ทั่วโลกกำลังประสบกับสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงแค่แพทย์หรือผู้ที่ต้องทำงานกับผู้ป่วยเท่านั้นที่มีความเสี่ยง แต่ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก ทั้งการทำงาน การเรียน ทำให้แต่ละประเทศพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาในภาคส่วนต่างๆ ทั้งเพื่อการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นในประเทศต่อไปนี้
จีน
ด้านการทำงาน บุคลากรหลายล้านคนในประเทศจีนมีการใช้เครื่องมือออนไลน์ในการทำงานมากขึ้นเช่น WeChat Work and Meeting ของเซนต์เท็น, WeLink ของหัวเว่ย, DingTalk ของอาลีบาบา ซึ่งผู้พัฒนาได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่เพื่อรองรับการทำงานของบุคลากรที่จำเป็นจะต้องทำงานอยู่ที่บ้าน เช่น โควตาสำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมและระยะเวลาในการโทร หรือฟังก์ชั่นที่เฉพาะเจาะจงสำหรับระบบอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีบริการการตรวจร่างกายออนไลน์อีกด้วย
ทางด้านอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างอาลีบาบา ได้เปิดตัวระบบรหัส QR สุขภาพ กำหนดรหัสสีให้กับประชาชนเพื่อวัดระดับความเสี่ยงเพื่อกำหนดการท่องเที่ยวและการติดต่อพบปะกับผู้อื่น โดยรหัสสีเขียวสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ สีเหลืองต้องกักตัว 7 วัน ส่วนสีแดงคือต้องกักตัว 14 วัน โดยมีการเปิดใช้ครั้งแรกใน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเสฉวน ไหหลำ และฉงชิ่ง ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านคนแล้ว ถึงแม้ว่าระบบจะยังไม่เสถียรก็ตาม
ในฝั่งการศึกษาแม้นักเรียนนักศึกษาชาวจีนหลายล้านคนไม่สามารถไปสถานศึกษาได้ แต่การเรียนไม่ได้หยุดลง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดภาคเรียนวันแรกแต่ด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักศึกษากว่า 50 ล้านคนไม่สามารถไปเรียนได้ ทำให้เกิดโครงการห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งริเริ่มจาก Dingtalk และ Youku โดยเปิดให้อาจารย์เข้ามาเปิดสอนแบบไลฟ์สตรีมในวิชาต่างๆ โดยมีอาจารย์เข้าร่วมถึง 600,000 คน แต่เด็กนักเรียนส่วนหนึ่งในอู่ฮั่นได้เข้าไปให้คะแนนประเมินผลการทำงานของแอปฯ ในระดับต่ำ (1 ดาว) และแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อแอปพลิเคชั่นเพื่อให้แอปฯ นี้ถูกดึงออกจากแอปสโตร์ และพวกเข่าจะได้ไม่ต้องเรียนแบบออนไลน์
นอกจากนี้หลายบริษัทยังนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในการลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส เช่น เหม่ยถวนเตี่ยนผิง ยักษ์ใหญ่ในการบริการส่งอาหารนำหุ่นยนต์มาใช้ในการส่งอาหารในระหว่างห้องครัวและพนักงานขนส่งกับผู้บริโภคที่รอซื้ออาหารกลับบ้าน และ เจดีดอตคอมที่จำเป็นจะต้องส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเมืองอู่ฮั่นก็นำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อส่งอุปกรณ์ให้แพทย์
ในขณะที่ชาวจีนจำเป็นต้องกักกันตัวเองในบ้าน วงการบันเทิงของจีนเองก็ปรับตัวโดยมีรูปแบบรายการแนวใหม่เอาใจคนกักตัวที่บ้าน ซึ่งรายการแนวใหม่ที่ผุดขึ้นมานั้นเป็นการบันทึกรายการเเบบ Cloud Recording ซึ่งรูปแบบของรายการคือโชว์ของศิลปินต่างๆ โดยที่สามารถสร้างโชว์จากที่บ้านได้ขอเเค่มีโทรศัพท์มือถือคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเเสดงเท่านั้น เช่นทอล์กโชว์ยอดนิยมอย่าง Day Day Up ได้มีการปรับปรุงรูปแบบให้มีลักษณะเป็นการประชุมวิดีโอกับแขกรับเชิญแทนการมาบันทึกวิดีโอพร้อมกันในสตูดิโอ
ไต้หวัน
บริษัทสตาร์ทอัป อย่าง Yallvend Co. พัฒนา vending machine จำหน่ายหน้ากาก N95 ด้วยระบบสุดไฮเทค เพียงแสดงบัตรประชาชนหรือโทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงตัวตนก็สามารถรับหน้ากากอนามัยกลับบ้านได้เลย โดยในตอนนี้เป็นช่วงของการสาธิตการใช้งานเครื่องดังกล่าว โดยมีการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยไปแล้วถึง 2,000 ชิ้น และทาง Yallvend Co. ได้ชักชวนให้รัฐบาลสนับสนุนหน้ากากอนามัย เพื่อนำมาแจกจ่ายผ่าน vending machine ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของรัฐบาลในการวางขายหน้ากากอนามัยผ่านร้านยาและศูนย์สาธารณสุขตามที่รัฐบาลอนุญาต และยังช่วยป้องกันการสัมผัสกันได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศและเคยเป็นแฮกเกอร์มาก่อน ทำงานร่วมกับทีมจากบริษัท Goodideas-Studio สร้างแผนที่ที่เรียกว่า ‘Instant Mask Map’ ขึ้นมา และมีการใช้งานที่ง่ายแสนง่าย โดยใช้ระบบแถบสีแสดงผลว่าจุดที่ปักไว้ในแผนที่มีหน้ากากอนามัยจำหน่ายหรือไม่ โดยสีเทาหมายถึงไม่มีหน้ากากเหลืออยู่เลย สีชมพูมีเพียง 20% หรือน้อยกว่านั้น สีเหลืองมี 20-50% สีเขียวมีมากกว่า 50% และสีฟ้าคือการแสดงผลทั้งหมด
