หลายวันก่อนเราเห็นบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ออกมารณรงค์ให้ทุกคนอยู่ในบ้านแทนการออกมาใช้ชีวิตด้านนอก ซึ่งถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำให้โรคระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ผ่านข้อความ “I Stay at Work for you. You Stay at home For us” จนกระทั่งสถานการณ์ของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งใช้ประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3  ออกมา และนั่นทำให้ร้านอาหารทั่วไปไม่สามารถให้บริการภายในร้านได้อีกต่อไป เหลือไว้เพียงการเดลิเวอรีหรือสั่งกลับบ้านเท่านั้น เช่นเดียวกับร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการได้เฉพาะแขกผู้เข้าพักเท่านั้น นั่นหมายความว่าใครที่ไม่ทำอาหารด้วยตัวเองต้องพึ่งพาเดลิเวอรี หรือเสี่ยงไปร้านอาหารเพื่อซื้อกลับมากินที่บ้านเท่านั้น ส่วนคนที่พอทำอาหารกินเองได้ก็ยังมีที่พึ่งพาอย่างตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดให้บริการ

ร้านอาหารเริ่มปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

หลายวันมานี้ก่อนการประกาศมีหลายคนตั้งคำถามถึงการเดลิเวอรีขึ้นมาว่าเป็นเหมือนพ่อค้าคนกลางที่ฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่ เพราะร้านที่เข้าร่วมจะถูกหักส่วนแบ่งรายได้ หรือที่เรียกว่า GP ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30-35% ของสินค้าที่ขายได้ แต่หากมองในมุมของบริการเดลิเวอรีแล้วก็มีการเปิดโอกาสไว้ให้ร้านอาหารที่ไม่อยากเสียค่า GP ด้วยบริการที่ให้คนส่งมาต่อคิวหรือโทรสั่งกับร้านแล้วให้คนส่งไปรับมา ทำให้ 2-3 วันนี้ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้หันมาใช้วิธีการอย่างหลังมากขึ้น เท่ากับว่าร้านอาหารต้องบริหารจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองเรื่องคิวเรื่องการจัดเตรียมทุกอย่าง สำหรับร้านอาหารที่ให้บริการเดลิเวอรีอยู่แล้วอาจจะไม่กระทบมาก แต่สำหรับหน้าใหม่ในวงการนี้บอกเลยว่าหนักหนาเอาการอยู่ แน่นอนว่าคนกินต้องรับภาระค่าส่งไป 

ร้านโบ.ลาน หันมาให้บริการปิ่นโตกลับบ้าน

ความน่าสนใจของการเดลิเวอรียังอยู่ที่บรรดาร้านอาหารบางประเภทอย่าง Fine Dining เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์นี้และนำเอาเมนูที่สามารถบริการส่งอาหารได้ออกมาให้บริการทันที อาทิ “โบ.ลาน” ที่หันมาให้บริการปิ่นโตกลับบ้าน เช่นเดียวกับ “เออ” ร้านอาหารในเครือเดียวกัน รวมถึง “Eat Me” ที่เชฟทิม บัตเลอร์ โพสต์ถึงการรวมกลุ่มของร้านอาหารต่างๆ หลังจากที่ร้านอาหารไม่มีคนแวะมากินเหมือนเช่นเคย Appia, Eat Me, Err, Bo.Lan, Bunker, Peppina, 100 Mahaseth และ Soul Food Mahanakorn ที่ร่วมกันทำ Food Delivery สามารถสั่งตรงได้กับทางร้าน แล้วทางร้านบริหารจัดการเองทั้งหมด โดยกำหนดเวลาส่งอาหารเป็นรอบๆ แล้วแต่ข้อกำหนดของร้าน และแน่นอนว่าหลังจากประกาศฉบับที่ 2 ออกมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เดลิเวอรีและเทคอะเวย์กลายเป็นเพียงทางเลือกเดียวในการสนับสนุนร้านอาหาร เราสังเกตได้ว่าร้านไฟน์ไดนิ่งจำนวนไม่น้อยเตรียมปรับให้อาหารง่ายขึ้นเพื่อทำอาหารส่งเดลิเวอรี ส่วนที่ปรับไม่ได้บางร้านก็ตัดสินใจปิดเป็นการชั่วคราวเพื่อรอดูสถานการณ์

ชามแกง ประกาศตัวเองว่าไม่ให้บริการหน้าร้าน และมีแค่สั่งกลับบ้านกับฟู้ดส์เดลิเวอรีเท่านั้น

