*มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์
หญิงสาวไปงานศพ เธอติดรถขนน้ำสะอาดปุเลงๆ ข้ามภูเขา ผ่านถนนหนทางวิบากซับซ้อน ระหว่างเธอรถเหยียบเข้ากับโลงศพใบหนึ่ง และยังมีอีกหลายๆ ใบเกลื่อนกลาด รถขนศพล้มคว่ำข้างถนน ทิ้งโลงเปล่ากระจัดกระจายหงายเก๋งไปคนละทิศละทาง รถขนน้ำฝ่าข้ามไป
หมู่บ้านของเธออยู่นอกแผนที่ ‘Bacurau’ หมู่บ้านเล็กๆ สุดแสนกันดาร ที่ใดที่หนึ่งในบราซิลอันกว้างใหญ่ไพศาล หญิงสาวกลับมาร่วมงานศพย่าของเธอ คนมากันหมดหมู่บ้าน เธอขนวัคซีนมาด้วยจะได้เอามาให้ป้าหมอใช้ต่อ
แต่ป้าหมอยืนบนเก้าอี้แล้วบริภาษย่าของเธออย่างรุนแรง จนต้องมีคนลากตัวไป หากเข้าใจไม่ผิด ทั้งคู่เคยเป็นคู่รักกัน
เธอเองก็มีคนรัก หรืออาจจะเรียกเพื่อนสนิทก็ได้ เขาชื่อ Pacote เป็นนักเลง เป็นมือสังหารคนดังที่ถึงกับมีแผ่นดีวีดีรวมฮิตซีนฆ่าคนของเขาวางขาย เขาเป็นเหมือนผู้พิทักษ์ของหมู่บ้านกลายๆ หมู่บ้านที่เหมือนมีถนนหลักเพียงเส้นเดียวสั้นๆ มีตลาดนัดตรงกลางจัตุรัสเมือง มีร้านชำขายเหล้าและเนื้อสด มีซ่องเคลื่อนที่ มีดีเจประจำหมู่บ้าน ที่เสียงตามสายคือรถกระบะติดจอ LED และ ลำโพงกระหึ่ม มีโรงหมอ มีโรงเรียน มีโบสถ์ที่ไม่มีคนเข้า และมีพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองอยู่ประจันหน้ากับจัตุรัส มีกระทั่งหมายจับ Lunga หัวหน้าแกงค์โจรที่เป็นคนจากหมู่บ้านนี้ ที่นี่มีทุกอย่างยกเว้นน้ำ เพราะมีพวกแกงค์เถื่อนมาปิดทางน้ำ ไอ้หนุ่มขนน้ำต้องขับไปเติมน้ำไกลออกไปเพื่อคนมาให้คนในหมู่บ้านใช้ ครั้งหนึ่ง Lunga เคยพาพวกไปจัดการแต่ก็พ่ายแพ้ ตอนนี้เขาหรือเธอ ต้องหนีหัวซุกหัวซุน Pacote เป็นคนเดียวที่รู้ว่า Lunga หัวหน้าหุบเขาคนโฉดเป็นทั้งแกงค์อั้งยี่และเป็นกะเทย
แล้วยังมีไอ้โทนี่ นักการเมืองท้องถิ่นที่วนเวียนมาหาเสียงโดยไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากชาวบ้าน ทุกครั้งที่มา ชาวบ้านจะปิดประตูหนี ตะโกนด่าจากข้่างใน เจ้าโทนี่อยากได้เสียงของชาวบ้านในการเลือกตั้ง เอาข้าวของมาให้ เอาหนังสือมาให้ห้องสมุด แต่หนังสือที่มันขนใส่รถสิบล้อมาเทกระจาดเป็นหนังสือมือสองไร้ค่า และอาหารแห้งที่มันเอามาก็หมดอายุ นี่คือชีวิตเส็งเคร็งในรัฐบัดซบที่ชาวบ้านต้องปกป้องกันเองเพื่อจะมีชีวิตรอดต่อไป
แล้วอยู่มากลางดึกคืนหนึ่งก็มีฝูงม้าห้อตะบึงเข้ามาในหมู่บ้าน ม้าจากฟาร์มที่อยู่นอกหมู่บ้านออกไป วันรุ่งขึ้นรถขนน้ำก็เข้ามาในหมู่บ้านโดยมีรอยลูกปืน น้ำรั่วมาตลอดทางโดยคนขับไม่รู้เรื่อง แล้วจู่ๆก็มีผัวเมียมอเตอร์ครอสใส่ชุดสีสันจัดจ้านขี่มอเตอร์ไซค์วิบากโผล่เข้ามาในเมืองอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
Pacote รู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากลข้างนอกนั้น เขาไม่รู้ว่าคืออะไร แต่มันต้องไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ มิตรสหายที่ส่งไปสืบข่าวฟาร์มม้าไม่กลับมา คืนนั้นเด็กๆ ออกไปวิ่งเล่นแล้วเกิดเหตุ ในเมืองเล็กๆ ที่เล็กมากจนไม่มีก็ได้นี้ มีแต่พวกเขาที่ต้องปกป้องผู้คน และประวัติศาสตร์ของตนเอง