ไทย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเอไอเอส พัฒนาหุ่นยนต์บริการทางการเแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อลดความเสี่ยง โดยนำมาใช้ติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยหุ่นยนต์ทางการแพทย์สร้างขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสและอยู่ใกล้ผู้ป่วย ด้วยการรักษาและให้คำปรึกษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicline เพื่อขยายขีดจำกัดให้สามารถดูแลรักษาและลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์
ในเบื้องต้นมีการนำหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์มาใช้งานเพื่อเฝ้าระวังแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ที่โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 2 ชุดเป็นแบบตั้งโต๊ะ โรงพยาบาลทรวงอก จำนวน 1 ชุด เป็นแบบ mobile robot และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จำนวน 1 ชุด เป็นแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งจะมีการพัฒนาโปรแกรมให้เสถียรและสามารถกระจายไปใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไปได้
ล่าสุดนักพัฒนาเว็บไซต์คนไทยที่ใช้ชื่อว่า Thaicov ก็ได้พัฒนาเว็บไซต์ที่อัพเดทข้อมูลโรงพยาบาลที่มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ที่มีความขาดแคลนอย่างมากในประเทศไทยและในโรงพยาบาลทั่วประเทศเองก็ยังคงขาดแคลนเช่นเดียวกัน ซึ่งในเว็บไซต์จะบอกพิกัดโรงพยาบาล ที่อยู่จัดส่ง เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และความต้องการต่างๆ ของโรงพยาบาล โดยประชาชนสามารถที่จะบริจาคให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ได้โดยตรง
นอกจากนี้ opendream เดเวลล็อปเปอร์ ผู้ที่เคยพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการดูแลสุขภาพด้วยตนเองอย่าง DoctorMe เชิญชวนประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ด้วยการร่วมใช้งาน @sabaideebot บันทึกสุขภาพว่าสบายดีหรือไม่อย่างไร และรับคำแนะนำตามอาการ พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 รอบด้าน ทั้งในเรื่องสาธารณสุข ข่าวอัปเดต และความเสี่ยงใกล้ตัว และหากมีอาการป่วยจริง เราก็สามารถนำเอาประวัติสุขภาพที่บันทึกไว้นี้นำไปให้แพทย์ดูได้ทันที
และในช่วงนี้เรายังมีภาคเอกชนหลากหลายส่วนที่ต่างนำเอาความรู้ความคิดสร้างสรรค์มาช่วยสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์มากมาย ทั้งการอัปเดตข้อมูล แผนที่สต๊อกหน้ากากอนามัย ฯลฯ
แคนาดา
เคอร์ติส คิม ได้คิดค้นระบบติดตาม Covid – 19 ออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้คนสามารถที่จะรับข้อมูลล่าสุดที่แยกตามจังหวัดและประเทศได้ง่ายขึ้น โดยเขาเริ่มพัฒนาเครื่องมือออนไลน์หลังจากที่เพิ่งจบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีบริติชโคลัมเบีย
คิมกล่าวว่าเขาได้ตั้งโปรแกรมที่จะดึงเอาข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐมาใช้โดยอัตโนมัติ เช่น ศูนย์ควบคุมโรค BC, ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก คิมยังกล่าวอีกว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในการทำให้ระบบนี้ทำงานเป็นระบบอัตโนมัติเพราะความล่าช้าในรายงาน ดังนั้นเขาจึงอ้างอิงข้อมูลใหม่และเข้าไปไปอัปเดตตลอดเวลา
สหราชอาณาจักร
นักวิทยาศาสตร์กำลังวิเคราะห์รหัสทางพันธุกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวอย่างจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อว่า โควิด – 19 แพร่กระจายไปทั่วสหราชอาณาจักรได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลสามารถระบุไวรัสและแบคทีเรียอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นการอธิบายได้ว่าทำไมผู้ป่วยบางคนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจึงป่วยหนัก ซึ่งเป้าหมายของการวิจัยครั้งนี้คือ การค้นหาว่าใครป่วยเพราะอะไร เขามีโรคอื่นหรือไม่ เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดหรือระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยตอบสนองต่อเชื้อไวรัสมากเกินไป ซึ่งวิธีการจะมีความคล้ายคลึงกับการติดตามเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกในปี 2015
