วิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อความถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะเดียวกัน ดร.ฟาติห์ ไบรอล ประธานองค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ออกมาให้ความเห็นว่า วิกฤติจดังกล่าวเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ ที่รัฐบาลจะหันมาลงทุนกับพลังงานสะอาด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงาน
ตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับให้โคโรนาไวรัสเป็นโรคระบาดร้ายแรง อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือ อุตสาหกรรมการบินซึ่งมีมูลค่าเป็นร้อยละ 1 ของเศรษฐกิจโลก และใช้พลังงานฟอสซิลคิดเป็นร้อยละ 8 ของอุตสาหกรรมทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ดร.ไบรอลเสนอให้ผู้นำทางการเมืองและการเงินของโลกใช้โอกาสในช่วงวิกฤตนี้ ออกแบบแพคเกจทางเศรษฐกิจที่สร้างความยั่งยืน โดยเน้นไปที่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และลดการใช้พลังงานฟอสซิลโดยเร็ว เขามองว่า “นี่เป็นโอกาสของโลกที่จะสร้างชุดนโยบายที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมกับลดการลงทุนในพลังงานสกปรก และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด”
เขากล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตระดับโลกอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ รวมถึงกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราว แต่สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงยังคงอยู่ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยให้วิกฤตในปัจจุบันทำให้ความพยายามของเราในการแก้ปัญหานี้น้อยลง โดยเหตุผลที่เขาออกมาพูดเรื่องนี้ในเวลานี้ เพราะรัฐบาลต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงที่พิจารณาหาแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรน่า
ก่อนหน้านี้ IEA เคยถูกวิจารณ์ว่าไม่มีบทบาทในการเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและไม่สนใจข้อตกลงปารีส ที่ตั้งเป้าหมายจะลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาเซลเซียส แต่สัปดาห์ที่แล้ว เขานำเสนอนโยบายที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ไฮโดรเจนและคาร์บอน
จากรายงานของ UNEP ระบุว่า ระหว่างปี 2020-2030 ถ้าทั่วโลกไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ราว 32 กิการ์ตัน หรือราวปีละ 7.6 เปอร์เซนต์ของที่มีการปล่อยในปัจจุบัน ข้อตกลงปารีสที่ระบุว่าจะลดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะล้มเหลว
รวมถึงรายงานล่าสุดของ IEA ที่เพิ่งออกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ชี้ว่า ในปี 2019 ทั่วโลกคงการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศที่ราว 33 พันล้านตัน โดยร้อยละ 80 มาจากประเทศในทวีปเอเชียที่ยังคงพึ่งพาพลังงานถ่านหิน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ลดการปล่อยคาร์บอนลงไป 140 ล้านตัน สหภาพยุโรปลด 16 ล้านตัน แและประเทศญี่ปุ่นลดการปล่อยลงได้ถึง 45 ล้านตัน
ดร.ไบรอลมองว่า ข้อเสนอนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียวพร้อมกับสร้างงานได้อีกมากมาย แผนการนี้จะสร้างประโยชน์สองด้านพร้อมกันคือ กระตุ้นเศรษฐกิจและเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงงานที่สะอาดในหลายประเทศ โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานจะไม่อยู่ชั่วคราว และจะคงอยู่ตลอดไปในอนาคตของเรา
อย่างไรก็ตาม เขาก็เตือนว่าไวรัสโคโรน่าก็สามารถเป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้เหมือนกัน เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศหลักที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดของโลก ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19
ที่มา:
Tags: โลกร้อน, โควิด-19, พลังงานสะอาด, IEA