เครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อสังคม คือภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิง ที่ค่อยๆ กล่อมเกลาสร้างแนวคิดให้คนยอมรับได้ง่ายกว่าสื่อที่มีความเป็นทางการ หรือที่เรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เพราะมันมีความสนุก มีแง่คิดคำคมที่นำไปใช้ติดปาก
ในอินเดียนั้นเราทราบกับดีว่าขนาดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่มาก ถ้าศูนย์กลางอุตสาหกรรมอยู่ที่เมืองหลวงก็คือบอลลีวู้ด หรือศูนย์กลางอยู่ที่ทางตอนใต้ก็คือกอลลีวู้ด ผลิตภาพยนตร์รวมกันปีละเป็นพันเรื่อง การใช้สื่อภาพยนตร์ในการสร้างแนวคิดหรือเผยแพร่สารอะไรในอินเดียน่าจะสามารถทำได้ง่าย เพราะคนอินเดียชอบดูภาพยนตร์มาก
เมื่อในสังคมอินเดียยังมีปัญหาความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) ผู้เขียนบทและผู้กำกับหนังฮีเตช เกวัลยา (Hitesh Kewalya) จึงมองถึงกุศโลบายในการกล่อมเกลาทางความคิดของคนเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันด้วยวิธีที่ประนีประนอมไม่ยัดเยียด โดยการสร้างภาพยนตร์ Be Extra Careful About Marriage หรือชื่อในภาษาฮินดีคือ Shubh Mangal Zyada Saavdhan ที่เว็บไซต์ advocate.com เรียกว่าเป็นหนัง “โรแมนติกคอเมดีเกย์เรื่องแรกของอินเดียที่พูดถึงปัญหาความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน” เพื่อหวังลดการตีตราและสร้างความเข้าใจต่อครอบครัว เพราะในสังคมเอเชียนั้นครอบครัวมีอิทธิพลต่อบุคคลมาก
Be Extra Careful About Marriage
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในประเทศไทยเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ สุขุมวิท ซึ่งเรียกว่า ในไทยฉายในเวลาใกล้ๆ กับอินเดียพอดี การตั้งชื่อก็มีความน่าสนใจแล้ว “Be Extra Careful About Marriage” วลีนี้ต้องการสื่อสารอะไร ต้องการเตือนผู้หญิงให้ระวังการแต่งงานว่าจะโดนเกย์หลอก หรือมีอะไรที่เราต้องระวังในการแต่งงาน จึงลองน่าไปพิสูจน์ดูว่า สารของหนังจะยิ่งตีตราเกย์ หรือช่วยเกย์ทำความเข้าใจกับสังคมว่า “คนรักเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว”
***ต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง ซึ่งจริงๆ แล้วหนังแนว ROM-COM ก็เป็นหนังที่จบ Happy Ending อยู่แล้ว จึงอยากจะเล่าถึงเรื่องสารที่หนังนำเสนอออกมา
หนังเปิดฉากด้วยภาพความวุ่นวายที่สถานีรถไฟในอินเดีย ความเร่งรีบของผู้คน และพูดถึงว่า สิ่งที่สำคัญของคนอินเดียคือการมีครอบครัวและมีทายาท (ซึ่งตามคติพราหมณ์ ถ้าบ้านไหนไม่มีลูกชาย พ่อแม่จะต้องตกนรกขุมปุตตะ) อุตสาหกรรมการแต่งงานในอินเดียจึงเป็นเรื่องใหญ่และมีเม็ดเงินมหาศาล ในท่ามกลางความวุ่นวาย สองหนุ่มที่ดูเหมือนเพื่อนรักคือ การ์ติก ซิงห์และอาร์มาน ทริปาตี เร่งรีบจะขึ้นรถไฟไปให้ทันงานแต่งงานของน้องสาวของอาร์มาน
