The International Commission on Non‐Ionizing Radiation Protection (ICNIRP) หน่วยงานวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาความเสี่ยงของคลื่นวิทยุต่อสุขภาพ ได้ปรับข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยของมนุษย์จากรังสีโทรศัพท์ สัญญาณไวไฟ รวมถึงบลูทูธอื่นๆ เพื่อรองรับคลื่นความถี่ 5G

ดร.อีริค ฟาร์น รอห์นเกน กรรมการของ ICNIRP กล่าวว่า การปรับปรุงข้อกำหนดได้ผ่านการศึกษาบทความทางวิทยาศาสตร์ การทดสอบ รวมถึงกระบวนการหารือในระดับสาธารณะ โดยจะปรับกฎเพื่อให้สามารถป้องกันผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ตั้งแต่ 100 GHz ไปจนถึง 300 GHz ได้ 

ข้อกำหนดใหม่นี้ไม่ได้ตั้งเป้าควบคุมไปที่ตัวคลื่น 5G โดยตรง แต่มุ่งกำหนดให้เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์เสริมจะต้องใช้วัสดุหรือมีเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันรังสีจากการเชื่อมต่อกับคลื่นความถี่ 5G ได้ ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือต้องการรองรับคลื่นความถี่ที่สูงกว่า 6 GHz ที่แม้ยังไม่มีใช้ในปัจจุบัน แต่อาจจะมีให้บริการในอนาคต

สมาคมโทรศัพท์มือถือ GSMA กล่าวว่า มือถือที่ใช้สัญญาณ 5G ในปัจจุบันถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงข้อกังวลดังกล่าวอยู่แล้ว ดังนั้น กฎใหม่จึงอาจไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก

อย่างไรก็ดี ดร.อีริค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษา ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเพียงพอว่าคลื่นวิทยุเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ เขาทิ้งท้ายว่า “เรารู้ว่าหลายส่วนของสังคมกังขาถึงความปลอดภัยของคลื่น 5G และเราหวังว่าการปรับปรุงข้อกำหนดจะทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ เมื่อปี 2014 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO และองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ หรือ IARC ได้จัดให้คลื่นวิทยุทุกประเภทมีความเสี่ยงต่อการก่อมะเร็ง อยู่ในระดับเดียวกับการกินผักดอง และการใช้แป้งทัลคัมสำหรับเด็ก ขณะที่การกินเนื้อสัตว์และดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงสูงกว่า

 

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/technology-51839681

https://www.theguardian.com/technology/2020/mar/12/5g-safe-radiation-watchdog-health

Tags: , , ,