูดและโน้มน้าวของรัฐสมัยใหม่ มากกว่าการใช้ฮาร์ด พาวเวอร์ หรืออำนาจอันแข็งกร้าวด้วยการใช้กำลัง อาวุธ หรือความรุนแรงบีบบังคับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกยุค ล้าหลัง และไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมโลกปัจจุบัน
ที่ผ่านมา รัฐเผด็จการบางยุคสมัยใช้ซอฟต์ พาวเวอร์เป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน ด้วยการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ผ่านสื่อทางศิลปวัฒนธรรมอย่าง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม หรือสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง ข่าว หรือรายการโทรทัศน์ หรือการปลูกฝังค่านิยมและอุดมการณ์ต่างๆ ผ่านระบบการศึกษา
เปรียบได้กับทฤษฎีกบต้ม ที่ถ้าเราเอากบโยนลงไปในหม้อที่มีน้ำเดือด สัญชาตญาณจะทำให้กบกระโดดออกเพื่อหนีเอาชีวิตรอด ไม่ต่างอะไรกับการใช้ฮาร์ด พาวเวอร์ซึ่งเป็นวิธีการอันแข็งกระด้าง และมักจะเจอการต่อต้านจากผู้ถูกปกครอง
แต่ถ้าเราเอากบใส่ลงไปในหม้อน้ำเย็นที่ค่อยๆ ต้มให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทีละนิดจนน้ำเดือด กบในหม้อจะไม่กระโดดหนีในทันที แต่จะแช่น้ำต่อไป จนสุดท้ายมันก็กลายเป็นกบต้มสุกโดยไม่รู้ตัว ไม่ต่างอะไรกับการใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ซึ่งเป็นวิธีการละมุนละม่อม สร้างความเชื่อมั่น และโน้มน้าวผู้ปกครองให้คล้อยตามและเห็นดีเห็นงามตามนโยบายรัฐอย่างสิ้นเชิงโดยไม่รู้ตัว
ยกตัวอย่างเช่นรัฐบาลเผด็จการนาซีที่ใช้กระทรวงโฆษณาการ (Reich Ministry of Public Enlightenment and Propaganda) ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อการควบคุมสื่อต่างๆ อย่างสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์โทรทัศน์ วิทยุ ข่าว วรรณคดี ศิลปะ สถาปัตยกรรม ละคร ภาพยนตร์ ดนตรี และสถานบันเทิงต่างๆ (ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Inglourious Basterds ก็จะเห็นตัวละคร โจเซฟ เกิบเบิลส์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้อยู่ในหนัง และจะเห็นได้เลยว่าการโฆษณาชวนเชื่อนั้นมีความสำคัญต่อรัฐบาลนาซีขนาดไหน)
หรือพรรคฟาสซิสต์ของอิตาลี ในช่วงยุค 1920s ที่ใช้มหกรรมศิลปะ เวนิสเบียนนาเล่ เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมในการสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค ปลูกฝังความคิดขวาจัดและชาตินิยมสุดโต่ง และประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรฟาสซิสต์อิตาลี ก็เป็นรูปแบบของ การโฆษณาชวนเชื่อเช่นเดียวกัน
โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) นักวิชาการด้านการเมืองชื่อดังของอเมริกา ผู้คิดค้นทฤษฏีเกี่ยวกับซอฟต์ พาวเวอร์เคยกล่าวเอาไว้ว่า “The best propaganda is not propaganda” (การโฆษณาชวนเชื่อที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือการไม่โฆษณาชวนเชื่อ) หรือแปลได้ว่า โฆษณาแอบแฝงได้แนบเนียนจนผู้ชมไม่รู้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งรัฐเผด็จการอย่างนาซีและฟาสซิสต์นั้นเก่งกาจในเรื่องแบบนี้เอามากๆ
“ถึงแม้การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐในยุคสมัยปัจจุบันจะทวีความเข้มข้นหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่พวกเขาใช้วิธีการแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ข่าวสารยังถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ต่างกับสมัยนี้ ที่การสื่อสารไร้พรมแดน มีสื่อสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย วิธีการเดิมๆ ที่เคยใช้ได้ผลก็ไม่ทำงานกับคนในยุคนี้อีกต่อไปแล้ว เด็กรุ่นใหม่ไม่เชื่อในสิ่งที่รัฐเผยแพร่และปลูกฝังโดยไม่สงสัยและตั้งคำถามอีกต่อไป สิ่งนี้เป็นความหวังสำหรับเราว่าในอนาคตสังคมเราอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในสักวันหนึ่ง” วิทวัสกล่าวทิ้งท้าย
เราเองก็ได้แต่หวังเช่นนั้นเหมือนกัน.
นิทรรศการ 841.594 โดย วิทวัส ทองเขียว และคิวเรเตอร์ ไลลา พิมานรัตน์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม – 5 กรกฎาคม 2020 ที่ Many Cuts Art Space ถ.เทพคุณากร ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา, ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook: manycuts.artspace หรือเบอร์โทรศัพท์ 096 – 7044601
ข้อมูล
บทสัมภาษณ์ศิลปิน วิทวัส ทองเขียว
ข้อมูลประกอบนิทรรศการโดย Many Cuts Art Space
https://betterlivingthroughbeowulf.com/how-nazis-used-arts-soft-power/
https://theconversation.com/hard-right-soft-power-fascist-regimes-and-the-battle-for-hearts-and-minds-65683 https://en.wikipedia.org/wiki/Soft_power
Tags: นิทรรศการศิลปะ, Art and Politic, 841.594