ที่บ้านทริปาตีของอาร์มานที่เตรียมงานแต่งงานให้น้องสาวก็วุ่นวาย ถูกเกษตรกรรุมประท้วงเพราะชานการ์ พ่อของอาร์มานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นสายพันธุ์กะหล่ำดอกสีดำ แต่เป็นกะหล่ำดอกที่มีปัญหามาก ทั้งกินไปแล้วป่วย หรือมีแมลงศัตรูพืชมาก อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องจัดงานต่อไป โดยย้ายไปจัดที่บ้านญาติอีกแห่ง ซึ่งครอบครัวอาร์มานก็ขึ้นรถไฟไปงานต่อร่วมกับทั้งสองหนุ่มด้วย และในคืนนั้นเอง ที่ชานการ์ได้เห็นลูกชายตัวเองจูบกับเพื่อนชายบนรถไฟ
ปฏิกิริยาของพ่อเมื่อเห็นคือไปอ้วก! แต่ก็พยายามทำเงียบๆ ไว้เพราะเครือญาติคนอื่นไม่เห็น แต่ในคืนงานแต่งงานที่มีการจัดกิจกรรมงานเลี้ยงรื่นเริงมากมาย ด้วยบรรยากาศเป็นใจ สองหนุ่มอาร์มานและการ์ติกก็จูบกันกลางงานอีกครั้ง คราวนี้คนเห็นกันทั้งงาน การ์ติกถูกไล่ออกจากงานทันที เขาไปพร้อมกับทิ้งคำพูดไว้ว่า “พื้นที่ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้การยอมรับความรักของเราที่หนักที่สุดก็คือครอบครัวนี่แหละ” ขณะที่ฝ่ายอโศกเจ้าบ่าวของกอกเกิ้ล น้องสาวของอาร์มานก็อยู่ๆ จะไม่แต่งขึ้นมาซะอย่างนั้นเพราะอ้างว่า “รับไม่ได้ที่ลูกชายของครอบครัวคุณเป็นเกย์”
อาร์มานถูกครอบครัวตั้งคำถามมากมาย แบบคำถามที่ ‘ไม่รู้ถามเอาอะไร’ อย่างเช่น “ตัดสินใจเมื่อไรว่าจะเป็นเกย์” คำตอบก็เหมือนจะยียวนแต่มันก็คือคำถามมุมกลับว่า “แล้วผมตัดสินใจเมื่อไรละว่าจะไม่เป็น” เพราะความเป็นเกย์มันก็คืออัตลักษณ์ที่ไม่ใช่จะเปลี่ยนได้เหมือนเปลี่ยนงาน หรือที่อยู่อาศัยที่เรามีสิทธิเลือก มันคือธรรมชาติของคน พ่อแม่ของอาร์มานก็ต่อรองอีกว่า “ถ้าจะให้ยอมรับเป็นเพื่อนได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวกับเซ็กซ์” อาร์มานก็ตั้งคำถามกลับอีกว่า “แล้วความรักของผู้หญิงกับผู้ชาย หรือความรักของเพศเดียวกันต่างกันตรงไหน เพราะมันก็คือความรัก”
What nature gives is natural
หนังปล่อยความโรแมนติกออกมาในสถานการณ์ต่อรองที่ออกจะดูน่าอิหลักอิเหลื่อ คือการถกเถียงกันในครอบครัวถึงความหมายของความรัก แต่มันทำให้ดูจริงมาก เพราะหลายครอบครัวก็น่าจะมีการตั้งคำถามในเชิงซีเรียสจริงจัง ถ้ารู้ว่า ลูกที่คิดว่าเป็นผู้ชายมาโดยตลอด อยู่ๆ เปิดตัวมีแฟนเป็นผู้ชาย อาร์มานเล่าให้พ่อแม่ฟังว่า “เมื่อผมใกล้ชิดกับการ์ติก ผมก็รู้สึกถึงความรักในแบบวิทยาศาสตร์ (เพราะพ่ออาร์มานเป็นนักวิทยาศาสตร์) เพราะรู้สึกมีความสุข มีความรู้สึกบางอย่างที่บอกว่า สมองผมหลั่งสารออกซิโทซิน (ฮอร์โมนความรัก oxytocin) จากสมองส่วนไฮโปทาลามัสออกมาได้เอง การ์ติกก็เหมือนกัน”
เมื่อวิทยาศาสตร์ถูกมองว่า คือความจริงที่เป็น ‘สัจจะนิรันดร์’ คือการพิสูจน์ทฤษฎีอะไรมันจะได้รับความเที่ยงตรงของผล อาร์มานก็พยายามจะบอกว่า “เมื่อพ่อเชื่อในวิทยาศาสตร์ว่าจริง ความรักก็คือความจริงเช่นกัน” ความรักคือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดได้โดยขนบธรรมเนียม (ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา) ว่า ผู้หญิงต้องคู่กับผู้ชายเท่านั้น เมื่อไรที่คนเราเกิดความรู้สึกลึกซึ้งระหว่างกัน กรอบเรื่องเพศก็ถูกทลายลงไปได้ ซึ่งในแนวคิดเรื่องเพศวิถี ความรักมันมีความซับซ้อนหลายรูปแบบการนิยาม ไม่จำเป็นต้องเป็นขั้วชายหญิงเสมอไป
