ปฎิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี 5G กลายเป็นอนาคตของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญ ภาครัฐก็หวังว่า 5G จะเข้ามาช่วยผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อแข่งขันกับโลกภายนอกได้ ส่วนภาคธุรกิจเอกชนก็เชื่อว่า 5G จะช่วยเสริมศักยภาพ พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจอีกมาก ขณะที่ในภาคประชาชนอย่างเราๆ แม้จะคุ้นหูกับคำว่า 5G แต่อาจยังนึกภาพไม่ออกว่าจะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร 

จริงๆ แล้ว 5G คงมิใช่เพียงแค่เรื่องของความเร็วที่เร็วกว่า 4G อย่างแน่นอน แต่ในเรื่องของ iot (Internet of things) จะเป็นจริงมากขึ้น รถยนต์ไร้คนขับ การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ หุ่นยนต์ หรือ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และในภาคธุรกิจ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นใยุค 5G ทั้งสิ้น 

คาดการณ์กันว่าประเทศไทยจะเริ่มใช้งาน 5G ได้จริงก็น่าจะช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป เพราะล่าสุดทางกสทช. จะเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 5G ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งก็อาจจะยังใช้งานได้ในบางพื้นที่ เนื่องจากต้องมีการลงทุนเสาสัญญาณ และดูความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ที่มีศักยภาพและความจำเป็นในการใช้งาน

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศไทย มีความเชื่อมั่นว่า 5G จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม ซึ่งเป็นภาพใหญ่มากกว่าในยุค 4G ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์เท่านั้น

ซึ่งทางกลุ่มทรูก็มองว่าการเตรียมความพร้อมและการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเมื่อปลายปีที่แล้วก็ได้มีการจัดงาน “True 5G Digital Thailand, The 1stShowcase powered by TrueMove H” ที่ไอคอนสยาม และเดินหน้าโรดโชว์ไปยังจังหวัดอื่นๆ พร้อมกับมีการทดสอบการใช้ 5G ในบางพื้นที่ 

สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกกับเราว่า เทคโนโลยี 5G จะเปลี่ยนแปลงสังคมและก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ อีกมากมาย นี่จึงเป็นทั้งโอกาสและความของกลุ่มทรูที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยี 5G

4G เปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แต่ 5G เปลี่ยนสังคม

จากยุค 1G ที่เป็นการติดต่อผ่านทางเสียงเป็นหลัก มาถึงยุค 2G ที่เริ่มมีการส่งข้อความ เอสเอ็มเอส จนมาถึงยุค 3G ที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูพร้อมๆ กับอุปกรณ์สื่อสารที่ดีและรองรับการใช้งานมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนทั้งพฤติกรรมมนุษย์ ในระดับสังคม และระดับประเทศ จนมาถึงยุค 4G ที่ก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก เกิดการสตรีมมิง การส่งวิดีโอ เป็นต้น สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉายภาพแต่ละยุคให้เราฟัง

“มีแรงผลักดันหลายอย่างที่ทำให้ 3G บูมและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลักๆ เป็นเรื่องของเครือข่าย ที่เครือข่ายแบบมีสายอย่างโทรศัพท์บ้านกับแบบไร้สายเริ่มเข้าหากัน มีไวไฟ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ไม่มีข้อจำกัดของพื้นที่ ประกอบกับอุปกรณ์เริ่มโดดเด่น ไอโฟน คอมพิวเตอร์ กล้อง เชื่อมต่อกัน หรือสามารถทำทุกอย่างได้ในเครื่องเดียว และการเกิดขึ้นของดิจิทัล คอนเทนต์ เช่นกล้องถ่ายภาพจากกล้องฟิล์มสู่กล้องดิจิทัล”

“ขณะที่ 4G เป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นเรื่องของวิดีโอ ดูไลฟ์สด วิดีโอสตรีมมิง ทำให้คนใช้งานเอนจอยกับวิดีโอบนมือถือได้”

แต่สุภกิจย้ำว่า 4G Change Human Behavior but 5G Change Society เพราะต่อจากนี้ไปสิ่งที่จะเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต จะไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว แต่ทุกสิ่งจะเป็น iOT ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ เครื่องซักผ้า ทีวี ตู้เย็น สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา จะสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด และเราสามารถควบคุมทุกอย่างได้

5G มีดีที่ความเร็ว ความหน่วงต่ำ และเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย

ผู้บริหารทรูอธิบายว่าสิ่งที่ทำให้ 5G มีความโดดเด่น และสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมและเกิดนวัตกรรมต่างๆ ได้อีกมากมายมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ความเร็วที่มากขึ้น รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น และความหน่วงต่ำ ทำให้เกิดการรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ มีประโยชน์กับเรื่องรถยนต์ไร้คนขับ หรือทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทางไกล 

“สามเรื่องนี้ทำให้ 5G มันโดดเด่น เปลี่ยนแปลงสังคมและเกิดนวัตกรรมต่างๆ ในเรื่องของ AR และ VR ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น หรือในบางอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เกษตรกรรม ทำให้เราสามารถทำงานได้แม่นยำมากขึ้น เอาบิ๊กดาต้า หรือข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าต้นไม้พื้นที่ตรงนี้เป็นอย่างไร ต้นนี้เติบโตดี แต่ทำไมอีกต้นไม่โต ต้องใส่ปุ๋ยวันไหน หรือในภาคการผลิต โรงงานก็อาจจะมีการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น”

ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการเครือข่าย แต่คือผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

สุภกิจบอกว่าทางกลุ่มทรูจะไม่เป็นเพียงบริษัทด้านโทรคมนาคม (Telco) แต่จะเป็นผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล คือการทำให้คนไทยก้าวเข้าสู่ชีวิตดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

“วันนี้เราไม่ใช่แค่โอเปอเรเตอร์ แต่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure provider)”

“ในยุค 5G เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้แล้ว ไม่มีแบบคิดโปรโมชั่นแล้วขายให้ผู้บริโภคอย่างเดียว แต่มันต้องมีพาร์ทเนอร์ เกิดเป็นอีโคซิสเต็มส์ ซึ่งก็จะมีพาร์ทเนอร์หลายระดับ และทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนอย่างมาก ที่เราทำเอง ลงเสาสัญญาณเครือข่ายแล้วก็ไปขายของ”

“ส่วนในองค์กรเราก็ต้องปรับตัว ทำงานแบบสมัยก่อนไม่ได้แล้ว พนักงานเราต้องทำงานในเชิงดิจิไทส์มากขึ้น ออฟฟิศต้องมีพื้นที่ของโคเวิกกิ้งสเปซ มีการแชร์ หรือทำงานร่วมกัน เรามีแอปและเครื่องไม้เครื่องมือที่จะเอาไว้ติดต่อสื่อสารในองค์กร การขออนุมัติโปรเจ็กต์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งการลางาน คือลดส่วนที่เป็นกระดาษให้น้อยลง”

เตรียมความพร้อมสู่ยุค 5G

เมื่อเข้าสู่ยุค 5G อย่างจริงจังจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนเราดีขึ้น พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ซึ่งอยู่ที่ว่ามนุษย์เราจะนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

“เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้น ผมว่าคนไทยจะสามารถปรับตัวได้อย่างแน่นอน เพราะตอนนี้เราเริ่มคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ผมว่านี่คือสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขา แต่สำหรับคนรุ่นเก่าก็อาจจะต้องปรับตัวมากหน่อย เมื่อทุกคนเห็นว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อตัวเขาและทำให้ชีวิตดีขึ้นทุกคนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ยาก”

“การเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะดีขึ้นในแง่มุมไหนบ้าง ผมมองว่าแง่มุมหลักๆ ที่จะส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของคนไทย จะเกี่ยวกับสุขภาพ, การศึกษา, การขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน”

สำหรับประเทศไทยกับความเรื่อง 5G ในตอนนี้ทางกสทช. ได้กำหนดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 สำหรับการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 5G ใน 4 ย่านด้วยกันได้แก่ 700 MHz,1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz โดยทางผู้บริหารทรูมองว่าหลังจากประมูลเสร็จ คาดว่าจะเริ่มต้นใช้งาน 5G ได้จริงในช่วงไตรมาสสามของปี

5G จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งภายในปีหน้าเมืองไทยน่าจะมีโอกาสได้ใช้งาน 5G ประมาณช่วงไตรมาส 3 แต่ว่าเป็นการทยอยเปิด เพราะการลงเครือข่ายสำหรับ 5G ไม่ใช่การวางเครือข่ายทั้งประเทศ ต้องลงเป็นจุดๆ ที่มีการใช้งาน”

โอกาสและความท้าทายในการเป็นผู้นำ 5G

สุภกิจเล่าย้อนไปในตั้งแต่สมัยที่กลุ่มทรูเข้ามาเป็นผู้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมรายที่สาม ในชื่อ ออเรนจ์ ซึ่งช้ากว่าคู่แข่งอยู่สิบปี แต่ในยุคที่มี 3G ขึ้นมาเป็นผู้นำ 3G เพราะเป็นรายแรกที่ให้บริการ 3G พอมาเป็น 4G ก็เป็นรายแรกที่ออกขายไอโฟน และเป็นรายแรกอีกเช่นกันที่ให้บริการ 4G เชิงพาณิชย์

“เรามุ่งมั่นเลยว่าเราจะเป็นผู้นำ 5G เพราะตอนนี้เรามีการเตรียมความพร้อม ทำหลายอย่าง ทดลองหลายเรื่อง การทดลองใช้งาน 5G ในหลายพื้นที่ตามมหาวิทยาลัย และในทรูดิจิทัลพาร์คของเรา”

“การมาถึงของ 5G เราก็คาดหวังว่าว่าจะเป็นผู้นำ ซึ่งมันก็มีโอกาส อยู่ที่ว่าเราทำได้ดีแค่ไหน ตอบโจทย์คนทั่วไปได้มากแค่ไหน กลุ่มธุรกิจเรามีโซลูชั่นอะไรบ้าง ซึ่งเป้าหมายในของการเป็นผู้นำ 5G ของเราคือการรับรู้ของผู้บริโภค”สุภกิจกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , ,