ใบเรียกเก็บเงินค่าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอาจเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับชีวิตของใครหลายคนมากที่สุดในตอนนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาเตือนเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ภาพจำที่คุ้นตาคือมุษย์เงินเดือนคนหนึ่งสามารถกู้สินเชื่อซื้อรถคันใหม่พร้อมกับคอนโดห้องใหม่ได้ไม่ยาก มิหนำซ้ำยังจองคอนโดโครงการอื่นเพื่อเก็งกำไรได้อีก 2-3 แห่ง มีบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นเพื่อนที่แสนดี ใช้ก่อนผ่อนทีหลัง จ่ายไม่ครบก็ไม่เป็นไร วิถีชีวิตแบบ ‘หมุนเงิน’ อย่างที่หลายคนเป็นเริ่มออกอาการไม่ดีในช่วงที่ผ่านมาและเมื่อพบกับที่ภาวะขาดรายได้แบบเฉียบพลันหรือ Income Shock จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ทั่วโลกปั่นป่วนแบบนี้ สัญญาณอันตรายของ ‘คนมีหนี้’ จึงเริ่มเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวเลขไม่เคยโกหก

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ ‘เครดิตบูโร’ ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เปิดเผยข้อมูลสถานะการเป็นหนี้ของคนไทยไตรมาส 1/2563 สะท้อนความเปราะบางของภาวะทางการเงินและตัวเลขหนี้เสียที่ไม่น่าไว้วางใจ และนี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่ที่เราต้องเตรียมตัวรับมือจากนี้ต่อไป

ปฏิบัติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อกดระดับ NPL สินเชื่อบ้าน-สินเชื่อบุคคลน่าเป็นห่วง

คนที่น่าจะร้อนใจมากที่สุดในตอนนี้คือบรรดาธนาคารพาณิชย์ที่ต้องจัดการกับปัญหาผิดนัดชำระหนี้และอีกสารพัดความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ระดับโลกในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ลูกค้าองค์กรจะส่งออก ขายสินค้าและบริการไม่ได้เท่านั้น ลูกค้ารายย่อยที่เป็นลูกจ้างของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้าด้วย โดยเครดิตบูโรรายงานว่าไตรมาสแรกของปีนี้ มีสถาบันการเงินขอตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าเพื่อบริหารความเสี่ยงมากเกือบ 16 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างชัดเจน พบว่าสินเชื่อรถยนต์ใหม่เพิ่มมากขึ้นจากช่วงปลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีรายการส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์แห่งหนึ่ง ที่ลดราคาสินค้าเพื่อเคลียร์สต็อกก่อนที่จะยกเลิกการจำหน่ายในประเทศไทย ขณะที่สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคลแทบจะไม่เติบโตจากเดิมและบัตรเครดิตมีจำนวนบัญชีใหม่ลดลง สะท้อนความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีมากขึ้น

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ชี้แจงว่าข้อมูลสินเชื่อทั้งระบบที่เครดิตบูโรจัดเก็บ ณ สิ้นเดือนมีค 2563 คิดเป็น 11.7 ล้านล้านบาท โดยหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันซึ่งถือเป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan : NPL ) รวมทุกสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วน 8.1% สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2562 ที่ผ่านมา โดยหนี้เสียไตรมาสที่ 1-4 ของปีก่อนคิดเป็น 6.8% 7.5% 7.9% และ 8.0% ตามลำดับ  แต่สิ่งที่น่าจับตาคือตัวเลขของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา ( Troubled Debt Restructuring : TDR) หรือหนี้ที่ผิดนัดชำระแต่ยังไม่เป็นหนี้เสียเพิ่มจาก 7.6% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนเป็น 8.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนความพยายามของทั้งสถาบันการเงินและตัวลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระให้หันมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สัดส่วนหนี้เสียไม่เพิ่มมากนัก NPL จึงเพิ่มขึ้นไม่มากแต่ปรากฏในรูปของ TDR แทน ระดับหนี้ของทั้งสองส่วนนั้นใกล้เคียงกันโดย NPL คิดเป็น 9.5 แสนล้านบาทและ TDR คิดเป็น 9.7 แสนล้านบาทและเป็นไปได้ที่ TDR จะมียอดทะลุ 1 ล้านล้านบาทในปีนี้

ขณะที่สัดส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (Debt restructuring : DR) สำหรับลูกค้าที่ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แต่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และปัจจัยด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 3.6% ในไตรมาสแรกของปีนี้ คิดเป็นกว่า 4 แสนล้านบาท สอดคล้องกับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทยที่ขอให้ธนาคารพาณชิย์ลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้ รวมทั้งพักชำระหนี้ในระยะสั้นเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น  เรื่องนี้สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้และระดับรายได้ที่เปลี่ยนแปลงของลูกหนี้ทั้งหลายได้เป็นอย่างดีทีเดียว

สำหรับสินเชื่อรายการสำคัญที่สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคหรือลูกหนี้รายย่อยได้เป็นอย่างดีมี 4 รายการคือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ บัตรเดรดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลคิดเป็น 9.06 ล้านล้านบาท โดยพบว่าสินเชื่อกลุ่มนี้มีระดับหนี้เสียคิดเป็น 5.5% ของหนี้ทั้งหมด โดยปกติเมื่อลูกหนี้ติดหนี้สินเชื่อหลายประเภทและไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะเลือกเก็บเงินสดจำนวนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายสำหรับยังชีพและชำระหนี้รายการที่สำคัญกับชีวิตเท่านั้น จะเลือกผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อไม่ให้กระทบกับการดำรงชีวิตและผิดนัดชำระสินเชื่อประเภทอื่นๆแทน แต่สุรพลได้ตั้งข้อสังเกตว่าสัดส่วนหนี้เสียของสินเชื่อบ้านปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น  1.7% ของหนี้ทั้งหมด ขณะที่บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีสัดส่วนหนี้เสียคงที่ที่ 0.6% และ 1.8% ตามลำดับ และสัดส่วนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (TDR) ของสินเชื่อบ้านเพิ่มจาก 2.1% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนเป็น 2.6% ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ในระดับเดียวกันกับสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสินเชื่อทั้งสองประเภทนี้มี TDR ที่เร่งตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ (2558 – ปัจจุบัน)

หากพิจารณาสินเชื่อบ้านทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท พบว่ามีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 6.3% ของพอร์ตสินเชื่อบ้าน ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนมาเป็น 7.7% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 4.9% และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (DR) ที่ 2.6% ขณะที่สินเชื่อรถทั้งหมดอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท พบว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันจาก 0.4% ของพอร์ตสินเชื่อรถในไตรมาสุดท้ายของปีก่อน มาเป็น 0.7% 

ข้อมูลของเครดิตบูโรแสดงว่ากลุ่มลูกหนี้ที่มีหนี้เสียมากที่สุดคือ Gen X (อายุ 40 ถึง 55 ปีในปี 2563) เท่ากับ 2.8 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 7.4% รองลงมาคือ Gen Y (อายุ 26 ถึง 39 ปีในปี 2563) มีหนี้เสียเท่ากับ 2.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.8% และเมื่อพิจารณาช่วงอายุแยกเป็นรายประเภทสินเชื่อพบว่าช่วงอายุที่มีลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์มากที่สุดคือ 30 ปี ช่วงอายุที่มีลูกหนี้สินเชื่อบ้านมากที่สุดคือ 40 ปี ช่วงอายุที่มีลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุดคือ 38 ปี และช่วงอายุที่มีลูกหนี้บัตรเครดิตมากที่สุดคือ 38 ปี นั่นคือกลุ่มคน Gen X และ Y ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศมีหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียในระดับที่สูง อาจส่งผลกระทบกับการบริโภคและเป็นระเบิดเวลาที่รอคนกลุ่มนี้อยู่ข้างหน้าเมื่อพวกเขากลายเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ในอนาคต

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ Gen Z ส่วนที่เริ่มหารายได้เองหรือเพิ่งจบการศึกษาอายุ 18-24 ปี ปัจจุบันสามารถหารายได้เป็นของตัวเองง่ายขึ้นจากการค้าขายออนไลน์และทำงานพิเศษ แม้จะมีสัดส่วนเพียง 0.8% ของจำนวนบัญชีทั้งหมดในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร แต่พบว่ามีหนี้สินเฉลี่ย 1.7 แสนบาทต่อคน มีสัดส่วนสินเชื่อรถยนต์มากที่สุดถึง 55% ของสินเชื่อทั้งหมด เติบโตถึง 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 ของปีก่อน รองลงมาคือสินเชื่อบ้าน 14% และสินเชื่อส่วนบุุคล 8% ค่อนข้างชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้ถือเป็นเป้าหมายที่ล่อตาล่อใจของสถาบันการเงินเนื่องจากมีรายได้เป็นของตนเองและยังมีเครดิตที่สดใหม่ ไม่มีประวัติเสียเหมือนกับคนรุ่นก่อนหน้าทั้ง Gen X และ Y จึงพบการทำการตลาดในกลุ่ม Gen Z เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามเริ่มพบว่ามีหนี้ค้างชำระสินเชื่อรถยนต์ในกลุ่ม Gen Z มากขึ้นเรื่อยๆซึ่งต้องจับตาเป็นพิเศษ

เป็นหนี้กันถ้วนหน้า ไม่จำกัดช่วงอายุ

สิ่งที่สำคัญคือ จะมีเงินใช้หนี้กันได้มากน้อยแค่ไหน

หากพิจารณาเทียบกับข้อมูลปี 2560 ของศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะพบว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือนอยู่ในภาวะที่เปราะบางอย่างมาก มีรายจ่ายมากกว่ารายได้และมีความสามารถในการชำระหนี้ในระดับที่ต่ำ เราจึงเห็นการหมุนเงินเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา กดเงินสดจากบัตรนี้ไปจ่ายหนี้ขั้นต่ำของอีกบัตรหนึ่ง นอกจากจะไม่มีเงินออมแล้ว ก้อนหนี้ที่มีก็พอกพูนใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และความสามารถในการชำระหนี้ก็ลดลงเรื่อยๆ  ส่วนปี 2563 นี้ สถานการณ์จะแย่ลงไปอีกเนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 คาดว่าแรงงานในระบบที่ต้องเผชิญกับภาวะ ‘รายได้ไม่พอกับรายจ่าย’ จะเพิ่มขึ้นถึง 1.4 ล้านคน เป็น 8.1 ล้านคน 

ขณะที่แรงงานรับจ้างนอกภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคนเป็น 3.8 ล้านคนในปีนี้

สำหรับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อรายได้เท่ากับ 100% หมายถึงเป็นผู้หาเช้ากินค่ำ มีเงินพอใช้ประทังชีวิตไปวันๆเท่านั้น ไม่มีเงินออมและการวางแผนทางการเงิน ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้ 15,000 -35,000 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีสัดส่วนดังกล่าวเท่ากับ 75% และครัวเรือนที่มีรายได้ 35,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปซึ่งถือว่ามีรายได้สูง จะมีสัดส่วนเท่ากับ 60% 

ข้อมูลข้างต้นยิ่งตอกย้ำว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยคือกลุ่มคนที่เปราะบางและเดือดร้อนมากที่สุด จึงเป็นที่มาของการใช้มาตรการทางการเงินและการคลังอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา เพราะประชาชนจำนวนมากไม่สามารถรับมือกับภาวะขาดรายได้แม้แต่นิดเดียว ทั้งการมาตรการในรูปแบบ ‘เงินโอน’ จากภาครัฐทั้งเงินเยียวยาจากโครงการเราไม่ทิ้งกันเดือนละ 5,000 บาท เงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมเดือนละ 7,500 บาท เงินช่วยเหลือเกษตรกรเดือนละ 5,000 บาท เบี้ยยังชีพผู้พิการและผู้สูงอายุ 1,000 บาท หรือกระทั่งการคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปาก็ตามที ถือเป็นการเติมเงินสดลงไปในระบบเพื่อช่วยประคับประคองผู้เดือดร้อนโดยตรง คาดว่าในอนาคตอาจพิจารณาเงินกู้และมาตรการด้านภาษีเพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับการลดต้นทุนทางการเงินและเสริมสภาพคล่องนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยมีบทบาทอย่างมากต่อเรื่องดังกล่าวในช่วงทีผ่านมา โดยให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็น 5% ในปี 2563-2564 และปรับเพดานเป็น 8% ในปี 2565 และ 10% ในปี 2566 เพื่อให้ภาระต่อเดือนน้อยลง รวมทั้งการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำรถยนต์เป็นระยะเวลา 3 เดือน พักชำระเงินต้นสินเชื่อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน และที่สำคัญคือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ส่วนนี้มีงบประมาณมากถึง 5 แสนล้านบาทโดยที่ธนาคารพาณิชย์จะเก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ซึ่งจะช่วยต่อลมหายใจของผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้าและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองให้รักษาการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ในเมื่อจำนวนครัวเรือนที่มีเงินออมเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัวอย่างน้อย 6 เดือนมีเพียงหยิบมือและมีแต่คนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ซ้ำเติมด้วยโรคโควิด-19 เข้าไปอีก จึงไม่แปลกที่ธนาคารพาณิชย์จะตั้งการ์ดสูงกับสถานการณ์นี้แม้ทางรัฐบาลและแบงก์ชาติจะพยายามออกนโยบายยาแรงทั้งหลายออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนการส่งผ่านนโยบายเพื่อกระจายสภาพคล่องออกไปในระบบเพื่อให้เงินไปถึงมือของประชาชนโดยแท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ง่ายเลย ธนาคารต่างๆก็ต้องระวังความเสี่ยงของตนเองเช่นเดียวกันท่ามกลางกระแสวิจารณ์ที่มีต่อทั้งสองภาคส่วนที่เป็นเจ้าภาพคนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยว่าไม่ยอมรับความเสี่ยง (Take Risk) ในสภานการณ์ที่ต้องออกโรงเต็มตัว วางตำราลงและทำสิ่งที่ไม่เคยทำเพื่อแก้ไขวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้

ทุกสำนักเศรษฐกิจมองตรงกันว่าเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีนี้จะหดตัว การบริโภคและการลงทุนที่เป็นความหวังก็จะกลับมาอย่างช้าๆ เมื่อเริ่มเห็นความหวังหลังสถานการณ์คลี่คลาย บาดแผลที่โรคโควิด-19 ทิ้งไว้ไม่เพียงกับระบบสาธารสุข เศรษฐกิจและสังคม แต่สร้างแผลเป็นรอยใหญ่ในหัวใจของคนไทยให้กลับมาทบทวนเป้าหมายของชีวิต การให้ความสำคัญกับเรื่องเงินๆทองๆ การป้องกันความเสี่ยงและไม่ประมาทกับอะไรทั้งนั้น เพราะเวลาเดือดร้อนจริงๆ จะหันหน้าไปพึ่งใครก็ลำบาก ความหิวโหยเป็นของจริง ความเจ็บปวดเป็นของจริง

เจ็บแล้วจำคือคน

เจ็บแล้วทน ก็ต้องทนต่อไป   

Tags: ,