ตรงนี้หนังท้าทายให้คิดว่า ถ้าคนเรามีความเชื่อว่า “ธรรมชาติคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” เมื่อความรักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันก็คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นความจริงเหมือนวิทยาศาสตร์ การพยายามเอากรอบกฎเกณฑ์ระเบียบทางสังคมที่คนเราตั้งขึ้นมาว่าชายหญิงต้องแต่งงานกันแม้ไม่ได้รัก ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ นั่นต่างหากคือการฝืนธรรมชาติ อีกทั้งข้อถกเถียงนี้มันเป็นการรื้อสร้างความหมายของครอบครัวในทางวัฒนธรรมเอเชียที่จะต้องแต่งงานเพื่อมีทายาท มีเครือญาติ ครอบครัวจำเป็นเสมอไปหรือไม่ที่จะต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูก แล้วครอบครัวที่คนที่มีต่างคนต่างมา ผูกใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน มีสิทธิจะนับสถานะของเขาเป็นครอบครัวหรือไม่
อีกนัยหนึ่งคือมันเป็นการท้าทายความคิดระหว่างรุ่น ตัวพ่อของอาร์มานคือคนในยุค baby boom ซึ่งมีความคิดยึดมั่นในขนบ จารีต การยึดความเชื่อนั้นทำให้รู้สึกปลอดภัย ขณะที่ตัวอาร์มานเอง เป็นคนใน Generation X ที่เชื่อเรื่องการเปิดกว้างทางความคิด และคิดนอกกรอบมากกว่า อีกทั้งยังพยายามรื้อสร้างความหมายเดิมๆ ที่กดทับให้ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อคนยุค baby boomer เลือกจะเชื่อชุดความจริงชุดหนึ่งว่าคือความจริง คือความถูกต้อง คน Generation X ก็เอา ‘ความจริง’ นั้นกลับมาตั้งคำถามท้าทาย โดยอาร์มานตั้งคำถามถึงความรักของพ่อแม่เขา และพบว่า ต่างคนต่างก็ถูกคลุมถุงชนกันมา แต่อยู่ด้วยกันเพราะความเหมาะสมและเป็น ‘หน้าที่’ ที่ต้องมีครอบครัว ขณะที่ฝ่ายหนึ่งก็ยังคิดถึงคนที่เคยรักอยู่เสมอ
แต่ในวัฒนธรรมเอเชียที่ยึดระบบอาวุโส อำนาจของผู้ใหญ่เหนือผู้น้อย (ไม่ใช่แค่ครอบครัว รวมถึงเครือญาติด้วย) ไม่ว่าอย่างไรพ่อของอาร์มานก็พยายามจะจับให้เขาแต่งงานกับคู่หมายคือกุสุม ถึงขนาดขู่จะฆ่าตัวตาย และจัด ‘conversion therapy’ (หรือการบำบัดเกย์) แบบอินเดียให้อาร์มาน โดยจัดพิธีศพให้และให้เกิดใหม่ในชื่ออื่น เหมือนทิ้งตัวตนเก่าที่เป็นรักร่วมเพศไปและได้ลูกชายคนใหม่ที่พร้อมจะเข้าพิธีแต่งงาน
ในการแต่งงานระหว่างอาร์มานกับกุสุม การ์ติกได้กลับเข้ามาในบ้านอาร์มานอีกครั้ง ในมาดซูเปอร์แมน ห่มธงสีรุ้งสัญลักษณ์ของ LGBT มาประกาศว่า พ่อของอาร์มานเป็นพวก Homophobia แต่ก็โดนไล่ทุบตีไปตามระเบียบ แต่ชายหนุ่มยืนยันว่า ความรักคือความกล้าหาญที่ต้องยืนหยัดเพื่อกันและกัน จริงใจกับความรู้สึกของตัวเอง จะไม่ยอมหนีไป
ด้วยความเป็นสูตรหนัง ROM-COM ระดับแมส ทำให้มีการประนีประนอมในฉากนี้ที่บรรดาเครือญาติต่างพูดและคิดถึงความหมายของความรักเสียใหม่ ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เรียบง่ายแบบซื่อๆ ทำให้บอกได้ว่า เหตุการณ์วันนั้นคือวันที่ 5 ก.ย. 2018 และพออะไรกำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็ม ก็มีตำรวจจะบุกมาจับอาร์มานกับการ์ติกเสียอย่างนั้น โดยกล่าวหาว่า ‘เป็นเกย์มันผิดกฎหมาย’
