เมื่อเวลาประมาณ 11.20 น. กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกแถลงการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 50 ราย ผู้ป่วยสะสม 322 ราย รักษาหาย 43 ราย และเสียชีวิต 1 ราย และมีรายงานว่ามีเด็กอายุ 6 เดือนติดเชื้อ 1 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่จำแนกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือสัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 41 ราย โดยมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยเพิ่มขึ้น 18 ราย สถานบันเทิงย่านทองหล่อและรามคำแหง 5 ราย ผู้สัมผัสกับผู้ป่วยเดิม 12 ราย ผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาเพิ่ม 6 ราย รวมถึงยังมีการพบเด็กอายุ 6 เดือนติดเชื้อ 1 ราย
กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 9 ราย โดยกเป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ 4 ราย แบ่งเป็นคนไทย 2 รายที่เพิ่งกลับจากอังกฤษ ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ ถัดมาเป็นผู้อาศัยในพื้นที่แออัดเป็นไกด์และพนักงานรักษาความปลอดภัย 2 ราย และอีก 3 ราย กำลังรอผลเลือดเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มรอสอบสวนโรคเพิ่มเติมอีกประมาณ 118 ราย โดยส่วนมากเกี่ยวข้องกับสนามมวยเป็นหลัก ย้ำว่าหากมีไข้หรือมีอาการให้ติดต่อ 1422 หรือมาติดต่อที่สถานพยาบาล ทั้งนี้ ยืนยันว่าการตรวจวินิจฉัยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในกรณีสนามมวย ตอนนี้พบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องแล้ว 72 ราย และกรณีสถานบันเทิงพบแล้ว 62 ราย แต่ยังผิดจากที่คาดการณ์ไว้ราว 500 รายอยู่อีกมาก ดังนั้น หากรู้ว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงขอให้ติดต่อ 1422 หรือมาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตระหนก แต่ขอให้ตระหนัก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก แต่ต้องตระหนักดูแลตัวเองไม่ให้แพร่ไปสู่คนอื่น และขอกำชับให้ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือมีประวัติไปสนามมวยให้กักตัวเอง และสร้างระยะห่างทางสังคม แยกของใช้และสำรับอาหาร งดเดินทาง ทำงานที่บ้าน และลดการเข้าสังคม
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีอาการป่วยเล็กน้อย ยังไม่ต้องรีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพราะหากไม่มีอาการป่วยโอกาสที่จะพบเชื้อน้อยมาก และในระยะแรกๆ ที่ไม่พบ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ป่วย ดังนั้น ให้เฝ้าระวัง 14 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน หนุ่มสาวเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ถึงแม้จะไม่มีอาการร้ายแรงแต่เป็นพาหะแพร่เชื้อระบาดเพราะเดินทางไปทั่ว
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการองรับผู้ป่วย โดยมีโรงพยาบาลในเครือข่ายมี 1,600 เตียงสำหรับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีการสำรองสถานพยาบาลพิเศษ โดยขณะนี้กำลังพูดคุยกับโรงแรม ซึ่งจะมีจำนวนทั้งสิ้น 500 เตียง และขณะนี้พร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการไม่ร้ายแรงไปพื้นที่สถานพยาบาลพิเศษ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทางด้านความพร้อมในการรักษา ตอนนี้นำยาฟาวิพิราเวียร์เข้ามาแล้ว 40,000 เม็ด และกระจายออกไปทั่วประเทศแล้ว โดยสำรองไว้ในกรุงเทพฯ 20,000 เม็ด และมีระบบการเบิกจ่ายทุกเครือข่าย ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ออกคู่มือสำหรับการใช้ยาเรียบร้อยแล้ว โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ยา ยาดังกล่าวจะใช้กับผู้ที่มีอาการปานกลางและกำลังจะรุนแรงเท่านั้น และไม่ได้ใช้ยาตัวนี้ตัวเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ยังไม่มีการันตีว่ายาดังกล่าวจะสามารถใช้ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย เพราะยาต้านไวรัสทำได้เพียงประคอง และภูมิร่างกายสำคัญที่สุด