Bacurau คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สามของ Kleber Mendonça Filho คนทำหนังชาวบราซิลที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดคนหนึ่ง ภาพยนตร์สองเรื่องก่อนหน้าของเขาคือ Neighboring Sounds (2012) ว่าด้วยย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางที่หวาดกลัวภัยคุกคามจากคนแปลกหน้าและ Aquarius (2016) การต่อสู้ของหญิงสูงวัย เจ้าของอพาร์ทแมนท์เก่าแก่ที่ทั้งตึกเหลือเธอห้องเดียวกับบริษัทข้ามชาติที่จะทุบตึกทิ้งสร้่างตึกใหม่สวย วิธีการของพวกนั้นคือเอาปลวกมาปล่อยให้กัดกินอพาร์ทเมนท์ที่เหลือเพียงเธอกับหญิงคนรับใช้ หนังทั้งสองเรื่องโฟกัสไปที่ ‘ความไม่มั่นคง’ ของชนชั้นกลางในบราซิลต่อสภาวะรอบข้างทั้งจากคนข้างล่างและข้างบน เหล่าผู้คนที่ขังตัวเองอยู่กรอบแคบของบ้าน ละแวกบ้าน และความฝันแบบเก่าๆ ถูกคุกคามท้าทายทำลายจากผู้คนที่พวกเขาทอดทิ้งและคนที่พวกเขาไม่อาจต่อสู้
หาก Bacurau กลับหันมาเล่าเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ของคนชั้นล่างของสังคม ชาวบ้านครึ่งอินเดียนพื้นเมืองครึ่งคนผิวสีในดินแดนห่างไกลที่พร้อมจะปกป้องทุกอย่างของตนเพราะไม่มีอะไรจะเสียอีกต่อไป
หมู่บ้าน Bacurau ในหนังก็เป็นเช่นหมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลทั่วโลก ที่ที่ถูกรัฐทอดทิ้งทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทรัพยากรอยู่ไกลในเมืองหลวง และชาวบ้านที่นอกจากไม่สามารถพึ่งพารัฐได้ เมื่อพวกเขาพึ่งพาตนเองรัฐก็พยายามจะกำราบปราบปราม ถึงที่สุดการต่อต้านรัฐของพวกเขาจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำเพื่อปกป้องตนเอง
หนังอาศัย genre แบบหนังคาวบอย แต่เป็นในทางตรงกันข้าม จากคนขาวปกป้องชาวบ้านจากพวกโจรร้าย ขี่ม้ามาอย่างไม่รู้ทิศ แล้วใช้คุณธรรมความดีกับลูกปืน แต่ในหนังเรื่องนี้ ชาวบ้านที่เป็นครึ่งอินเดียนครึ่งผิวสี และหัวหน้าโจรต้องเป็นฝ่ายออกมาปกป้องชุมชนของตนเองจากการรุกรานของรัฐและคนขาว สภาวะด้านกลับของพร็อพอะกันด้า ‘ภาระของคนขาว’ นำไปสู่แบบจำลองของการต่อต้านอาณานิคมที่ยังคงหนุนเนื่องผ่านทางสงครามเศรษฐกิจและชนชั้น แม้การล่าอาณานิคมจะจบลงไปแล้ว แต่มันไม่เคยตายลงจริงๆ
หนังค่อยๆ ปูบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจให้ค่อยๆ ทบทวี และระเบิดความบ้าคลั่งนองเลือดออกมาในสามสิบนาทีสุดท้ายของหนัง เมื่อกลุ่มมือสังหารลึกลับชาวอเมริกัน ร่วมด้วยชาวบราซิลสองคนออกปฏิบัติการกวาดล้างหมู่บ้านที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ประดุจดังการที่อเมริกาเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของหลากหลายประเทศในละตินอเมริกาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ให้การสนับสนุนชนชั้นกลาง บริษัทข้ามชาติ ไปจนถึงเผด็จการคนสำคัญเพื่อให้ปราบปรามแนวคิดสังคมนิยมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงไม่ใช่ของชาติตน แต่ของอเมริกานั่นเอง
การต่อสู้ของชาวบ้านใน Bacurau จึงน่าตื่นใจอย่างยิ่ง เมื่อผู้นำในการต่อสู้เป็นคนครึ่งชายครึ่งหญิงที่ครึ่งดีครึ่งบ้าไปแล้ว หากการปล่อยให้มีการขวางทางน้ำ จนชาวบ้านต้องกินซื้อน้ำใช้เป็นนัยยะของการเพิกเฉยของรัฐ ของนักการเมือง (หนำซ้ำยังลำเลิกบุญคุณจากการเอาของเหลือใช้ใกล้หมดอายุมาบริจาคชาวบ้าน) การที่แกงค์ของ Lunga ซ่อนตัวอยู่ในเขื่อนร้างที่แห้งผากจึงเป็นการฉายภาพความจำเป็นต้องต่อสู้ที่มาจากความแร้นแค้นที่แท้
เรื่องน่าตื่นใจสุดขีดของหนังคือจุดศูนย์กลางของการต่อสู้ ไม่ได้อยู่บนถนนแต่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ การที่เมืองเล็กๆ ไกลหูตาแบบนี้มีพิพิธภัณฑ์เมืองดำรงคงอยู่ Kleber Mendonça Filho ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ว่าเมือง Bacurau นี้เขาได้ไอเดียจากการไปเยือนเมือง Quilombo เมืองเล็กที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อต้าน เพราะมันคือเมืองของทาสผิวสีที่หนีมาตั้งรกราก และเต็มไปด้วยการต่อสู้กับอำนาจรัฐมาโดยตลอด
พิพิธภัณฑ์ของเมือง Bacurau จึงเป็นทั้งคลังแสงและคู่มือการเรียนรู้วิธีการต่อต้าน ไปจนถึงบอกสภาพภูมิศาสตร์ในการจัดการศัตรูของเมือง ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนังจึงเต็มไปด้วยความเดือดดาลคลั่งแค้นของประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมที่กลับมาในโลกสมัยใหม่ การฆ่าแบบดั้งเดิม การเอาคืนของคนที่ถูกจำกัด และกำจัด
เราอาจมองจากอีกด้านของกระจกว่านี่คือหนังที่พูดถึง ‘ซ่องโจร’ ต้านรัฐ การกระทำเย้ยอำนาจกฎหมาย ใช้ความรุนแรง และศาลเตี้ยพิพากษาผู้คน กลุ่มคนที่มีทั้งตุ๊ด โสเภณี พวกคนหนุ่มสาวฟรีเซ็กซ์ คนยากจนไร้ศีลธรรม แถมยังใช้ความรุนแรงกันเป็นประจำ ซึ่งทุกอย่างที่พูดถูกทั้งหมดเพราะเป็นเพียงภาพเฉือนชั่วขณะของความรุนแรง โดยตัดขาดประวัติศาสตร์ของความรุนแรงนั้นออกไป วิธีคิดแบบตัดขวางนี้ โดยไม่ได้ตั้งใจ มันได้ปกปิดที่มาที่ไปของปัญหา ซ้ำยังเป็นแขนขาของการใช้อำนาจรัฐด้วย มันลดรูปรากของปัญหาออกไป ด้วยวิธีการนี้ ด้วยการทำให้คิดเช่่นนี้ ด้วยการไม่ยอมชำระประวัติศาสตร์บาดแผลเช่นนี้ ด้วยการก้าวข้ามเช่นนี้ รัฐจึงสามารถควบคุมความสมเหตุสมผลของการปราบปราม ผู้คนที่คิดเป็นอื่นต่อนโยบายของรัฐโดยมีแรงสนับสนุนจากเหล่าไทยมุงระยะไกลที่ให้เหตุผลได้อย่างจำกัด ผลนั้นหรือก็คือการต่อต้านไม่รู้จบที่จะกลับมาเหมือนภูติผีที่นั่นที่นี่
เราจึงอาจใช้แบบจำลองของ Bacurau อธิบายได้หลายเรื่อง ตั้งแต่การต่อต้านใหญ่ๆ ของชาวบ้าน ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างการจับปราบปรามผู้คนในยุคกฏอัยการศึกสาธารณสุขนี้ และในการอรรถาธิบายความร่วมมือและความไม่ร่วมมือของเหล่าประชาชนใต้รัฐเดียวกันนี้
Tags: บราซิล, Bacurau, Kleber Mendonça Filho