ศาสตราจารย์ทอมโซโลมอนผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและอนามัยโลกที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลกล่าวกับ BBC News “เรามีผู้ป่วยบางรายที่เราไม่รู้ว่าติดเชื้ออย่างไร แต่ดูที่สารพันธุกรรมและเปรียบเทียบกับ เราสามารถเติมลิงก์ที่หายไปได้และมันอาจช่วยควบคุมการระบาดในระยะยาว“
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับไวรัสโควิด-19 ได้ในเวลาเพียง 10-30 นาที สถาบันสาธารณสุขจังหวัดคานางาวะและสถาบันวิจัย Riken ในเครือของรัฐบาลกล่าวว่า ปัจจุบันนี้การตรวจจับไวรัสโควิด-19 นั้นใช้วิธีการทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (PCR) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยใช้เวลาหนึ่งถึงสองชั่วโมงเพื่อทราบผล สถาบัน Riken กล่าวถึงตัวเทคโนโลยีใหม่นี้ว่า อย่างน้อยก็ให้ผลเทียบเท่ากับ PCR ในแง่ของความแม่นยำและยังใช้เวลาน้อยกว่าที่เคยเป็นมา
การทดสอบความถูกต้องแม่นยำของเทคโนโลยีใหม่ที่มีการพัฒนาขึ้นในครั้งนี้ ใช้ตัวอย่างไวรัสโควิด-19 ที่รวบรวมจากผู้ที่อยู่บนเรือไดมอนด์ปรินเซส ซึ่งถูกกักตัวไว้นอกเมืองโยโกฮามา โดยพบว่าผู้ที่อยู่บนเรือไดมอนด์ปรินเซสหลายร้อยคนติดเชื้อไวรัสจากการใช้เทคโนโลยีนี้ และทางญี่ปุ่นเองยังเปิดให้มีการตรวสจโควิด-19 ฟรีอีกด้วย
เกาหลีใต้
รัฐบาลเกาหลีใต้ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อจากข้อมูลตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ การใช้บัตรเครดิต และข้อมูลของกล้องวงจรปิด จากนั้นเผยแพร่รายการที่มีรายละเอียดอย่างมากเกี่ยวกับที่อยู่ของพวกเขา จนถึงที่นั่งที่พวกเขานั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ ข้อมูลนี้เผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านแอปฯ ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
นอกจากนี้แอปพลิเคชั่นนี้ยังมีไว้สำหรับการใช้งานของผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอยู่ในช่วงเวลากักตัวที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของคนที่ต้องกักกันตนเองและแอปฯ นี้ก็ไม่ได้ใช้ได้แค่ชาวเกาหลีใต้เท่านั้น แต่บุคคลที่มาจากประเทศความเสี่ยงสูงจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น และรายงานสุขภาพของพวกเขาผ่านแอปพลิเคชั่นทุกวันเป็นเวลา 14 วันหลังเข้าประเทศ
นอกจากนี้ในประเทศเกาหลียังได้คิดค้นวิธีการตรวจโควิด-19 ในรูปแบบใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากระบบ drive-through ของร้านแฟรนไชส์ต่างๆ โดยได้ทดลองใช้ในเมืองทางตอนเหนือของจังหวัดคยองกี โดยผู้ที่ต้องการตรวจเชื้อโควิด-19 จะต้องขับรถไปที่จุดตรวจเชื้อที่สาธารณสุขได้วางไว้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สวมชุดป้องกันคอยเป็นผู้ตรวจอยู่ข้างนอกรถ ซึ่งผู้ที่มาตรวจโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องลงจากรถและกระบวนการตรวจสอบใช้เวลาไม่กี่นาทีในการตรวจ ทำให้ลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่และผู้เข้ารับการตรวจสอบได้
ทางด้านบริษัทสตาร์ทอัปในเกาหลีใต้ก็ประสบความสำเร็จในการลดเวลาตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากในปัจจุบันการตรวจเชื้อโควิด-19 จำเป็นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงซึ่งอาจจะไม่ทันต่อการรักษา โดยบริษัท Seegene ได้พัฒนาเครื่องมือการวินิจฉัยโรคโดยลดเวลาวินิจฉัย จาก 24 ชั่วโมงเหลือเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีบริษัทสตาร์ทอัปอื่นๆ ที่พยายามคิดค้นเครื่องมือหรือแบบทดสอบการติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถลดเวลาการตรวจสอบการติดเชื้อและสามารถรักษาได้ทันท่วงที
ในช่วงที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 การระมัดระวังตนเองเพื่อลดความเสี่ยงของตนเองและคนอื่นในสังคมยังคงเป็นสิ่งสำคัญ การนำเทคโนโลยีมาใช้จึงอาจเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้การระบาดของโควิด-19 ลดลงและยุติลงได้ในที่สุด
Tags: เทคโนโลยี, โคโรนาไวรัส, โควิด-19