ร้อนถึงทางครอบครัวต้องถ่วงเวลา เพราะมีข่าวว่าศาลสูงสุดกำลังจะตัดสินเรื่องคนรักเพศเดียวกันว่าผิดกฎหมายหรือไม่ในวันที่ 6 ก.ย. 2018 ขอให้ตำรวจรอให้ข้ามคืนไปก่อนแล้วค่อยมาจับ แล้วในที่สุด ศาลสูงสุดก็ตัดสินยกเลิกการใช้กฎหมาย Section 377 ทำให้ทั้งคู่ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป (ตรงนี้เข้าใจว่าคือการตั้งใจสื่อสารให้คนอินเดียที่ไม่ได้ติดตามกฎหมายรู้ด้วยว่า การเป็นคนรักเพศเดียวกันมันไม่ผิดกฎหมายแล้ว)
ชานการ์เห็นความสุขของทั้งอาร์มานและการ์ติก ก็หันมาทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำคือกะหล่ำดอกสีดำว่า มันผิดธรรมชาติ ยิ่งฝืนไปสุดท้ายมันก็ยิ่งถลำสู่ความผิดพลาด ก็ตัดสินใจเผามันทิ้งหมด เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับว่า ความรักคือหัวใจของแต่ละคน ที่คนอื่นไม่สามารถบังคับได้
ที่สุดแล้ว ความรักนั่นแหละคือธรรมชาติที่เราเลือกจะโอบกอดมันไว้แล้วมีความสุข ขณะที่กรอบของสังคมต่างหากคือตัวที่บังคับบีบให้เรามีความทุกข์ โดยถูกทำให้เชื่อไปเองว่าการอยู่ในกรอบนั้นคือพื้นที่ปลอดภัย แต่เรากล้าหาญพอที่จะเป็นฝ่าย ‘เลือก’ หรือยอม ‘ถูกบีบ’ กันล่ะ ความรักคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้เอง สารสุดท้ายของหนังคือเราเลือกกำหนดวันแต่งงานได้ แต่เราเลือกกำหนดวันตกหลุมรักใครสักคนไม่ได้หรอก
ความจริงที่น่าขื่นขมคือ การสถาปนาชุดความคิดเกี่ยวกับชายต้องรักหญิงเท่านั้น มันมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในแทบทุกสังคม เพื่อการสร้างทายาทมนุษย์รุ่นต่อๆ ไป ยิ่งครอบครัวฝั่งเอเชีย (ทั้งจีน อินเดีย หรือตะวันออกกลาง) ก็หวังอยากให้ลูกหลานมีทายาทเพื่อการสืบต่อวงศ์ตระกูลด้วยข้ออ้าง ‘แก่ตัวไปใครจะเลี้ยง’ ซึ่งมันคือการกำหนดหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว หลายครั้งที่กลุ่ม LGBT เลือกที่จะฝืนหัวใจตัวเอง อยู่อย่างไม่มีสุข เพราะอิทธิพลของครอบครัวและชุดความคิดที่ถูกบ่มเพาะมายาวนาน ซึ่งจะให้แก้มันก็คงไม่มีทางไหนที่ง่ายและสามัญที่สุดเท่ากับการเปิดอกคุยกับครอบครัวว่า ‘เราจัดการชีวิตของเราได้ แต่ในวันที่มีความสุขได้รัก ก็ขอรัก’
หนังมันอาจ Happy Ending แต่ชีวิตเหล่า LGBT อีกหลายคนไม่ได้ Happy Ending เหมือนในหนัง การเปิดอกคุยก็ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่าจะได้รับการยอมรับ บางคนถึงกับถูกครอบครัวจับไปบำบัด ซึ่งมันมีเรื่องของการบังคับใจ ทรมาน จนวันนี้ ในแคนาดา บางรัฐในสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ประกาศแบนการบำบัดเกย์ว่าผิดกฎหมายแล้ว
Be Extra Careful About Marriage ไม่ได้ความหมายว่า ‘ต้องระวังอย่าให้เกย์หลอกแต่งงาน’ แต่สิ่งที่ต้องสนใจคือ การจะแต่งงานกับใคร การจะใช้ชีวิตคู่กับใครต้องมั่นใจเป็นพิเศษว่า ‘เรากับเขารักกันด้วยหัวใจหรือไม่’ หนังอาจเบาๆ ตรงๆ ในแง่ของเนื้อหาที่จะสื่อสาร แต่มันก็คือภาษาสากล ตรงวัตถุประสงค์ที่จะอธิบายเรื่องนี้ต่อสังคมให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะนี่ไม่ใช่แค่หนัง ROM-COM ชวนจิ้น แต่หวังสื่อสารกับครอบครัว และคนเกลียดกลัวพวกคนรักเพศเดียวกันด้วยว่า “มันยุติธรรมหรือไม่ที่จะไม่ให้ LGBT เลือกใช้ชีวิตอย่างที่เขามีความสุข”
Tags: คนรักเพศเดียวกัน, หนังอินเดีย, เกย์อินเดีย, เกย์