นอกจากนี้เรายังได้เห็นภาพของการเกิด Ghost Kitchen ที่ชัดเจนขึ้น เพราะในภาวะนี้ร้านอาหารทั้งหมดกลายเป็น Ghost เพราะตามกฎหมายไม่ให้เรานั่งกินภายในร้านอีกต่อไป แต่นั่นก็เป็นช่องทางสุดท้ายที่เหลืออยู่ แน่นอนว่าทุกคนปรับตัวเอง “ชามแกง” ประกาศตัวเองว่าไม่ให้บริการหน้าร้านก่อนหน้าที่จะมีประกาศออกมา เช่นเดียวกับ “กินกับพีท” บล็อกเกอร์อาหารชื่อดังที่สูญเสียรายได้จากอีเวนต์อาหาร ก็หันกลับมาเปิดร้านอาหาร Kinniji ในรูปแบบเดลิเวอรีอีกครั้ง หลังจากที่งานบล็อกเกอร์ล้นจนเขาต้องปิดร้านไปเมื่อหลายปีก่อน

ฟังแบบนี้แล้วก็ใจหายว่า “ร้านอาหาร” อาจจะไม่หลงเหลืออีกเลยหลังจากวิกฤตนี้ ส่วนตัวคิดว่ามีร้านอาหารที่รอดแน่นอน เพราะทุกร้านอาหารที่ยังไม่ถอดใจปรับตัวเองหันมาเดลิเวอรี ไม่ว่าจะเป็นร้านหรูขนาดไหนก็ตามก็ต้องลองทำเดลิเวอรี เพียงแต่ภาระจะตกมาที่บริษัทให้บริการเดลิเวอรีและลูกค้าแล้ว บริษัทที่ให้บริการเดลิเวอรีต้องเผชิญกับการบริการเปิดหน้าร้านให้กับร้านอาหารหน้าใหม่ รวมถึงการขอลดค่า GP ที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้บริษัทให้บริการเดลิเวอรีต้องรับภาระเรื่องค่าขนส่งและค่าคนขับไปบางส่วน เรียกว่าแบ่งเบาจากร้านอาหาร เช่นเดียวกับคนกินที่อาจจะต้องแบกรับค่าส่งที่อาจจะไม่จำเป็น หากร้านอาหารยังเปิดให้บริการอยู่ สำหรับคนที่ไม่ทำอาหารกินเองก็มีเรื่องให้ต้องคิดว่าอาจจะต้องบริหารจัดการสั่งอาหารแบบพอกินได้ 3 มื้อ หรือหลายวันเอาไว้ 

คนอยู่บ้าน สั่งอาหารมากิน ดันฟู้ดเดลิเวอรีโตหลายเท่า

ในวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้แน่นอนว่าร้านอาหารได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการเดลิเวอรีเองก็ย่อมได้ประโยชน์จากการที่คนอยู่บ้านมากขึ้น และในภาวะที่ไม่สามารถออกไปกินอาหารที่ร้านได้ การใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีจึงเป็นทางออก 

อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีต่างมีมาตรการช่วยเหลือร้านอาหารที่ยังไม่ได้เข้าสู่บริการเดลิเวอรีให้ง่ายและสะดวกมากเช่น ยกตัวอย่าง GET ที่เปิดระบบรับสมัครร้านค้าพาร์ทเนอร์ออนไลน์แบบฟาสต์แทรคผ่านเว็บไซต์ www.getthailand.com/merchant  ทำให้ร้านอาหารเข้าสู่ระบบได้รวดเร็วมากขึ้น และสามารถเริ่มให้บริการเดลิเวอรีผ่านแพลตฟอร์มของ GET ได้ภายในระยะเวลาเพียง 7-10 วัน 

โดยล่าสุด GET ออกมาตรการเร่งด่วนออกโปรแกรมประกันโรคโควิด-19 ที่ให้เงินชดเชย 20,000 บาท และมีระยะความคุ้มครองถึง ปี ให้กับคนขับ และมีบริการล้างรถและกล่องใส่อาหารแบบฆ่าเชื้อโรคฟรีสำหรับคนขับ พร้อมเปิดศูนย์แจ้งเหตุฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับคนขับและร้านอาหาร