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุกิจ ศรีทิพยวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า กทม. สั่งการให้สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล เตรียมความพร้อมและทำงานร่วมกันในการรับมือการแพร่ระบาดครั้งนี้ โดยขณะนี้ ได้นำโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนซึ่งเป็นโรงพยาบาลเปิดใหม่ รับผู้ป่วยที่ยืนยันว่ามีอาการไม่มาก โดยในเฟสแรกมี 103 เตียง เป็นห้องแยกประมาณ 39 ห้อง และในขณะนี้มีเตียงแล้ว 43 เตียง และจะค่อยๆ ซื้อเวชภัณฑ์เข้าไปเสริม นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลอื่นในสำนักการแพทย์รอบรับอีกอีก 11 โรง
ตัวเลขล่าสุดที่เข้าค่ายสงสัยที่กำลังนอนอยู่ในโรงพยาบาลในเครือข่ายกรุงเทพฯ มี 29 ราย ผู้ป่วยยืนยันมี 28 ราย ศักยภาพทางการแพทย์เราไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของประชาชนทุกคน ทุกคนต้องมีความตื่นตัวไม่ใช่ตื่นกลัว ความร่วมมือของประชาชนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าเครือข่ายโรงเรียนแพทย์พร้อมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีบทบาทด้านวิชาการในการให้ความเห็นในเชิงการดูแลรักษาและวินิจฉัย บทบาทด้านการวินิจฉัยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการวินิจฉัย และบทบาทด้านการดูแลรักษาพยาบาลและส่งต่อเป็นระบบ โดยในเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ได้จัดให้มีเตียงของผู้ป่วยราว 300 ห้อง ในขอบเขต 8 โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ รวมถึงมีรองรับในเขตปริมณฑล ในเขตรอยต่ออย่างนครปฐม
ดังนั้น ขอให้สบายใจเรื่องความพร้อมในการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชนให้เข้าใจขั้นตอน ถึงแม้อาจชักช้าแต่ความปลอดภัยต้องมาก่อน อีกเรื่องหนึ่งคือ ขอให้เกียรติกัน ให้อภัยกัน เพราะท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนล้วนสู้กันอย่างต่อเนื่องมาตลอด
ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเรื่องการรักษาพยาบาลว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการรุนแรงส่วนใหญ่จะไม่มีการให้ยา เพราะเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะหายเองได้ และการใช้ยาทุกตัวส่งผลต่อร่างกายได้หมด โดยล่าสุดจะมีการเปลี่นรคู่มือการใช้ยาเป็นใช้ยาต้านไวรัส HIV สองชนิด ร่วมกับคอลพิน และถ้าเป็นมากๆ ถึงจะใช้ยายาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งนี้ สำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของคนไข้
นพ.สุวรรณชัย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า การระบาดเป็นกลุ่มก้อนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ และการแพร่ระบาดในพื้นที่อื่นก็เกิดจากพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นสำคัญเช่นเดียวกัน แต่มีความต่างที่พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่มีการระบาดจากการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา
ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อื่นไม่จำเป็นต้องตระหนก แต่ต้องตระหนัก โดยผลจากมติ ครม. ล่าสุด ให้ปิดพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการจังหวัดพิจารณาดำเนินการ อีกเรื่องที่สำคัญคือวิธีการปฏิบัติที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม แยกของใช้ แยกสำรับอาหาร งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ทำงานที่บ้าน และงดร่วมกิจกรรมสังคมที่มีคนหมู่มาก และที่สำคัญมากที่สุด ถ้าป่วยต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการไม่ไปไหน แต่ถ้าจำเป็นต้องไปสถานพยาบาลต้องมีการประสานล่วงหน้า
นพ.สุวรรณชัยทิ้งท้ายว่า ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยตอนนี้อยู่ในวัยทำงาน ยังแข็งแรง จึงไม่ได้แสดงอาการมาก อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่น่าห่วงคือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรออกมาจากบ้าน และตัวเราเองก็ควรล้างมือ อาบน้ำ เพื่อลดเชื้อโรคทุกชนิด แยกข้าวของเครื่องใช้ จากทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เวลาป่วยจะเป็นภาระให้สถานพยาบาลต้องดูแล