คุณซัก “หมอน” ครั้งสุดท้ายเมื่อไร?
เป็นคำถามที่ผมได้จากการอ่านหนังสือพิมพ์ The Daily Colonist ช่วงกักตัวอยู่บ้าน จากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ทางสังคมในระดับสากล ที่เราเห็นได้อย่างหนึ่งตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ ความพยายามสร้างการตระหนักรู้ในการรับมือกับการระบาด โดยย้อนกลับเข้าไปดูบทเรียนที่น่าจดจำที่มนุษย์เคยใช้ชีวิตอยู่กับบรรดาไข้หวัดสายพันธุ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์โลก
แต่ดูเหมือนว่าบทเรียนที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในช่วงของการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ ไข้หวัดสเปน บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ได้ย้อนกลับเข้าไปศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนอีกครั้งและวิธีหยุดยั้งการแพร่ระบาด มีรายงานว่า ราว 1 ใน 3 ของประชากรโลกในขณะนั้น หรือราว 1.8 พันล้านคน ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้!
นั่นทำให้ไข้หวัดสเปนกลายเป็นโมเดลที่ถูกนำมาถอดรหัสว่ามนุษย์เคยใช้ชีวิตอยู่กับไวรัสและรับมือกับมันอย่างไร
เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่ามนุษย์อย่างเราๆ นี่ อยู่กับไข้หวัดอย่างไร ผ่านการอ่านหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้น
หนังสือพิมพ์ The Daily Colonist เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ภาษาอังกฤษ ในวิกตอเรียบริติชโคลัมเบียแคนาดา อาณานิคมของอังกฤษ ตอนแรกใช้ชื่อว่า The British Colonist เริ่มตีพิมพ์เผยแพร่ฉบับแรกในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1858 ต่อมาตัดคำว่า British ออก ตั้งแต่ฉบับวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1887
หนังสือพิมพ์ The Daily Colonist รายงานข่าวทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกตอเรียบริติชโคลัมเบียแคนาดา ซึ่งถือเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญในวิกตอเรียของแคนาดา สมัยนั้น เพราะนอกจากจะได้ติดตามข่าวสารความเป็นไปต่างๆ ในดินแดนอาณานิคมอังกฤษแล้ว ยังเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อีกด้วย
The Daily Colonist ฉบับหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ฉบับตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1918 ซึ่งตรงกับปีแรกที่มีข่าวไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดไปทั่วโลก ที่บอกว่าน่าสนใจ เป็นเพราะว่าหนังสือพิมพ์ คือ จดหมายเหตุทางสังคมอย่างหนึ่ง ข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวในประเทศ ข่าวเล็กๆ น้อยๆ ฉกชิงวิ่งราว กรณีฆาตกรรม ตัดสินคดีความ ข่าวที่แปลมาจากต่างประเทศ แม้กระทั่งโฆษณาต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์
เช่นเดียวกับปัจจุบันที่การรายงานข่าวของสื่อสำนักต่างๆ ก็มุ่งเน้นข่าวใหญ่ที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ The Daily Colonist ใน ค.ศ. 1918 ก็ไม่พลาดที่จะรายงานข่าวเรื่องไข้หวัดใหญ่สเปนเหมือนกัน
เมื่ออ่านสำรวจดูแล้วก็พบว่าไม่ต่างอะไรเลยกับปัจจุบันที่มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนแนวทางการป้องกัน เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การใช้มาตรการ Social Distancing Lockdown ไปยันการโฆษณาขายประกันชีวิตไข้หวัดสเปน เหมือนโฆษณาขายประกันชีวิต โควิด-19 ในยุคนี้
ไม่เพียงแต่โฆษณาขายประกันไข้หวัด ยังมีโฆษณาขายสินค้าและบริการต่างๆ ที่ยังคงยิงโฆษณา งัดทีเด็ดต่างๆ นานา อย่าง ลดแลกแจกแถม เพื่อที่จะทำให้อยู่รอดในสถานการณ์อันยากลำบาก
อย่างที่น่าสนใจ คือ ในเคสของร้านซักรีดร้านหนึ่ง ชื่อว่า Victoria Steam Laundry ในวิกตอเรียบริติชโคลัมเบียแคนาดา ยิงโฆษณาใน The Daily Colonist ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ.1918
ในสถานการณ์ปกติก็คงรับซักรีดเสื้อผ้าทั่วไป แต่เมื่อไข้หวัดสเปนระบาด ได้ยิงโฆษณารับซักหมอน โดยทางร้านให้เหตุผลทำนองว่าหมอนเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ทุกวัน ถ้าหมอนไม่สะอาดก็อาจเป็นที่มาของเชื้อโรคต่างๆ ได้ แม้ว่าในขณะนั้น ไม่มีรายงานว่าหมอนจะเป็นที่มาของไวรัสได้