หรือร้านอาหารไหนอยากเข้าสู่ระบบหน้าร้านของ LINEMAN ก็สามารถทำผ่านแอป Wongnai Merchant App (RMS) ซึ่งฟรีและดูไม่ยุ่งยาก เพียงแค่สมัครผ่านหน้า Web /Wongnai Merchant App สามารถลงทะเบียน เปิดหน้าร้านได้ทันที มีระบบ OTP ยืนยันตัวตนและเริ่มให้บริการ โดยร้านสามารถเดลิเวอรีผ่าน LINE MAN ได้ทันที (อย่างช้า 1 วัน)

Grab  กับมาตรการลดความเสี่ยงการติดต่อระหว่างคนสั่งอาหารและคนส่งอาหาร

ฟากของ Grab เอง แม้จะยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือร้านอาหารเท่าไรนัก แต่เน้นไปที่การสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยเปิดตัวการส่งอาหารแบบ ‘ไร้การสัมผัส’ (Contactless) เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสติดต่อกันระหว่างลูกค้าและพาร์ทเนอร์คนขับ เช่น ทิ้งระยะห่างระหว่างลูกค้าและผู้ขับประมาณ 2  เมตร ให้คนขับทำความสะอาดมือก่อนสัมผัสบรรจุภัณฑ์ เราสามารถให้คนขับฝากอาหารไว้ที่หน้าประตูบ้านได้โดยการแชตไปบอก และเน้นให้ชำระเงินผ่านช่องทางแกร็บเพย์ ​(GrabPay) เป็นต้น

วรานันท์ ช่วงฉ่ำ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด LINE MAN บอกกับเราว่า การเติบโตของฟู้ดเดลิเวอรีสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงสิ้นปีที่แล้ว มีตัวเร่งอย่างเรื่องของฝุ่นที่เป็นตัวเร่งแรกในช่วงเดือนมกราคม 2563 และตามด้วยเรื่องโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่สองในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เฉพาะของ LINE MAN เอง มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่าต่อสัปดาห์ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

“ช่วงเวลานี้น่าจะทำให้คนสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีมากขึ้น เพราะคนไม่ออกไปไหน ด้วยสถานการณ์แบบนี้ เรามองว่าน่าจะมีลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามา อาจจะยังไม่เคยใช้บริการฟู้ดส์เดลิเวอรี ซึ่งน่าจะทำให้เขามีความคุ้นเคยมากขึ้น

“โดยมาตรการของ LINE MAN ในการเตรียมรับมือโควิด-19 คือเราต้องปกป้องคนขับให้เขาสวมหน้ากาก และฝั่งลูกค้าคือ เรื่องความสะอาดของอาหารที่จะไปถึงมือลูกค้า นอกจากนี้ปริมาณออเดอร์ที่เยอะมากขึ้น ก็ทำให้ LINE MAN พยายามเพิ่มจำนวนคนขับมากขึ้น โดยปัจจุบันมีคนขับอยู่ทั้งสิ้น 50,000 คน และมีร้านอาหารที่เป็นพาทเนอร์อีก 100,000 กว่าร้าน 

“ร้านอาหารในช่วงนี้คือปรับตัว แม้จะปิดหน้าร้านไป ก็ทำเป็นเดลิเวอรี โดยร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเรา ก็จะช่วยโปรโมทร้าน มีลิงก์ไปยังหน้าร้านเพื่อสั่งอาหารได้ทันที”

ช่วงเวลาที่คนสั่งอาหารมากสุดคือตอนเที่ยงในวันจันทร์-ศุกร์ และช่วงเย็นในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยประเภทอาหารที่คนสั่งมากที่สุดได้แก่ อาหารจานเดี่ยว ผัดกะเพราะ ก่วยเตี๋ยว และอาหารนานาชาติอย่างอาหารญี่ปุ่น โดยขนมหวานอย่างชานมไข่มุกหลุดจากท็อป 5 ของ LINE MAN

รัฐคุมเข้มทั้งร้านอาหารและคนส่งอาหาร

ในวงเสวนา เรื่อง การสั่งอาหารออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าในสถานการณ์ตอนนี้แนะนำว่าไม่ควรสั่งอาหารดิบมากิน เนื่องจากระยะทางจากร้านอาหารถึงคนสั่งอาจจะทำให้อาหารไม่สะอาด หรือมีความเสี่ยง อย่างไรก็ตามร้านอาหารที่มีใบอนุญาตและเข้าสู่ระบบของการส่งอาหารของผู้ให้บริการ ขอให้ยึดหลักตามกระทรวงสาธรณสุขเรื่องของความสะอาดทั้งอุปกรณ์ คนครัว การสวมหมวกป้องกัน การประกอบอาหารที่ปรุงสุกใหม่

