“พบผู้ป่วยรายใหม่ในต่างจังหวัดมากกว่า กทม.” ภาพแผนที่ประเทศไทยที่เริ่มมีจังหวัดลงสีแดงที่พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น หรือจังหวัดที่เป็นสีแดงอยู่แล้วก็มีความเข้มของสีเพิ่มขึ้นด้วยเป็นภาพที่เราเห็นจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านวิจัยและวิชาการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ภาพที่ 1 ก.) หรือภาพที่เราอาจเห็นจากสื่ออื่นในลักษณะคล้ายกัน (ภาพที่ 1 ข.) แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยกระจายเกือบทั่วประเทศไทยแล้ว 

แต่ภาพแผนที่นี้มีอะไรอยู่ “ข้างหลัง” ที่เราจะต้องระมัดระวังบ้าง?

(ก) ภาพแผนที่จาก วช 5G

(ข) ภาพแผนที่จาก Workpoint News

ภาพที่ 1 สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย 

  1.         จำนวนผู้ป่วยจะแยกตามจังหวัดที่เข้ารับการรักษา

    จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีตัวเลขอยู่ 2 ชุด คือชุดที่กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์รวมทั้งประเทศจนถึงวันที่ 29 มี.ค. 63 มีผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 1,388 ราย ใน 59 จังหวัด ซึ่งสื่อมวลชนบางสำนักอาจนำข้อมูลชุดนี้มาจำแนกรายจังหวัดอีกที กับชุดที่แต่ละจังหวัดรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น จ.กาญจนบุรีมีผู้ป่วยยืนยัน 7 ราย จากผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจหาเชื้อ 127 ราย (ภาพที่ 2) เป็นต้น

 

ภาพที่ 2 สถานการณ์โควิด-19 จ.กาญจนบุรี (ที่มา: สสจ.กาญจนบุรี)

  โดยข้อกำหนดเบื้องต้นของกรมควบคุมโรคจะจำแนกผู้ป่วยตามจังหวัดที่เข้ารับการรักษา คือ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดใดก็จะนับเป็นผู้ป่วยของจังหวัดนั้น ยกตัวอย่างขณะนี้ จ.พะเยามีผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย โดยทั้ง 2 รายนี้เป็นผู้ที่ทำงานที่กรุงเทพฯ มาก่อน แต่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงที่ผ่านมาแล้วมีอาการป่วย เมื่อเข้ารับการรักษาที่รพ.ประจำอำเภอ จึงนับเป็นผู้ป่วยของจ.พะเยา

แต่จะสังเกตว่าจำนวนผู้ป่วยของจ.กาญจนบุรี ตามชุดข้อมูลระดับประเทศ (ภาพที่ 1 ข.) กับชุดข้อมูลระดับจังหวัด (ภาพที่ 2) ไม่ตรงกัน ประเด็นนี้ผมไม่ได้ตั้งข้อสังเกตเองนะครับ แต่คนในพื้นที่สงสัยและสอบถามกับเพจสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กาญจนบุรี จึงได้คำตอบว่า ตัวเลข 7 รายเป็นผู้ป่วยที่รักษาในจังหวัด ส่วนอีก 2 รายเป็นผู้ป่วยที่รักษาในกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ตัวเลข 9 รายจะไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเบื้องต้นของกรมควบคุมโรค

  1. จำนวนผู้ป่วยจะยังไม่สะท้อนการระบาดภายในจังหวัด แต่จะบอกแนวโน้มการระบาดในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ถ้ายังจำการแบ่งระยะการระบาดในประเทศออกเป็น 3 ระยะ (ที่ยังไม่ประกาศระยะที่ 3 เสียที) ได้ กรมควบคุมโรคจะแบ่งเป็นระยะที่ 1 พบผู้ป่วยจากประเทศอื่น (imported cases) ระยะที่ 2 พบการแพร่เชื้อในประเทศในวงจำกัด (limited local transmission) และระยะที่ 3 เป็นการแพร่เชื้อในประเทศในวงกว้าง ซึ่งถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นโลกแล้ว 

  เราจะมี “ประเทศกรุงเทพฯ” แทนประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาด และ “ประเทศต่างจังหวัด” แทนประเทศอื่น

  ดังนั้นรูปแบบการระบาดในต่างจังหวัด จะเริ่มต้นจากการพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ (ระยะที่ 1) ก่อน ยกตัวอย่าง จ.นครปฐม ที่มีผู้ป่วยรายที่ 7 และ 8 เป็นเซียนมวยกลับมาจากสนามมวยราชดำเนินในกรุงเทพฯ ต่อมาตรวจพบว่าคนในบ้านเดียวกันหรือที่ทำงานเดียวกัน เช่น บุตร ภรรยา คนงาน ติดเชื้อตาม (เริ่มเข้าระยะที่ 2) ตัวเลขผู้ป่วยที่สื่อนำเสนอในช่วงนี้ จึงยังเป็นตัวเลขของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมาก่อนหน้านี้ในระยะฟักตัว 1-14 วัน หรือไม่เกิน 2 สัปดาห์

  ซึ่งถ้าหน่วยงานในพื้นที่สามารถติดตามผู้สัมผัสและกักกันโรคได้ทั้งหมด เชื้อก็จะไม่แพร่ระบาดต่อในระยะที่ 2-3

ภาพที่ 3 แผนผังความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาของผู้ป่วยจ.นครปฐม (ที่มา: PRCovid-19 นครปฐม)

 

  1.         การแบ่งกลุ่มจังหวัดเสี่ยงของกรมควบคุมโรค นอกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังมีพื้นที่ที่กรมควบคุมโรคเห็นว่าควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษอีก 6 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และ 4 จังหวัดภาคไต้ คือ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ได้อธิบายสถานการณ์การระบาดในประเทศว่ามาตรการควบคุมและป้องกันโรคในแต่ละจังหวัดขึ้นกับสถานการณ์ในจังหวัดนั้นๆ สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 

  (1) กรุงเทพฯ และปริมณฑล = ระยะที่ 2.99 ซึ่งน่าจะรวมถึงจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น ชลบุรี และภูเก็ตด้วย 

  (2) จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วย 

  (3) จังหวัดที่พบผู้ป่วยน้อย = ระยะที่ 1 

  (4) จังหวัดที่เริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้น แต่ยังไม่ระบาดในวงกว้าง = ระยะที่ 2 

  และ (5) 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เดิมแต่อย่างใด แต่เพราะมีประชาชนเดินทางไปร่วมงานดาวะห์ที่มาเลเซียในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจากงานนี้จำนวนมากจนทำให้มาเลเซียต้องปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดในเวลาต่อมา

  ดังนั้นเมื่อเราเห็นภาพแผนที่ประเทศไทยรายจังหวัดที่มีการลงสีแดงตามการพบ-ไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 แล้วจะต้องวิเคราะห์ต่อ ว่าสถานการณ์ในแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร (สื่อน่าจะลงสีไล่ระดับตามจำนวนผู้ป่วย) และประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนั้นๆ ต้องติดตามข่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อมาจากจังหวัดอื่น (ระยะที่ 1) ติดจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด (ระยะที่ 2) หรือติดจากแหล่งโรคในจังหวัดของตัวเอง (ระยะที่ 2-3)

 

Tags: , ,