แน่ล่ะ! ตอนนั้นคนก็ยังไม่รู้ทิศทางการแพร่กระจายของไวรัสว่าอยู่ตรงไหน มาจากช่องทางใดบ้าง ดังนั้นการรักษาความสะอาดร่างกายและข้าวของเครื่องใช้ ก็ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ขายได้ ซึ่งก็นับว่าน่าสนใจ เพราะใครหลายคนก็อาจจะมองข้ามหมอนที่หนุนนอนอยู่ทุกคืนทุกวันไป
ยิ่งกำลังกลัวโรคระบาดอยู่ด้วย พอเจออย่างนี้เข้าไป ก็คงทำให้ใครหลายคนถามตัวเองว่า ซักหมอนครั้งสุดท้ายเมื่อไร? ถ้าหมั่นซักหมอนจะปลอดภัยจากไข้หวัดอย่างที่ร้านซักรีด Victoria Steam Laundry ว่าหรือเปล่า
ด็อกเตอร์ร็อบ ดันน์ (Rob Dunn) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาแห่ง North Carolina State University ทำการวิจัยหมอนที่ไม่ได้ซักในโปรเจกต์ Wild Life of Our Homes (2015 study ) พบเชื้อรามากกว่า 1 หมื่นสปีชีส์บนหมอนที่นำมาศึกษา โดยเฉพาะเชื้อราที่ชื่อว่า แอสเปอร์จิลลัส ฟูมิกาทัส (Aspergillus fumigatus) ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อราที่อันตรายเพราะมันเป็นสาเหตุของโรคหอบหืดและทำลายระบบภูมิคุ้มกัน บนหมอนยังเป็นแหล่งสะสมของขี้ไคล รังแค และผิวหนังที่ตายแล้วชั้นดี เพราะคนเรามีการผลัดเซลล์ผิวทุกนาที ลองคิดดูว่าเราใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตอยู่บนหมอนและที่นอน ถ้าไม่ซักหมอน จำนวนผิวหนังที่ตายแล้วก็จะเพิ่มขึ้นทบทวีอยู่บนหมอนนั่นแหละ ผิวหนังที่ตายแล้วพวกนี้เป็นอาหารชั้นดีของไร เรือดและแมลงอื่นๆ
ในรายงานยังบอกอีกว่าหมอนเหมือนกับฝาชักโครกเพราะนอกจากไรฝุ่น เชื้อรา และขี้ไคลแล้ว เขายังเจอเศษอุจจาระบนหมอนด้วย ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อไม่ไหม แต่มันเป็นเรื่องจริงเพราะเขาบอกว่าเศษอุจจาระอาจกระเด็นมาอยู่บนร่างกายและเสื้อผ้าของเรา เป็นไปได้ที่เวลาเข้านอนเศษอุจจาระจะติดมาอยู่ที่หมอนและที่นอนได้ด้วย แต่เขาก็บอกว่าเศษอุจจาระที่พบบนหมอนนั้นมีปริมาณน้อยมากและยังไม่พบว่าก่อให้เกิดโรคและปัญหา เมื่อเทียบกับอุจจาระที่ปนเปื้อนในน้ำจนทำให้เกิดอหิวาตกโรคได้
ด็อกเตอร์ร็อบ ดันน์ ยังเตือนว่าคนที่เลี้ยงสัตว์อาจมีขนสัตว์ติดอยู่บนหมอน แม้ว่าไม่ได้ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเข้ามานอนด้วย โดยเฉพาะใครที่นอนกับสัตว์เลี้ยงจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้นเพราะมันคือการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียและความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไลค์ ไหนจะปรสิตที่อยู่กับสัตว์เลี้ยงที่อาจกระโดดมาเกาะที่ตัวคนเลี้ยง
การมองหาสิ่งที่คนละเลยมากที่สุดมาสร้างจุดขายถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ และที่ผมสะดุดตากับโฆษณาของร้านนี้ก็เพราะว่าร้านอื่นๆ ต่างก็พากันเคลมว่า ซักเสื้อผ้าได้สะอาดหมดจด แต่ในท่ามกลางการระบาดของไข้หวัดสเปน ร้านนี้มิได้โฆษณาเลยว่ารับซักเสื้อผ้าทุกอย่าง ชนิดที่ว่าสะอาดปลอดภัยหายห่วงจากไวรัสเหมือนร้านอื่นๆ แต่เลือกหมอนและบอกว่าซักหมอนได้สะอาดเอี่ยมอ่อง ปลอดภัยหายห่วง นั่นเป็นเพราะหมอนเป็นของใช้ใกล้ตัว ที่คนใช้ทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมงด้วย แต่ก็พลาดกันมาก หลงลืมนึกถึงมันไป มิหนำซ้ำยังยากต่อการซัก เอามาทำการตลาด
ไม่รู้ว่าตอนนั้นมีคนส่งหมอนไปซักที่ร้านซักรีดนี้มากน้อยขนาดไหน
แต่ที่แน่ๆ คือ โฆษณาในหนังสือพิมพ์สมัยนั้นทำให้เราเห็นการปรับตัวของธุรกิจในช่วงที่มีไข้หวัดระบาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เอสเอ็มอี หรือ แฟรนไชส์ ต่างก็ประสบปัญหาการชะลอตัวของยอดขายไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะสมัยไข้หวัดสเปนหรือสมัยโควิด-19 แต่อยู่ที่ว่าใครจะผุดไอเดียหรือแคมเปญอะไรออกมาเพื่อรักษาธุรกิจในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก…
ว่าแต่คุณซักหมอนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
ลองคิดดูว่า ถ้าร้านนี้ยังอยู่ในยุคโควิด-19 คงจะมีคนหอบหมอนที่มีอยู่ในบ้านทั้งหมดไปส่งซักเป็นจำนวนไม่น้อย ว่ามั้ย !?!
หมายเหตุ
อ่านหนังสือพิมพ์ The Daily Colonist เพิ่มเติมได้ที่ onlinebooks.library.upenn.edu/webbin/serial?id=britishcolonist
Tags: โฆษณา, หนังสือพิมพ์, ไข้หวัดสเปน, หมอน, The Daily Colonist