“สิ่งสำคัญในช่วงนี้คือการเลือกภาชนะที่ใส่อาหาร สำหรับร้านที่เคยให้บริการส่งอยู่แล้วคงคุ้นเคย แต่ถ้าร้านไหนไม่เคยมีบริการส่งอาหารมาก่อน ต้องใส่ใจกับภาชนะ เพราะถ้าอาหารที่ต้องการให้อุ่นอยู่เสมอ ต้องใส่ภาชนะที่ใส่ของร้อนได้ และปิดมิดชิดอีกชั้นหนึ่ง 

ส่วนคนส่งอาหาร ตอนนี้มีสองรูปแแบบ คือร้านอาหารที่มีคนส่งอยู่แล้ว กับอีกแบบคือร้านอาหารที่ใช้บริการบริษัทส่งอาหาร เป็นตัวกลางมายังผู้บริโภค ซึ่งทางกรมอนามัยได้มีการพูดคุยและให้แนวทางไว้ดังนี้ว่า ร้านอาหารที่มีผู้ส่งอาหารเป็นของตัวเอง ต้องตรวจประวัติและสุขภาพของคนส่งอาหาร ถ้าพนักงานไม่สบาย ให้งดส่งอาหารทันที 

“หลายร้านเริ่มมีการปรับตัว ส่งอาหารแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หมายความว่าจากร้านอาหารไปยังผู้สั่งอาหารเพียงจุดเดียว จากเดิมที่อาจจะมีการวางแผนส่งอาหารเป็นจุดๆ ตามเส้นทาง และบางร้านเปลี่ยนวิธีการให้ลูกค้าเอาอาหารออกจากกล่องใส่อาหารเองด้วย”

“ส่วนเวลาเรารับอาหารมาแล้วแนะนำว่าให้ล้างมือให้สะอาด และถ่ายออกจากภาชนะเดิมและใส่ในภาชนะของเราเอง ถ้าเป็นไปได้ให้อุ่นอีกรอบหนึ่งก่อนกิน และล้างมือก่อนกินอีกครั้ง ก็จะช่วยให้ปลอดภัยในสถานการณ์เช่นนี้” 

ส่วนผู้ให้บริการส่งอาหาร ทางกรมอนามัยก็ได้มีการพูดคุย และมีกฎอยู่ว่าต้องดูแลพนักงานเรื่องความสะอาด ก่อนไปปฎิบัติงาน ต้องล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากาก ดูแลความสะอาดเรื่องอุปกรณ์เก็บอาหารที่ไปส่ง

“ตอนนี้มีการจัดการเรื่องส่งอาหารชัดเจน ไม่เปิดอาหารก่อนส่งถึงมือลูกค้า และส่งอาหารทันทีที่ทำเสร็จ พยายามรักษาระยะเวลาจากจุดรับอาหารไปถึงจุดที่ส่งอาหาร รักษาระยะห่างระหว่างคนส่งและคนรับ ลดเรื่องการจ่ายเงิน จ่ายผ่านแอป ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใกล้ชิดกันกับคนส่งอาหาร 

“ร้านอาหารอยู่ที่อยู่ภายใต้กฎของกระทรวงสาธารณสุข เรามีแนวทางแนวปฎิบัติและสั่งการไปยังท้องถิ่นให้ตรวจสอบอย่างเข้มข้นและสุ่มตรวจเรื่องการส่งอาหารด้วย เพราะตอนนี้มีร้านอาหารจำนวนมาก ไม่เคยมีบริการส่งอาหารมาก่อน แต่ตอนนี้เขาต้องปรับตัวเพื่อประคับประคอบธุรกิจของตัวเอง”

“เรามีการหารือกับผู้ให้บริการส่งอาหาร ได้เน้นย้ำพูดคุยไปแล้วว่าตอนนี้คุณเป็นคนสำคัญ เพราะเราให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ต้องทำให้เขาปลอดภัยจากการสั่งอาหาร เพราะเป็นจุดสำคัญว่าจะทำอย่างไรที่จะดูแลผู้ส่งอาหาร สร้างความมั่นใจว่าผู้ส่งอาหารมีสุขลักษณะที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้าย

Tags: